Skip to main content

Hilltribe Film Festival :

ผมเพิ่งกลับมาจาก งานประกาศผลรางวัลชนะเลิศหนังสั้น-สารคดี คนชนเผ่า (Hilltribe Film  Festival) จัดขึ้นโดยมูลนิธิกระจกเงา ที่สถาบันปรีดี  พนมยงค์ สุขุมวิท 55 เมื่อวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา  มีผลงานส่งเข้าประกวด 20 กว่าเรื่องทั้งสองประเภท  ผลปรากฎว่า ประเภทหนังสั้น รางวัลชนะเลิศคือเรื่อง ฝันไม่ไกล  ต้องไปให้ถึง  โดยทีมงานนรชาย  และประเภทสารคดีสั้นคือเรื่อง เล่าขาน  ตำนานเทศกาลปีใหม่ม้ง  โดยทีมงานทายาทม้ง


                       


ผมไปนั่งเป็นคนหนึ่งในกรรมการตัดสินกับเขาด้วย  แม้เทียบไม่ได้ในแง่การประชาสัมพันธ์งาน  เทียบเท่าเทศกาลหนัง  เทศกาลแฟชั่น  เทศกาลอาหาร  เทศกาลดนตรี  ฯลฯ  เทศกาลที่ได้รับแรงสนับสนุนจากรัฐและเอกชน  จนหน้าสื่อช่วยกันแพร่กระจายข่าวออกไปทุกทิศทาง 


                       


แต่งานในซอกประตูเล็กๆ บานนี้  จับใจจับตา


 


Hilltribe Film  Festival  ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าต้องเป็นเรื่องชนเผ่า  จะเป็นมุมมองไหนก็ตาม  ต้องเป็นเรื่องข้องเกี่ยวกับป่าเขา   จะเป็นคนจากป่าเขาเข้าเมือง  หรือคนในเมืองเข้าไปในป่าเขา  หรือคนในป่าเขาเล่นซ่อนหาคนป่าเขาด้วยกันเอง  สามารถทำได้ทั้งนั้น


                       


ผมยังไม่เอาหนังสั้น-สารคดีเรื่องที่ได้รับรางวัลชนะเลิศมาเขียน   หากดินฟ้าอากาศเป็นใจ  ภายในไม่กำเริบ  เกิดอารมณ์ขยันชั่ววูบขึ้นมาอย่างปัจจุบันทันด่วน  ผมคงได้นั่งลงไล่เรียงมาเขียนถึงน้ำเนื้อ กระดูก  ผิวหนัง และวิตามินในเรื่องให้อ่านกัน


                       


แต่ครั้งนี้  ขอเขียนถึงเรื่องทีไม่ได้รับรางวัลชนะเลิศ  เป็นเรื่องรองที่อยู่ในใจว่างั้นเถอะครับ(ดูราวกับว่าเรื่องชนะเลิศจะถูกพูดถึงลั่นสนั่นเมือง)


                       


"ในช่องว่างของเวลา" คือเรื่องที่อยู่ในใจ  แต่ไม่ชนะใจกรรมการทั้ง 8 คน  ซึ่งมีผมนั่งอื้อเอ่ออ่าอยู่ในนั้นด้วย


 


เรื่องนี้ เป็นสารคดีสั้น 15 นาที  โดยทีมงาน วรรณพร   ความน่าสนใจอยู่ที่ไม่มีบทพูดและพากษ์  ใช้ภาพเดินเรื่อง คู่กับเพลงประกอบ  หยิบเอาชีวิตบนรอยต่อตะเข็บชายแดนมาบอก 


 


เขาบอกอะไร?  เขาขึ้นตัวหนังสือเป็นส่วนคั่นแบ่งเนื้อหา 


 


ทัณฑสถาน  -- ภาพของหมู่บ้าน  ยอดเขาสลับซับซ้อน  ทางเดินและคนเดินเป็น


แถวเหมือนมด  ดอกไมยราบ  ดอกสาปเสือ  น้ำไหล  ประตูหมู่บ้าน  ตุ๊กตาไม้   หมู  ไก่  เตาไฟ แมว


                       


อาชญากรรม -- ปลูกผักเก็บผัก  ก่อไฟหุงต้ม  ปรุงอาหาร  ตำข้าวปุ๊ก  แบ่งชิ้นเนื้อ ทอผ้า  ก่อไฟ  เต้นรำรอบกองไฟ


                       


อาชญากร -- เด็ก  เด็กๆ กำลังนั่งดูการ์ตูนในจอทีวี   เด็กๆ เล่นตีลูกข่าง  เด็กเดาะลูกบอล  เด็กหน้าตามอมแมม  เด็กเล่นของเล่น  เด็กนั่งข้างกองไฟ  เด็กปีนรั้ว  เด็กจำนวนมากไปร่วมงานวันเด็ก  เด็กขึ้นไปเต้นแล้วถามว่าคนดีเป็นยังไง  เด็กรับของเล่น  เด็กคาบของเล่น 


                       


สุดท้าย  ยายบอกมีหลานสิคง (4 คน)  คนหนึ่งกำลังร้องวิ่งมาหา ขี้มูกโป่ง  ยายบีบขี้มูกเช็ดกับรั้วไม้ไผ่


หลานหยุดร้อง  ซุกอยู่บนแผ่นหลังยาย


นาฬิกาเก่าๆ หยุดเดิน


ใบไม้แห้งแขวนอยู่ปลายหยากไย่  หมุนคว้างอยู่กลางอากาศ


 


-จบ-


                       


จบลงอย่างนั้นจริงๆ 15 นาทีเห็นอะไร โลกตะเข็บชายแดนถูกถ่ายทอดออกมา ผ่านมุมมองที่มีมิติเนื้อหาลึกกว้างไกล  ซุ่มๆ ซ่อนๆ อยู่ข้างหลังภาพ 


                       


ปล่อยที่ว่างให้ผู้ดูตีความ 


                        

 


ผู้ถ่ายทอดเรื่องราว  ตั้งคำถามว่า  ดินแดนเหล่านี้หรือ คือแดนทัณฑกรรม  แดนอาชญากรรม  แดนอาชญากร  ออกจะดูแรง  แข็งกร้าว  แต่ภาพที่ปรากฏกลับเต็มไปด้วยความนุ่มนวลมีชีวิต


                       


นอกจากเสียงเพลงประกอบอย่างได้อารมณ์ความรู้สึกแล้ว  ยังมีเสียงจริงในภาพเล็ดลอดออกมาเป็นระยะ  เสียงจากตะเข็บชายแดน  เสียงจากดินแดนนักโทษ  เสียงของผู้เกิดมาแล้วปราศจากสัญชาติ  เหมือนพร้อมจะถูกรุกไล่ตลอดเวลา


                       


ไม่มีความหมายอะไร  เป็นขี้มูกเช็ดกับรั้วไม้ไผ่ไม่มั่นคงแน่นหนา


เป็นเข็มนาฬิกาหยุดเดิน  ย่ำเวลา


เป็นใบไม้แห้ง แขวนอยู่ปลายหยากไย่  ลอยล่อง ลิ่ว หมุนคว้างกลางอากาศ


ไม่มีความหมายอะไร.. ??!!? @ yuhu.com ..


 


สนใจหนังสั้น-สารคดีสั้น ติดต่อ pan_bannok@hotmail.com หรือ pan@bannok.com