Skip to main content

กระบวนการ "ปูพรมแดง" ให้ทั่นผู้นำคัมแบ๊ก

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


ในที่สุดแล้ว "ทั่นผู้นำ" ก็กลับมาทำงานที่ทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง โดยให้คำอธิบายว่า ยังต้องรอการเลือกตั้งอีกนาน และต้องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหายาเสพติด และปัญหาภาคใต้


 


ในที่นี้คงจะไม่ตอบคำถามว่า ปัญหาเหล่านั้นต้องแก้ไขอย่างไร แต่คำถามที่น่าสนใจกว่าในเชิงการสื่อสารและอยากชวนแลกเปลี่ยนก็คือว่า ประเด็นปัญหาข้างต้น ได้ถูกหยิบมารับใช้ในฐานะ "พรมแดง" เพื่อปูทางให้ทั่นผู้นำกลับมาทำเนียบฯ ไวกว่าที่เคยได้ลั่นวาจา (เคล้านํ้าตา) เอาไว้ ได้อย่างไร?


 


การจะตอบคำถามข้างต้น จะขออ้างอิงทฤษฎีทางด้านการสื่อสาร ซึ่งมีชื่อเรียกว่า "การสร้างความหมายทางสังคมให้แก่ความเป็นจริง" หรือ Social Construction of Reality


 


ทฤษฎีนี้อธิบายว่า กระบวนการสื่อสารจะ "สร้างความเป็นจริง" จากเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้นมา หรือพูดอีกอย่างก็คือว่า ในการสื่อสารนั้นมีกระบวนการที่สามารถ "หยิบ" เอาเหตุการณ์มา "สร้าง" เป็นข่าวได้ต่างกันไป


 


เช่น กรณีทั่นผู้นำกลับไปทำงาน ก็มีการ "สร้าง" คำอธิบายว่า เป็นเพราะต้องการแก้ไขปัญหาสารพัดให้ดีขึ้น โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ แต่ในเรื่องเดียวกันนี้ นสพ.ผู้จัดการเอาไปสร้างคำอธิบายที่ต่างออกไปว่า "หุ้นตกต้อนรับทักษิณ" – ราวกับเป็น "คนละเรื่องเดียวกัน"


 


อีกตัวอย่างหนึ่งเช่น เหตุการณ์ทางภาคใต้นั้น ฝ่ายที่มีเสียงดังในสังคมก็จะพาเหรดพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นปัญหาจาก "โจรชั่ว ใจอำมหิต" แต่หากให้พี่น้องไทยมลายูบางคนได้พูดผ่านสื่อบ้าง เขาหรือเธอก็อาจจะบอกว่า ความรุนแรงเหล่านี้เกิดจากพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรม จึงต้องแสวงหาความเป็นธรรมเอาเองจากวิธีนอกระบบ (ซึ่งเป็นการ "ฟ้อง" ให้เห็นว่าระบบยุติธรรมของไทยนั้นมีปัญหา ต้องรีบแก้ไข แต่ดูเหมือนทั่นผู้นำและพลพรรคจะไม่รับฟังคำอธิบายเช่นนี้เอาเสียเลย)


 


ทฤษฎีที่ว่านี้ ชี้ให้เห็นว่า สื่อมวลชนสามารถสร้าง "ความเป็นจริงทางสังคม" ขึ้นมาแวดล้อมบุคคลได้ โดยจะพยายามสร้างความเป็นจริงให้สอดรับกับประสบการณ์หรือความเชื่อเดิมของคน แม้ว่า "ความเป็นจริงทางสังคม" นั้นอาจจะต่างไปจาก "ความเป็นจริงทางกายภาพ" โดยสิ้นเชิงก็ตาม เช่น ซัดดัม "ถูกทำให้" เป็นวายร้ายในสายตาชาวโลก แต่ในความเป็นจริงเขาก็เป็นผู้นำที่มีส่วนดีในสายตาของคนอิรักส่วนหนึ่งเช่นกัน


 


ดังนี้แล้ว จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมทั่นผู้นำ และพลพรรคไทยเลิฟไทย นอกจากจะพยายามทำหมันองค์กรตรวจสอบต่างๆ แล้ว ยังต้องแทรกแซงสื่อให้ถึงที่สุด ทั้งนี้ก็เพื่อจะกำหนดให้สื่อ "สร้างความเป็นจริงทางสังคม" ให้คนไทยได้รับทราบ ในแบบที่ทั่นผู้นำต้องการนั่นเอง (ใครสนใจจะตรวจสอบ "ใบเสร็จ" การแทรกแซงสื่อที่ทั่นผู้นำทิ้งเรี่ยราดไว้ สามารถตรวจสอบได้จากวิทยานิพนธ์และรายงานวิจัย ที่มีอยู่ล้นห้องสมุดของสถาบันอุดมศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ทั่วประเทศ)


 


ทีนี้กลับมาดูวิธี "สร้างความเป็นจริงทางสังคม" ในการ "ปูพรมแดง" ให้ทั่นผู้นำ ได้คัมแบ๊กสู่ทำเนียบรัฐบาล


 


