Skip to main content

"บ่เป็นหยัง" สตอรี่

คอลัมน์/ชุมชน

ก่อนที่ความโกลาหลของการเดินทางเพื่อกลับภูมิลำเนาและเยี่ยมเยียนพ่อแม่พี่น้องญาติมิตรที่ต่างจังหวัดในช่วงปลายปี 2549 จะบังเกิด ผมปลีกตัวเองให้เวลากับการเดินทางสู่บ้านพี่เมืองน้องของเรา นั่นคือ ส.ป.ป. ลาว (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว)


 


การไปเที่ยวลาวบนเส้นทางกรุงเทพฯ - หนองคาย – เวียงจันทน์ – วังเวียง –หลวงพระบาง ของผมและคนใกล้ชิดเปรียบแล้วก็เหมือน "ใกล้เกลือกินด่าง" เพราะรู้ทั้งรู้ว่าเมืองลาวนั้นมีดี ทั้งในแง่ธรรมชาติ ศิลปะวัฒนธรรมและงานหัตถกรรมที่น่าสนใจมากมายและมีอย่างนี้เสมอมา นอกจากนี้ยังมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างเรื่องความเรียบง่ายและยังคงมีน้ำจิตน้ำใจของผู้คนประเทศนี้ แต่จนแล้วจนรอดผมก็ยังไม่ตกลงปลงใจว่าอยากจะเดินทางบนเส้นทางนี้สักที


 


คราวนี้โอกาสเหมาะเพราะรวบรวมเวลาและทุนทรัพย์ได้อย่างลงตัวก่อนที่จะเข้าสู่บรรยากาศโกลาหลปลายปี ผมก็ได้เดินทางรถไฟตู้นอนขบวนกรุงเทพฯ – หนองคายสัญจรไปสู่เส้นทางที่ปรารถนาในขณะที่อากาศของหน้าหนาวกำลังเริ่มต้นทำหน้าที่ของตัวเองอย่างแข็งขันขึ้นเรื่อยๆ


 


การเดินทางผ่านด่านหนองคายเพื่อเข้าสู่เวียงจันทน์ ซึ่งเป็นด่านสากลโดยอาศัยสะพานมิตรภาพไทย – ลาวเป็นจุดเชื่อมต่อนั้น หากเป็นคนไทยที่ถือหนังสือเดินทางจะได้รับการประทับตราให้อยู่ในลาวได้ 1 เดือนและมีค่าใช้จ่ายเพียงไม่กี่สิบบาท (ค่ารถโดยสารข้ามสะพานคนละ 15 บาท ค่าธรรมเนียมเข้าประเทศของลาวอีกประมาณ 10 บาท) นับเป็นการเดินทางออก "ต่างแดน" ที่ประหยัดมากครั้งหนึ่งของผม (รวมค่ารถไฟตู้นอน) การถือพาสปอร์ตไปเที่ยวลาวโดยเฉพาะการเดินทางจากเวียงจันทน์ไปสิ้นสุดที่หลวงพระบางเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะการทำหนังสือผ่านแดนหรือ Border Pass นั้นนอกจากจะยุ่งยากกว่า แพงกว่าแล้วยังอนุญาตน้อยวันกว่า (แค่ 3 วัน) และอนุญาตให้เดินทางอยู่แต่ในกำแพงนครเวียงจันทน์และแขวงเวียงจันทน์เท่านั้น


 


