Skip to main content

เมื่อนักสังคมสงเคราะห์ถามหาจริยธรรมจากนักข่าว

คอลัมน์/ชุมชน

ศาลาสี่มุมนัดนี้ขอเปิดพื้นที่ให้ว่าที่นักสังคมสงเคราะห์ในอนาคตแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่สังคมไทยกำลังตั้งคำถาม เมื่อหลักปฏิบัติในจริยธรรมของนักข่าวกลายเป็นจรรยาธรรมดาที่ยืดหยุ่นได้ตามกติกาของผู้นำไปใช้…..


 


 "ถึงคุณนักข่าว


ในสังคมไทยที่ดำรงอยู่ด้วยการยึดโยงของโครงสร้างต่างๆ มากมาย เป็นไปเพื่อการดำรงอยู่ทั้งในส่วนของจารีตประเพณี วัฒนธรรม การปกครอง ศาสนาและเทคโนโลยี บ่อยครั้งที่สิ่งต่างๆ อันเป็นโครงสร้างทางสังคม อุดมการณ์ทางสังคมของไทยที่กล่าวมากลับเป็นสิ่งที่เกิดความขัดแย้งในกันและกันทำให้เป็นปัญหาทางสังคม นักสังคมสงเคราะห์ในฐานะที่เป็นฟันเฟืองหนึ่งในการที่จะแก้ไขและเยียวยาสังคมให้น่าอยู่มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ จึงมีกระบวนการทางวิชาชีพที่จะปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวให้ดีที่สุด แต่ไม่เพียงนักสังคมสงเคราะห์เท่านั้นที่จะสามารถกระทำการดังกล่าวได้ ยังมีอีกวิชาชีพหนึ่งที่ข้าพเจ้าคิดว่ามีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน


 


ในสายตาของนักสังคมสงเคราะห์อย่างข้าพเจ้า "นักข่าว" เป็นผู้ที่สามารถกำหนดทิศทางและความเป็นไปของสังคมได้ว่าจะเป็นไปในทางสร้างสรรค์หรือทำลาย เมื่อเหตุการณ์หนึ่งๆ เกิดขึ้น นักข่าวเป็นผู้มีหน้าที่นำข้อมูลมาเปิดเผยตามรายละเอียดและความสำคัญสู่สาธารณชนผ่านสื่อต่างๆ ทั้งวิทยุ โทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์ ดังนั้นประชาชนจะสามารถรับรู้ข่าวสารที่เกิดขึ้นได้ผ่านนักข่าว เมื่อเป็นเช่นนั้นการที่จะมีข่าวอะไรในสื่อก็เนื่องมาจากวิจารณญาณจากปลายปากกาของนักข่าวที่จะสะท้อนออกมา อาทิ ข่าวการเผยแพร่คลิปวิดีโอลามกสู่สังคม หากนักข่าวสะท้อนความสำคัญ รายละเอียดและผลกระทบของเหตุการณ์ออกมาในด้านที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อสังคมก็น่าจะนำเรื่องประเด็นสาเหตุที่ทำให้เกิดคลิปวิดีโอว่ามาจากสภาพจิตใจของผู้กระทำ หรือสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิด รวมทั้งการนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาไปยังผู้เกี่ยวข้อง ที่สำคัญนักข่าวน่าจะช่วยทำให้สังคมตระหนักและประจักษ์ในปัญหาจนเกิดความรับผิดชอบที่จะลงมาแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างจริงจัง


 


ในทางกลับกันหากนักข่าวไม่มีความคิดที่จะสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้นก็อาจมองเหตุการณ์นี้เป็นโอกาสที่จะขายข่าวโดยให้รายละเอียดด้วยการใส่สีสันของเนื้อข่าวให้เกินความเป็นจริง กล่าวโทษผู้กระทำโดยไม่พยายามหาสาเหตุของปัญหา ประณามความผิดไปที่ตัวบุคคล ฯลฯ สิ่งเหล่านี้นอกจากจะทำให้สังคมถูกปิดกั้นจากข้อเท็จจริงแล้ว ผู้ที่อยู่ในคลิปวิดีโออาจเกิดความอับอายในสิ่งที่ทำลงไปจนเป็นเหตุให้เกิดการเสียชีวิต ดังที่ได้มีเกิดขึ้นมาแล้วในสังคมไทย


 


ข้อแตกต่างที่เป็นสิ่งแบ่งจำแนกระหว่างนักข่าวทั้งสองประเภทคือ "จริยธรรม" จริยธรรมไม่ใช่ข้อห้าม ไม่ใช่กฎหมาย หรือไม่ใช่วินัยทางศาสนาที่เมื่อละเมิดแล้วจะได้รับโทษที่ถูกบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่จริยธรรมเป็นข้อ "ควร" ปฏิบัติ ดังนั้นจริยธรรมของนักข่าวจึงอาจหมายความว่าข้อควรปฏิบัติที่นักข่าวพึงมีและกระทำ


 


เมื่อสังคมมอบความไว้วางใจให้นักข่าวทำหน้าที่สื่อข่าวด้วยข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงในข่าวและอาจมีการเสนอแนะความเห็นในเชิงสร้างสรรค์ผ่านงานเขียนประเภทอื่นๆ ได้ ดังนั้นในฐานะนักสังคมสงเคราะห์ข้าพเจ้าจึงคิดว่าสิ่งที่เป็นจริยธรรมของนักข่าวคือการมีสัจจะต่อตนเองและสังคมในการเสนอข่าว และพึงระลึกอยู่เสมอว่าตนเองเป็นกระบวนการสำคัญที่จะให้สังคมตระหนักในสิ่งที่เกิดขึ้น รวมทั้งในแต่ละขั้นตอนของการประกอบวิชาชีพที่จะต้องไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้ใด ซึ่งหากละเมิดเมื่อใดก็เท่ากับว่าเราได้ละเมิดคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของแหล่งข่าว ผู้ตกเป็นข่าว ผู้รับข่าว สังคม หรือแม้กระทั่งตัวคุณเอง


