Skip to main content

เสียงสะท้อนจากเด็กชายอินทนนท์

คอลัมน์/ชุมชน

การเลือกตั้ง'48 ผ่านพ้นไปโดยไม่ต้องลุ้น ล่วงเข้าวันนี้เริ่มเห็นภาพปริศนาของรัฐบาลใหม่เป็นเงาราง ๆ พอจะมองกันได้ว่า ใครเป็นใครที่จะได้ขึ้นแท่นเป็นรัฐมนตรีมหาอำนาจรัฐบาลเบ็ดเสร็จในปรากฏการณ์จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว


ฉันทามติจากเสียงประชาชนครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความพอใจที่ชัดเจนของประชาชนต่อรัฐบาลนายกทักษิณว่ายัง "ชอบ" ยัง "ชม" ยัง "นิยม" และ ยัง "ศรัทธา" ในตัวผู้นำด้วยการแสดงเจตนารมย์กระจ่างชัดจากการเทคะแนนเพื่อปูพรมแดงต้อนรับพรรคไทยรักไทยให้กลับมาสานต่อนโยบาย "4 ปีสร้าง 4 ปีซ่อม" ด้วยความหวังเต็มเปี่ยมหัวใจว่าต่อไปนี้ประเทศไทยจะ "ไร้คนจน"


เป็นเสียงร้องจากรากหญ้าอย่างชอบธรรม ที่ไว้วางใจให้ พ.ต.ท. ทักษิณกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยในกระบวนการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมผ่านการใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร


ผลงาน 4 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลจุดประกายความหวังประชาชนทุกระดับให้เห็นด้วยกับแนวคิด "นายทุน" ขยับจากการเป็นเกษตรกร ชาวนา ชาวสวน แม่ค้าและกรรมกรรายวันให้เขยื้อนชั้นเป็น "เถ้าแก่" นายทุนหรือเจ้าของธุรกิจด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาลแบบ "ปลดเบรก" ผ่านแรงอัดฉีดตามรายทางของนโยบายกองทุนหมู่บ้าน พักหนี้เกษตรกร SML SME ฯลฯ


การสนับสนุนให้ประชาชนลงทุนเพื่อประกอบธุระกิจกรรมทั้งหลาย เป็นธงหลักปักไว้เป็นทางเลือกของคนไทยที่อยากปลดหนี้ นโยบายนี้ปูทางให้รัฐบาลไปได้ดีโดยเฉพาะในยุคสมัยที่เศรษฐกิจฝืด ประชากรรายได้ต่ำ การศึกษาน้อย ยังต้องพึ่งเงินนอกระบบ และยังมีความเชื่อว่าเงินเป็นศูนย์กลางของอำนาจ เป็นที่มาของความสุขและเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จ


เพื่อนต่างวัยคนหนึ่งอายุ 8 ขวบ เป็นเด็กน้อยสัญชาติกระเหรี่ยงจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งทางภาคเหนือ มีชื่อจริงว่าเด็กชายอินทนนท์ ชื่อเล่นว่าน้องดอย ชื่อน่ารักสมตัวแถมสะท้อนที่มาที่ไป เอกลักษณ์และตัวตนของเด็กชายดอยเผื่อลืมบ้านเกิดเมื่อวันเวลาผ่านเลยไป


หมู่บ้านของเด็กชายอินทนนท์ไกลจากสนามบินเมืองเชียงใหม่ประมาณ 2 ชั่วโมงถ้าขึ้นทางอำเภอแม่ริม เส้นทางเข้าหมู่บ้านค่อนข้างทุรกันดาร มีน้ำใช้แต่ระบบไฟฟ้ายังถึงบ้างไม่ถึงบ้าง คนในหมู่บ้านเปิดรับข่าวสารจากโลกภายนอกด้วยการสื่อสารแบบปากต่อปาก หอกระจายข่าว วิทยุทรานซิสเตอร์ไว้รับฟังวิทยุชุมชนและจากโทรทัศน์ที่รับได้เพียงบางช่อง


สื่อสมัยใหม่อย่างอินเตอร์เน็ต ยูบีซี หรือเครือข่ายมือถือไม่ต้องพูดถึง ที่โฆษณากันเกลื่อนหูว่าแรงชัดทั่วไทย ไปหมู่บ้านนี้ทีไร เห็นนิ่งสนิททุกเครื่อง ทุกเครือข่าย


แม้ถูกจำกัดด้วยสื่อและด้วยสารเพื่อการเรียนรู้ แต่เด็กชายอินทนนท์ก็มีความฝันเหมือนเด็กอีกหลายคน โดยเฉพาะความฝันเรื่องการศึกษาตอนถูกตั้งคำถามว่า "โตขึ้นอยากเป็นอะไร"


อินทนนท์ไม่ลังเลที่จะตอบพร้อมประกบรอยยิ้มจนแก้มปริ "อยากเป็นด็อกเตอร์"


