Skip to main content

หมายเหตุ SMS

คอลัมน์/ชุมชน

ธรรมชาติของมนุษย์ต้องการ "สื่อสาร" เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดจากภายในให้สังคมภายนอกได้รับรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อเพื่อให้เกิดการ "ยอมรับ" ในความเป็นตัวเองและตัวตนของคนที่ชื่อว่าเป็น "ผู้ส่งสาร"


ทฤษฎีสื่อสารมวลชน กล่าวถึงองค์ประกอบสำคัญในการสื่อสารให้สัมฤทธิ์ผลตามแบบจำลองการสื่อสาร SMCR ว่าประกอบไปด้วยปัจจัยสำคัญคือ "S" หมายถึงต้นสารหรือผู้ส่งสาร "M" คือสารหรือข้อมูลที่ส่งออกไป "C" ได้แก่ช่องทางการสื่อสาร และ "R" หมายถึงผู้รับข้อมูลหรือผู้รับสาร ซึ่งหากขาดองค์ประกอบตัวใดตัวหนึ่งไป วงจรสื่อสารก็ไม่อาจครบขั้นตอนจนสื่อสารสำเร็จได้


ทฤษฎีที่ว่าถือเป็นแม่บทตั้งต้นของการศึกษาและวิเคราะห์องค์ประกอบการสื่อสารของมนุษย์ทั้งระดับบุคคล กลุ่มและการสื่อสารสำหรับมวลชนจนถึงปัจจุบัน


โลกในวันนี้หมุนตามกระแสสื่อในยุคสังคมความรู้ องค์ประกอบทั้งสี่ของการสื่อสารยังเป็นหลักให้ยึดได้เหมือนเดิม ในขณะที่จำนวนผู้ส่งสารมีมากขึ้นตามหลักประชากรศาสตร์ สมการของจำนวน "สาร" และ "ผู้รับสาร" ย่อมแปรเปลี่ยนไปในทิศทางเดียวกันคือมีจำนวนมหาศาล และถูกผลักดันด้วยกำลังที่มากขึ้น


ช่องว่างของวงจรการสื่อสารในยุคนี้จึงไปหยุดอยู่ที่ "ช่องทาง" หรือ "C" เพื่อการส่งสารที่มีปริมาณเท่าเดิมในสื่อกระแสหลักอย่างหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ในขณะที่คนในสังคมกลับมีความต้องการ "พื้นที่" ในการแสดงความคิดที่มากขึ้น


ยิ่งกว่านั้น หากดันทุรังนำปัจจัยเชิงคุณภาพมากำหนดหน้าที่สื่อในฐานะ "ตัวกลาง" ที่ "เป็นกลาง" ในการทำหน้าที่แทนประชาชน หลายคนคงได้ข้อสรุปใกล้เคียงกันว่ายังไม่เห็นสื่อช่อง (ทาง) ไหนทำหน้าที่ "สื่อ" ของประชาชนได้อย่างสมบูรณ์โดยปราศจากการแทรกแซงจากระบบหรือคณะบุคคลที่เรียกว่า "รัฐบาล" ในทุกยุคทุกสมัย


เมื่อช่องทางสื่อไม่มากพอต่อความต้องการ "ปลดปล่อย" ความคิดประชาชนในฐานะผู้ส่งสาร การแสวงหาช่องทางสื่อสารใหม่จึงเกิดขึ้น "สื่อใหม่" ในรูปแบบต่าง ๆ ได้รับการพัฒนาเป็นจำนวนมากเพื่อรองรับต่อความ "โหยหา" ใน "พื้นที่" แสดงเสรีภาพทางความคิดสู่สาธารณะ ทั้งสื่อภาคประชาชนในรูปแบบเวทีเครือข่าย ชุมนุมภาคีย่อยและใหญ่หรือสื่ออิเล็กทรอนิคส์ เช่น เว็บไซต์ เว็บบอร์ด แชตรูม จดหมายเวียนอิเล็กทรอนิคส์ รวมไปถึงสื่อสนิทประชิดตัวอย่าง SMS ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่


ต้นเดือนที่แล้วหนังสือพิมพ์ผู้จัดการนำข่าวการวิจัยผู้บริโภคถึงพฤติกรรมและความสนใจในกิจกรรมทางการตลาดผ่าน SMS โดยบริษัทแห่งหนึ่ง โดยศึกษากลุ่มเป้าหมายเป็นชายและหญิงอายุ 8-35 ปีในเขตกรุงเทพมหานคร ผลที่ออกมา มีความน่าสนใจและน่าเป็นห่วงในอัตราส่วนเท่า ๆ กัน


ตัวเลขระบุว่าร้อยละ 71 ของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือใช้บริการ SMS เพื่อรับส่งข้อมูลโดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียนนักศึกษา โดยร้อยละ 50 ของผู้ที่ใช้ SMS มักส่งข้อความเพื่อร่วมกิจกรรมทางสื่อต่าง ๆ ทั้งการโหวตในรายการประเภทเรียลลิตี้โชว์ (Reality Show) การตอบปัญหาชิงของรางวัลและแสดงความคิดเห็นผ่านรายการประเภท "คุยข่าว" ทั้งตอนเช้าสายบ่ายหรือดึก


จุดสังเกตที่หนึ่งสอดคล้องกับสมมุติฐานแรกว่า มนุษย์ต้องการพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น เมื่อสื่อกระแสหลักไม่สามารถตอบสนองความต้องการอยาก "พูด" อยาก "พิมพ์" และอยาก "เขียน" ของประชาชนได้ ตลาดจึงเสนอช่องทางสื่อสารใหม่ ๆ SMS ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ได้รับการตอบรับจากสังคมจนเกินคาด ขนาดผู้ใช้ยอมเสียค่าบริการ "นาทีละ 9 บาท" เพียงเพื่อพิมพ์ข้อความสะท้อนความคิดว่า "เห็นด้วย" และ "ไม่เห็นด้วย" กับสิ่งที่เรียกว่า "ประเด็น" ประจำวันที่ตั้งขึ้นมา