 


ข้าพเจ้ามีข้อสังเกตหนึ่งที่เป็นข้อพึงระวังคือเมื่อคุณผู้เป็นนักข่าวได้มีจริยธรรมในการประกอบอาชีพดังที่กล่าวมาทั้งหมดแล้วอย่างครบถ้วน แต่กลับเกิดคำถามกับตนเองว่า "เมื่อทำดีแล้วแต่ทำไมคนที่ไม่มีจริยธรรมในวิชาชีพเลยจึงมีความก้าวหน้าในการงานมากกว่าคุณ" อยากให้คิดว่าความสุขของการประกอบอาชีพหรือความสำเร็จที่แท้จริงของอาชีพนักข่าวคืออะไร หากคำตอบคือการได้ทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับสังคมที่คุณอยู่ ก็จงเดินหน้ายึดหลักจริยธรรมเป็นคัมภีร์ในการทำงานต่อไป เพราะความก้าวหน้าในหน้าที่การงานหรือแม้แต่การได้ทำงานในสิ่งที่รักต่างเป็นเพียงผลกำไรของการที่คุณได้ทำหน้าที่ได้อย่างดีที่สุดเท่านั้นเอง"          


 


นางสาวสุทัสสา คุ้มจั่น


นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์


 


จากผลผลิตของการสื่อข่าวกลายเป็นการรายงานข่าวผ่านสื่อที่เห็นอยู่ปัจจุบัน วันนี้หลายคนตั้งคำถามกลับถึงมาตรวัดในจริยธรรมพื้นฐานของนักหนังสือพิมพ์ ว่าเรายัง "พึ่ง" สื่อได้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการวัดความรับผิดชอบ, เสรีภาพบนความรับผิดชอบ, ความเป็นไทแก่ตัว, ความจริงใจ, ความซื่อสัตย์, ความถูกต้อง, ความเที่ยงธรรม, ความมีน้ำใจนักกีฬา และความมีมารยาท ถึงแม้ว่าจริยธรรมจะไม่ใช่กฎหมายหรือลายลักษณ์อักษรที่เมื่อไม่ปฏิบัติแล้วจะต้องรับโทษ แต่จริยธรรมกลับหนักแน่นกว่าเพราะเป็นบรรทัดฐานที่ชี้ให้เห็นถึงความถูกต้องของพฤติกรรมอันดีงามตามมโนสำนึกของผู้ปฏิบัติงานในวิชาชีพสื่อ


 


ศาสตราจารย์เสฐียร พันธรังษี กล่าวถึงอำนาจของปากกาในมือนักข่าวว่า "นักหนังสือพิมพ์เป็นฐานันดรที่ 4 มีความรับผิดชอบต่อสังคมและต่อโลกยิ่งกว่าสถาบันอื่น เพราะนักหนังสือพิมพ์จะเขียนสิ่งใดให้ใครโง่หรือฉลาด ให้เข้าใจผิดถูกอย่างไรก็ได้ เป็นสถาบันที่ทำประโยชน์ให้แก่สังคมมากที่สุด หรือทำลายสังคมให้เหลวแหลกที่สุดอย่างไรก็ย่อมได้…"  พิจารณาแล้วเหมือนจะเป็นอำนาจชอบธรรมที่สังคมมอบนักข่าวให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความไว้วางใจ


 


บทความของสุทัสสาเป็นอีกหนึ่งเสียงสะท้อนที่ปัจเจกชนออกมาแสดงสิทธิ์แห่งการเป็นเจ้าของสังคม ด้วยการทวงถามจริยธรรมที่พึงมีของ "คนข่าว" ซึ่งอาจหมายรวมถึงนัยยะที่ส่งสัญญาณแห่งความรู้สึกบางประการกลับไปยังผู้ปฏิบัติงานในสนามข่าว อาจนำไปสู่ซึ่งการสิ้นสุดของความไว้วางใจให้ทำหน้าที่กระจกสะท้อนความจริง เมื่อใดที่สังคมหมดความไว้วางใจ สิ่งที่ตามมาคือความสูญสิ้นความเชื่อถือและศรัทธา  สื่อมวลชนในวันนี้ไม่ได้เป็นเพียงหนึ่งอาชีพในสังคม หากแต่ครองตนเป็นสถาบันที่นำเสนอความถูกต้องของประชาชน หากปราศจากความไว้วางใจจากประชาชน สถาบันสื่อเพื่อมวลชนคงไม่ต่างไปจากสถาบันกำมะลอ มีแต่ความโกหกหลอกลวง คงอยู่ได้ตามกลไกตลาดแต่ปราศจากสำนึกรับผิดชอบ


 


สุดท้ายกลายเป็นวิชาชีพที่ไม่เหลือความภูมิใจ หรือแม้แต่ศักดิ์ศรีใดๆ ให้ชวนชื่นชม


 


ขอขอบคุณ : นางสาวสุทัสสา คุ้มจั่น นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. อนุญาตให้เผยแพร่บทความที่นักศึกษาส่งอาจารย์ผู้สอนในวิชาหลักการรายงานข่าวเบื้องต้น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา