Skip to main content

บ้านของคนบ้า

คอลัมน์/ชุมชน

"หลังคาแดง" …. บ้านหลังเล็กของคนพิเศษที่สังคมเรียกว่า "คนบ้า" ที่ตั้งของสถานที่เดียวกันที่เรียกกันว่า "โรงพยาบาลคนเสียจริต", "โรงพยาบาลโรคจิตธนบุรี", "โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา" เพราะเหตุใช้กระเบื้องมุงหลังคาสีแดงเหมือนอย่างในประเทศอังกฤษ  จนปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ปากคลองสาน ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา โรงพยาบาลไม่กี่ร้อยเตียงซึ่งเป็นที่พักเตรียมพร้อมทางจิตให้ "ผู้ป่วย" ทางใจกลับคืนสู่สังคมได้อย่างเป็นปรกติ


 


แต่ละวันของปัจจุบันสังคมเราเหมารวมผู้ที่มีอาการทางจิต ผู้ป่วยทางจิต และผู้มีปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องเดียวกัน เข้าใจการป่วยจากอาการทางจิตว่าเป็นความแปลกที่น่ารังเกียจ เหมือนๆ กับที่เรียกคนกลุ่มนี้ว่า "คนโรคจิต" หรือ "คนบ้า" ทั้งๆ ที่ความหมายแตกต่างกันตามระดับความผิดปรกติทางสุขภาพจิตและจิตเวช


 


"มันบ้าหรือเปล่า (วะ)?"  เป็นคำถามเวลาพูดถึง "คนบ้า" ทำให้เราคิดถึงแต่ภาพชายหญิงเดินตัวเปล่าบนท้องถนน ผมเผ้ารุงรัง พึมพำพูดกับตัวเอง บางคนแต่งตัวเหมือนลิเกหลงโรง หัวเราะร่วนเสียงดังสลับกับการร้องไห้ตื่นตระหนกโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือไม่ก็นึกถึงผู้ป่วยใน "โรงพยาบาลบ้า" นั่งกอดเข่าเหม่อลอยนับใบไม้ที่ร่วงหล่นจากต้นทีละใบสองใบ


 


 "ไอ้นี่มันโรคจิต"  พอพูดถึง "โรคจิต" คนกลับนึกถึงฆาตกรต่อเนื่องแบบสุดโหดโดยเฉพาะการก่อคดีสะเทือนขวัญเกี่ยวกับเพศ เกี่ยวกับผู้หญิงและเด็กด้วยสารพัดวิธีประหลาดที่คนทั่วไปนึกไม่ถึง อีกนัยหนึ่งใช้หยอกล้อกันในกลุ่มเพื่อนฝูง เมื่อพฤติกรรมที่เกิดขึ้นไม่เป็นไปตามมาตรฐานของคนกลุ่มใหญ่จนกลายเป็นมุขตลกในชีวิตจริงที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย


 


ที่ผ่านมาเราถูกบังคับให้เห็นแต่ด้านน่ากลัวของผู้ที่มีปัญหาทางจิตผ่านสื่อ  แต่ที่น่ากลัวยิ่งกว่าคือการขนานนาม (label) และตอกย้ำ (reinforce) ภาพของคนบ้าหรือโรคจิตว่าน่ารังเกียจ  ไม่น่าคบค้าสมาคมและไม่น่าต้อนรับสำหรับสังคม ภาพยนตร์ส่วนใหญ่และละครโทรทัศน์ส่วนเยอะพยายามสร้างบุคลิกของตัวละครที่มีปัญหาทางจิตให้มีความสุดโต่งเกินจริง จนผู้รับสารแปลความเจ็บป่วยใจ หรือผู้พิการทางจิตให้เป็นชนกลุ่มน้อยที่สังคมเสือกไสไล่ส่งอย่างไร้เมตตา


 


หากมาดูตัวเลขปัญหาสุขภาพจิตระดับประเทศ จะพบว่าคนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตและเจ็บป่วยทางจิตจำนวนมาก ประมาณการมีผู้ป่วยโรคจิต  1% ในประเทศไทยเท่ากับ  600,000 คน นับคนในครอบครัวเป็นทุกข์ร่วมด้วยเฉลี่ย 4 คน รวมผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 2,400,000 คน โดยป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและภาวะซึมเศร้าซึ่งมีอัตรา 5% ของประชากร ดังนั้นจำนวนรวมของผู้เป็นทุกข์จากสุขภาพจิตประมาณ 12,000,000 คน และหากรวมทุกโรคด้านสุขภาพจิตและจิตเวชจะพบว่ามีมากถึง  20% ของประชากร ซึ่งเท่ากับ 48 ล้านคน  (กรมสุขภาพจิต, 2548)


 


