Skip to main content

ประเทศชาติ ก็ต้องการนักข่าวที่ตั้งคำถาม

คอลัมน์/ชุมชน

เวลานักข่าวสัมภาษณ์ท่านผู้นำ หลายครั้งๆ ผมรู้สึกสงสัยว่าทำไมนักข่าว (ทั้งที่เป็นกลาง ไม่เป็นกลาง หรือไม่รู้ว่าเป็นอะไรกันบ้าง) ถึงไม่ตั้งคำถามเจาะแบบเผชิญหน้าอย่างมีอารยะกับท่านผู้นำ และพลพรรคบ้าง


 


ผมรู้ว่างานในสนามเป็นงานที่หนัก หากแหล่งข่าวไม่เปิดปากก็ยากจะได้ข่าว แถมบางทีก็เดินพูดให้สัมภาษณ์แบบเร่งรีบ นักข่าวไปนั่งเฝ้าครึ่งค่อนวัน ได้ข่าวมานิดเดียว ยิ่งระยะหลังๆ ยังกั้นคอกห้ามนักข่าวประชิดตัวอีก


 


แต่สังเกตไหมครับ ยิ่งท่านผู้นำอยู่นาน นักข่าวยิ่งถามอะไรไม่ค่อยได้ สุดท้ายกลายเป็น "พนักงานไปรษณีย์" คอยบอกประชาชนว่าแต่ละวันท่านผู้นำทำอะไร พูดอะไร กินข้าวที่ไหน พาใครไปชอปปิ้ง ไปตีกอล์ฟที่ไหน ฯลฯ เช่น ตอนเช้าพูดเป็นนัยว่าเหนื่อยแล้ว พอแล้ว ตอนเย็นบอกว่าจะสู้เพื่อพี่น้องคนจนต่อไป


 


แต่คำถามที่อยากให้นักข่าวถามคือ หากท่านไม่เว้นวรรค ประชาชนจะยอมรับได้ไหม ในเมื่อท่านยังไม่ได้อธิบายข้อสงสัยตั้งหลายเรื่อง เช่น การอุ้มผู้บริสุทธิ์ที่ภาคใต้โดยรัฐไม่เคยหาคนผิดมาลงโทษได้ การขายสาธารณสมบัติให้ต่างชาติ แถมยังใช้นอมินีคอยอำพรางสัญชาติ การให้รัฐบาลไทยปล่อยกู้ให้พม่าเพื่อใช้เงินกู้ไปซื้อสินค้าจากบริษัทของครอบครัวท่าน หรือการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐยืนมองอันธพาลทำร้ายคนแก่และผู้หญิงที่ต่อต้านท่าน โดยไม่เข้าไปช่วยเหลือและไม่ได้สอบสวนหาคนผิดไปลงโทษเลย ฯลฯ


 


หรือบางวันท่านก็บอกว่า ไม่ชอบผมไม่เป็นไร แต่ขอให้ไปเลือกตั้ง รักษากติกาประชาธิปไตย ขอให้สามัคคีกัน คนกรุงเทพฯ อย่าไปชุมนุมกันเพราะไปเชื่อคนอื่นง่ายๆ


 


แต่คำถามที่อยากให้นักข่าวช่วยถามคือ ท่านเข้าใจประชาธิปไตยที่มีมิติอื่นนอกเหนือจากการไปเลือกตั้งไหม เช่น การถูกตรวจสอบ การมีส่วนร่วมของประชาชน การรับฟังความเห็นที่แตกต่าง ฯลฯ หรือการที่คนไปชุมนุมขับไล่ท่านนั้น จริงหรือที่ผู้ชุมนุมชาวกรุงเชื่อคนง่าย ในเมื่อสื่อแทบทั้งหมดก็อยู่ในมือท่าน ทำไมคนยังพร้อมใจไปขับไล่ท่านอีก ฯลฯ


 


เหล่านี้เป็นต้นครับ


 


ไม่กี่วันก่อน นักข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ซึ่งทำข่าวการเมืองมากว่าทศวรรษ ได้ไขข้อข้องใจดังกล่าวให้ฟังว่า มีเหตุผลสำคัญๆ ที่ทำให้นักข่าว "ไม่ถามเจาะ" กับท่านผู้นำคือ


 


ประการแรก สื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์ รายการวิทยุ และโทรทัศน์ ล้วนต้องพึ่งพารายได้จากการขายโฆษณาทีนี้ ลูกค้าที่ทรงอิทธิพลที่สุดในเวลานี้ก็คือ การโฆษณาของภาครัฐบาล (เช่น รัฐมนตรีมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ชวนคนกิน "ผักครึ่งหนึ่ง อย่างอื่นครึ่งหนึ่ง" "หรือไปเที่ยวพืชสวนโลก") การโฆษณาของรัฐวิสาหกิจ (เช่น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ)


