Skip to main content

อวัยวะสี่ชิ้นของนักเดินทาง

คอลัมน์/ชุมชน

เพราะคนเราไม่มีความสามารถอย่างนกหรือสัตว์บางชนิดที่พึ่งพาเรียวปีกและปลายขนในการพาตัวเองไปถึงจุดหมายปลายทางตามที่ต้องการ ดังนั้นคนเราจึงต้องพัฒนาทักษะในการลำเลียงหรือแบกหามสัมภาระพร้อมกับการพาตัวเองออกจากบ้านไปตามเส้นทางต่างๆ ให้ได้


 


เมื่อน้อยคนนักที่จะสามารถเดินทางอย่างตัวเปล่าเล่าเปลือยได้ ทักษะต่างๆ เพื่อการจัดกระเป๋าเดินทางให้ได้ข้าวของที่ต้องการใช้ติดตัวไปให้มากที่สุดก็ได้พัฒนาขึ้นในรูปแบบต่างๆ หรือมีการแนะนำแลกเปลี่ยนกันอยู่เสมอ มิหนำซ้ำยุคสมัยยังได้ทำให้เกิดเครื่องไม้เครื่องมือเพื่ออำนวยความสะดวกยามที่ต้องออกเดินทางให้ได้ความรู้สึก ‘เหมือนอยู่ที่บ้าน’ ตลอดเวลาแก่คนเรา


 


จริงหรือไม่ที่การเดินทางเป็นสัญชาตญาณหนึ่งของคนเรา แม้ว่าเราจะไม่มีพละกำลังที่ปลายขาที่จะเดินทางได้อย่างรวดเร็วอย่างสัตว์หลายชนิดหรือมีปีกโบยบินไปไหนต่อไหนได้ง่ายๆอย่างนก แต่เรากลับมีอวัยวะอีกหลายส่วนที่คนเราอาจจะหลงลืมไปแล้วว่า ส่วนต่างๆ ของร่างกายเหล่านี้เมื่อถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ขณะเดินทาง อาจมีคุณค่ามากกว่าข้าวของเครื่องใช้ที่เราใช้แขนหรือบ่าสองข้างหอบหิ้วติดตัวไปเสียอีก


           


เท้า


 


สำหรับผู้ที่ชอบการเดินทาง เท้าย่อมเป็นอวัยวะชิ้นแรกที่ต้องให้ความสำคัญ ด้วยปลายเท้าเราอาจจะเดินไปพบเรื่องราวที่น่าสนใจได้นับหมื่นนับพัน ขอเพียงขยันออกเดินและรู้จักจังหวะการเดินของตัวเองให้ได้เสียก่อน อาจกล่าวได้ว่าบางครั้งจุดหมายปลายทางก็ไม่ใช่ผลสำเร็จของการเดินทางหากเราไม่รู้จักเก็บเกี่ยวเรื่องราวที่พานพบระหว่างสองข้างทางของการเดินไปสู่จุดหมาย


 


หลายคนที่คุ้นเคยหรือยึดติดกับความสบายๆ ของการเดินทางบนพาหนะและการได้เหลือบแลทิวทัศน์ผ่านกระจกเท่านั้น ไม่เคยพบความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าที่ค่อยๆ ไต่ขึ้นมาจากปลายเท้าจนเกือบจะร้าวระบมของขาทั้งสองข้างยามออกเดินไปเรื่อยเปื่อยราวกับไม่มีจุดสิ้นสุดบนเส้นทางหนึ่งๆ ย่อมนึกถึงความหมายที่งดงามของการได้พบเห็นรอยยิ้มผู้คนและสัมผัสเรื่องราวต่างๆ จากจังหวะก้าวช้าๆ ที่ผ่านไปด้วยการเดินได้ยาก


           


หัวใจ


 


หัวใจหรือ ‘จิตใจ’ที่เป็นนามธรรมคือส่วนที่จะนำเราไปสัมผัสอารมณ์หรือจิตวิญญาณของผู้คนและบ้านเมืองในแต่ละที่ที่เราเดินทางไปได้อย่างดีที่สุด บางครั้งเราอาจจะต้องการการเดินทางด้วยใจที่เปิดกว้างและเป็นกลางเพื่อเปิดโอกาสให้สิ่งต่างๆ ไหลวนเข้าสู่ตัวตนของเราขณะเดินทางเพื่อกรองรับสิ่งต่างๆ เก็บไว้ในความทรงจำได้ด้วยความประทับใจ


 


หัวใจอันเป็นอวัยวะสำคัญของนักเดินทางยังหมายถึงหัวใจที่แข็งแรง เข้มแข็งพอที่จะต้านทางเรื่องราวบางเรื่องที่อาจจะมากระทบเราให้เกิดความท้อแท้อ่อนแอซึ่งเกิดขึ้นได้เสมอ และก็ควรเป็นใจดวงเดียวกันที่จะเปิดกว้างและเป็นมิตร มองสิ่งต่างๆ ด้วยความเข้าใจและเป็นธรรม ไม่ยึดถือตัวเองเป็นใหญ่ แต่มองอย่างเข้าใจและจิตใจที่พร้อมจะเรียนรู้มากกว่า


           


สายตา


 


สิ่งที่เหมือนหน้าต่างที่ไขความนัยจากหัวใจก็คือสายตา สายตาสำหรับคนเดินทางคืออวัยวะอันวิเศษที่เราจะมองเห็นความเป็นไปต่างๆ นานา ความงดงามแปลกหูแปลกตา ขณะเดียวกันมันก็อาจจะสื่อภาษาแทนวาจาเอื้อนเอ่ยโดยที่ไม่ต้องพึ่งถ้อยคำสักคำเลยก็เป็นได้ สายตาที่ดีของนักเดินทางย่อมประกอบด้วยความสำรวม อ่อนน้อม ใฝ่รู้และเด็ดเดี่ยว


 


นอกจากนี้สายตาก็ยังแทนมุมมองอันเปิดกว้างและแสวงหา ด้วยว่าบางสิ่งอันเป็นคุณค่าจากการเดินทางนั้นอาจจะซุกซ่อนหรือเป็นเพียงสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ในสายตาของคนทั่วไปแต่กลับมีความหมายต่อการเดินทางของเราจากการได้ใช้สายตาของตัวเองมองหาค้นหาและได้พบ


           


สมอง


 


แม้ว่าในอวัยวะอันสมประกอบสามสิบสองส่วนของคนเราอาจจะไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดสำคัญยิ่งกว่าอวัยวะอื่น แต่ ‘สมอง’ อันเป็นศูนย์บัญชาการของความคิด ปฏิกิริยาตอบสนองและการเอาชนะพลิกผันสถานการณ์อันอาจจะเป็นสถานการณ์เฉพาะหน้า ย่อมถือได้ว่าเป็นอวัยวะที่อาจปกป้องคุ้มครองนักเดินทางให้ไปสู่จุดหมายที่ต้องการได้อย่างไม่ต้องเสียเวลาหรือเรี่ยวแรงเกินความจำเป็น


 


อย่างน้อยด้วยอวัยวะทั้งสี่นี้ก็ทำให้เห็นแล้วว่าคนเราอาจเดินทางได้ไกลกว่านกหรือสัตว์อื่นๆ ...เป็นการเดินทางด้วยปลายเท้า ก้าวเข้าหาเรื่องราวต่างๆ ด้วยสายตา เก็บรับคุณค่าและความงดงามของการเดินทางด้วยใจ และเข้าถึงความหมายของเรื่องราวต่างๆ โดยใช้สมองของเราเอง