และเพื่อแลกกับการเห็นตัวตนที่ชัดขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเห็นชื่อและความคิดของตัวเองปรากฏเป็นข้อความบนหน้าจอโทรทัศน์


จุดที่สองน่าสนใจตรงที่กลุ่มผู้ใช้บริการ "นาทีละ 9 บาท" เป็นกลุ่มนักเรียนอายุ 11-20 ปีมากที่สุด กลุ่มเป้าหมายนี้รวมเรียกว่า "วัยรุ่น" ซึ่งเป็นกลุ่มสำคัญที่นักการตลาดจับจ้องจนตาไม่กระพริบ ไม่ว่าจะพิจารณาจากกำลังการซื้อ ความรอบคอบในการตัดสินใจหรือเหตุจูงใจในการซื้อก็สรุปรวมได้ว่าเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งหากทำการตลาดโดนใจเมื่อไร เป็นอันได้ปิดยอดก่อนใครในตลาด


รูปแบบของการชวนวัยรุ่นแสดงความคิดเห็นผ่าน SMS จึงมาพร้อมแพคเกจของรางวัลที่ล่อใจชวนให้เด็ก ๆ น้ำลายไหล ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ เงินสด บัตรคอนเสิร์ตศิลปินดัง หรือการได้ไป "ดินเนอร์" กับดารานักร้องคนโปรด ด้วยแรงกระตุ้นยอด SMS กับแนวคิด "ส่งมากมีสิทธิ์มาก"


ช่วงปีที่ผ่านมากระแส SMS มาแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมสนุกกับรายการวิทยุและโทรทัศน์จนหลายคนมองว่าบริษัทมือถือกำลัง "ฉวยโอกาส" จากกระบวนการสร้างกระแสมีส่วนร่วมของผู้รับสารที่เป็นวัยรุ่นด้วยการ"มอมเมา" เพื่อ "ล่อซื้อ" เพียงแต่สินค้าและบริการที่ทำให้เกิดธุรกรรมนั้นเป็นการSMS แสดงความเห็นนาทีละ 6 บาทบ้าง 9 บาทบ้าง


เม็ดเงินจากกระแสเงินสดในกระเป๋าถูก "ดูด" ออกไปเพื่อแลกกับพื้นที่แสดงความคิดครั้งละหลายบาท มีวัยรุ่นจำนวนมากที่อยากแสดงความเห็นและตอกย้ำความมีตัวตนบนจอโทรทัศน์ ขณะที่เจ้าของรายการและบริษัทมือถือก็ได้ทั้งเรตติ้งและค่าบริการส่ง SMS ตามสัดส่วนที่ตกลงกันไว้


แต่ถ้าจะพิจารณาอย่างเป็นกลางบนหลักธุรกิจที่มี "กำไร" เป็นมาตรฐานวัดความสำเร็จ ก็คงจะไม่ยุติธรรมที่จะโทษเจ้าของรายการเพียงฝ่ายเดียว เพราะวิธีดึงดูดผู้รับสารผ่าน SMS เป็นเพียง "เครื่องมือ" ชนิดใหม่ที่ใช้การได้เฉพาะกับผู้รับสารที่ "ยินยอม" เข้าร่วมวงจรแสดงความเห็นผ่านมือถือแบบ "พร้อมใจ" เท่านั้น


กลับมามองที่ผู้ส่งสารโดยเฉพาะเมื่อวัยรุ่นคิดจะพูด แสดงออก อยากเป็นที่ยอมรับและต้องการมี "คนรับฟัง" ปัญหาที่เกิดขึ้นคือวัยรุ่นไทยปัจจุบันไม่อาจหา "พื้นที่แสดงความคิด" เหล่านั้นได้ใน "บ้าน" ของตัวเองเพราะพ่อแม่ไม่เคยให้เวลา "ฟัง" และเปิดโอกาสให้วัยรุ่นได้ "พูด"


จึงไม่น่าแปลกว่า ทำไมเด็ก ๆ จึงยอมเสียเงิน SMS แบบไม่อั้นด้วยเหตุผลว่า SMS อาจเป็นช่องทางใกล้ตัวเพียงอย่างเดียวที่เปิดโอกาสให้วัยรุ่นพูด ในขณะที่มีคนฟังเป็นผู้ชมทางบ้านทั่วประเทศ


คงไม่ยุติธรรมสำหรับวัยรุ่นที่ต้องโดน "ดุ" และฟังเสียง "บ่น" ของพ่อแม่ทุกสิ้นเดือนเวลาสรุปยอดบิลมือถือ เพราะสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งอยู่ที่ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ ผู้ปกครองไม่ยอมรับ และพ่อแม่ที่ไม่เคยคิดโทษตัวเองเมื่อไม่มีเวลาคุยกับลูก


ธุรกิจ SMS คงฟันกำไรอีกมหาศาลตราบใดที่การ "สื่อสาร" ใน "ครอบครัว" ยังมีรอยรั่วเหมือนสังคมปัจจุบัน


คิดอย่างไรกับปัญหานี้ เชิญร่วมสนุกด้วยการ SMS มาหาเรา ถ้าเห็นด้วยพิมพ์ U เว้นวรรค 1 ไม่เห็นด้วยพิมพ์ U เว้นวรรค 2 แล้วส่งข้อความมาที่ 123xx ร่วมลุ้นรางวัลเงินสด 10,000 บาท สิ้นเดือนนี้