Skip to main content

ถึงเวลาที่สื่อไทยต้องกวาดบ้านตัวเอง

คอลัมน์/ชุมชน

ผู้เขียนรู้สึกสบายอกสบายใจมากขึ้น เมื่อ "ทั่นผู้นำ" และคณะพรรคถูก "กันตัว" ออกไปจากเวทีการเมือง


 


ส่วนจะไปแบบชั่วคราว หรือไปแบบถาวร ไปแบบแอบซ่องสุมกองกำลัง หรือไปแบบหมดเขี้ยวเล็บ ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้อง "จัดการ" กันต่อไป


 


แต่เชื่อไหมครับว่า ตอนที่โทรทัศน์ วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์ กล่าวพาดพิงถึง "ท่านนายกฯ" ผู้เขียนยังแวบคิดไปถึง "ทั่นผู้นำ" มากกว่าท่านนายกฯ คนปัจจุบันซะอีก 


 


เพราะหกปีที่ "ทั่นผู้นำ" กระทำ (และคนไทยปล่อยให้ "ทั่น" กระทำ) ต่อเมืองไทยและสื่อไทย เป็นฝันร้ายที่ยากจะลืมเลือนนะครับ


 


ในฐานะที่ผู้เขียนสนใจเรื่องสื่อ เวลานี้ก็ต้องบอกว่า "โดยหลักการ" สื่อต้องมีเสรีภาพ และต้องไม่ถูก "ทั่นผู้นำ" แทรกแซงอีกต่อไป


 


หลังจากสื่อถูกทำให้ "เซื่องซึม" มา ๖ ปี จึงมีอะไรหลายๆอย่าง ที่ต้องถูกปฏิรูปนอกเหนือไปจากเรื่องเสรีภาพ


 


ประเด็นที่ต้องถูกปฏิรูปนี้ มีผลการศึกษาที่น่าสนใจจากนักศึกษาที่เรียนวิชา วส.๒๑๒ การรายงานข่าวขั้นสูง คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาแลกเปลี่ยนกันอ่าน


 


ประเด็นแรกของการศึกษาคือ "การสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน" เป็นผลการศึกษาของดวงพร โชติพรไพศาล ปิยสุดา อาชาสันติสุข ภัทธิพงษ์ ศิริปัญญา และสาวิตรี พิทยรังสิยานนท์


 


นักศึกษาทีมนี้พบว่า ในหน้า "รอบรั้ว อบจ. อบต. ปกครองท้องถิ่น" ของเดลินิวส์ ตลอดเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานั้น แม้ว่านโยบายของหน้าจะเกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ แต่ตลอดเดือนสิงหาคมที่ทำการศึกษา มีแหล่งข่าวที่เป็นภาคประชาชนปรากฏในข่าวร้อยละ ๐ หรือแปลว่าไม่มีประชาชนคนเดินดินเลยได้พูดผ่านสื่อเลย


 


แหล่งข่าวเกือบทั้งหมดคือนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ในองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น


 


ส่วนสาเหตุที่ไม่มีแหล่งข่าวเป็นประชาชนนั้น นักข่าวอธิบายว่า เป็นเพราะประชาชนขาดความรู้ ไม่มีความน่าเชื่อถือที่จะเป็นแหล่งข่าวได้ และประชาชนอาจมีส่วนได้ส่วนเสียจนอาจให้ข่าวที่ไม่เป็นความจริง


 


นอกจากนี้ในระดับการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ การศึกษายังพบว่า การริเริ่มโครงการ/กิจกรรม การประชุมหาทางเลือก การดำเนินการแก้ไขปัญหา และการตรวจสอบโครงการ ล้วนเป็นเรื่องของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ถึงร้อยละ ๔๔.๒๔ ขณะที่ประชาชนมีส่วนร่วมเพียงร้อยละ ๒.๘๗ ของพื้นที่ข่าวทั้งหมด


 


ประชาชนในข่าวจะมีส่วนร่วมมากว่านักการเมือง/เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในมิติเดียวคือ การได้รับผลประโยชน์จากโครงการเท่านั้น – สมยุคซีอีโอเอื้ออาทรจริงๆ


 


ผลการศึกษาอีกประเด็นหนึ่งคือ การให้ข้อมูลที่รอบด้านและต่อเนื่องแก่ประชาชน เป็นผลงานของกรองกาญจน์ อาทรธรรมรัตน์ ปรียนิจ กุลตั้งเจริญ และรจรดา วัฒนาโกศัย


 


นักศึกษากลุ่มนี้ศึกษาเปรียบเทียบการเสนอข่าวของไทยรัฐและกรุงเทพธุรกิจ ในกรณีการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ ระหว่างมกราคม-สิงหาคม ที่ผ่านมา


 


ผลการศึกษาพบว่า กรุงเทพธุรกิจให้ข้อมูลทั้งข้อดีและข้อเสียของเรื่องเอฟทีเอได้รอบด้านกว่าไทยรัฐ