คำตอบของเด็กชายน่าสนใจกว่าคำถามหลายเท่า เราแอบดีใจแทนนายกฯ และรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการว่าแม้แต่เด็กชายกระเหรี่ยงชาวดอยยังให้ความสำคัญกับการศึกษา อยากเรียนปริญญาเอกจบด็อกเตอร์เหมือนนายกฯ


ชื่นชมจนนึกนิยมนโยบายส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ให้เด็กไทยว่าได้ผลผิดคาด ไม่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำเหมือนนโยบายส่วนใหญ่


แต่ต้องมาสะดุดใจกับคำตอบของอินทนนท์ ตอนถามเหตุผลต่อว่าทำไมถึงมีความคิดอยากจะเป็นด็อกเตอร์
"จะได้มีเงินเยอะๆ" เด็กชายดอยตอบด้วยสีหน้าราบเรียบ อมยิ้ม แต่แววตาเต็มไปด้วยความตื่นเต้นตอนอธิบายเหตุผลที่อยากมีเงินว่า "มีเงินเยอะๆ แล้วก็จะได้เป็น ส.ส."


"มีเงินเยอะๆ แล้วก็จะได้เป็น ส.ส."???


ประโยคไร้เดียงสาที่พูดจากการตีความสิ่งที่เห็นและจากความเข้าใจในสิ่งที่รับรู้ เป็นเสียงสะท้อนเล็ก ๆ ของเด็กชายวัย 8 ขวบคนหนึ่งที่กำลังเติบโตขึ้นมาท่ามกลางความเจริญที่มีทุนและอำนาจเป็นมาตรฐานตัดสินเสรีภาพ ความสุขและความสำเร็จในชีวิต


เป็นการฉายภาพชัดที่ทำให้ต้องตลบความคิดกลับไปกลับมาเพื่อหาความเชื่อมโยงระหว่างคำว่า "ความฝัน การศึกษา เงิน และ ส.ส." โดยเฉพาะในวิจารณะของเด็กชายชาวดอยอายุ 8 ขวบ


เสียงเล็ก ๆ จากเด็กชายอินทนนท์สะท้อนให้เห็นภาพใหญ่ในการเคลื่อนของระบบเงินที่พ่วงเอาระบบประชาธิปไตยเข้าไปในหมายเหตุการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร


สะท้อนให้เห็นภาพการแพร่ขยายของวัฒนธรรมทุนและการไหลของกระแสเงินสดที่ฝังรากลึกลงไปสู่วิถีชีวิต ระบบคิดและการอยู่รอดของชาวบ้าน กลับไปอีกด้านมองเห็นภาพความสวยงามของวัฒนธรรมการพึ่งพาอาศัย ความมีน้ำใจและการช่วยเหลือเกื้อกูลของคนไทยกำลังถูกกลืนกินไปเพราะรัศมีของอำนาจทุนและอำนาจเงินกำลังไล่ตะครุบ


ชัดกว่านั้น ยังสะท้อนให้เห็นถึงความบิดเบี้ยวในมิติความหมายโดยเฉพาะจิตสำนึกในการรับใช้ประชาชนของผู้ได้รับเลือกเป็น ส.ส.


น่ากลัวจนไม่กล้าจินตนาการต่อว่าทิศทางแห่งวิถีเสรีภาพ หน้าที่และภาระแท้จริงของคำว่า "ผู้แทนประชาชน" จะเป็นอย่างไรหากเด็ก 8 ขวบทุกคนเห็นภาพการได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคล้ายกับภาพที่อินทนนท์มอง


ศรัทธาหนักแน่นที่เคยมีต่อผู้แทนราษฎรและจากสภาผู้แทนอันทรงเกียรติคงไม่ต่างอะไรไปจากซากปรักหักพังของบ้านเรือนที่ครั้งหนึ่งเคยจำได้ว่าเป็นที่พึ่งและที่อาศัยให้หลบฝน


เมื่อสิ่งที่เรียกว่า "ประชาธิปไตยเต็มใบ" กลายเป็นหลักการที่อาจสวนขนานกับความเป็นจริง คงไม่มีประโยชน์ที่จะกล่าวโทษระบบ, ดอกเตอร์, ส.ส, หรือแม้แต่เสียงสะท้อนเดียงสาของเด็กชายชาวดอยคนหนึ่งเพื่อจะหาคำอธิบายกับสิ่งที่เกิดขึ้น


ภาระของคนในสังคมต่อจากนี้ไปน่าจะอยู่ที่การช่วยกันปลูกฝังค่านิยมแห่ง "ความพอ" ในวิถีชีวิตแบบไทย ๆ และให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้ตั้งหลักทำความเข้าใจถ่องแท้ถึงภารกิจหน้าที่ของผู้แทนราษฎรที่แท้จริง


โดยเฉพาะบทบาทความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ในการเป็นตัวแทนดูแลผลประโยชน์ของประชาชนบนหลักการอันศักดิ์สิทธิ์ของ "ประชาธิปไตย"


และเพื่อดึงเด็ก ๆ ให้กลับมาทำความเข้าใจกันใหม่ว่า "ด็อกเตอร์" "อำนาจ" "เงิน" และ "ส.ส." นั้น มันเป็นคนละเรื่องกัน