 


ที่สำคัญคือการโฆษณาของภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งปัจจุบันเป็นเครือข่ายพันธมิตรของท่านผู้นำไปเกือบหมดแล้ว เอ่ยชื่อบริษัทใหญ่ๆ ออกมาเถอะ เป็นเครือข่ายท่านเกือบทั้งนั้น


 


ดังนั้น หากนักข่าวไปถามจี้ใจดำท่านผู้นำ ท่านก็สามารถกำหนดให้ลูกค้าเหล่านี้ถอนโฆษณาจากต้นสังกัดของนักข่าวรายนั้น


 


หลักฐานแทนใบเสร็จฯ ที่ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ก็คือ หนังสือพิมพ์ฉบับไหนที่สอพลอ ไม่ค่อยกล้าตรวจสอบท่านผู้นำ ก็จะมีโฆษณามากจนหนังสือหนาอ้วน แต่เล่มไหนที่วิพากษ์วิจารณ์ท่านผู้นำ หนังสือก็จะผอมบาง


 


ประการถัดมาคือ การสั่งย้ายนักข่าวปากกล้า โดยเฉพาะนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ บังเอิญรัฐบาลและหน่วยราชการยังมีอำนาจทางกฎหมายในการจัดสรรคลื่นความถี่ให้เอกชนเอาไปทำมาหากิน อีกทั้งยังมีอำนาจทั้งในทางแจ้งและทางลับในการเลือกผู้บริหารสถานี หากผู้บริหารสถานีรายไหน เอาใจออกห่าง ไม่สนองงานท่านผู้นำ นายสถานีก็มีโอกาสเด้งไปอยู่ที่อื่นได้


 


ดังนั้นนักข่าวฝีปากกล้าของสถานี ก็จะถูกผู้บริหารสถานีกดดันไม่ให้ถามคำถามเจาะลึกกับท่านผู้นำ มิฉะนั้นเป็นโดนเด้ง ซึ่งก็เกิดขึ้นแล้วจริงๆ เช่นกรณีฟองสนาน จามรจันทร์ แห่งวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ ที่ถูกใบสั่งเด้งไปทำงานในจังหวัดเล็กๆ ทางอีสาน


 


อีกประการหนึ่งก็คือ การกดดันในทำเนียบฯ หากนักข่าวคนใด โดยเฉพาะนักข่าวหนังสือพิมพ์ (ซึ่งท่านผู้นำล้วงลูกยากกว่านักข่าววิทยุโทรทัศน์ดังที่กล่าวไปในประเด็นที่แล้ว) ยังถามคำถามจี้ใจดำอยู่ นักข่าวคนนั้นก็จะอยู่ยากในทำเนียบฯ เพราะข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทั้งหลายจะถูกสั่งไม่ให้พูดจา ไม่ให้ความช่วยเหลือ ไม่ให้ให้ความร่วมมือกับนักข่าวรายนั้น


 


การเป็นนักข่าวประจำหน่วยงานใดๆ สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือการมีแหล่งข่าวปิด ที่จะบอกข้อมูลลึกๆ ให้แก่นักข่าว ดังนั้นการที่ข้าราชการถูกผู้ใหญ่ในหน่วยงานสั่งห้ามสุงสิงกับนักข่าวคนนั้น ก็จะทำให้นักข่าวรายนั้นอดได้ข่าวลึกๆ


 


นักข่าวทำเนียบฯ ที่ติดตามท่านผู้นำ ก็อยู่ในข่ายนี้เช่นกัน เขาและเธอเหล่านั้นจึงถามอะไรท่านผู้นำแบบแหลมคมมิได้ มิฉะนั้นจะถูกชาวทำเนียบฯ โดดเดี่ยว


 


ประการสุดท้าย คือความเหนื่อยหน่าย การที่นักข่าวทุกสำนัก ถูกผลักให้ไปอยู่ในสภาพแวดล้อมแห่งความหวาดกลัว ถามอะไรมากไม่ได้ เมื่อติดตามท่านผู้นำมาหกปี ก็จะเริ่มถามน้อยลงน้อยลง


 


ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้ไม่เหมารวมนักข่าวทุกคน เพียงแต่ต้องการให้ผู้อ่านได้เข้าใจสถานการณ์ของนักข่าวว่าอยู่ในภาวะ "เสือลำบาก" กันอย่างไร


 


อย่างไรก็ตาม หากเสือไม่ยอมลำบาก ทำงานกันแบบนี้ ก็ยากที่สื่อมวลชนจะสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนเจ้าของประเทศได้


 


เป็นไปได้ไหมที่ท่านผู้นำคนเดียว คงไม่ทำความเสียหายแก่สาธารณะได้มากขนาดนี้ หากนักข่าวทำหน้าที่กันจริงๆ