นอกจากเรื่องหน้าตา ผิวพรรณและภาษาพูดแล้ว การเดินทางไปต่างแดนยังแดนลาวนั้นไม่ค่อยให้อารมณ์ของการไปเที่ยวเมืองนอกเท่าไรนัก แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นว่าเป็นเสน่ห์และท้าทายสายตานักเดินทางชาวไทยก็คือภาษาเขียนของลาวที่ดูเหมือนจะคล้ายตัวอักษรบ้านเรา แต่วิธีการสะกดและการลดทอนตัวอักษร การผสมสระไม่เหมือนกัน (ภาษาเขียนของลาวไม่มี ญ ผู้หญิง หรือ ทร หรือใช้เสียง ล ลิง ฮ นกฮูก แทน ร เรือ เป็นต้น) ทำให้คนไทยแม้จะตั้งใจอ่านแต่ก็อาจจะอ่านไม่ออก มิหนำซ้ำยังใช้ภาษาง่ายๆ ตรงๆ หรือเป็นคำศัพท์เฉพาะของลาวที่เวลาจะเข้าใจได้ต้องแปลความหมายให้ออก เช่นคำว่า ‘แป้งนัว’ หมายถึงผงชูรส ‘หมวกกันกะทบ’ ก็คือ หมวกกันน็อก ภาษาอย่างนี้สนุกดีนะครับ


 


คืนหนึ่งในเวียงจันทน์


 


ผมว่าอาจจะมีเมืองหลวงไม่กี่แห่งในโลกที่ยังหลงเหลือเสียงแห่งความเงียบในขณะที่เราเดินหรือใช้ชีวิตอยู่กลางเมืองให้ได้สัมผัสและ ‘เวียงจันทน์’ ก็เป็นหนึ่งในนั้น


 


ในหนังสือไกด์บุ๊กที่พกติดตัวไปด้วยเขียนแนะนำเมือง Vientiane (ซึ่งก็คือเวียงจันทน์ที่ชาวฝรั่งเศสเรียกขาน) ว่าเป็นหนึ่งในสามของเมืองคลาสสิกแห่งอินโดจีน อันประกอบไปด้วย เวียงจันทน์ พนมเปญ และโฮจิมินห์


 


สถานที่ที่นักท่องเที่ยวนิยมในเวียงจันทน์นั้นมีไม่กี่แห่ง นั่นคือหอพระแก้ว ซึ่งอยู่บริเวณถนนล้านช้างอะเวนิวอันกว้างขวาง (เปรียบแล้วก็เหมือนถนนราชดำเนินบ้านเรา) ซึ่งยังเป็นที่ตั้งของหอคำหรือทำเนียบประธานาธิบดี วัดสีสะเกดวัดเก่าในแบบศิลปะต้นกรุงรัตนโกสินทร์ของไทยที่ยังคงหลงเหลือความงามและโบราณสถาน โบราณวัตถุให้ชื่นชม นอกจากนี้ยังมีตลาดเช้า (แต่เปิดกันทั้งวัน) ประตูชัย และพระธาตุหลวง เจดีย์สำคัญของชาวลาวและเป็นสัญลักษณ์ของเวียงจันทน์ (เช่นเดียวกับพระปรางค์วัดอรุณฯ)


 


 



 พระธาตุหลวง


 


การเข้าเยี่ยมชมหอพระแก้ว วัดโบราณเช่นวัดสีสะเกด และการขึ้นไปบนประตูชัย จะต้องเสียค่าผ่านประตูคิดเป็นเงินไทยก็ประมาณไม่เกินสี่สิบบาท (หมื่นกีบ) และเป็นเช่นเดียวกับบ้านเรา คือถ้าหากเป็นชาวต่างประเทศก็จะถูกเก็บอัตราที่แพงกว่าคนลาวเล็กน้อย


 



 หอพระแก้วเวียงจันทน์


 


การเก็บเกี่ยวสถานที่สำคัญๆ ในเวียงจันทน์ในฐานะที่เป็นนักท่องเที่ยวใช้เวลาไม่มาก ขึ้นกับว่าชื่นชอบสถานที่ใดหรือจุดไหนมากกว่ากัน ผมคิดว่าเริ่มสักสายๆ ไปจนถึงบ่ายเล็กน้อยก็น่าจะครอบคลุม แต่สถานที่หนึ่งที่น่าจะใช้เวลายามบ่ายที่แดดร่มลมตกแล้วก็คือถนนฟ้างุ้ม ซึ่งเป็นถนนเลียบแม่น้ำโขง ตกเย็นมีภาพชีวิตของคนเวียงจันทน์และนักท่องเที่ยวออกมาเดินเล่ม รับลมเย็น ชมตะวันตกดินกันจำนวนไม่น้อย


