Skip to main content

คนขี้ลืม

คอลัมน์/ชุมชน

21 กันยายน สองวันหลังการปฏิรูปฯ นอกจากจะเป็นวันที่พ่อแม่หอบลูกจูงหลานออกจากบ้านมาถ่ายรูปคู่กับรถถัง ก็เป็นอีกวันหนึ่งที่มีความสำคัญสำหรับคนอีกหลายคนที่กำลังป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมโดยเฉพาะจาก "อัลไซเมอร์" ซึ่งเป็นอาการที่ถูกค้นพบเมื่อ 100 ปีที่แล้วโดยนายแพทย์ชาวเยอรมันชื่อ Dr.Alois Alzheimer


 


แม้คำว่า "อัลไซเมอร์" จะเป็นคำที่ดูไม่รุนแรงจนมีคนนำมาเป็นคำพูดหยอกล้อคนขี้ลืมว่าเป็นอัลไซเมอร์เสียแล้ว แต่หากใครเคยใกล้ชิดกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์จริงๆ ก็คงจะขำกันไม่ออก  เพราะอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุสำคัญลำดับต้นๆ ที่ทำให้มนุษย์สมองเสื่อม อัลไซเมอร์ เป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมสลายของเซลล์สมอง ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดกับผู้สูงอายุ ในต่างประเทศ พบว่า เมื่ออายุ 60 ปี จะมีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม 1% ของคนที่อายุเกิน 60 ปี และอุบัติการณ์จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าทุกๆ 5 ปี หมายความว่าจาก 1% เมื่ออายุ 60 ปี พบได้ 2% ในกลุ่มอายุ 65 ปี พบเป็น 4% ในกลุ่มอายุ 70 ปี เป็นต้น ดังนั้น ยิ่งอายุยืนยาวขึ้น โอกาสเสี่ยงของการเป็นภาวะสมองเสื่อมก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อายุที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ได้สูงขึ้นด้วย


 


แม้ว่าอัลไซเมอร์จะเป็นโรคที่น่ากลัวสำหรับผู้สูงอายุ แต่ก็ยังไม่มีคำยืนยันหรือผลวิจัยใดๆ ที่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าอัลไซเมอร์มีสาเหตุจากอะไร แถมยังไม่มีอะไรการันตีได้อีกว่าผู้สูงอายุทุกคนจะป่วยหรือไม่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ ข้อมูลวิชาการบ่งบอกเพียงว่าสมองของผู้ป่วยอัลไซเมอร์นั้นมีสารผิดปรกติไปเกาะอยู่แล้วร่างกายก็เกิดการต่อต้าน ทำให้เนื้อสมองรอบๆ ตายไม่สามารถใช้งานได้ตามปรกติ


 


อัลไซเมอร์เป็นพฤติกรรมการลืมของผู้ป่วยซึ่งมีความผิดปรกติ แตกต่างจากการลืมในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป เช่นไม่แน่ใจว่าล็อคบ้านหรือยัง, ลืมว่าวางกุญแจไว้ที่ไหน, ลืมว่าถอดปลั๊กหรือยัง, ลืมให้อาหารแมว, ลืมว่าวางแว่นตาไว้ห้องไหน เป็นต้น แต่ผู้ที่เป็นอัลไซเมอร์หรือมีอาการสมองเสื่อมมักจะลืมในสิ่งที่ไม่น่าลืม เช่น ขับรถออกมาจากบ้านไปจอดแล้วลืมว่าขับรถมาด้วย, การลืมว่าตัวเองเคยประกอบอาชีพอะไร, ออกจากบ้านแล้วกลับบ้านไม่ถูก, ลืมชื่อเรียกของที่ใช้อยู่ทุกวัน เป็นต้น


 


โดยทั่วไป อาการเริ่มต้นของคนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ คือลืมบ่อย เช่นจำไม่ได้ว่าตนวางอะไรไว้ที่ไหน ลืมชื่อคนรู้จัก ลืมนัดที่เคยตกลงกันไว้ สับสนเรื่องทิศทาง เช่น ขับรถผิดทางจราจร หรือเลี้ยวผิดซอย เป็นต้น และเมื่ออาการอัลไซเมอร์กำเริบมากขึ้น หลายคนปฏิเสธอาหาร ไม่ยอมไปห้องน้ำ และเดินหกล้มบ่อย เปิดประตูหรือแต่งตัวเองไม่ได้ และเมื่อเวลาผ่านไป แม้แต่หนังสือที่เคยชอบอ่านก็อ่านไม่ออก เมื่ออาการถึงระดับรุนแรง กล้ามเนื้อ แขน ขา กระเพาะปัสสาวะจะหมดสมรรถภาพในการทำงาน ความนึกคิด อารมณ์และความจำ ความรู้สึกต่าง ๆ จะสูญหายไปจนหมดสิ้น ดังนั้นผู้ป่วยจะต้องนอนติดเตียงตลอดเวลา แล้วจากนั้นก็อาจกินเวลาอีกนาน 8-10 ปี ก็จะเสียชีวิต


 


แพทย์หญิงสิรินทร ฉันศิริกาญจน์ นายกสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมแห่งประเทศไทยให้ข้อมูลการสังเกตคนไข้สมองเสื่อมว่ามีวิธีสังเกตเบื้องต้นได้แก่มักจำชื่อหรือของใช้ที่อยู่ไม่ได้, พูดไม่จบประโยคทำให้คนต้องคาดเดา, คนไข้จะทำกิจกรรมง่ายๆ ที่เคยทำไม่ได้ เช่น ติดกระดุม, เสียการรับรู้ในประสาทสัมผัส เช่น ไม่ทราบว่าที่ได้กลิ่นนั้นเป็นกลิ่นอะไร กลิ่นแก๊สหรือกลิ่นดอกไม้ เป็นต้น


 


ด้านแพทย์หญิงอำไพขนิษฐ์ สมานวงศ์ไทย จิตแพทย์จากโรงพยาบาลศรีธัญญา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าอาการของผู้ป่วยอัลไซเมอร์หรือสมองเสื่อมจะมีหลายระยะ แต่หากเป็นระยะท้ายๆ จะอันตรายมากเพราะผู้ป่วยอาจไม่สามารถแยกโลกแห่งความเป็นจริงได้ การรับรู้ผิดไป และหากไม่ได้รับการรักษาสมองจะเสื่อมลงไปเรื่อยๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต


 


อย่างไรก็ดี การป้องกันอัลไซเมอร์ย่อมดีกว่าการแก้ไข ถึงแม้เราจะไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงว่าอัลไซเมอร์เกิดขึ้นจากอะไร แต่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็ให้แนวทางป้องกันไว้ โดยให้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมความดัน ทำกิจกรรม และพยายามใช้สมองให้มาก เช่นผู้ที่ถนัดขวาอาจลองมาใช้มือซ้ายทำงานบ้างเช่นจับไม้กวาด ถูกพื้น หรือการเล่นเกมลับสมองก็จะช่วยกระตุ้นให้สมองได้ทำงานมากขึ้น


 


ชวนกันป้องกันในวันนี้จะได้ไม่เป็นอัลไซเมอร์ตอนอายุเยอะ