Skip to main content

กฎหมู่ของผู้มาก่อน ???

คอลัมน์/ชุมชน

ในแวดวงการศึกษาประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นระหว่างเดือนมิถุนายน คงไม่พ้นกระแสวิจารณ์กิจกรรมที่กลายเป็นพิธีกรรมรับน้องปี1 ซึ่งเข้าใจว่าส่วนหนึ่งเป็นการตามกระแส (Timeliness) เปิดเทอมที่มักมีเรื่องจนผู้ใหญ่ถือโอกาสนี้โจมตีนิสิตนักศึกษาปีละครั้งนอกเหนือจากปัญหายกพวกตีกัน และอีกส่วนบานปลายจากประเด็นข่าวน้องหมู นิสิตเกษตรวัยรุ่นยิงตัวตายเมื่อต้นเดือนมิถุนายน ( นิสิตเกษตร " ฆ่าตัว" แม่ยันเหตุ " รับน้อง" มติชน 10 มิถุนายน 48)


ประเด็นหลัง..จากสาเหตุที่คลุมเครือระหว่างความเครียดที่คุณแม่ออกมาแจงว่าลูกกดดันเพราะถูกบังคับให้เต้นท่าไก่ย่างกับอีกข้างที่ทางเพื่อนและมหาวิทยาลัยแก้ว่าต้นเหตุของการฆ่าตัวตายครั้งนี้น่าจะมาจากปัญหาที่บ้าน ( เผยปมนิสิตฆ่าตัวเพื่อนระบุมีปัญหาครอบครัว ไทยรัฐ 12 มิถุนายน 48)


ล่วงเลยมาเป็นเดือนก็ยังไม่มีใครสามารถระบุสาเหตุได้เด่นชัดเพราะเจ้าตัวที่รู้จริง " ฆ่าตัวตายสำเร็จ" ปล่อยให้คนอื่นคาดเดาเรื่องราวกันตามอัธยาศัย โดยไม่มีโอกาสแม้แต่จะอธิบายความจริงให้ปรากฏ


มีสองปัจจัยที่แตกต่างแต่สามารถสอดสลับทำให้เหตุการณ์ 2 เรื่องกลายเป็นเรื่องเดียวกันได้ (1) กิจกรรมรับน้องใหม่ และ (2) การฆ่าตัวตายของวัยรุ่น



1



กิจกรรมรับน้องใหม่ : กฎหมู่ของผู้มาก่อน?


 


ความตื่นตัวที่จะสอดส่อง ดูแลและจับผิดกระบวนการรับน้องในการ " ล้อมคอกเอาหน้ารอด" เกิดขึ้นภายหลังเกิดเหตุการณ์ฯ โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวในสถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่คุมสถาบันการศึกษาอีกทีซึ่งส่วนใหญ่ทยอยออกมาในลักษณะ " ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย" ว่าควรยุติหรือชะลอกิจกรรมรับน้องโดยมีนัยยะสำคัญให้ปฏิบัติตามภายใต้การควบคุมกำกับของผู้เกี่ยวข้องซึ่งหมายถึงผู้บริหารมหาวิทยาลัย


หนังสือห้ามรับน้องทุกสถาบันจุดประกายให้เกิดการอภิปรายเป็นวงกว้างพร้อมคำถามที่หลายฝ่ายตั้งขึ้นว่าข้อบังคับดังกล่าวจะช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นได้จริงหรือ


หลังจากนั้นปรากฏการณ์ตีแผ่กิจกรรมรับน้องให้กลายเป็นข่าวตามสื่อก็กระพือพัด อาศัยช่วงเวลาเหมาะเกาะกระแสสนใจจากข่าวรับน้อง ภาพกิจกรรมที่ส่อไปทางอนาจารทั้งท่าไก่ย่าง ปั่นกล้วย รูดเสา รวมไปถึงการออกมาเปิดเผยความเกินเลยของรุ่นพี่ที่ไร้จริยธรรมจนน้องใหม่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งหนึ่งบาดเจ็บ หรือการที่สนนท . ออกมาเปิดเผยพฤติกรรมรุ่นพี่ที่อาศัยการรับน้องเป็นข้ออ้างลวงรุ่นน้องไปข่มขืน ล้วนเป็นประเด็นข่าวที่ขายได้ ( ดี) อยู่วันยังค่ำ ( แฉอีกรับน้องหื่น พี่ว้ากเกอร์ปลุกข่มขืนนศ.ปี1 ไทยรัฐ 16 มิถุนายน 2548)


