Skip to main content

วิกฤตเด็กเครียด

คอลัมน์/ชุมชน




 


                                                    


 


สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กไทยเครียดเป็นผลจากความคาดหวังของพ่อแม่


 


จิตแพทย์เปิดเผยภาวะความเครียดของเด็กไทยปัจจุบันเมื่ออาทิตย์ที่แล้วว่าพบว่ามีเด็กกว่าล้านคน หรือประมาณ 20% ของเด็กทั่วประเทศที่กำลังเผชิญกับภาวะความเครียดขั้นรุนแรง และวิกฤตกว่านั้นตรงที่แนวโน้มความเครียดสูงขึ้นเพราะภาวะการเผชิญความกดดันจากสังคมที่แข่งขันกันสูงลิบ ทำให้พ่อแม่ต้องกระเสือกกระสน ปลุกปั้น และเคี่ยวเข็ญให้ลูกหนึ่งคนเก่งเบ็ดเสร็จครบทุกด้าน เหมือนอย่างที่เห็นได้ทั่วไปว่าเด็กสมัยนี้นอกจากจะแข่งกันเรียน ยังต้องเอาเวลาว่างไปเรียนเสริมพิเศษเพื่อร่วมกิจกรรมขยับความสามารถ เช่นเรียนเทควันโด้ เปียโน บัลเล่ต์ ร้องเพลง เต้นแจ๊ส ฯลฯ


 


สุดสัปดาห์ที่ควรเป็นเวลาให้เด็กได้เล่น ได้พัก จึงถูกล้อมรอบไปด้วยกิจกรรมเสริมหลักสูตรที่ส่งเสริมพัฒนาการการเรียนรู้ในความคิดของผู้เป็นพ่อแม่แบบไม่รู้จักจบจักสิ้น ทั้งๆ ที่จิตแพทย์ต่างยืนยันว่าการเรียนรู้ที่ดีกว่าจับลูกเรียนพิเศษคือการปล่อยให้เด็กได้เล่นตามพัฒนาการ ตามวัย และตามความสนใจ


 


ภาวะหนึ่งที่เห็นแล้วอดห่วงไม่ได้คือการเห็นพ่อแม่เคี่ยวเข็ญให้ลูกระดับอนุบาลต้องเรียนพิเศษ ทั้งรูปแบบการติวเข้าป.1 โรงเรียนที่มีชื่อ หรือเรียนเพื่อให้มีความสามารถพิเศษไว้อวดแขก เป็นหน้าเป็นตาให้พ่อแม่ ปัญหาอาจไม่เกิดหรือเกิดในระดับต่ำหากเด็ก "เอาด้วย" คือรู้สึกสนุกสนานไปกับกิจกรรมตามจังหวะคิดพ่อแม่ ในทางกลับกัน การบังคับขณะที่ลูกรักไม่เต็มใจย่อมทำให้เด็กเกิดความเครียดขั้นรุนแรง และแสดงออกในหลายกรณีเริ่มจากการต่อต้านพ่อแม่ ก้าวร้าว ไม่มีสมาธิในการเรียน มองเพื่อนเป็นศัตรู มองทุกอย่างเป็นการแข่งขัน ย้ำคิดย้ำทำ พัฒนาการถดถอย ไปจนถึงความพยายามที่จะทำร้ายตัวเอง


 


สถิติบ่งบอกว่าภาวะความเครียดขั้นรุนแรงพบมากในเด็กชั้นประถม 3-6 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของการสอบ ความกดดันเกินพิกัดนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เลวร้ายหากพ่อแม่จับอาการไม่ทัน โดยอาจทำให้เด็กเกิดภาวะซึมเศร้า ท้อแท้ สิ้นหวังหรือแม้กระทั่งการทำไปสู่ความพยายามฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นภาวะวิกฤตที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับคนที่เรารัก


 


จิตแพทย์กล่าวถึงสาเหตุความเครียดว่าส่วนใหญ่มาจากความคาดหวังของพ่อแม่และเป็นไปได้ว่าเด็กจะซึมซับรับเอาความคาดหวังนั้นเก็บไว้โดยไม่รู้ตัว เมื่อเด็กเกิดความเครียดแต่กลับไม่ได้ทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายตามวัย ความเครียดจึงกลายเป็นชนวนติดทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งกว่าจะต่อคิวได้ปรึกษาจิตแพทย์อาจต้องรอนานกว่า 3 เดือน ดังนั้นวิธีป้องกันที่ดีที่สุดจึงควรเริ่มที่พ่อแม่ในการเพิ่มความเอาใจใส่และลดความคาดหวังรวมทั้งเลิกใช้คำว่า "รัก" เป็นข้อแก้ตัวสำหรับการบังคับให้ลูกทำอะไรหลายๆ เพื่อเติมความสุขให้เต็มความต้องการของผู้เป็นพ่อแม่


 


แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต กล่าวในธรรมสามัญประจำชีวิตเรื่อง "ความรัก" มีมุมมองที่ชวนคิดอยู่หลายตอนสามารถนำมาปรับใช้กับความรักหลายรูปแบบทั้งรักแบบหนุ่มสาว รักเพื่อนรวมไปถึงรักลูกว่า "ความรักไม่ได้ทำให้เราทุกข์แต่ความยึดติดต่างหากที่ทำให้เราทุกข์" ความยึดติดกับตัวเองและตัวตนของพ่อแม่ส่งผลให้เกิดความคาดหวังให้ลูกเติบโตตามทิศทางที่พ่อแม่ขีดกรอบไว้ ซึ่งหลายครั้งพบว่าเป็นการกำหนดวิถีชีวิตของลูกเพื่อสานฝันที่เคยเป็นไปไม่ได้ของพ่อและแม่


