Skip to main content

พลัดถิ่น

คอลัมน์/ชุมชน

คนเราแต่ละคนใช้เวลาไปในการเดินทางแต่ละครั้งไม่เท่ากัน บางคนเลือกที่จะใช้เวลาไม่กี่วันกับการไปเยือนบางที่ ขณะที่บางครั้งเส้นทางก็เป็นฝ่ายเลือกให้กับคนเราว่าจะต้องใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะไปถึงจุดหมาย


 


ถ้าหากเป็นการวางแผนเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง ตัวเลขกลมๆ ชนิดสามวัน ห้าวัน หนึ่งสัปดาห์หรือสิบห้าวันมักจะเป็นทางเลือกของผู้ที่มีการมีงานประจำ และต้องวางแผนวันหยุดวันลาล่วงหน้าเอาไว้ให้พอดี แต่สำหรับคนที่เลือกการเดินทางไกลต้องฝ่าฟันกับเขาสูง ดินแดนแปลกหน้าหรือต้องการรสชาติชีวิตจากการรอนแรมระหกระเหินท่ามกลางผู้คนและวัฒนธรรมต่างถิ่น จำนวนเวลาที่เลือกจะต้องแปรผันไปตาม แต่ที่แน่ๆ เวลาสองสามวันคงไม่ทำให้ได้เข้าถึงโอกาสที่ว่านี้


 


การเดินทางในรูปแบบนี้หลายต่อหลายครั้งได้ปลุกเร้าหัวใจแห่งการแสวงหาและการผจญภัยขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่การทัศนาจรอันสะดวกสบาย หรือการไปในจุดหมายที่ได้รับความนิยมจากคนเดินทางอื่นๆ จนไม่เหลือเหลี่ยมมุมใดๆ ของการเดินทางเอาไว้ให้ค้นหา


 


หลายต่อหลายครั้งเมื่อตั๋วเครื่องบินพร้อมอยู่ในมือ ล็อคกุญแจบ้านให้แน่นหนาก่อนบอกลาความทรงจำที่คุ้นเคยเพื่อไปพลัดถิ่นพร้อมเป้หลังใบโต พอสำรวจตรวจสอบความรู้สึกข้างในของตัวเองถึงการเดินทางที่กำลังจะเกิดขึ้น มันกลับแตกต่างจากการเดินทางเพื่อไปพักผ่อนครั้งก่อนหน้าที่เราเคยรู้สึกว่ามีความสดชื่นสนุกสนานรอคอยอยู่ในเส้นทางหรือสถานที่ที่ต่อให้มีการเดินทาง จังหวะการเต้นของหัวใจก็ไม่ได้แตกต่างไปจากชีวิตปกติเท่าไรนัก


 


ใครก็ตามที่คิดจะพกพาความมั่นใจก้าวออกไปหาความรู้สึกของการ "พลัดถิ่น" สิ่งหนึ่งซึ่งไม่อาจมองข้ามคือเวลาที่จะต้องเตรียมไปใช้จ่ายอย่าง ‘สุรุ่ยสุร่าย’ พอสมควร การเรียนรู้จากการเดินทางในบางที่และบางเรื่องราวอาจใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วยามก็ถือว่าผ่านพ้น แต่การที่กว่าคนเราจะยอมสลายความเป็นตัวเองหรือความคิดที่มีอยู่จนเปิดใจออก แลเห็นความเป็นไปจริงๆ บนจุดหมายใดจุดหมายหนึ่ง ย่อมจะต้องยอมก้มหน้าก้มตาเดินผ่านอารมณ์อันหลากหลาย ซึ่งบางครั้งมีทั้งความสุขความทุกข์เปลี่ยวเหงา แปลกแยก ทดท้อระคนกันไปภายในข้อกำหนดของระยะเวลาสักช่วงหนึ่งกว่าจะพูดได้ว่าเดินผ่านอะไรมาบ้าง


 


ถึงตรงนี้ การพลัดถิ่นบางครั้งก็คือการเดินทางท่องเที่ยวธรรมดาๆ ที่ใช้เวลานานหน่อย บางคราก็คือการค้นหาอย่างมีจุดประสงค์ซึ่งขีดเส้นใต้เอาไว้ แต่ที่แน่ๆ อาจจะมีรสชาติขมๆ ปนอยู่ในการเดินทางอันหอมหวาน และไม่ได้ทำให้หัวใจเราพองโตและตาลุกวาวเหมือนทุกคราวก่อนหน้าที่ได้ยินคำว่า ‘ไปเที่ยว’


 