การล้มเลิกกิจกรรมรับน้องด้วยระบบห้ามจากภาครัฐ ( สกอ.ล้อมคอกห้ามรับน้องใหม่ ไทยรัฐ 13 มิถุนายน 2548) ไม่น่าจะใช่วิธีแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างถาวร ตราบที่ทุกฝ่ายยังมองว่าเป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้นตามกระแสปีละหน รวมทั้งยังมีพื้นที่ให้นิสิตนักศึกษานัดแนะกันไปทำกิจกรรมสันทนาการคล้ายรับน้องตามโครงการทัศนศึกษาหรือกิจกรรมนอกหลักสูตรทั้งแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ก่อนหน้านี้กระทรวงศึกษาธิการโดยมหาวิทยาลัยประกาศชัดเจนในหลายปีที่ผ่านมาว่าจะไม่รับผิดชอบหากเกิดอะไรขึ้นจากการรับน้องนอกสถานที่ และถึงจะมีคำสั่งห้ามเป็นหลักเป็นฐาน เราก็ยังได้ยินเรื่องเศร้าของน้องใหม่ในช่วงนี้ของทุกปีโดยปราศจากการแสดงตัวหรือรับผิดชอบจากมหาวิทยาลัยต้นสังกัด


ปัญหารับน้องที่พูดถึงกันขณะนี้ทำให้สังคมเหมารวมนิสิตนักศึกษาว่าป่าเถื่อน รุนแรง ไร้ความคิดและไร้ความรับผิดชอบ ซึ่งไม่น่าจะยุติธรรมสำหรับเยาวชนอีกจำนวนมากที่เป็นตัวอย่างที่ดีแต่ต้องกลายเป็นเป้านิ่งให้ผู้ใหญ่โจมตีและโดนพิพากษาจากสังคม


ส่วนตัวแล้วยังเชื่อในความคิดและสำนึกจิตแห่งประพฤติเหมาะสมของนิสิตนักศึกษา แต่สิ่งหนึ่งที่อาจช่วยป้องกันการเลยเถิดของรับน้องอยู่ที่การตอกย้ำให้รุ่นพี่รับรู้และเข้าใจลึกซึ้งถึงสิทธิอันชอบธรรมและเสรีภาพอันพึงมีในการปฏิเสธกิจกรรมที่น้องใหม่ไม่อยากร่วม ตลอดจนการเน้นความหมายแท้จริงให้รุ่นพี่เข้าใจจุดประสงค์ของกิจกรรมนี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการต้อนรับสมาชิกใหม่ เป็นวิธีที่ทำให้รู้จักกันมากขึ้น สามัคคี รักสถาบันรวมทั้งเตรียมความพร้อมเบื้องต้นเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัย


ไม่มีประวัติศาสตร์หน้าไหนของกิจกรรมรับน้องที่ระบุว่ารุ่นพี่ซึ่งหมายถึงคนที่เข้ามหาวิทยาลัยมาก่อนสามารถใช้อำนาจของคนที่โตกว่าลดคุณค่าความเป็นคนของน้องใหม่ได้ ด้วยการบังคับ ขู่เข็ญ ข่มขู่หรือข่มขืนได้อย่างคึกคะนองโดยปราศจากความเคารพในตัวตนของบุคคลที่เป็นรุ่นน้อง เว้นไว้กรณีเดียวที่สมานฉันท์ได้คือผู้มาใหม่หรือรุ่นน้องที่สังคมมองว่าเป็น " ผู้ถูกกระทำ" ยินยอมที่จะร่วมกิจกรรม พร้อมอกพร้อมใจและเมามันกับพฤติกรรมที่ส่อเค้าไปทางรุนแรงและขู่กรรโชก รวมทั้งมีท่าทีเออออห่อหมกไปกับเกมสันทนาการของรุ่นพี่ที่สังคมภายนอกมองว่าลามกอนาจาร


