Skip to main content

ทำไมทั่นผู้นำจึงเดือดร้อนกับการ "ฉีกบัตร" ?!?

คอลัมน์/ชุมชน


ผมรู้สึกว่า "การฉีกบัตรเลือกตั้ง" จะสร้างความรู้สึกหงุดหงิดใจเป็นอย่างมากให้กับทั่นผู้นำและพลพรรค


 


กะอีแค่ "บัตรเลือกตั้ง" ไม่กี่ใบ ทำด้วยกระดาษคุณภาพตํ่าๆ แทบไม่มีมูลค่าอะไรเลย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเงินงบประมาณแผ่นดินของรัฐบาลที่ทั่นฯเอาไป "แจกชาวบ้าน" หรือเอาไปซื้อแอร์ฟอร์ซวัน หรือเมื่อเทียบกับเงิน "ขายสมบัติชาติ" ที่ทั่นฯ ได้จาก "เมืองสิง" ๗ หมื่นล้าน


 


มิหนำซํ้า ผู้ที่ต้องได้รับโทษทางกฎหมายก็คือผู้ฉีกบัตรเลือกตั้ง ซึ่งดูๆ แล้วก็ไม่ได้เป็นคนที่พิสมัยทั่นผู้นำและพลพรรคเท่าใดนัก หากคนพวกนี้ติดคุกติดตะราง ทั่นฯน่าจะสำเริงสำราญใจ หัวร่อร่าอยู่จันทร์ส่องหล้า


 


แต่ที่ไหนได้ ยิ่งคนออกมาฉีกบัตร ทั่นผู้นำและพลพรรคยิ่งอารมณ์บ่จอย


 


ทั่นผู้นำให้สัมภาษณ์ว่า "ที่มีการฉีกบัตรเลือกตั้งนั้น วันนี้มีเพี้ยนนิดหน่อย นักเศรษฐศาสตร์บอกว่าอย่าเสียภาษี นักนิติศาสตร์บอกว่าให้ฉีกรัฐธรรมนูญ นักรัฐศาสตร์บอกว่าให้ฉีกบัตรเลือกตั้ง ก็มันเพี้ยนนิดหน่อย หวังว่าประเทศไทยจะไม่เพี้ยนนานมาก" (มติชน ๒๔ เม.ย.)


 


ส่วนไพร่พล เช่น เอกพร รักความสุข แห่งพรรคไทยเลิฟไทย ผู้ที่เคยอยู่เคียงข้างประชาชนใน "พฤษภา ๓๕" แต่น่าเสียดายกลายเป็น "one of them" ไปซะแร้ว ให้สัมภาษณ์ว่า "การฉีกบัตรเลือกตั้ง เป็นความผิดปกติทางจิตอย่างรุนแรง หากปล่อยไว้จะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้เห็นว่าการเลือกตั้งไม่ดีต่อระบบรัฐสภา" (มติชน ๒๕ เม.ย.)


 


อารมณ์เดียวกับจตุพร พรหมพันธ์ อดีตคนหนุ่มแห่งเดือนพฤษภา ที่กลายเป็นรองโฆษกไทยเลิฟไทย แถลงว่า "การฉีกบัตรเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ควรประณาม ทั้งนี้ขอเรียกว่าอาสวะขัดขืน เพราะการฉีกบัตรเลือกตั้งนั้น ปัญญาชนไม่ควรกระทำ" (มติชน ๒๕ เม.ย.)


 


นี่ยังไม่นับรวม ๔ เสือ กกต. ที่ออกอาการเหงื่อแตกเหงื่อแตนที่คนพากันฉีกบัตรเลือกตั้งกันในหลายพื้นที่ จนสี่เสือ (โดยเฉพาะหัวหน้าหมู่) พากันออกมาขู่โทษคนฉีกถึงขั้นจะเอาให้ติดคุกติดตะราง


 


ทีพรรคใหญ่แอบหนุนพรรคเล็ก ทั่นฯซื้อเสียง สัญญาว่าจะให้คอมฯ แม่ยายแจกเสื้อ... กกต.ไม่เคยขู่เลย ชื่นใจประชาชนมาก...


