Skip to main content

ช่องว่างระหว่าง (ข่าว) เด็ก

คอลัมน์/ชุมชน

เราคุ้นเคยกับคำว่า "ช่องว่างระหว่างวัย" ใช้เวลาเปรียบเทียบการผสมที่ไม่ผสานระหว่างความคิดของผู้ใหญ่กับเด็กซึ่งมักพิจารณาสิ่งต่างๆ ไปในทิศทางตรงกันข้าม


 


ทว่าแม้แต่เด็กด้วยกันเองก็ยังมีความห่าง มีความต่างของความคิดและความรู้สึกต่อการมองโลกที่ไม่เท่ากันตามโอกาสที่แตกต่างกัน แต่กลับถูกสะท้อนเป็นภาพลักษณ์ของเด็กไทยแบบรวมๆ ผ่านสื่อมวลชนไทย


 


เมื่ออยากรู้ว่าสถานการณ์เด็กในสังคมไทยเป็นอย่างไรมักจะเปิดหน้าหนังสือพิมพ์ย้อนหลัง ส่วนตัวแล้วชอบที่จะอ่านข่าวเด็กและสิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กทั้งที่เป็นข้อมูลดิบแบบผลวิจัยและตัวเลขผลสำรวจ รวมไปถึงข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์และจ้องมองปัญหานำสู่การพยายามหาคำตอบของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประมวลความคิดเป็นข้อหารือกับตัวเองและเพื่อนร่วมวิชาชีพเพื่อตอบคำถามที่ว่าสถานการณ์เด็กในสังคมไทยเป็นเช่นไร


 


ระยะหลังหนังสือพิมพ์เพิ่มพื้นที่ข่าวเกี่ยวกับเด็กมากขึ้น หากแต่ว่าข่าวที่ได้รับการพิจารณาตีพิมพ์มักเป็นข่าวด้านลบทั้งของตัวเด็กและทั้งจากสถานการณ์ที่เด็กเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ไล่เรียงกันมาตั้งแต่พฤติกรรมเด็กวัยรุ่นที่อาจมีการตั้งธงและชงประเด็นตั้งแต่ก่อนทำการสำรวจในสามเรื่องหลัก ได้แก่ หมกมุ่นเรื่องเพศ, ติดเกม และใช้ชีวิตแบบไร้ระเบียบ โดยมีเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งอินเตอร์เน็ต มือถือ วีซีดี ดีวีดี กล้องดิจิตัล ฯลฯ เหมือนที่โครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชน สถาบันรามจิตติสังเคราะห์กรณีศึกษารวม 74 กรณีทั่วประเทศพบวิกฤติการณ์เกี่ยวกับเด็กแยกเป็นเรื่องเพศ 27 กรณี การใช้ชีวิตเสี่ยง 15 กรณี การอยู่ก่อนแต่ง 3 กรณี คู่นอนหลายคน 3 กรณี เบี่ยงเบนทางเพศ 3 กรณี ขายบริการทางเพศ 7 กรณี ตามมาด้วยการล่วงละเมิดทางเพศและแต่งตัวโป๊รวมทั้งได้มีบทสรุปเซ็กส์หลังชีวิตหวาดเสียวไว้ว่า "ห่างพ่อแม่ ไกลบ้าน อยู่หอ ติดเหล้าบุหรี่ มีมือถือ สื่อติดตัว ทันสมัย มีมอเตอร์ไซค์ ตามเพื่อน ติดเที่ยว ท้าทาย ทดลอง ต้องตาเพศตรงข้าม" (สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน ในบทความ "สื่อลามกราคาถูก หาง่ายและสุดยอด" มติชน 17 สิงหาคม 2549)


 


ต่อเนื่องด้วยการพาดหัวข่าวในทำนองเดียวกันใจความว่าสังคมไทยกำลังน่าห่วง ครอบครัวขยายกลายเป็นครอบครัวสลาย เด็กอยู่ภายใต้การครอบงำของสื่อ บ้านแตก-ลูกเปิดดูเว็บโป๊ (โพสต์ทูเดย์ 25 สิงหาคม 2549) ตามผลการสำรวจของโครงการหนึ่งครอบครัวหนึ่งลูกกตัญญู ซึ่งชี้ชัดไปที่ปัญหาความรุนแรงในเด็กว่าส่วนหนึ่งมาจากการกระตุ้นจากสื่อที่อาจทำให้เด็กกลายเป็นมนุษย์พันธุ์ใหม่ที่ความคิดรุนแรง โหดร้าย ฆ่าชิงทรัพย์ ข่มขืน มั่วสุมแต่อบายมุข เที่ยวกลางคืน ไม่รู้จักศีลธรรม ท้องในวัยเรียน ติดยาเสพติด ติดเหล้าและติดบุหรี่ ฯลฯ


 