 


ครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีมาแล้วผมเคยประทับใจถนนเส้นหนึ่งกลางเมืองเวียงจันทน์ ซึ่งก็คือถนนเชดถาทิลาด (เชษฐาธิราช) ซึ่งเป็นถนนที่ตัดผ่านวัดวา เกสต์เฮาส์และร้านรวงไปบรรจบกับต้นถนนล้านช้างอเวนิวตรงที่ตั้งหอคำ ถนนเส้นนี้มีความกว้างไม่มากนักแต่กลับมีต้นมะฮอกกานีเติบโตแผ่ร่มเงาคลุมถนนตลอดทั้งแนว ให้ภูมิทัศน์กลางเมืองที่สวยงาม


 


แต่พอรัฐบาลลาวเริ่มรับแนวคิดแบบ "ปีการท่องเที่ยว" (ไปจากไทย – หรือเปล่าผมไม่แน่ใจ) สักประมาณปี 2540- 2542 ก็เลยมีโครงการขยายถนนเชษฐาธิราชเพื่อรองรับการจราจรที่จะเพิ่มขึ้น ผมถึงกับคิดไว้ในใจว่าถ้าหากมีการตัดต้นมะฮอกกานีออกไป ผมคงไม่อยากกลับไปเยือนเวียงจันทน์อีก แต่พอกลับไปก็ยังได้เห็นแนวต้นมะฮอกกานีเหล่านี้อยู่และภูมิทัศน์กลางเมืองเวียงจันทน์แม้ในย่านที่คึกคักที่สุดก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อหลายปี ก่อน


 


ครั้งนี้ผมเลือกที่พักในย่านถนนสามแสนไท ซึ่งอยู่ถัดจากถนนเชษฐาธิราชขึ้นไปเล็กน้อย สามารถเดินต่อเนื่องถึงกันได้ ชมร้านรวง ร้านอาหารและร้านค้า มีสินค้าหัตถกรรมและร้านอาหารจำพวกเฝอ อาหารเวียดนามและร้านเบเกอรี่รสชาติดีเกิดขึ้นมากมาย และแม้การจราจรจะขวักไขว่บ้างแต่เวียงจันทน์ก็ยังเป็นเมืองหลวงที่ยังรักษาเงียบสงบไว้ได้ โดยเฉพาะในยามค่ำคืนในบริเวณเฮือนพัก (เกสต์เฮาส์) ที่เราเลือก ซึ่งถือเป็นย่านกลางเมืองจุดหนึ่งสักสามสี่ทุ่มก็เงียบสงบแล้วและยามเช้ามืดก็มีเสียงไก่ขันแว่วเข้ามาปลุก เสียงเหล่านี้หาได้ยากไปเสียแล้วในเมืองใหญ่บ้านเรา


 


สัญจรสู่วังเวียง


 


ด้วยอากาศหนาวเย็นแบบเวียงจันทน์ที่กำลังสบายๆ เราเลือกที่จะเดินทางต่อไปเมืองวังเวียง หมู่บ้านเล็กๆ ระหว่างทางจากเวียงจันทน์ขึ้นไปทางเหนือด้วยระยะทางที่ห่างออกไปเพียง 160 กิโลเมตรโดยประมาณ


 



วังเวียง


 


วังเวียงมีชื่อเสียงในฐานะจุดหมายด้านการท่องเที่ยวของนักเดินทางต่างชาติมาภายในช่วงเวลาไม่ถึงสิบปี แต่หมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้กลับเติบโตขึ้นอย่างน่าสนใจ


 