 


พูดให้ชัดๆ ลงไปเลยก็คือว่า ไทยรัฐไม่พูดถึงข้อเสียของเอฟทีเอเลย และยังเสนอแต่ข้อดีของเอฟทีเอมากกว่ากรุงเทพธุรกิจ


 


ยิ่งไปกว่านั้น แม้จะค่อนข้างเชียร์เอฟทีเอ แต่ไทยรัฐให้ข้อมูลรายละเอียดในปริมาณที่น้อยกว่ากรุงเทพธุรกิจ และเน้นการให้ข้อมูลเฉพาะความเคลื่อนไหวในช่วงที่มีม็อบต่อต้านเอฟทีเอในระยะสั้นๆ เท่านั้น


 


ส่วนแหล่งข่าวในไทยรัฐ แน่นอนว่าเป็นแหล่งข่าวพวกรัฐบาล และข้าราชการ ที่มุ่งเชลียร์เอฟทีเอ โดยปราศจากสุ้มเสียงที่คัดค้านของนักวิชาการ องค์กรอิสระ ภาคประชาชน ขณะที่กรุงเทพธุรกิจมีแหล่งข่าวหลากหลายประเภทกว่า


 


เอฟทีเอเอื้ออาทรต่อ (อดีต) ขั้วอำนาจฉันใด ไทยรัฐก็มุ่งนำเสนอไปในทางเดียวกันฉันนั้น


 


การศึกษาอีกเรื่องหนึ่งคือ รูปแบบการเสนอข่าวที่ละเมิดผู้ถูกกระทำทางเพศ โดยศึกษาผ่านข่าวสด เดลินิวส์ และคมชัดลึก


 


ผู้ศึกษาคือ กมลชนก สุกใส นวพร เอกตะคุ เปรมฤทัย เครือเรือน และพลกฤษณ์ วุฒิวิวัฒนานนท์ พบว่า เดลินิวส์มีการละเมิดผู้ตกเป็นข่าวในเรื่องเพศมากกว่าข่าวสด และคมชัดลึก


 


รูปแบบการละเมิดที่กระทบต่อเกียรติยศ ชื่อเสียง และสภาพจิตใจของผู้ตกเป็นข่าว มี ๔ รูปแบบคือ


 


ประการแรก การระบุเอกลักษณ์ เช่น ชื่อ นามสกุล อายุ ที่อยู่ สถานศึกษา ของผู้เสียหาย โดยเฉพาะผู้เสียหายที่เสียชีวิตไปแล้ว ทั้งนี้มีเหตุผลในการระบุเอกลักษณ์ว่าผู้เสียหายตายไปแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องปกปิดเอกลักษณ์


 


ประการที่สองคือ หากไม่สามารถระบุเอกลักษณ์ของผู้เสียหาย ก็จะระบุเอกลักษณ์ของญาติ หรือสภาพแวดล้อม เช่น ที่ทำงาน หรือสถานศึกษา ฯลฯ ของผู้เสียหาย ซึ่งอาจทำให้ผู้อ่านล่วงรู้ถึงตัวผู้เสียหายได้


 


ประการที่สามคือ การเขียนบรรยายสภาพของผู้เสียหาย ไปในทางที่ผู้เสียหายไม่น่าจะอยากให้คนอื่นได้รับรู้ เช่น ผู้ตายอยู่ในชุดคอกระเช้า ผ้าถุงถูกถลกขึ้นมาอยู่ที่เอว... พบร่องรอยถูกข่มขืนจนอวัยวะเพศบวมเป่ง (เดลินิวส์ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๔๙)


 


ประการสุดท้ายคือ การบรรยายเหตุการณ์อย่างชัดเจนขณะมีการละเมิดทางเพศ รวมถึงการระบุจำนวนครั้งที่มีการสำเร็จความใคร่


 


เหตุผลที่เขียนข่าวในทำนองนี้ ผู้รับผิดชอบบอกว่า ต้องการเตือนภัยสังคม กระตุ้นให้รัฐเร่งแก้ปัญหา และคิดว่าเป็นรายละเอียดที่จะต้องนำเสนอ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจ และเพื่อการแข่งขันทางด้านยอดขาย


 


การศึกษาทั้งสามเรื่องข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงอาการ "ฟันหลอ" ของหนังสือพิมพ์ไทยได้เป็นอย่างดี


 


ในยุคที่ปลอดการแทรกแซงจาก "ทั่นผู้นำ" ขณะนี้ เป็นโอกาสดีที่สื่อจะเสพสุขกับเสรีภาพ และก็ต้องเร่งปฏิรูปตัวเองให้พ้นจากอาการฟันหลอในมิติต่างๆ ด้วย


 


มาช่วยกันเป็นกำลังใจให้สื่อกวาดบ้านตัวเองให้สำเร็จโดยเร็วกันเถอะครับ