 


เด็กๆทุกคนต้องการความรักและอยากเป็นที่รัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นหนึ่งในใจของพ่อแม่ ธรรมชาติของเด็กอยากเป็นเด็กดี เด็กเก่งและอยากให้พ่อแม่ภาคภูมิใจ แต่ความภูมิใจของพ่อแม่น่าจะมาจากการยอมรับความเป็นจริงจากความสามารถแท้ๆ ของลูกมากไปกว่าความพยายามสรรค์แต่งสิ่งที่ลูก "ไม่สามารถ" ให้กลายเป็นความสามารถที่ใจไม่ถนัด


 


ไม้บรรทัดวัดความเก่งของเด็กยุคนี้เราให้ค่ากับคะแนน เกรดและความสามารถในการแปลความเชิงวิชาการเป็นส่วนใหญ่ จนหลงลืมไปว่ามาตรฐานของคำว่า "เด็กคุณภาพ" น่าจะต้องรวมมิติทางจิตใจ ศีลธรรม จริยธรรมและการเรียนรู้เพื่ออยู่ในสังคมตามหลักความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotient หรือ E.Q) มาพิจารณาประกอบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการวัด "ความดี" "ความเก่ง" และ "ความสุข" ในอัตราส่วนใกล้เคียงกัน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากลายเป็นคนฉลาดแต่ไร้จริยธรรม, เป็นคนดีที่ไม่มีใครคบ หรือเป็นคนเก่งที่ไม่มีความสุข


 


การดูแลแต่เพียงสมองของเด็กจึงไม่เพียงพอสำหรับการอยู่รอดในสังคม พ่อแม่ควรให้ความสำคัญกับการดูแลเข้าไปถึงหัวใจของลูก ทั้งความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ ความชอบและความต้องการภายในมากไปกว่าการบังคับขู่เข็ญและคาดหวังเพื่อชดเชยบางสิ่งบางอย่างที่ขาดหายของพ่อแม่ในอดีต


 


ทุกคนย่อมปรารถนาครอบครัวที่เป็นสุข มีลูกที่น่ารัก เป็นเด็กดีและมีพัฒนาการตามวัยที่สมควร หากพ่อแม่ผู้ปกครองใช้หลักเลี้ยงลูกให้พอดีและให้ความรักที่พอเพียงกับความสุขที่พอควร ชีวิตย่อมยุ่งยากน้อยลงแต่กลับโปร่งสบายมากขึ้น ความคาดหวังโดยเฉพาะกับตัวลูกก็จะค่อยๆ ลดระดับลง


 


พระไพศาล วิสาโล กล่าวถึงความสุขที่ถูกมองข้ามไว้ว่า "ความพอใจในสิ่งที่เรามีนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่ที่เป็นปัญหาก็เพราะเราชอบมองออกไปนอกตัว และเอาสิ่งใหม่มาเทียบกับของที่เรามีอยู่ หากไม่ก็เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น คงไม่มีอะไรที่จะทำให้เราทุกข์ได้บ่อยครั้งเท่ากับการชอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น การเปรียบเทียบจึงเป็นหนทางลัดไปสู่ความทุกข์ที่ใครๆนิยมใช้กัน ซึ่งนิสัยชอบเปรียบเทียบทำให้เราไม่เคยพอใจในสิ่งที่ตนมี แม้มีลูกที่น่ารักก็ยังไม่พอใจเพราะรู้สึกว่าสู้ลูกของคนอื่นไม่ได้…บ่อเกิดแห่งความสุขมีอยู่กับเราทุกคนในขณะนี้อยู่แล้ว เพียงแต่เรามองข้ามไปหรือไม่รู้จักใช้เท่านั้น เมื่อใดที่เรามีความทุกข์ แทนที่จะมองหาสิ่งนอกตัว ลองพิจารณาสิ่งที่มีอยู่ ไม่ว่ามิตรภาพ ครอบครัว สุขภาพ ทรัพย์สินหรือจิตใจของเรา ล้วนสามารถบันดาลความสุขให้แก่เราได้ทั้งนั้น พอเพียงแต่เรารู้จักชื่นชม รู้จักมอง และจัดการอย่างถูกต้องเท่านั้น…"


 


ไม่ต่างอะไรกับความสุขในครอบครัวที่สามารถสร้างได้ด้วยการใส่ใจดูแลความรู้สึกของสมาชิกแต่ละคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สึกของเด็กที่มักไวต่อพฤติกรรมและการแสดงออกของผู้เป็นพ่อแม่ดังที่ผลสำรวจหลายชิ้นออกมาสอดคล้องกันว่าสิ่งที่เป็นสาเหตุหลักของความเครียดในเด็กมาจากความกดดันจากพ่อแม่ทั้งที่รับรู้ได้โดยตรงและโดยอ้อม


 


เพราะสุดท้ายความเครียดของเด็กที่เริ่มต้นจากพ่อแม่จะหมดไปได้เพราะทัศนคติและการกระทำที่เด็กรับทราบได้จากดีกรีความคาดหวังของพ่อแม่ด้วยเช่นกัน


 


ข้อมูลอ้างอิง


1. "เด็กนับล้าน เครียดหนัก ถึงขั้นวิกฤต เข้าคิวแน่น พบจิตแพทย์" พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่  3 มีนาคม 2549"


2. บทความ "ความสุขที่ถูกมองข้าม" ในหนังสือแผนที่ความสุข. พระไพศาล วิสาโล, หน้า 12-17.2549


3. ธรรมสามัญประจำชีวิต "ความรัก". แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต. 2549