ด้วยเหตุนี้เวลาพูดถึงการที่คนเราพลัดถิ่น สำหรับผมเองจึงคิดถึงเวลาเป็นแรมเดือนขึ้นไป เก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋าไปใช้ชีวิตต่างที่ต่างถิ่น แม้ไม่ถึงกับการย้ายที่อยู่เพื่อไปเป็นพลเมืองแบบถาวรของที่นั่น แต่เวลาย้อนหวนคืนกลับสู่บ้านเกิดก็ไม่ได้รอคอยอยู่อย่างง่ายดายนัก


 


โดยไม่รู้ว่ามีใครบอกใครสอนข้อนี้ ผมกลับเชื่อเองว่าคนเราจะเข้าใจและเข้าถึงความจริงใจภายใต้รอยยิ้มต้อนรับในวันแรกๆ ของผู้คนในท้องถิ่น เข้าใจความหมายระหว่างบรรทัดของภาษาที่จะต้องสื่อสารกัน หรือเข้าถึงความอร่อยที่นอกเหนือไปจากรสชาติที่คุ้นเคยและคุ้นปาก ก็ต่อเมื่อเราได้ลองเดินเถลไถลออกนอกเส้นทาง (แม้จะเป็นแค่การเดินทางช่วงหนึ่งของชีวิต) หลงทางไปบ้าง และให้ ‘เวลา’ และความอดทนนำพาสิ่งแปลกใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจทั้งหลายละลายเข้ามาสร้างก้อนกลมๆ ของความทรงจำอันยาวนานในตัวเรา


 


การพลัดถิ่นเมื่อมองเป็นแค่ภาษาหรือคำพูดอาจจะออกมาในแง่ลบ สมกับที่คนไทยไม่ค่อยสนับสนุนลูกหลานให้เดินทางออกไปไกลหูไกลตา เพราะยังมีคำในแง่นี้อยู่อีกมาก เป็นต้นว่า พลัดที่นาคาที่อยู่ คนจรหมอนหมิ่น คนไม่มีหัวนอนปลายเท้า คนไร้ราก (ซึ่งไม่น่าไว้วางใจ คบหาไม่ได้)


 


ที่ผ่านมา เราจึงไม่ค่อยได้เห็นคนไทยแบกเป้และความฝัน พร้อมด้วยแววตาที่มุ่งมั่นออกไปค้นหาโลกด้วยการยอมพลัดที่พลัดถิ่นอย่างตั้งใจที่จะไป ส่วนมากไม่พลัดถิ่นเพราะมีปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นตัวผลักดันเช่น คนไทยที่ยอมขายที่นาไปทำงานซาอุฯ ในยุคหนึ่ง ก็ต้องพลัดที่พลัดถิ่นเพราะเงื่อนไขทางการเมืองเหมือนคนบางคนที่ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสกลับคืนบ้านเกิดเมืองนอนอีกหรือไม่เพราะผลกรรมที่ก่อไว้


 


ฝรั่งเองก็น่าจะมีคำพูดเหน็บแหนมการเดินทางอันบ้าบิ่นอย่างที่เป็นอยู่เช่นกัน เพราะครั้งหนึ่งผมเคยอ่านคำจารึกพิมพ์ลงบนเสื้อยืดของนักเดินทางสาวชาวฝรั่งที่สถานีขนส่งกระบี่ที่เขียนไว้ว่า "Traveling is a dirty job but somebody gotta do it." (ใครว่าการเดินทางน่าพิสมัย มีแต่บางคนเท่านั้นแหละที่ต้องก้มหน้าก้มตาทำไป)


 


แต่ผมไม่รู้จริงๆ ว่าฝรั่งตาน้ำข้าวเขาบอกสอนกันมาอย่างไร วีรกรรมของการพลัดถิ่นจึงได้แพร่สะพัดเข้ามาครองถนนข้าวสาร ย่านท่าเรือหรือหาดบนเกาะพะงัน ริมลำธารที่ปาย หรือหัวเมืองห่างไกลและทุรกันดารตามภูมิภาคอื่นๆ ของโลกโดยไม่ต้องมีแคมเปญหรือการปลุกเร้าใดๆ ให้ลุกขึ้นไปพลัดที่พลัดถิ่นตามที่ต่างๆ นานนับเดือน สิ่งที่เป็นไปปีแล้วปีเล่าดูราวกับว่าดินแดนที่น่าสนใจทั้งหลายบนโลกนี้มีไว้เพื่อรอการ ‘อ่าน’ ด้วยหัวใจและปลายเท้า


 


จริงอยู่ใครที่มีเวลาน้อย มีการงานของชีวิตติดยึด หากมีเวลาเดินทางก็จงฉกฉวยเอาไว้เถิด แต่ถ้าคิดจะพลัดถิ่นกับเขาดูสักที ก็ต้องไม่ลืมว่า ที่สุดของปลายเท้าคือการก้าวออกมาจากตัวเอง หากใช่การหลีกหนีตัวเองหรือหลบเร้นความจริงภายใต้คำว่าการเดินทาง