ปัญหาทางสุขภาพจิต เป็นเรื่องเข้าใจยากและประชาชนยังมีความเข้าใจผิดๆ เช่น โรคจิตรักษาไม่หาย ผู้ป่วยโรคจิตเป็นอันตราย น่ากลัว อาการซึมเศร้าเป็นเรื่องของคนโง่ที่ไม่มีความคิด นอกจากนั้นภาพลักษณ์ด้านลบของสถานบริการด้านสุขภาพจิตกลายเป็นภาพพจน์ที่น่ารังเกียจของสังคม ทั้งหมดทั้งปวงกลายเป็นตราบาป (stigma) ที่ส่งผลเสียต่อทั้งตัวผู้ป่วย ญาติ ผู้รักษา และสังคม สุดท้ายกลายเป็น  วัฏจักรเลวร้ายของผู้ทุกข์ทรมานในการป่วยทางจิตที่สังคมสร้างกรอบเหล็กเพื่อกีดกันคนกลุ่มนี้ ทั้งๆ ที่แนวโน้มของผู้ป่วยทางจิตเพิ่มสูงขึ้นปีละ 5-10 % จากสภาพสิ่งแวดล้อมและความเครียดซึ่งเป็นสาเหตุทำลายภาวะสุขภาพจิตที่ดีของคนส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าสังคมให้ความเห็นใจและเข้าใจผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มมากขึ้นในสัดส่วนที่เท่ากัน


 


"ผู้ป่วยทางจิต อย่าคิดผลักไส ควรมีน้ำใจ ห่วงใยดูแล" (Stop Exclusion, Dare to Care) คำขวัญองค์การอนามัยโลกปีสุขภาพจิตสากล พ.. 2544 เป็นคำขวัญที่ไม่ต้องอธิบายซ้ำและสามารถสื่อสารถึงบทบาทของสังคมที่ "ควร" มอบให้กับผู้ป่วยจิตเวช ความเจ็บป่วยเป็นหนึ่งในเกิด แก่ เจ็บ ตาย บางครั้งก็ยากที่จะป้องกัน โรคทางกายส่วนใหญ่รักษาหายและเป็นโรคที่สังคมยอมรับ แต่โรคทางใจเกิดขึ้นได้โดยไม่มีสาเหตุ  อาจเป็นความผิดปรกติของสารเคมีในสมองหรือความพิการทางใจจากสภาพแวดล้อมที่ต้องใช้การฟื้นฟูจิตเป็นเทคนิคหลักในการช่วยเหลือ เยียวยาได้ด้วยการที่คนในสังคมยอมรับเข้าใจ ไม่ใช่ท่าทีตอกย้ำตราบาปด้วยความรู้สึกรังเกียจกีดกัน    


 


การลดตราบาปในผู้ป่วยจิตเวช (Destigma) เป็นแนวคิดในการรณรงค์เพื่อคืนชีวิตและสร้างกำลังใจผู้มีปัญหาสุขภาพจิตภายใต้โครงการ "National Mental Health Campaign : Destigma" เพื่อช่วยผู้ป่วยรวมทั้งให้ครอบครัว ชุมชน ลดอคติเพื่อยอมรับและให้กำลังใจผู้ป่วยจิตเวช การรณรงค์ดังกล่าวไม่มีวันสำเร็จ ถ้าสังคมปิดรับสมมุติฐานที่แท้จริงของการเกิดตราบาปว่า ผู้ป่วยจิตเวชไม่ได้แตกต่างจากคนปรกติ แต่เรานั่นเองที่มองว่าเขาไม่ใช่พวกเดียวกับเรา คนในสังคมเป็นคนประทับตรา (บาป) ให้เขา ฉะนั้นการแก้ปัญหานี้จึงอยู่ที่สังคมและสื่อควรหยุดสร้างตราบาปให้กับผู้ป่วยจิตเวชด้วยการแก้ไขอคติและเปิดโอกาสทำความเข้าใจคนพิเศษเหล่านี้


 


บ้านของผู้ป่วยทางจิตคือสถานที่คนส่วนใหญ่ในสังคมเข้าใจว่าเป็น "โรงพยาบาลบ้า" มีอยู่เพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย ในขณะที่อัตราการเพิ่มจำนวนของผู้ป่วยและผู้มีความบกพร่องทางสุขภาพจิตมีมากขึ้นทุกวัน  คำว่า "โรคทางจิต" อาจเป็นเรื่องไกลตัวของหลายคน ลองถามกันเล่นๆ ว่าจะมีสักครั้งหรือไม่ที่คุณคิดอยากฆ่าตัวตาย อาจมีคนไม่มากนักที่จะตอบว่ามี  ทว่าหากถามคำถามในทำนองเดียวกันว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ในอนาคตคุณจะเจอกับภาวะเครียดมากจนหาทางออกไม่ได้  เชื่อว่าทิศทางของคำตอบคงเป็นจำนวนใกล้เคียงกับประชากรรวมในประเทศ หากเป็นเช่นนี้แล้ว ทำอย่างไรเราจะมั่นใจได้ว่าคนที่กำลังเครียดหรืออยากทำร้ายตัวเองจะไม่กลายเป็น 1% ตามสถิติผู้ป่วยทางใจในวันข้างหน้า เพราะความเครียดมักเป็นจุดเริ่มต้นของสารพัดปัญหาของโรคทางสุขภาพจิตและจิตเวช


