Skip to main content

ขนมของเด็ก ขุมทรัพย์ของผู้ใหญ่ (ตอน 2)

คอลัมน์/ชุมชน


 


คราวที่แล้วได้กล่าวถึงการโฆษณากับเด็กๆ ว่า ควรจะมีการควบคุมดูแลกันอย่างจริงจัง ติดค้างไว้ที่ในประเทศไทยมีการกำกับดูแลกันอย่างไร ลองมาดูกัน


การคุ้มครองผู้บริโภคในด้านการโฆษณา ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522


การโฆษณาจะต้องไม่ใช้ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรือใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวมทั้งนี้ ไม่ว่าข้อความดังกล่าวนั้น จะเป็นข้อความที่เกี่ยวกับแหล่งกำเนิด สภาพคุณภาพ หรือลักษณะของสินค้าหรือบริการ ตลอดจนการส่งมอบ การจัดหาหรือการใช้สินค้าหรือบริการ


ข้อความดังต่อไปนี้ถือว่าเป็นข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือเป็นข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียหายต่อสังคมเป็น ส่วนรวม
                 (1) ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง
                 (2) ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริงหรือเกินจริงหรือไม่ก็ตาม
                 (3) ข้อความที่เป็นการสนับสนุนโดยตรงหรือโดยอ้อม ให้มีการกระทำผิดกฎหมายหรือศีลธรรมหรือ นำไปสู่ความเสื่อมเสียในวัฒนธรรมของชาติ
                 (4) ข้อความที่จะทำให้เกิดแตกแยกหรือเสื่อมเสียความสามัคคีในหมู่ประชาชน


ส่วนที่จะมีเกี่ยวข้องก็เห็นจะเป็นข้อกำหนดด้าน จรรยาบรรณวิชาชีพโฆษณา โดยสมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย ซึ่งมีหลักการพื้นฐานสำหรับนักวิชาชีพโฆษณาว่าในหารทำโฆษณานั้นการโฆษณาทุกชิ้นจะต้องถูกกฎหมาย มีเกียรติ ซื่อสัตย์ และนำเสนอความจริง การโฆษณาไม่ควรมีความขัดแย้งกับศีลธรรมอันดี และระเบียบสังคม ในการสร้างสรรค์งานโฆษณา ควรกระทำด้วยการตระหนักถึงการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และอยู่ภายใต้หลักของการแข่งขันที่ยุติธรรมที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในวงการธุรกิจ การโฆษณาต้องไม่ทำให้สาธารณะชนเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจในการโฆษณา


ซึ่งข้อความ ในการสร้างสรรค์งานโฆษณา ควรกระทำด้วยการตระหนักถึงการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม นั้นไม่ได้เจาะจงไปที่เรื่องใดเป็นพิเศษ เป็นข้อความที่กว้างๆ และเป็นนามธรรม นอกจากนี้ยังมีระเบียบปฏิบัติในข้อกำหนดจรรยาบรรณวิชาชีพโฆษณาในข้อ 10 ที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มเด็กโดยมีรายละเอียดว่า


"ไม่ควรกระทำการโฆษณาอันอาจมีผลเป็นอันตรายต่อเด็ก หรือผู้เยาว์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ หรือทำให้ขาดความรู้สึกผิดชอบ หรือโดยอาศัยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของบุคคลดังกล่าวมาใช้เป็นเครื่องมือในการจูงใจโดยไม่สมควร"


จากข้อความดังกล่าวโดยเฉพาะข้อความสุดท้าย ก็สอดคล้องกับเรื่องที่ได้นำเสนอไปคราวที่แล้วว่าเด็ก (ผู้ที่อายุต่ำกว่า 12 ปี) ยังมีความไร้เดียงสากับการโฆษณา โดยเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีมักจะ ไม่สามารถแยกแยะได้ว่า ในโทรทัศน์มีข้อมูล 2 ประเภท คือข้อมูลข่าวสารความบันเทิงทั่วไป และข้อมูลเพื่อการโน้มน้าวใจอย่างโฆษณา เด็กๆ วัยนี้จะคิดว่าสิ่งที่เขาดูในโทรทัศน์ทั้งหมดคือข้อมูลข่าวสารความบันเทิงทั่วไป และเด็กอายุระหว่า 5 – 12 ปี ว่ายังไม่เท่าทันกลยุทธ์การจูงใจของโฆษณาที่มีอยู่มากมาย


อย่างไรก็ตาม เราก็ยังพบเห็นโฆษณาที่ไม่เป็นธรรมต่อเด็กอยู่เป็นประจำ ซึ่งน่าจะมาจากเหตุผลดังนี้


1.       ไม่มีกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับการโฆษณากับเด็ก


2.       ผู้ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพโฆษณาแม้จะมีข้อกำหนดด้านจรรยาบรรณวิชาชีพโฆษณา แต่ก็ซึ่งค่อนข้างเป็นนามธรรม แล้วแต่จะตีความ


น่าจะถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมีการควบคุมกันอย่างจริงจังเพื่ออนาคตของชาติ เมื่อไม่นานมานี้คณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคได้เปิดเวทีรับฟังความเห็นขององค์กรคุมครองผู้บริโภคกรณีขอนเด็กกับสุขภาพเด็กไทย และได้สรุปหัวข้อโฆษณาขนมต้องห้าม 7 ประการเพื่อเป็นแนวทางเกี่ยวกับการพิจาณาเป็นกฎหมาย ดังนี้


1.       โฆษณาที่ทำให้เด็กเกิดการเข้าใจผิดในสาระสำคัญในขนมกรุบกรอบเป็นรูปผัก ปู ไก่ ว่าเป็นอาหารตามชื่อดังกล่าว


2.       โฆษณาที่มีการส่งเสริมการขายในลักษณะการแถมของเล่น


3.       โฆษณากินแล้วจะเป็นฮีโร่ ฉลาด


4.       โฆษณาชวนเชื่อว่ามีคุณค่าทางอาหารเพราะเป็นอาหารหลัก ไม่ใช่ขนม เช่นโฆษณาว่าเป็นซีเรียล แต่ลักษณะอาหารเป็นขนม


5.       โฆษณาแอบแฝงของร้านสะดวกซื้อในรูปของแถมเมื่อซื้อจากร้านดังกล่าว


6.       โฆษณาที่กล่าวชื่อสินค้าซ้ำๆ เพื่อให้เด็กจดจำชื่อขนมได้


7.       โฆษณาที่ใช้ดารานำเสนอ เด็กนำเสนอ และตัวการ์ตูนยอดฮิตนำเสนอ


 


นับว่าเป็นการเริ่มต้นความพยายามที่น่าชมเชย แต่ขนมก็เป็นสินค้าประเภทหนึ่งเท่านั้นที่มีควรมีการควบคุมด้านการโฆษณา คราวหน้าตอนที่ 3 จะมาคุยให้ฟังถึงการกำกับควบคุมการโฆษณากับเด็กในต่างประเทศ ที่หลายๆ ประเทศมีการควบคุมกันอย่างจริงจัง ว่ามีประเด็นอะไรที่ควรให้ความสำคัญบ้างนอกเหนือไปจากเรื่องขนมเด็กๆ