Skip to main content

ดารากับการเมือง

คอลัมน์/ชุมชน

เดี๋ยวนี้เห็นดาราหันมาเล่นการเมืองมากขึ้น ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ดาราน้อยคนนักที่จะผันตัวเองลงมาเล่นการเมือง อาจจะเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงบทบาทสมัยก่อนอาจจะไม่ง่ายเหมือนสมัยนี้ ซึ่งคนที่ได้รับเลือกในสนามการเมืองส่วนใหญ่ในสมัยก่อน มักเป็นบุคคลที่สืบเชื้อสายทางการเมือง และมีประสบการณ์ที่คลุกคลีกับการเมืองในระดับหนึ่ง


 


แต่ในปัจจุบันทำไมดาราดูจะเดินสายเข้าเป็นนักการเมืองได้ง่ายดายนัก ทั้ง ส.ว. ส.ส. ส.ก. ส.ข. หรืออาชีพนักการเมืองกลายเป็นอาชีพทางเลือกยอดนิยมอีกอาชีพหนึ่งของเหล่าดารา  นอกเหนือไปจากการผันตัวเองไปเป็นผู้ผลิตรายการ หรือเป็นนักธุรกิจ อาจเป็นเพราะอาชีพดาราเป็นอาชีพที่ยังไม่ค่อยมีความมั่นคงนัก ทำให้เหล่าดาราต้องหาอาชีพที่มีความมั่นคง และอาชีพนักการเมืองก็ดูเหมือนจะมั่นคง และมีเกียรติ


 


ตอนนี้เป็นช่วงการเลือกตั้ง ส.ก. และ ส.ข. ก็พอเห็นป้ายหาเสียงของดาราที่รู้จักกันดีมาลงสมัครขออาสารับใช้ประชาชนอยู่บ้าง รวมทั้งมีป้ายรูปดาราที่เป็นที่รู้จักดีที่เคยได้รับเลือกให้เป็น ส.ส. อย่างคุณยุรนันท์ ภมรมนตรี มาเป็นแบบยืนประกบเพื่อแนะนำทีมสมัคร ส.ก. และ ส.ข. ของพรรค


 


จริงๆ แล้วป้ายโฆษณาเหล่านี้ก็นับเป็นการโฆษณาทางการเมืองอย่างหนึ่งที่ได้ใช้หลักการโฆษณาแบบเต็มๆ จะวิเคราะห์ให้อ่านแล้วกันนะคะ เผื่อเวลาเลือกอาจจะนำไปใช้พิจารณา และไม่หลงเชื่อป้ายโฆษณา


 


ตามหลักการโฆษณาว่าด้วยเรื่องของบุคคลที่ต้องการทำการโฆษณาให้กับสินค้าและบริการ ซึ่งในที่นี้ก็คือ ส.ก. และ ส.ข. นี่แหล่ะที่ต้องการเข้ามาให้บริการประชาชนทางด้านการเมือง เขาบอกว่าจะเอาใครมาทำการโฆษณานั้น ควรพิจารณาคุณสมบัติ 3 ประการ ดังนี้


 


1. คุณสมบัติด้านความน่าเชื่อถือ


 


ความน่าเชื่อถือในที่นี้หมายถึง มีความรู้ความสามารถสินค้า หรือบริการที่โฆษณา เช่น ไทเกอร์ วูดส์ โฆษณาไนกี้ แบบนี้น่าเชื่อถือ เพราะไทเกอร์ วูดส์ เป็นนักกอล์ฟ ชื่อดัง เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์กีฬาอยู่แล้ว หรือ หมึกแดงโฆษณาซอสปรุงรส อันนี้ก็ใช้ได้ เพราะหมึกแดงเป็นที่รู้จักกันดีว่า ทำอาหารเก่ง และมีรายการทำอาหารออกอากาศทางทีวี ข้อที่ควรพิจารณาเมื่อเป็นดารามาลงสมัครรับเลือกตั้งก็คือ เขา หรือ เธอ มีความน่าเชื่อถือ กล่าวคือ มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ทางการเมืองหรือไม่ ยกตัวอย่าง คุณแบม จณิสตา ลิ่วเฉลิมวงศ์ แม้ว่าเธอจะเป็นที่รู้จักดีในวงการบันเทง แต่เธอก็มีดีกรีด้านรัฐศาสตร์ ทั้งปริญญาตรี และโท อันแสดงได้ถึงความมุ่งมั่นในอาชีพนักการเมือง


 


2. คุณสมบัติด้านความมีเสน่ห์น่าดึงดูด


 


เป็นธรรมชาติของคนเราที่จะชอบบุคคลที่มีเสน่ห์ดึงดูดใจ อาจจะด้วยบุคลิกหน้าตา รูปร่าง การพูดจา ตามหลักการโฆษณา ผู้บริโภคชื่นชอบผู้นำเสนอสินค้าโดยพิจารณาด้านความมีเสน่ห์น่าดึงดูด 2 ประการ


 


2.1 น่าดึงดูดเพราะมีลักษณะที่คล้ายกับเรา ดังนั้นผู้บริโภคจะรู้สึกคุ้นเคย เป็นกันเอง ไม่เคอะเขิน


 


2.2 น่าดึงดูดด้วยหน้าตา รูปร่าง ซึ่งทำให้บุคคลนั้นได้รับความนิยม ซึ่งเป็นคุณสมบุติที่สำคัญมากสำหรับดารา เจ้าของสินค้าและบริการมักจะเลือกดาราที่หล่อ สวย มีชื่อเสียง ทั้งนี้เนื่องจากดาราเหล่านี้จะสร้าง Stopping Power สามารถหยุดให้คนสาใจในสินค้าและบริการที่โฆษณาได้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าเมื่อมีการเลือกตั้ง พรรคการเมืองต่างๆจะทาบทามดาราให้มาลงสมัคร หรืออาจมาเป็นทีมหาเสียง


 


3. คุณสมบัติด้านความมีอำนาจ


 


อำนาจในที่นี้หมายถึง อำนาจที่จะมีอิทธิพลกับประชาชน ในการให้คุณ และให้โทษ ทั้งนี้ เมื่อประชาชนยอมรับในอำนาจนั้นก็จะเชื่อฟัง และทำตาม ซึ่งคุณสมบัติในข้อนี้เป็นคุณสมบัติระยะสั้น ไม่ยาวนานหากหมดอำนาจ ก็หมดความหมาย


 


จากที่กล่าวมาทั้งหมด คุณสมบัติที่สำคัญสำหรับนักการเมืองน่าจะเป็นคุณสมบัติด้านความน่าเชื่อถือ ไม่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติด้านความมีเสน่ห์ น่าดึงดูด หรือคุณสมบัติด้านอำนาจ ดังนั้นหากเห็นป้ายโฆษณาที่ผู้สมัครสวยๆ หล่อๆ ก็อย่าเคลิบเคลิ้ม พิจารณาให้ดี เอาความน่าเชื่อถือ ความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ของพวกเขาเป็นหลักสำคัญ หรือหากเป็นผู้สมัครที่มีอำนาจ มีอิทธิพลคับบ้าน คับเมืองก็อย่าไปเลือก เพราะอำนาจมันมีได้ก็หมดได้ การเลือกตั้งมีผลต่อประเทศชาติ ประชาชนหมู่มาก ไม่เหมือนการเลือกสินค้าที่เราใช้คนเดียว อย่าหลงไปกับการโฆษณาทางการเมือง มันใช้หลักการคิดไม่เหมือนกัน