Skip to main content

ป้าย (ไม่) ศักดิ์สิทธิ์

คอลัมน์/ชุมชน

ผมไปเที่ยวสงขลามาครับ ยังสะอาด สงบ เล็กๆ น่ารัก เหมือนเดิม


ระหว่างเดินทาง สังเกตเห็นป้ายต่างๆ มีข้อความน่าสนใจ เลยถ่ายรูปมาให้ดู


ดูเอาขำๆ นะครับ


 


ป้ายกลุ่มแรก เป็นป้ายที่ผู้เขียนขอความร่วมมือจากผู้อ่าน ให้ช่วยเว้นช่องทางเข้าออกหน้าบ้านของเจ้าของป้ายครับ


 


ป้ายในกลุ่มนี้ มีข้อความต่างๆ กันดังนี้ครับ


 


 


ห้ามจอดรถขวางประตูเข้า-ออก


 


 


กรุณาอย่าจอดรถขวางทางประตู เพราะจะมีรถเข้าออกตลอดเวลา ขอขอบพระคุณมาก


 


 


 


กรุณาอย่าจอดรถขวางประตูนาน


 


 


กรุณาเว้นทางเข้า-ประตู


 


 


 


กรุณาปลดเกียร์ว่าง มีรถเข้าออก


 


 


มีรถเข้าออก กรุณาเว้นช่องทาง ขอบคุณครับ


 


การขยายตัวของเมืองสงขลา ทำให้เมืองต้องเผชิญกับเรื่องพื้นที่ที่มีจำกัดจำเขี่ย เจ้าของบ้านเรือนจึงเจอปัญหาที่มีรถยนต์ (ของคนอื่น) ไปจอดขวางทางเข้าบ้าน จนต้องลุกขึ้นมาทำป้ายที่ว่า


 


หากสังเกตดูจะพบว่า ป้ายในกลุ่มนี้ แม้จะมีจุดประสงค์เดียวกัน แต่มีเนื้อหาลีลาในการนำเสนอที่แตกต่างกันออกไป


 


ข้อความแบบไหนเป็นข้อความที่ถูกใจคนอ่านมากที่สุดครับ?...


 


โดยทั่วไปในทางจิตวิทยาการสื่อสาร ข้อความที่มีเนื้อหา "ห้าม" หรือในเชิงปฏิเสธ อาจจะบรรลุจุดประสงค์น้อย คล้ายๆ คำโบราณที่บอกว่า "ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ"


 


ส่วนป้ายที่มีข้อความยืดหยุ่น เปิดทางเลือก หรือไม่กดดันผู้อ่าน น่าจะช่วยเชื้อเชิญผู้อ่านให้คล้อยตามได้มากกว่าไหมครับ เช่น กรุณาเว้นทางเข้า-ประตู หรือ กรุณาปลดเกียร์ว่าง มีรถเข้าออก


 


ป้ายถัดไป แขวนอยู่หน้าอาคารร้างแห่งหนึ่ง เพื่อเชิญชวนให้คนมาใช้ตึกนี้


 


 


 


ข้อความในป้ายมีว่า "สนใจทรัพย์แปลงนี้ ขอให้ท่าน เฮงเฮงเฮง มั่งมีศรีสุข รวยรวยรวย  ติดต่อธนาคาร..." ดูแล้วก็ขัดแย้งดีครับ เพราะตัวอาคารนั้นโทรมและเก่า (แก่) เหลือเกิน


 


ป้ายถัดไปเป็นของร้านขายเย็นตาโฟเจ้าอร่อย (ความจริงมีอร่อยหลายเจ้า) ในเมืองสงขลา


 



 


 


ตอนสายๆ ที่ผมเดินผ่านร้านนั้น กำลังจะเลี้ยวเข้าไปสั่งเย็นตาโฟสักชาม แต่พอเห็นป้าย "เย็นตาโฟ ยังไม่เสร็จ" ก็ต้องถอยทัพครับ


 


