Skip to main content

งานเขียนค้างปี (1)

ผมยังนั่งๆ ยืนๆ งงๆ กับเดือนธันวาคม …  


พลัน  นึกขึ้นได้ว่า มีเรื่องสองสามเรื่องที่ผมเขียนทิ้งเอาไว้ค้างปียังไม่เคยตีพิมพ์ที่ไหนมาก่อน  งานเขียนเชยๆ ที่ผมชอบ  จึงหยิบมาลงพิมพ์ผ่านจอกันในช่วงเวลาข้ามปี  ผ่านปี ท่ามกลางบรรยากาศที่ใครต่อใครต่างวางแผนเดินทางกลับบ้าน 


 


ลองอ่านดูเรื่องแรกครับ    


 


พ่อมาฝากรอยไว้ในบ้าน


 



 


เสียงตอกตะปูดังขึ้นแต่เช้ามืด  พ่อเริ่มทำงานแล้ว  เหมือนว่าประตูบ้านรอพ่อมานานเป็นเดือน   นึกไม่ออกว่าจะเริ่มต้นจากตรงไหน  ไปสืบถามราคาทำประตู  ราคาอยู่บนหลักหมื่น ๆ ทั้งนั้น   พอพ่อมาเห็น พ่อช่วยหาทางออกให้ทันที  "พ่อทำเอง ไม้ก็มี ไม่เห็นยาก"  


 


ผมเชื่อมั่นว่าพ่อทำได้  พ่อเคยทำบ้านด้วยตัวเอง 1 หลัง  ทำขนำในสวนอีกหลายหลัง  ยังไม่นับรวมถึงเวลาที่พ่อไปหาลำไพ่พิเศษ  หาเงินหาทองเข้าบ้านด้วยไปสมัครงานเป็นมือช่างก่อสร้างในเมือง  ปีละหลาย ๆ เดือน


 


เหมือนใบประกาศนียบัตรที่วัดด้วยฝีมือล้วน ๆ


แค่ประตูรั้วบ้าน  เป็นเรื่องยากได้อย่างไร  ผมคิดด้วยเชื่อมั่นในมือพ่อ 


ถึงกระนั้น  พ่อก็พูดแบบถ่อมตัวในงานฝีมือ  ว่าพ่อทำได้ก็จริง  แต่อาจไม่สวยทันสมัยถูกใจลูกนะ  เรื่องความแข็งแรงทนทานไม่ต้องห่วง  ผมรีบพูดตัดบทบอกพ่อว่า   มีงานฝีมือพ่อเอาไว้ประดับบ้าน  ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย  ใครสักกี่คนกันเล่า  มีส่วนประกอบหนึ่งของบ้าน เริ่มต้นและเสร็จสิ้นด้วยมือพ่อ  สาระความหมายผูกพันอยู่ตรงนั้น


 


พ่อเอาเครื่องมือประจำตัวพ่อมาด้วย   อย่างกับอาวุธประจำกาย  เป็นฆ้อน  ขวาน  ตลับเมตร  และเสื้อใส่ทำงานเสร็จสรรพ  ผมเห็นฆ้อนกับขวานแล้วรู้เลยว่า  มันเป็นเครื่องมือพ่อที่อยู่ติดตัวมานาน  ผ่านงานสมบุกสมบัน จนรู้มือรู้งาน    


 


ผมวิ่งซื้อตะปูขนาด 3 นิ้ว  ลวดเหล็ก  สายยางวัดระดับน้ำ  น็อตสะกรู


ไม้เก่า ๆ  ที่กองอยู่  เป็นไม้สักเนื้อดี  ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของบานประตูบ้านมาก่อน  มันถูกรื้อออกมา เพื่อรอเติมค่าใหม่  ให้มีชีวิตขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง 


 



 


ผมเห็นพ่อเดินทางไกลมาเกือบ 2,000 กิโลเมตร พร้อมกับเครื่องมือสองสามชิ้น  มาพบกับกองไม้เก่าที่รอมีชีวิตใหม่อีกครั้ง  


ผมรู้สึกตื่นเต้นถึงความเป็นไปได้แบบเด็ก ๆ 


ปีนี้ พ่ออายุ 70 ปี  ใบหน้าแววตาพ่อดูล้าโรยตามวัยไปบ้าง  แต่พ่อยังดูมุ่งมั่นแคล่วคล่องแข็งแรง  ด้วยพ่ออยู่กับงานใช้กำลังมาตลอด    


 


นานนับ 20 ปีมาแล้วที่ผมไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ใกล้พ่อเป็นเวลานาน ๆ  ตั้งแต่ผมออกจากบ้านไปเรียนหนังสือในเมือง  แล้วไล่ไปใช้ชีวิตตามเมืองต่างๆ กระทั่งหายไปจากบ้าน ไปอยู่ไกลบ้านเมืองอื่นไกลลิบ


