Skip to main content

สงสารเด็ก

คอลัมน์/ชุมชน


เด็กๆเป็นเหมือนผ้าขาวที่ซึมซับอะไรได้โดยง่าย ยังไม่มีการกลั่นกรองด้วยเหตุผลเหมือนผู้ใหญ่ ใครพูดอย่างไร ก็เชื่ออย่างนั้น จำเอามาพูด จำเอามาทำตาม



 


ประสบการณ์ใกล้ตัว ที่บ้าน กรุงเทพฯ


 


ที่ระเบียง  หลานสาวตัวเล็กวัย 4 ขวบกว่า กำลังเล่นน้ำในสระเป่าลม ฮัมเพลง ส่ายหัวไปมา อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน ไม่ไกลจากสระเป่าลม คุณยายกำลังติดตามการเมืองอย่างเข้มข้น จากทางวิทยุคลื่นหนึ่ง ที่สลับคั่นด้วยเสียงตะโกนขับไล่ผู้นำเป็นระยะ ๆ ว่า ทักษิณออกไป  ทักษิณออกไป ไม่นาน หลานสาวก็เปลี่ยนเนื้อเพลง  กลายเป็นเนื้อเดียวกับที่ได้ยินทางวิทยุ... ทักษิณออกไป   ทักษิณ ออกไป ....


 


การสังเกต  เมื่อคราวเดินทางไปทางภาคตะวันออก จังหวัดชายทะเล


 


ร้านอาหาร ที่ได้แวะพักทานข้าว ตั้งแต่ร้านก๋วยเตี๋ยวปลา จังหวัดชลบุรี ร้านก๋วยเตี๋ยวหมู จังหวัดระยอง ร้านขายอาหารตามสั่ง และร้านขายของชำในจังหวัดตราด ทุกร้านที่แวะ อาจจะด้วยความบังเอิญหรืออย่างไรไม่ทราบได้ ล้วนเปิดทีวี ช่อง ASTV  ทุกร้านมีเสียงตะโกนจากทีวี  ทักษิณ ออกไป   ทักษิณ ออกไป ดังก้อง ทั้งน้ำเสียง  ท่าทาง รวมทั้งภาษาที่ใช้ บนเวทีของผู้ชุมนุม ที่ไม่ค่อยเสนาะหู ยิ่งใช้ภาษาที่หยาบเท่าใด ก็ดูเหมือนจะเป็นที่ชื่นชอบ และสะใจผู้มาร่วมชุมนุมมากขึ้นเท่านั้น ไม่แน่ใจว่าผู้พูดได้ตระหนักหรือไม่ว่า คำพูดทุกคำล้วนถูกถ่ายทอดผ่านสื่อมวลชนที่ทุกเพศ ทุกวัยเข้าถึงได้โดยง่าย


 


แอบได้ยินเสียงบ่นจากบรรดาแม่ๆ (ที่มีลูกเล็กๆนั่งอยู่ใกล้ๆ) ที่เป็นลูกค้าของร้านสนทนากันว่า ไม่อยากให้เด็กๆ ได้ฟัง ได้ดูเลย  จะได้กลายเป็นเด็กที่ก้าวร้าวแน่ๆ หากได้ฟัง ได้ดูแบบนี้ทุกวัน


 


เมื่อพูดถึงความก้าวร้าว หลายคนอาจคิดว่าเป็นการแสดงออกทางด้านความรุนแรงทางการกระทำทางกายแต่แท้จริงแล้วความก้าวร้าวมี 2 ชนิดคือ


1. ความก้าวร้าวทางกาย เป็นความก้าวร้าวที่แสดงออกโดยอวัยวะทางกาย


2. ความก้าวร้าวทางวาจา เป็นการตอบสนองต่อสิ่งที่มากระตุ้น โดยใช้ถ้อยคำทำให้ผู้อื่นเจ็บปวด เช่น การตำหนิติเตียน การพูดคำหยาบ การพูดโจมตี การพูดส่อเสียด ประชดประชัน หรือ พูดให้ผู้อื่นสะเทือนใจ


                  


