Skip to main content

ระลอกที่สองของข่าวสาร

คอลัมน์/ชุมชน

แม้จะยังไม่ทันได้ไปชมภาพยนตร์สารคดีของสหรัฐอเมริกาเรื่อง An Inconvenient Truth ซึ่งเข้ามาฉายที่กรุงเทพฯ แต่แล้วข่าวสารเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ก็จู่โจมเข้ามาสู่ความสนใจของผมเองเป็นระลอก


 


...เป็นระลอกคลื่นของข่าวสารในยุคสมัยที่เราสวามิภักดิ์ตัวเองให้สยบยอมอยู่ภายใต้กระแสของข้อมูลข่าวสารที่ไหลบ่ามาอย่ามหึมาระลอกแล้วระลอกเล่า


 


วันหนึ่งหลังจากที่ได้อ่านคอลัมน์บทบรรณาธิการในจุลสาร "พิราบเขียว" ของชมรมผู้สื่อข่าวสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยที่ส่งมาให้อ่านอยู่เป็นประจำ ในนั้นเขียนเชื้อเชิญไว้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นหนังที่จะต้อง "ดู" กันให้ได้และมีการบอกกันปากต่อปากในบรรดาผู้สื่อข่าวว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนหรือภาวการณ์เปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกที่น่าติดตาม


 


บ่ายวันเดียวกันกับที่พลิกจุลสารของชมรมผู้สื่อข่าวฯ อ่าน ผมได้ผ่านไปยังโรงหนังที่ห้างเอ็มโพเรี่ยมและพบว่ามีโต๊ะประชาสัมพันธ์ของกลุ่มสิ่งแวดล้อม – กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่บริเวณหน้าโรงหนังของห้างแห่งนั้น


 


เจ้าหน้าที่ของกรีนพีซบอกว่า เขาให้เรามาตั้งโต๊ะเพื่อหาสมาชิก เพราะว่ามีหนังเรื่องนี้ (An Inconvenient Truth) เข้าฉายที่นั่น ผมหันหน้าไปดูตามการชี้ชวนจึงได้เห็นโปสเตอร์ที่ติดอยู่ตรงข้ามกับโต๊ะวางเอกสารของกรีนพีซ เห็นเป็นภาพปล่องควันไฟโรงงานภายใต้บรรยากาศทึมทึบ เหนือท้องฟ้าที่ปลายปล่องไฟสูงตระหง่าน เป็นภาพกลุ่มควันหมุนวนคล้ายกระแสน้ำวนหรืออากาศแปรปรวนยามพายุคลุ้มคลั่ง แลดูน่าตื่นตระหนก


 


ข่าวสารระลอกที่สองทำให้ได้รับรู้ว่า มีภาพยนตร์เรื่องนี้ที่นำเสนอปัญหาผลกระทบของโลกร้อนถึงบ้านเราและเป็นวิธีการบอก "สาร" ผ่านสื่ออย่างเบาแต่แรงโดยการใช้สื่อภาพยนตร์ ทั้งยังมีความน่าสนใจตรงที่ได้ยินมาว่าแม้จะเป็นภาพยนตร์สารคดีแต่ก็นำเสนอได้อย่างน่าสนใจและมีเนื้อหาน่าติดตาม ไม่น่าเบื่อหน่ายหรือเป็นทางการจนเกินไป เอามาฉายให้คนไทยได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของระลอกแห่งข่าวสารของโลก เช่นเดียวกับคนอเมริกันหรือคนฟิลิปปินส์


 


แม้ถึงขณะนี้ผมจะยังไม่ได้ดู แต่ก็เห็นได้ชัดเจนถึงกระบวนการแห่งการสร้างความสนใจ ด้วยวิธีการนำเสนอของหนังสารคดีสิ่งแวดล้อมเรื่องนี้ได้นำเสนอผ่านนายอัล กอร์ ซึ่งเป็นผู้รับสมัครประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่พลาดท่าเสียตำแหน่งให้แก่นายจอร์จ ดับเบิลยู บุชในสมัยที่แล้วมา แน่นอกว่าเขายังเป็นผู้หนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้หรือความสนใจของคนอเมริกันอย่างแน่นอนในฐานะนักการเมืองและคนของสาธารณะที่ขึ้นไปถึงจุดสุดยอดของชีวิตด้วยการลงสมัครเป็นประธานาธิบดี


 


เมื่อยังไม่มีโอกาสได้ดูก็คงเล่าไม่ถูกว่า อัล กอร์ทำหน้าที่ในภาพยนตร์อย่างไรหรือทำได้ดีเพียงใด แต่ส่วนหนึ่งที่บอกได้คือความยากของโจทย์หรือประเด็นที่อัล กอร์ในฐานะที่เป็นสื่อบุคคลและทีมงานผู้สร้างจะต้องตีแผ่หรือทำให้สังคมหรือทำให้ผู้ชมเข้าใจ นั่นก็คือ ผลกระทบของปัญหาโลกร้อน


 


สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ปัญหาโลกร้อนไม่ใช่สิ่งที่พูดเล่นหรือพูดให้เกินจริงเหมือนในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดหลายเรื่องก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็น Deep Impact (1998), The Day After Tomorrow (2004) ที่แม้จะฉากน่ากลัวหรือมีพายุหมุนที่มีพลานุภาพในการทำลายล้างและคร่าชีวิตของผู้คนเพียงใดก็ตาม แต่เหล่าคนดูทั่วโลกก็คงเสพรับความบันเทิงเป็นหลัก ส่วนที่จะเก็บสาระของการที่คนเรามีส่วนสำคัญทำให้สิ่งแวดล้อมของโลกเกิดความแปรปรวนจนส่งผลกระทบเป็นปัญหาภัยแล้ง เอลนินโญหรือลานินญา คลื่นความร้อน สึนามิหรือภาวะเรือนกระจกที่ทำให้น้ำแข็งที่ขั้วโลกละลายจนอาจจะเกิดภาวะน้ำท่วมหรือสภาพอากาศแปรปรวนนั้นอาจจะมีบ้างเพียงน้อยนิด