 


ปัญหาความผิดปรกติทางใจสามารถฟื้นฟูและเยียวยาในระยะยาวด้วยการเปลี่ยนตราบาปให้เป็นความเข้าใจ มีผู้ป่วยจิตเวชจำนวนมากอยู่ในสังคมและใช้ชีวิตพร้อมๆ ไปกับเรา  คนในสังคมให้กำลังใจผู้ป่วยจิตเวชได้ด้วยการเพิ่มเนื้อที่ในบ้านของเขาเหล่านั้นให้ใหญ่กว่าสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา, โรงพยาบาลศรีธัญญา หรือโรงพยาบาลจิตเวชหลายๆ แห่ง


 


แบ่งปันและเผื่อแผ่ต่อกัน…..เพราะไม่ว่าจะเป็นบ้านในความหมายของเราหรือของเขา ตื่นเช้ามามันก็เป็นโลกกลมๆ ใบนี้ใบเดียวกัน


 


 


****************************************


 


ข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต         


 


1. สถิติ


ประมาณ 1 % ของคนไทยมีความพิการทางจิต


ประมาณ 5 % ของคนไทยมีภาวะและอาการของโรคซึมเศร้า


ประมาณ 8 % ของคนไทยมีภาวะเครียด ระดับมาก


ประมาณ 1 % ของเด็กไทยมีปัญหาด้านสติปัญญา และพัฒนาการ


ประมาณ 5 % หรือ 680,000 คน ของเด็กไทย มีปัญหาด้านพฤติกรรมและอารมณ์ ที่จำเป็นต้องพบจิตแพทย์


ประมาณ 7 คน ใน 1 แสนคน ต่อปีที่สิ้นชีวิตจากการฆ่าตัวตายในแต่ละปี (ประมาณชั่วโมงละ 1 คน)


 


2. จากรายงานของ WHO พบว่ามีประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรโลกที่มีปัญหาสุขภาพจิตในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต และจากรายงานใน Invest in Mental Health โดย WHO พบว่ามีการขาดงานอันเนื่องมาจากปัญหาสุขภาพจิตถึง 35-45% มีการคาดการณ์ว่าจะเกิดความสูญเสียด้านเศรษฐกิจและสังคมจากโรคซึมเศร้าในปี 2020 มากเป็นลำดับที่สอง รองจากโรคหัวใจและหลอดเลือด


 


3. Stigma คือ การทำให้เสียหน้า, เสื่อมเสีย, ขายหน้า, สูญเสียความเชื่อถือ ไม่มีค่า มีผลทำให้เกิดความอาย ความอัปยศอดสู ถูกตัดสิทธิ์ และสิ้นหวัง   Stigma เป็นวัฏจักรเลวร้ายของผู้ทุกข์ทรมานในการป่วยทางจิต กรณีรายบุคคล ของผู้มีปัญหาทางจิตนี้ถูกแบ่งแยกและทำให้เสียประโยชน์ในชีวิตและสังคมแวดล้อมหลายอย่าง เช่น ความยุ่งเหยิงในชีวิตครอบครัว การไม่สามารถทำงานมีอาชีพได้ ซึ่งนำพาไปสู่วัฎจักรอันเลวร้าย ซึ่งทำให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเองที่ตกต่ำลง เป็นเหตุทำให้สภาพทางจิตแย่ลงได้


 


4. ผลของ stigma


1) ทำให้เกิดการแบ่งแยกทางสังคม


2) จำกัดเรื่องโอกาสในการจ้างงานและความผ่อนคลายทางจิตใจ


3) ผู้ที่มีปัญหาทางจิตใจไม่กล้าหรือไม่อยากไปพบผู้ให้การช่วยเหลือ


4) เป็นการส่งเสริม ทำให้เกิดหรือคงไว้ ซึ่งวิธีการดูแลรักษาที่ไม่ถูกต้อง (Pseudo-Psychiatric mythology)


5) ทำให้ผู้ป่วยทางจิต มีความทุกข์ทรมานมากขึ้น


6) มีผลกระทบทางลบโดยตรงทั้งกับครอบครัว สังคม และเศรษฐกิจของชาติที่ต้องสูญเสียไปกับการรักษา หรือแก้ไข      ปัญหาที่ปลายเหตุ