ดังคำนิยามของคำว่าก้าวร้าวที่กล่าวว่า ความก้าวร้าวคือ ความพยายามของคนที่จะทำร้ายผู้อื่น ซึ่งรวมถึงการกระทำโดยทางร่างกาย เช่น การต่อสู้ทั้งมีอาวุธและไม่มีอาวุธ และการกระทำโดยสัญลักษณ์ เช่น การดูถูก การข่มขู่


 


ปฏิเสธไม่ได้ว่า สื่อทุกวันนี้เต็มไปด้วยการนำเสนอความก้าวร้าว ซึ่งน่าจะทำเพื่อให้ผู้ชมสนใจ ในการกระทำและวาจา


 


นักวิชาการที่ชื่อว่า พอตเตอร์ (Potter) ได้เขียนหนังสือกล่าวถึงผลกระทบของเปิดรับสื่อที่แสดงเนื้อหาก้าวร้าว ว่าอาจส่งผลต่อผู้รับในระยะสั้นและระยะยาวว่า    


 


ผลกระทบระยะสั้น


1.       ชักนำให้ผู้เปิดรับสื่อเกิดความก้าวร้าวขึ้นภายในใจ


2.       ก่อให้เกิดความหวาดกลัว


 


ผลกระทบระยะยาว


1.       ก่อให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวในอนาคต


2.       ก่อให้เกิดสังคมที่มีความก้าวร้าวรุนแรง


3.       ทำให้ผู้เปิดรับสื่อเพิกเฉยต่อความรุนแรงใด ๆ ที่เกิดขึ้น เนื่องจากเห็นเป็นเรื่องปกติ


 


นอกจากนี้มีนักวิจัยที่ชื่อว่าแบนดูรา ได้ทำการวิจัยเชิงทดลองเพื่อทดสอบหาการเลียนแบบความรุนแรงของเด็ก ซึ่งมีอิทธิพลจากผลกระทบของความก้าวร้าวรุนแรงในสื่อ พบว่า เด็กที่เปิดรับความรุนแรงจะเพิ่มพฤติกรรมก้าวร้าว โดยเฉพาะเด็กที่เปิดรับการต่อสู้ของผู้ใหญ่ในรูปแบบการนำเสนอเชิงชีวิตจริง (Real life) จะมีที่พฤติกรรมก้าวร้าวมากกว่าเด็กผู้ไม่ได้เปิดรับสื่อถึง 2 เท่า  แต่เด็กที่เปิดรับความรุนแรงทางสื่อโทรทัศน์ อาจไม่เกิดพฤติกรรมเลียนแบบกับคนแปลกหน้าในทันที แต่หากเปิดรับจนถึงระดับหนึ่ง ก็จะมีผลกระตุ้นให้เกิดการเลียนแบบพฤติกรรมก้าวร้าวได้ในอนาคต นั่นแสดงให้เห็นว่าการเปิดรับความรุนแรงบ่อย ๆ นั้น สามารถเกิดการสะสม เป็นประสบการณ์และส่งผลให้ก่อรูปเป็นลักษณะบุคลิกภาพในตัวเด็กได้


 


ลองนึกถึงอนาคตของชาติ ว่าเด็กๆ วัย 3-12 ขวบ ที่เปิดรับข่าวสารทางการเมืองขณะนี้ร่วมไปกับพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่อย่างไร สังคมเราอีก 10-20 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ตอนนี้ได้ยินแต่บอกว่าผู้ใหญ่ว่า อย่าเครียด อย่าเครียด ไม่มีใครกล่าวถึงเด็กๆ ตัวน้อยๆ ที่ต้อง (ทน) ดู ฟัง ข่าวสารการเมืองกับพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ยิ่งช่วงนี้ปิดเทอมด้วย ได้ดูเต็มสองตา ได้ยินเต็มสองหู


 


ขอเถอะนะคะ พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ถ้ามีหนูอยู่ใกล้ๆ กรุณาเปลี่ยนช่อง เปลี่ยนคลื่น เถอะนะคะ หนูอยากเป็นเด็กน่ารัก ไม่ก้าวร้าว แต่ถ้าหนูโตขึ้นเป็นเด็กก้าวร้าว คงไม่ต้องบอกนะว่าเพราะใคร