เจ้าของร้านเธอคงไม่สบายใจที่ลูกค้าอาจเข้าใจผิด ที่เห็นเส้นก๋วยเตี๋ยว เห็นลูกชิ้นเต็มตู้ หม้อนํ้าซุปควันโขมง นึกว่าพร้อมจะสั่งได้ เลยต้องลงทุนทำป้ายไปวางไว้ ป้องกันความผิดหวัง


 


เห็นเย็นตาโฟที่สงขลาเจ้านี้แล้ว นึกถึงรถเข็นขายขนมหวาน พวกกล้วยบวชชี มันต้ม เต้าส่วน ที่ตลาดสามชุก สุพรรณฯ ครับ เจ้านั้นมีป้ายเขียนว่า "เริ่มขาย ๑๔.๔๕ น."


 


มีคนมายืนรอซื้อก่อนเวลาเลยละครับ และก็เริ่มขายตรงเวลาเป๊ะซะด้วย


 


กลับไปที่สงขลา หน้าโรงพยาบาลสุขภาพจิต มีป้ายนี้ครับ


 



 


เห็นป้าย "เบื่อโลก คิดอยากตาย ปรึกษาได้ โทรเบอร์นี้..." แล้วก็อดยิ้มไม่ได้นะครับว่า โทรไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับผู้โทร (ฮา)


 


ป้ายถัดมา เป็นป้ายขนาดยักษ์ ติดตั้งไว้ปากทางเข้าสนามบินหาดใหญ่


 


 



 


ป้ายนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้จุดตั้งป้ายที่เด่นมากๆ ใครก็ตาม ตั้งแต่ชาวบ้าน นักศึกษา ยันรักษาการนายกฯ จะไปขึ้นเครื่องบินที่สนามบินหาดใหญ่ เป็นได้เห็นป้ายนี้ชัดเจน  แต่เห็นแล้วจะเกิดอาการซี้ดซ้าด ฮึกเหิม หรือละอายใจอย่างไร ก็อยู่ที่บุญกรรมหรือ "กติกู" ที่ก่อกันมาครับ (ฮา)


 


ป้ายรองสุดท้าย อยู่ที่หน้าสนามบินหาดใหญ่ เป็นป้ายของการบินไทย หาดใหญ่ เขียนว่า "หล๊บหม่าเล๊ยนา กลับมาอีกนะคะ


 



 


เห็นยิ้มพิมพ์ใจของคนในภาพ และข้อความ "สำเนียงใต้" ที่สอดคล้องกับภูมิสังคม และสถานที่ตั้งป้าย ก็ช่วยสะกิดใจให้ผู้อ่าน คงต้องหาโอกาสกลับไปเยือนเมืองใต้อีกในอนาคต


 


ป้ายสุดท้ายอยู่ปากประตูเข้าสนามบินหาดใหญ่เลยครับ ข้อความมีว่า "เพื่อความสะดวกของผู้โดยสาร กรุณามาถึงสนามบินล่วงหน้า ๒ ชั่วโมงก่อนเวลาเครื่องบินออก"


 



 


 


เห็นป้ายนี้แล้วก็ใจหายวาบครับ เพราะผมไปถึงสนามบินก่อนเวลาราว ๔๐ นาที ยังนึกบ่นในใจว่า ทำไมมาติดป้ายบอกผู้โดยสารอีตอนที่เขามาถึงสนามบินแล้ว


 


สนามบินหาดใหญ่ น่าจะปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์และการบินไทยหาดใหญ่ซะหน่อยว่า ป้ายแบบนี้เขาควรจะติดกันไว้แถวไหน (ฮา)


 


เข้าใจว่า ทางสนามบินหาดใหญ่ ได้เพิ่มกิจกรรมรักษาความปลอดภัยหลังจากเหตุระเบิด เช่น การตรวจรถก่อนเข้าเขตสนามบิน การตรวจอาวุธก่อนเข้าอาคาร ฯลฯ ซึ่งทำให้ผู้โดยสารต้องใช้เวลามากขึ้นกว่าเดิม (เล็กน้อย?)


 


แต่โชคดีนะครับที่ป้ายนี้ไม่ (ทัน) ศักดิ์สิทธิ์ มิฉะนั้นผมคงพลาดการเดินทางไปแล้วครับ