 


..."มนุษย์สามารถสร้างแผนที่ใหม่เองได้" เพราะอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า เราอาจได้เห็นแผนที่โลกใหม่จากฝีมือของมนุษย์ที่ทำลายสภาพแวดล้อมต่างๆ ของโลก จนเกิดวิกฤตต่างๆ มากมายที่สามารถทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างคาดไม่ถึง... (ส่วนหนึ่งของใบปลิวโฆษณาหนังAn Inconvenient Truth)


 


จะมีใครสักกี่คนที่จะรับรู้และเข้าใจ ประเด็นที่ว่า "มนุษย์สามารถสร้างแผนที่ใหม่เองได้" และการสร้างใหม่ครั้งนี้เป็นการสร้างใหม่ที่เกิดจากการทำลาย การทำลายโดยที่คนเราแต่ละคนมีส่วนในการทำให้เกิดผลกระทบมากบ้างน้อยบ้างต่างกันออกไป แต่ผลลัพธ์ก็คือความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมของโลกให้เสียสมดุล ซึ่งในที่สุดก็จะก่อให้เกิดผลกระทบที่คนเราคาดไม่ถึงอยู่ครั้งแล้วครั้งเล่าอยู่เสมอ


 


ช่วงหนึ่งของการทำงานในชีวิตที่ได้ทำงานด้านปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยที่องค์กรต้นสังกัด (กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) มุ่งรณรงค์ให้คนในสังคมมองเห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับใหญ่ที่เป็นปัญหาระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นคนไทย คนแคนาดาหรือคนจีนแผ่นดินใหญ่ก็ล้วนแต่มีส่วนสร้างปัญหาและอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาเช่นเดียวกัน นอกจากปัญหาเรื่องสารพิษตกค้าง ปัญหาเรื่องพันธุวิศวกรรมหรือจีเอ็มโอแล้ว ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกหรือ Climate Change ก็เป็นประเด็นหนึ่งของการทำงานรณรงค์ แต่เป็นประเด็นที่คนทำงานรณรงค์เองก็ทำได้ยากและหาแง่มุมที่จะสื่อสารกับสาธารณะถึงปัญหาและผลกระทบได้ไม่ง่ายเลย


 


อาจฟังดูง่ายหากเราจะหยิบยกข้อมูลมาบอกกล่าวว่า ปัญหาโลกร้อนเกิดจากการที่คนเรา (โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและการผลิตพลังงาน) ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะการใช้น้ำมันและถ่านหินซึ่งเป็นซากฟอสซิลที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้นเหตุของภาวะโลกร้อนปริมาณมากๆ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปลดปล่อยออกมาได้ไปกั้นบรรยากาศของโลกเอาไว้ไม่ให้ความร้อนที่แสงอาทิตย์ส่องมายังโลก สะท้อนกลับออกไปได้ ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม อากาศวิกฤตชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน กระทั่งพายุหลายรูปแบบ


 


ข้อมูลเช่นนี้เห็นได้ชัดว่าหากไม่ใช่คอสิ่งแวดล้อมตัวจริง คงจะเบือนหน้าหนีได้ง่ายๆ หรือคงจะอ่านแล้วมองเห็นภาพของปัญหาให้มาเชื่อมโยงถึงระดับชีวิตประจำวันของคนเราได้ยาก (เช่น การไม่ใช้โฟมที่มีสาร CF4 หรือก๊าซมีเธน หรือการลดการใช้พลังงานที่ได้จากการเผาน้ำมันหรือถ่านหิน ฯลฯ)  แต่จุดหนึ่งของความพยายามของหนัง An Inconvenient Truth ก็คือการพยายามสื่อสารถึงปัญหาที่คนเรา (โดยเฉพาะชาติมหาอำนาจที่เล่นการเมืองในเวทีสิ่งแวดล้อมเพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกและเป็นชาติที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับต้นๆ) มองข้ามและไม่ค่อยจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ให้มาประจักษ์เป็นความจริงที่ปฏิเสธได้ยากต่อหน้าต่อตา


 


คาดเดาว่าหนังอาจจะไม่มีภาพโศกนาฏกรรมสยดสยองหรือมีความหายนะใหญ่หลวงตามทางที่หนังอเมริกันส่วนใหญ่ถนัด เพราะเรื่องนี้เป็นหนังสารคดี ซึ่งมีลักษณะหนึ่งที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้คือการเสนอภาพและข้อมูลอย่างเป็นจริงต่อผู้ชมให้มากที่สุด (และรอบด้านที่สุด)


 


คิดเสียว่าบทความข้างๆ คูๆ เกี่ยวกับหนังเรื่องนี้บ้างไม่เกี่ยวกันบ้างบทความนี้ เป็นระลอกหนึ่งของข่าวสารที่อยากให้คนเรามีส่วนรับรู้ ตีความและกลับตัวกลับใจในพฤติกรรมที่ทำให้โลก (เราเดือด) ร้อนขึ้นก็แล้วกัน