นอกเหนือจากที่ข่าวทำนองเดียวกันที่ได้พบ ล่าสุดวันก่อนสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชนรายงานสถานการณ์เด็กและเยาวชนไทยปี 2547-2549 ว่าเด็ก 23 ล้านคนมีภาพรวมความรู้ต่ำกว่ามาตรฐานของเอเชีย ด้านสุขภาพมีปัญหาสุขภาพจิต 25,871 คน ติดเชื้อเอดส์ 38,297 คน กำพร้าจากเอดส์ 85,663 คน ถูกทารุณและล่วงละเมิดทางเพศ 2,151 คน เร่ร่อน 16,000 คน โสเภณีเด็ก 18,000 คน พิการ 69,797 คน แรงงานเด็ก 1 ล้านคน กระทำผิดกฎหมาย 27,174 คน ไร้สัญชาติ 93,000 คน และได้รับผลกระทบจากสึนามิ 23,878 คน (คมชัดลึก 29 สิงหาคม 2549)


 


ยังไม่รวมข่าวเหมาโหลจากสื่อที่สะท้อนภาพ "เด็กดื้อ" ประจำวันยกพวกตีกัน, คลิปวิดีโอตบกัน, เด็กชายรุมโทรมเพื่อนเด็กหญิง, นักศึกษาสาวไซด์ไลน์, รับน้อง ท้องก่อนแต่ง ฯลฯ เหล่านี้เห็นกันอยู่บ่อยๆ จนเกรงจะกลายเป็นความชาชินและทำให้คนในสังคมรู้สึกเบื่อหน่ายที่จะรับรู้และปิดประตูที่จะร่วมป้องกันปัญหา


 


ที่น่าจะโหดร้ายที่สุดสำหรับเด็กคือการที่สังคมเหมารวมภาพเด็กไทยว่าเป็นเหมือนกันหมดอย่างที่เห็นในข่าว ซึ่งอยุติธรรมสำหรับเด็กดีอีกมากที่ยืนรออยู่อีกฟากฝั่งจากการตัดสินของสังคม แต่กลับไม่มีพื้นที่ในสื่อให้เล่าเรื่องดีๆ


 


ปฏิเสธได้ยากว่าข่าวดีที่สะท้อนเรื่องน่าชื่นชมของเด็กไทยหาได้ยากนักในหนังสือพิมพ์ ที่จะได้ขึ้นเป็นภาพข่าวอยู่บ้างก็ต้องรอให้ชนะเลิศเหรียญทองฟิสิกส์โอลิมปิค ชนะเลิศประกวดร้องประสานเสียง หรือคว้ารางวัลใหญ่จากการแข่งขันระดับประเทศ เรื่องดีๆ ของเด็กไทยที่ไม่เกี่ยวกับการแข่งขัน ที่ทั้งคิดทั้งทำมากมายจนประสบความสำเร็จแต่เป็นเรื่องเล็กๆ ในชุมชน กลับไม่ได้รับการขยายความและบอกต่อ ยังไม่นับรวมสำหรับข่าว  "เด็กพิเศษ" ของสังคม เช่น เด็กเร่ร่อน เด็กพิการ เด็กติดเชื้อเอชไอวี เด็กไร้สัญชาติ เด็กถูกทารุณกรรม ฯลฯ ที่สื่อมักตีกรอบการนำเสนอเนื้อหาเด็กเหล่านี้ด้วยภาพและเรื่องที่ชวนสังเวชมากกว่าความพยายามที่จะบอกเล่าเรื่องราวและสะท้อนมุมคิด หรือถ่ายทอดรายละเอียดชีวิตเล็กๆ ของเด็กเหล่านั้นที่สามารถยืนอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข


 


เรามีช่องว่างระหว่างข่าวเด็กที่นำเสนอผ่านสื่อกันพอควร ถ้าไม่ร้ายจนรับไม่ได้ก็ต้องดีจนเกินมาตรฐานที่เด็กธรรมดาจะไปถึง สื่อคือตัวผ่านความจริงที่สะท้อนเรื่องราวของสังคม แต่ทุกวันนี้เรากลับไม่ได้รับข้อเท็จจริงดีๆ ที่เกิดขึ้นกับเด็กเท่าไรนัก อาจเป็นเพราะเรื่องที่ดูเหมือนจะธรรมดาของเด็กไม่สามารถปรากฎเป็นข่าวที่ขายได้ พื้นที่ของการแสดงความเห็นและตัวตนของเด็กไทยจึงกลายเป็นภาพซ้ำซ้อนตอกย้ำความเลวร้ายทำลายเด็กมากกว่าการกระตุ้นผลักดันสนับสนุนพัฒนาการเด็กไทยให้ไปได้ไกลกว่าสิ่งที่ข่าวเลือกนำเสนอ


 


ช่องว่างที่จะเสนอเรื่องธรรมดาแต่ดีๆ ของเด็กยังมีอีกมากและข่าวที่เป็นเรื่องดีของเด็กก็หาได้ไม่ยากเช่นกัน แต่ที่ยากกว่าคือการกล้าปรับทัศนคติของสื่อมวลชนที่จะยอมหรือไม่กับการเปลี่ยนบทบาทจากผู้ตอกย้ำความผิดให้กลายเป็นผู้ใหญ่ใจกว้างถ่ายทอดเรื่องราวเล็กๆ ที่น่าสนับสนุนของเด็กไทยผ่านพื้นที่สาธารณะที่รวมเรียกว่าสื่อสารมวลชน


 


เพื่อสังคมจะได้มีเลนส์ใหม่ใสชัดกว่าที่เคยมี ไว้เฝ้ามองเด็กในข่าวด้วยสายตาชื่นชม