กลับกันถ้าเด็ก ๆ จำนนกับความสนุกสนานเหล่านั้นโดยไม่รู้สึกว่ากำลังถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพทางเพศและศักดิ์ศรีความเป็นคนรวมทั้งยังไม่รู้สึกเสียศูนย์เพราะสูญเสียการเคารพตัวเอง … ผู้ใหญ่อย่างเราก็ไม่น่าจะต้องเสียเวลาเข้าไปทำเรื่องยุ่งให้มันวุ่นวายมากขึ้นด้วยการห้าม ตีตราหรือประจานการกระทำพวกนั้นว่าไม่เหมาะสม น่าจะเอาเวลาไปคิดหาวิธี " ใส่สำนึก" และ " กระตุ้นความรับผิดชอบ" ให้รู้สึกกันมากขึ้นในฐานะปัญญาชนที่ประเทศชาติฝากความหวัง


และท้ายสุดกับการหล่อหลอมจิตใจว่าจะทำอย่างไรให้ผู้มาก่อนเข้าใจสิทธิและเคารพคุณค่าในความเป็นคนหนึ่งคนของรุ่นน้องจนมาสู่การออกแบบรายละเอียด เกมและกระบวนการในการหรับน้องใหม่ที่เหมาะสม สนุกอย่างสร้างสรรค์ในสายตาของสังคม


สิ้นสุดประเด็นรับน้องถ้าไม่ช่วยกัน หวั่นใจว่าเวลาผ่านไปก็คงลืมและทุกปีเรื่องนี้ก็จะเป็นกระแสความรุนแรงการรับน้องที่ถูกวิพากษ์กันอย่างสนุกปาก กว่าจะจุดพลุแล้วล้อมคอกกันอีกทีก็ต้องรอให้เกิดเหตุแบบนิสิตเกษตร เพียงแต่ไม่รู้ว่าคราวหน้าข่าวร้ายแบบนี้จะแจ็กพ๊อตที่สถาบันใด



2



ทางเลือกและทางรอด : การเสนอข่าวฆ่าตัวตายผ่านสื่อ


ย้อนกลับไปที่เหตุการณ์นิสิตเกษตรเครียดจนตัดสินใจฆ่าตัวตาย เป็นไปได้ว่าเรื่องเศร้าที่เกิดเป็น " ผล" จากความเครียดและอาการป่วยจากโรคซึมเศร้า


สังคมรับรู้ข่าวฆ่าตัวตายของวัยรุ่นจากสื่อต่างๆ ที่เสนอเพียงสาเหตุและระบุรายละเอียดวิธีฆ่าตัวตายไม่ว่าจะเป็นปืน มีด ยาแก้ปวด ดีดีทีหรือกระโดดตึก ไว้อย่างเห็นภาพชัด


วงจรการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นขยายกว้างขึ้นกลายเป็นพฤติกรรมเลียนแบบสำหรับวัยรุ่นที่เกิดความเครียดจนรับมือกับความกดดันไม่ไหว สุดท้ายตัดสินใจเลือกอาวุธตลอดจนวิธีการฆ่าตัวตายเหมือนกับที่ได้เห็นได้อ่านผ่านสื่อ เพราะคิดว่าการฆ่าตัวตายเป็นคำตอบสุดท้ายที่ทำให้ไม่ต้องเครียดถาวรตลอดชีวิต


ประเด็นการนำเสนอข่าว ( และภาพข่าว) การฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่นานาชาติให้ความสนใจ หลายสิบปีที่ผ่านมางานวิจัยมากมายระบุว่าการรายงานข่าวฆ่าตัวตายในสื่อมีผลต่อพฤติกรรมการฆ่าตัวตายของมนุษย์ ( ข้อมูลอ้างอิงท้ายเรื่อง ; งานวิจัยต่างประเทศ) นับตั้งแต่ข่าวฆ่าตัวตายของมาริลีน มอนโร ไปจนถึงการเลียนแบบฆ่าตัวตายโดยกระโดดให้รถไฟใต้ดินทับในเวียนนา ประเทศออสเตรีย และการกระโดดตึกฆ่าตัวตายของนักร้องญี่ปุ่นขวัญใจวัยรุ่น ฯลฯ