เริ่มจากการที่ กกต.ประชุมพรรคการเมือง (ซึ่งมีหนึ่งพรรคใหญ่กับหลายพรรคเล็ก) เมื่อกลางพฤษภาคม โดยที่ประชุมมีมติ (ที่คาดไม่ถึง) ในการกำหนดวันเลือกตั้งที่ยืดยาวออกไปถึงเดือนตุลาคม


 


นอกจากนี้นับตั้งแต่ยุบสภา ยันลาพัก สื่อมวลชนไทยเกือบทั้งหมด รวมทั้งกรมประชาสัมพันธ์ ไม่เคยระบุตำแหน่งตามกฎหมายของทั่นผู้นำว่าเป็น "รักษาการนายกรัฐมนตรี" เลย ราวกับเกรงว่า คำเรียกขานดังกล่าวจะทำให้ทั่นผู้นำด้อยคุณค่าลงไปเกินกว่าจะ "คัมแบ๊ก" ได้อย่างสง่างาม


 


ขณะเดียวกันข้อมูลเรื่องปัญหายาเสพติด ปัญหาภาคใต้ และปัญหาเศรษฐกิจ ก็ "ถูกหยิบ" ขึ้นมาพูดถึงอย่างหนักหน่วง


 


ประเด็นต่างๆ ข้างต้นได้ถูกสื่อมวลชน และพลพรรคที่คุมสื่อมวลชนอีกที โหมกระแสเพื่อ "สร้างความเป็นจริงทางสังคม" ให้เห็นว่า ประเทศไทยกำลังแย่ และคนที่จะมาแก้ปัญหานี้ได้มีคนเดียวเท่านั้น ก็คือ.... (กลองรัว)


 


 "ทั่นผู้นำหน้าเหลี่ยมมมมม..." (เสียงปรบมือ พร้อมไฟส่องไปยังภาพที่ทั่นผู้นำออกเยี่ยมชาวบ้านผู้ประสบภัยนํ้าท่วม) -- ช่างเป็นภาพที่ซาบซึ้งประทับใจ สอดรับกับความต้องการของพี่น้องประชาชนเหลือเกิน


 


อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีการสร้างความหมายทางสังคมให้แก่ความเป็นจริง ยังมีต่อว่า แม้ว่าสื่อและผู้คุมสื่อจะสร้างความจริงทางสังคมมารายล้อมประชาชนได้ แต่ประชาชนคนรับสื่อก็มีโอกาส "ตีความ" ข้อมูลเหล่านั้นแตกต่างออกไปตามประสบการณ์หรือความเชื่อที่มีอยู่เดิมได้เช่นกัน


 


เช่น แม้ทั่นผู้นำจะบอกว่า ทั่นต้องกลับไปทำงานเพื่อเร่งสร้างความเชื่อมั่นแก่นานาชาติเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัว แต่ก็อาจมีประชาชนบางคนตีความต่างไปได้ว่า ทั่นผู้นำจะสร้างความเชื่อมั่นในประชาคมโลกได้อย่างไร ในเมื่อทั่นถูกคนไทยนับสิบล้านคนตั้งคำถามต่อจริยธรรมและความชอบธรรมในตัวทั่น และการกลับไปทำงานในครั้งนี้ยังเป็นการ "กลืนนํ้าลาย" ตัวเองที่เคยบอกว่าจะขอเว้นวรรคจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่


 


หรืออาจมีการตีความได้ว่า การยืดการเลือกตั้งออกไปอีก ๕ เดือน และปูพรมแดงให้ทั่นกลับไปทำงาน ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาใดๆ อย่างที่อ้าง แต่เป็นเพียงโอกาสในการ "สร้างความเป็นจริงทางสังคม" เช่น ทำงานเรียกคะแนนประชานิยม เพื่อตุนเสียงสนับสนุนเอาไว้สู้กับการอาจถูกคำสั่งยุบพรรค คล้ายๆ กับตอนใช้พลังประชาชนหนุนหลังกรณีสู้เรื่องซุกหุ้นกับศาลรัฐธรรมนูญ


 


หรือการกลับมาครั้งนี้ คือการใช้เวลา ๕ เดือนเพื่อมา "จัดการ" กับเมกะโปรเจกต์ ตั้งแต่รถไฟใต้ดิน สนามบินสุวรรณภูมิ หรือการเร่งสปีดเพื่อลงนามเอฟทีเอ เพื่อประโยชน์ของใครก็ไม่รู้ ฯลฯ ทั้งๆ ที่กิจกรรมเหล่านี้เป็นมรรยาทที่รัฐบาลรักษาการต้องไม่ทำ


 


แต่ดูเหอะ เดี๋ยวก็จะมีทีม "สร้างความเป็นจริงทางสังคม" ออกมาโหยหวนเพื่ออธิบายให้คนเชื่อว่า "ทำไมจึงต้องทำ"


 


ในยุคที่ทั่นผู้นำและพลพรรคถูกตีตราว่าไร้จริยธรรมเช่นนี้ เห็นทีว่าคนไม่เชื่อ น่าจะมีมากโขอยู่นะครับ