 


ผมเห็นว่า ที่ผ่านมาทั่นฯ และพลพรรค รวมทั้ง กกต. ประสานเสียงกันมาตลอดเรื่อง "การไปเลือกตั้ง" "เลือกตั้งเพื่อรักษากติกา" "เลือกตั้งคือประชาธิปไตย"


 


จนดูเหมือนว่า เลือกตั้งจะเป็นคำตอบสุดท้าย


 


ทว่าแท้จริงแล้ว การเลือกตั้งไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของประชาธิปไตย ประเทศที่เนื้อแท้ไม่เป็นประชาธิปไตยหลายแห่งก็มีการเลือกตั้ง เช่น สิงคโปร์ ที่ทั่นฯชอบไปชอปปิ้ง (หรือแอบไป selling?)


 


การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในมิติต่างๆ เป็นปัจจัยสำคัญของประชาธิปไตยมากกว่าเพียงการไปหย่อนบัตร แล้วดูนักการเมืองทำงานไปเรื่อยๆ โกงบ้าง ฉ้อฉลบ้าง มุสาบ้าง ละเมิดสิทธิมนุษยชนบ้าง – จะเอาแบบนี้แล้วเรียกว่าเป็น "ประชาธิปไตย" มันจะไหวรึ?


 


แต่ที่ทั่นฯ และพลพรรค ต้องสมาทาน "การเลือกตั้ง" ไปไว้ในหัวใจ ก็เพราะที่ผ่านมา ทั่นฯได้ทำพฤติกรรมน่าสงสัย ส่อไปในทางทุจริต มีผลประโยชน์ทับซ้อน ฯลฯ เอาไว้มากมาย (ขี้เกียจร่ายครับ มันยาว เปลืองที่)


 


ใครต่อใครชวนไปดีเบตออกโทรทัศน์ ทั่นฯก็ "just say no" ยกเว้นไปออกกับสรยุทธ สุดเลิฟหนเดียว แล้วก็ไม่กล้าขึ้นเวทีคู่กับใครที่ไหนอีกเลย


 


ครั้นพอใกล้จะถึงวันที่สภาจะอภิปรายประเด็นสีเทาเหล่านั้น ทั่นฯ ก็ยุบสภา (หนี?) อ้างว่าให้ประชาชนไปเลือกตั้งเพื่อตัดสินใจ (ดีกว่า?)        


 


กระบวนการเลือกตั้งที่สุจริตนั้น เขาเอาไว้หาผู้แทนฯไปทำงาน แต่การพิจารณาว่านักการเมืองทำผิดกฎหมายหรือไม่นั้น ต้องไปใช้บริการสภา หรือศาลครับ


 


ไม่ใช่ยุบสภาแล้วไปเลือกตั้ง


 


แถมการเลือกตั้งที่จัดขึ้นโดยกกต.ยอดรัก ก็เป็นที่เคลือบแคลงสงสัยมากมาย ตั้งแต่ใช้นวตกรรมลํ้าเลิศ "ปั๊มตรายาง" แทนใช้ปากกา จัดคูหาเปิดให้คนอื่นมองเห็นการลงคะแนน มีกระบวนการที่ส่อเจตนาชัดเจนมากในการให้พรรคเล็กได้ลงแข่งประกบพรรคใหญ่เพื่อหนี "๒๐ เปอร์เซ็นต์" หรือการเร่งรับรองผลการเลือกตั้งเพื่อให้ผู้สมัครพรรคเล็กที่แพ้ ไปเวียนเทียนลงสมัครได้ในเขตอื่น


 


ทั้งหมดนี้ กกต.เขาไม่ได้ทำเพื่อใคร ถ้าไม่ได้ทำ "เพื่อคุณ"


 


ดังนั้น การทำผิดกฎหมายโดยการ "ฉีกบัตร" จึงเป็นเสมือนการ "ฉีกหน้ากาก" เพื่อเปิดให้สังคมได้มองเห็นและตระหนักถึงเบื้องหลังอันเน่าเฟะของการเลือกตั้งที่ขาดความชอบธรรมโดยสิ้นเชิงในครั้งนี้


 


กระดาษแผ่นเดียว ราคาไม่กี่สตางค์ ได้ทำให้ทั่นผู้นำ พลพรรค และ กกต.เดือดพล่าน ราวกับถูกทุบกล่องดวงใจจนแหลกเหลว


 


หากแพ้โนโหวต ทั่นฯอาจจะอ้างว่า ทั่นฯแพ้เลือกตั้ง แต่คนออกมาฉีกบัตร ก็คือประจานให้โลกรู้ถึงความฉ้อฉลของระบอบทั่นฯ นั่นเอง


 


ทั่นฯ จึงเดือดมั่กๆ