Skip to main content

เสรีภาพสื่อกับความมั่นคงของมนุษย์

คอลัมน์/ชุมชน



ไม่นานนัก เราเริ่มได้ยินสังคมพูดถึงประเด็นความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security) และมีการตื่นตัวกำหนดให้วาระดังกล่าวมีความสำคัญระดับประชาคมโลก มีองค์การสหประชาชาติเป็นผู้รับผิดชอบหลักทำหน้าที่กระตุ้นให้รัฐบาลแต่ละประเทศออกนโยบายที่เป็นรูปธรรมและกำหนดแผนงานเน้นการทำงานร่วมกันขององค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งองค์กรภาคประชาชน เพื่อช่วยเสริมสร้างความมั่นคงของสมาชิกโลก



 


ในรายงานคณะกรรมการความมั่นคงของมนุษย์กล่าวถึงความหมายความมั่นคงของมนุษย์ไว้ว่า เป็นการคุ้มครองอิสรภาพที่สำคัญ คุ้มครองประชาชนจากการคุกคามหรือสถานการณ์ที่วิกฤติและลุกลามบั่นทอนกำลังหรือปณิธานของประชาชน และหมายถึงการสร้างระบบที่ช่วยให้ประชาชนมีปราการในการต่อสู้ การมีศักดิ์ศรีและการดำรงชีพ ซึ่งเชื่อมโยงอิสรภาพในรูปแบบต่าง ทั้งอิสรภาพจากความต้องการ อิสรภาพจากความกลัว และอิสรภาพในการกระทำตามที่ตนปรารถนาโดยไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน  โดยจะทำเช่นนั้นได้ต้องอาศัยปัจจัยช่วยอยู่ 2 เรื่องได้แก่  การคุ้มครองและการให้อำนาจ โดยเฉพาะการให้อำนาจที่ทำให้ประชาชนสามารถพัฒนาศักยภาพและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจได้อย่างเต็มที่ ความมั่นคงของมนุษย์ด้วยการยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนานำมาซึ่งความมั่นคงแห่งรัฐ ในขณะที่การเคารพสิทธิมนุษยชนถือเป็นหัวใจของการคุ้มครองความมั่นคงของมนุษย์ในบริบทสากล


 


สื่อมวลชนเป็นสถาบันหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพแห่งความมั่นคงของมนุษย์   ด้วยการทำหน้าที่ให้ข้อมูลทักษะเพื่อชีวิตและประเด็นการเมือง   ตลอดจนเป็นปากเป็นเสียงให้ประชาชนในการถกปัญหาสาธารณะและให้การศึกษาเพื่อการพัฒนาศักยภาพประชาชน หน้าที่ของสื่อมวลชนไม่เพียงแต่จะต้องให้ข้อมูลและทักษะที่จะช่วยปรับปรุงโอกาสของคนแล้ว แต่ควรจะช่วยให้ประชาชนใช้สิทธิอันชอบธรรมและส่งเสริมความรับผิดชอบในฐานะพลเมืองที่ดี ทว่าที่ผ่านมา…จากหลายปรากฏการณ์ที่ผ่านมากลับพบว่าสื่อมวลชน "ไม่" สามารถแสดงบทบาททำหน้าที่สื่อมวลชนได้อย่างอิสระเสรีและสมบูรณ์    ทั้งการ "แจ้งเพื่อทราบ (Inform)", "ให้ความรู้ (Educate), และ "ชี้นำ (Persuade)  ที่เห็นอยู่คงเหลือแต่บทบาทการเป็นตัวกลางให้ความบันเทิง (Entertain) เป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นหน้าที่เดียวที่เหมือนจะปลอดภัยห่างไกลความขัดแย้ง, อำนาจการควบคุมและการแทรกแซงของผู้มีอำนาจในทุกระบบ


 


สัปดาห์ที่ผ่านมามีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น ซึ่งต้องบรรจุไว้ในหน้าประวัติศาสตร์สื่อไว้อีกหนึ่งบทใหญ่ หนึ่งในความเคลื่อนไหวคือ การรวมตัวกันของสื่อกว่าพันชีวิตประกาศเจตนารมณ์ต้านการคุกคามสื่อทุกรูปแบบ ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน โดยมีองค์กรวิชาชีพสื่ออันประกอบด้วยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ โดยมีนักข่าว หัวหน้าข่าว บรรณาธิการและผู้บริหารสื่อแทบทุกสำนักร่วมกันออกแถลงการณ์ต้านการคุกคามสื่อรวมทั้งสิ้น 13 ข้อ


 


เจตนารมย์ต้านการคุมคามสื่อมีความชัดเจนและตอกย้ำการทำหน้าที่สื่อมวลชนได้เด่นชัด เสรีภาพการรายงานข่าวเพื่อสนองสิทธิ์ในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนเป็นหัวใจของวิชาชีพสื่อมวลชน ดังเช่น เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีซีไรต์ได้กล่าวกับสื่อมวลชนไว้ว่า  "เป้าหมายอันสูงสุดคือการมีส่วนร่วมของประชาชน อำนาจของประชาชนไม่ได้อยู่ที่ใครทั้งนั้น แต่อยู่ที่ปากเสียงของเราทุกคน อยู่ที่การแสดงบทบาทรัฐที่ต้องส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจทางการเมือง การพัฒนาสังคมเศรษฐกิจ การเมือง รวมทั้งการตรวจสอบอำนาจรัฐทุกระดับ"