ที่ประเทศออสเตรียหลังเกิดเหตุเลียนแบบฆ่าตัวตายจากสื่อในเวียนนา ( คศ.1984-1987) ภาครัฐได้เรียกประชุมสื่อเพื่อหาแนวทางร่วมกันในการเสนอข่าวดังกล่าวตลอดจนการรณรงค์ให้ผู้สื่อข่าวเห็นความสำคัญของผลเสียจากการนำเสนอข่าวฆ่าตัวตาย และระดมความคิดกันว่าจะมีวิธีการนำเสนออย่างไรให้น่าสนใจได้ตามหลักเขียนข่าว (News Worthiness, News Elements) ในขณะที่จะช่วยลดปัญหาการเลียนแบบสื่อได้ในคราวเดียวกัน หลังจากการรณรงค์อย่างต่อเนื่องมีงานวิจัยที่ระบุว่าอัตราการพยายามฆ่าตัวตายโดยการกระโดดให้รถไฟใต้ดินทับลดลง (Etzersdorfer, E.,&Sonneck,G.(1998). Preventing suicide by influencing mass media reporting. The Viennese experience 1980-1986. Archives of Suicide Research.)


ที่ CDC (Center for Disease Control and Prevention) ซึ่งเป็นหน่วยงานของ National Institute of Mental Health ประเทศสหรัฐอเมริกาได้เคลื่อนไหวในประเด็นนี้โดยการกำหนดแนวทางนำเสนอข่าวฆ่าตัวตายสำหรับสื่อมวลชนไว้ประมาณ 11 ปีที่แล้วตั้งแต่ คศ.1994 และเผยแพร่ให้ประเทศต่างๆ ได้ปฏิบัติตาม ยกตัวอย่างข้อแนะนำของ CDC เช่นนอกเหนือจากการรายงานข่าวตามข้อเท็จจริงแล้วควรจะต้องมีข้อมูลวิธีสังเกตพฤติกรรมของคนที่อยากฆ่าตัวตายว่าจะมีสัญญาณอันตรายบอกคนใกล้ชิดอย่างไร เช่น จากเด็กที่ร่าเริงกลายเป็นคนเก็บตัว เงียบขรึม บางครั้งก็เปรยว่าอยากตาย ไม่อยากอยู่หรือมีการสั่งเสียกับญาติหลายรูปแบบ ฯลฯ นอกจากนั้นยังแนะนำให้มีการบอกข้อมูลศูนย์ฮอตไลน์หรือเบอร์โทรศัพท์ขององค์การ หรือมูลนิธิที่รับปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตในเนื้อที่ของการเสนอข่าวครั้งนั้น ฯลฯ


ในส่วนของประเทศไทย เท่าที่ทราบเหมือนจะมีความพยายามจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องอยู่บ้างแต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ด้วยแนวทางที่ภาครัฐเสนอมีความเป็นวิชาการมากจนกลายเป็นปฏิปักษ์ต่อการขายได้ของสิ่งที่เรียกว่าข่าวฆ่าตัวตาย ล่าสุดได้มีการจัดสัมมนาการป้องกันการฆ่าตัวตายขึ้นโดยกรมสุขภาพจิตในหัวข้อ " สื่อมวลชนช่วยกระตุ้นหรือป้องกันการฆ่าตัวตาย" ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้กล่าวถึงกรณีนิสิตเกษตรว่าน่าจะเกิดจากความเครียดที่มีอยู่ภายในจิตใจอยู่แล้ว สาเหตุการฆ่าตัวตายจึงไม่น่าจะเกี่ยวกับการรับน้อง แต่เมื่อมีเหตุการณ์ความเครียดมากระทบเพิ่มเติมจึงนำไปสู่การตัดสินใจฆ่าตัวตาย น้องใหม่แต่ละคนก็อาจมีปัญหาที่หลากหลายโดยเฉพาะปัญหาความเครียดจากการปรับตัว ย้ายที่เรียนปัญหาครอบครัวหรือปัญหาความรัก ฯลฯ ซึ่งเมื่อเกิดความเครียดและอยากฆ่าตัวตาย ก็เป็นไปได้ที่จะเลือกใช้วิธีที่สื่อนำเสนอซึ่งจดจำมาจากภาพข่าวหรือพาดหัวข่าวที่เห็นอยู่เป็นประจำทางหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์หลายฉบับ


การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย เป็นที่ยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจฆ่าตัวตายในแบบหรือวิธีที่สื่อนำเสนอนั้นตัวผู้กระทำจะต้องมีแนวโน้มหรือพฤติกรรมที่อยากฆ่าตัวตายอยู่แล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากความเครียดหรือโรคซึมเศร้า เพียงแต่คนใกล้ชิดอาจมองข้ามไปโดยไม่ทันสังเกต เพราะไม่เคยได้รับข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้มาก่อน การให้ความรู้กับผู้บริโภคสื่อเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าหรือแนวทางการป้องกันการฆ่าตัวตาย ข้อปฏิบัติในเบื้องต้นเมื่อเผชิญกับความเครียด รวมทั้งรายละเอียดที่จะติดต่อกับหน่วยงานที่มีศูนย์ฮอตไลน์ เป็นสิ่งที่สื่อน่าจะให้ความสำคัญและนำเสนอควบคู่ไปกับการเสนอข่าวฆ่าตัวตาย โดยลดความรุนแรงของภาษาที่ใช้ รายละเอียดของวิธีการฆ่าตัวตายรวมทั้งการนำเสนอภาพข่าวและพาดหัวข่าวที่รุนแรง เร้าอารมณ์


นอกจากนั้น สื่อควรให้ความสำคัญกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตและจิตเวช ( ที่ไม่ได้หมายความเพียงรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงหรืออธิบดี) แต่รวมถึงจิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์ที่ล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญสามารถเสนอแนะแนวทางป้องกันปัญหาฆ่าตัวตายในวัยรุ่น รวมทั้งวิเคราะห์ข่าวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในมุมมองวิชาการซึ่งเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในมุมการส่งเสริมป้องกันปัญหาการเลียนแบบการฆ่าตัวตายในสื่อ ( หมายเหตุ** มีการสำรวจโดยผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลจิตเวชในช่วงเดือนกรกฎาคม 2547- มีนาคม 2548 พบว่ามีการนำเสนอข่าวฆ่าตัวตาย 149 ข่าว แต่มีการสัมภาษณ์นักวิชาชีพ 1% ในขณะที่บทความป้องกันการฆ่าตัวตายเป็นศูนย์)


ถึงวันนี้มีความชัดเจนในการเชื่อมโยงเรื่องรับน้องและฆ่าตัวตายในวัยรุ่นโดยที่สองเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นด่วนเรียกร้องให้คนในสังคมหาวิธีป้องกันร่วมกัน


การจากไปครั้งนี้ของน้องหมูน่าจะเป็นกรณีศึกษาที่ดีสำหรับผู้ปกครองให้หันมาเอาใจใส่ลูกหลานให้มากขึ้น สังเกตความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์และเปลี่ยนไปของพฤติกรรม สำหรับสถาบันการศึกษาคงเป็นบทเรียนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องลงไปดูแลกิจกรรมนักศึกษาอย่างใกล้ชิด สำหรับสื่อคงเป็นมุมสะท้อนที่ตอกย้ำบทบาทและพลังของสื่อในการป้องกันปัญหาฆ่าตัวตายโดยเฉพาะในวัยรุ่น และสำหรับน้องใหม่คงเป็นอุทาหรณ์ให้เห็นภาพความสูญเสียของคนที่เรารักเมื่อจากไป อาจทำให้รักตัวเองได้มากขึ้นรวมทั้งกล้าพอที่จะทวงคืนศักดิ์ศรีและสิทธิชอบธรรมของปัญญาชนที่มีศักดิ์และสิทธิ์เหมือนกับพวกที่แทนตัวเองว่าเป็น " พี่" เพื่อลดภาวะกดดันจากความเครียดไม่ว่าจะมีสาเหตุจากพิธีกรรมรับน้องหรือไม่ก็ตาม



หมายเหตุ **


ศูนย์ฮฮตไลน์ปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตของโรงพยาบาลศรีธัญญา (24 ชั่วโมง) 02-5253342


ศูนย์วิกฤตสุขภาพจิต สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ (24 ชั่วโมง) 02-8899191


ศูนย์ฮอตไลน์กรมสุขภาพจิต 1323


ศูนย์ข้อมูลอัตโนมัติปัญหาสุขภาพจิต 1667



ข้อมูลอ้างอิง **


Gould, M.,Jamieson,P.,&Romer,D. (2003) Media contagion and suicide among the young. The American Behavioral Scientist.


Phillips, D.P(1974) The Influence of suggestion on suicide:Substantive and theoretical implications of the Werther Effect. American Sociological Review.


Sonneck,G.,Etzersdorfer,E.,&Nagel-Kuess,S.(1994). Imitative suicide on the Viennese subway. Social Science and Medicine.