 



 


ขณะพ่อยังใช้ชีวิตอยู่บนพื้นที่เดิม  บ้านกับสวนยาง


ชั่วชีวิตพ่อ 70 ปี  มีแต่เรื่องการดูแลให้ลูกเติบโตมีหลักมีฐาน  เลี้ยงดูตัวเองได้  ลำพังรายได้จากงานสวนยางงานนา  เลี้ยงลูกหลายคน เพียงพอจะขีดเส้นชีวิตพ่อไม่ให้ออกไปไหนไกลๆ นานๆ อยู่กับระยะทางระหว่างบ้านกับสวนยางอย่างนั้น      


 


โอกาสเดียวที่พ่อจะได้ออกไปไกลจากบ้านได้บ้าง  คือโอกาสไปหาลูกนั่นเอง


 


พ่อรู้ข่าวว่าผมกำลังสร้างบ้าน  บ้านใกล้จะเสร็จ   พ่ออยากขึ้นมาช่วยสร้าง ช่วยดูแล  ขอมีส่วนร่วมในทางใดทางหนึ่ง  แต่ผมปรามห้ามมาตลอด  ยังไง ๆ ผู้รับเหมางานสร้างบ้าน คงวางแผนสร้างได้ครอบคลุมเสร็จสรรพ  ตามแบบงานก่อสร้าง และระยะเวลาที่รับปากตกลงกัน


 



 


ครั้งนี้  พ่ออยากมาเห็นบ้าน  พ่อก็เลยดั้นด้นขึ้นมาจนได้


ส่วนที่เหลือเป็นรูโหว่ของบ้าน คือส่วนที่เชื้อเชิญใครต่อใครเข้าบ้าน  ประตูรั้วหน้าบ้านนั่นเอง 


พ่อยืนมอง  วัดด้วยสายตา  วัดแล้ววัดอีก  วิธีของพ่อเริ่มด้วยขั้นตอนร่างแบบ สร้างโครงร่างรูปทรงขึ้นมาในใจ  พ่อไม่ได้เริ่มต้นด้วยดินสอกับกระดาษ  พ่อเริ่มด้วยสายตากับยาสูบยาเส้นใบจากพ่นผุย ๆ  ควันโขมงลอยออกไปพร้อมกับภาพร่างครุ่นคิด  มองบ้านไปพลาง  มองรั้วบ้านคอนกรีต  มองต้นไม้ข้างบ้าน  มองกอไผ่ที่เหลืออยู่หนึ่งกอ  แล้วมองเลยไปถึงถนน  มองระยะห่างกับเพื่อนบ้าน  


 


ผมไม่ได้ถาม ว่าพ่อคิดอะไรอยู่  พ่อเห็นอะไรบ้างในแบบร่างกลางกลุ่มควัน


พ่อลงมือวัดระดับ  วัดความกว้างยาว ความสูง  ความหนาของไม้  แล้วพ่อก็ยืนอธิบายให้ผมฟัง  ผมเออออตามแบบพ่อทุกอย่าง  อะไรก็ได้  ขอให้เป็นลายมือพ่อฝากไว้ในบ้าน  ผมรู้สึกเช่นนั้นจริง ๆ  ทันสมัยหรือไม่  สวยไม่สวย  งามตาไม่งามตา  เก่าฝืดอย่างไรก็ตาม  ผมคิดว่ามันเป็นผลงานที่ต้องชื่นชม


 


พ่อมาฝากรอยไว้ในบ้าน


แล้วไม้เก่าแต่ละดุ้น  เริ่มถูกแยกส่วน  นำมาตอกตี คละเคล้าต่อติดกันใหม่  กรอบบานประตูหน้าต่างกลายมาเป็นประตูรั้ว   ดุ้นไม้เดินทางต่อ  มีชีวิตขึ้นมาใหม่  พ่อตอกตีอย่างแคล่วคล่อง วันต่อวันต่อเนื่องกันหลายวัน


 


ประตูรั้วค่อย ๆ ปรากฏชัดเจนขึ้น  เป็นประตูรั้วที่ดูหนา หนัก แข็งแรงทนทาน  โดยฝีมือออกแบบของมือพ่อ  พ่อนำชิ้นส่วนไม้เก่ามาหักเลี้ยว  หักหลบลบรอยเก่า  สร้างไปตามลายมือของพ่อ  ลายมือพ่อไม่เปลี่ยนไปเลย  


 


พ่อยังเป็นพ่อคนเดิมเหมือนที่ผมเคยเห็น  ลายมือพ่อบนประตูรั้ว--ยังเพิ่มเติมรอยรักห่วง สลักไว้ในวันเวลา  ให้ลูกชายชื่นชมอยู่เสมอมา