 


หาก "สื่อมวลชน" ปราศจากความมั่นคงในชีวิตและต้องเผชิญกับความรู้สึกไม่ปลอดภัยจากการคุกคามในการประกอบหน้าที่ตามวิชาชีพอย่างอิสระแล้ว ประชาชนก็จะไร้ซึ่งความมั่นคงในชีวิตและขาดสวัสดิภาพแห่งความเสรีประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน เพราะเสรีภาพสื่อก็คือเสรีภาพประชาชน การคุกคามสื่อคือการคุกคามประชาชน การไม่สามารถทำหน้าที่แทนประชาชนในการตรวจสอบปรากฏการณ์ของสังคมถือเป็นการไม่สามารถสะท้อนเจตนารมย์ของประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศได้อย่างเสรี


 


เจตนารมย์ทั้ง 13 ข้อจากสมาคมวิชาชีพสื่อมวลชนมีความน่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาตามกรอบความมั่นคงของมนุษย์ในมิติของความมั่นคงส่วนบุคคลซึ่งหมายถึงความปลอดภัยและความรู้สึกปลอดภัยจากการประทุษร้ายทางร่างกายและทรัพย์สิน และมิติของสิทธิและความเป็นธรรม ซึ่งหมายถึงการที่บุคคลได้รับการเคารพในสิทธิ ไม่ถูกล่วงละเมิดสิทธิ และรู้สึกถึงการได้รับโอกาสจากสังคมอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมแล้วจะสังเกตได้ว่าสื่อมวลชนไทย "ขาด" เสรีภาพในการประกอบวิชาชีพ อีกนัยหนึ่งคือการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบปรากฏการณ์ทางสังคมได้อย่างอิสระ


 


ดังเช่นเจตนารมย์ในข้อ 2 ที่ระบุว่า "ในรอบปีที่ผ่านมา สื่อมวลชนนำเสนอข่าวการตรวจสอบผู้มีอำนาจแล้วถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายนับหมื่นล้านบาท…มีการคุกคามสื่อมวลชนที่เลวร้ายว่าด้วยการกระทำอย่าง "ป่าเถื่อน" ใช่แต่คุกคามเสรีภาพและความเป็นอิสระของสื่อมวลชน หากแต่ยังกระทำการอันเป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้ทำงานสื่อราวกับเราอยู่ในยุคการใช้อำนาจอย่างป่าเถื่อนของเผด็จการครองเมือง" ซึ่งเป็นจุดต่อเนื่องไปยังเจตนารมย์ในข้อ 3, 4, 5 และ 6 จนเป็นที่มาของการรวมตัวเพื่อต่อต้านการคุกคามสื่อหรือการครอบงำสื่อในทุกรูปแบบให้หมดไปในขณะที่จะยังยืนหยัดทำหน้าที่สื่อเพื่อประชาชนอย่างเต็มกำลัง


 


อิสรภาพและเสรีภาพในการทำงานสื่อเป็นสิ่งสำคัญเพราะสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสรีในกรอบการปฏิบัติงานของสื่อเพื่อประชาชน หากสื่อซึ่งเปรียบเป็นสถาบันสะท้อนความจริงไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างชอบธรรม หากแต่ยังถูกคุกคามจากผู้มีอำนาจรัฐทั้งที่เปิดเผยและจากการแทรกแซงที่แยบยลแล้ว ประชาชนคงไม่ต่างจากการถูก "ปิดตาย" ทางความคิดจนไม่สามารถเข้าถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสังคม


 


หากสถาบันเพื่อประชาชนอย่างสื่อมวลชนยังต้องประกอบวิชาชีพอยู่บนความไม่แน่นอนและความกลัวจากการถูกคุกคามแล้ว ประเทศไทยก็คงไม่ต้องมาเสียเวลากับการพูดถึงความชอบธรรมและความเท่าเทียมของคนทุกคนในประเทศ เพราะการคุกคามเสรีภาพสื่อย่อมหมายถึงการคุกคามเสรีภาพและอิสรภาพของประชาชน ซึ่งเท่ากับลิดรอนความมั่นคงของมนุษย์ โดยเฉพาะการถูกลิดรอนสิทธิแห่งการเข้าถึงข้อเท็จจริง ท่ามกลางความวิกฤตในความอึมครึมของสถานการณ์ที่กำลังบั่นทอนกำลังของสื่อเหมือนอย่างที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ในเวลานี้


 


เอกสารอ่านประกอบ


1. ความมั่นคงของมนุษย์ในประเทศไทย. สำนักมาตรฐานการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์


2. จุดยืนกวีซีไรต์กับสื่อ โดยเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์. หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ หน้า A6. วันที่ 5 เมษายน 2549


3.ประกาศเจตนารมย์ต้านการคุกคามสื่อ. หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ หน้า A6. วันที่ 5 เมษายน 2549


4. Human Security : Youth Perspectives. เอกสารประกอบการประชุมแลกเปลี่ยนของนักศึกษาว่าด้วยเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (HCAP 2006).2549.