หลายคนที่เคยไปเยือนบ่นถึงความเปลี่ยนแปลงและความเป็นห่วงเป็นใยที่มีต่อหมู่บ้านริมทางหมายเลข 13 เหนือซึ่งมีธรรมชาติอันตระการตาของภูผาหินปูนซึ่งเติบโตขึ้นตามความนิยมของนักท่องเที่ยวที่พิสมัยความงดงามของธรรมชาติ บรรยากาศเงียบสงบริมแม่น้ำซองสายเล็กๆ ที่ใสสะอาด ไม่ปฏิเสธว่า "การแวะวังเวียง" เพื่อเสพธรรมชาติหรือเสพรสชาติแบบนักแบกเป้ของนักท่องเที่ยวหนุ่มสาวชาวตะวันตกกลายเป็นเหมือนกระแสการท่องเที่ยวลาวกระแสหนึ่งไปเสียแล้ว


 


แต่วังเวียงก็ยังมีอะไรๆ เอาไว้ให้ชื่นชมอย่างเหลือเฟือ ภายใต้บรรยากาศที่มีความเป็นชนบทแต่สะดวกสบายในราคาประหยัดของเฮือนพักมากมายริมแม่น้ำซอง กิจกรรมการขี่จักรยานออกไปรอๆ เมืองวังเวียงเพื่อขึ้นไปเที่ยวถ้ำหินปูนหลายต่อหลายแห่งเป็นกิจกรรมในยามกลางวันที่คนที่อยู่ไม่สุขให้ความสนใจ แต่ผมว่าการได้พักผ่อนอย่างสงบริมสายน้ำที่ไหลเรื่อยๆ ใต้เงื้อมเงาเขาหินปูนอันสูงใหญ่ก็เป็นเหมือนยาวิเศษสำหรับคนที่เคยสัมผัสแต่ความพลุกพล่านแบบเมืองใหญ่อย่างพวกเรา


 


ที่วังเวียงและแม่น้ำซองนี่เองยังมีอีกสองเรื่องที่น่าสนใจ นั่นคือกิจกรรมการล่องห่วงยางลงมาตามลำน้ำซอง โดยร้านที่บริการจะจัดหาห่วงยางรถยนต์ขนาดใหญ่สูบลมเข้าไปจนพอง จากนั้นก็จะบรรทุกลูกค้าและห่วงยางตามจำนวนคนพาขึ้นรถสองแถวคนเล็กแล่นออกไปนอกเมืองห่างออกไป 2 – 4 กิโลเมตรตามแต่ลูกค้าต้องการ จนกระทั่งถึงจุดปล่อยห่วงยางให้ล่องลงมากับลำน้ำซองจนกระทั่งกลับเข้ามาสู่วังเวียงอีกครั้งหนึ่งใช้เวลาไม่ต่ำกว่า  4 – 6 ชั่วโมง สนนราคาค่าบริการประมาณ 150 บาทไทย เป็นรสชาติของการท่องเที่ยววังเวียงอีกรูปแบบหนึ่งที่สนุกและได้ลงไปสัมผัสสายน้ำซองอย่างใกล้ชิด


 


ส่วนอีกเรื่องคือความลือชื่อของวังเวียงในฐานะเมืองแห่งการแวะสูบกัญชาของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะคนญี่ปุ่น (ผมแค่ได้ยินมา) แม้จะไม่เห็นพฤติกรรมนี้ชัดๆ แต่การที่เห็นป้ายขนาดใหญ่ติดหราห้ามเอาไว้ตรงร้านที่ให้บริการเปลนอนข้างสายน้ำซองรับตะวันที่กำลังจะตกริมผาสูงว่า "ห้ามสูบกัญชา" (No Smoking Drug) ก็เป็นที่เด่นชัดถึงเรื่องราวที่ว่า ส่วนจุดหมายปลายทางอย่างลาวเองก็ไม่น่าจะห่างไกลคำว่า "กัญชา" สำหรับผู้ที่แสวงหามัน


 


โดยไม่ต้องพึ่งพาสารเสพติดชนิดใด พวกเราก็ลงความเห็นว่าแค่ความงดงามและความสงบของธรรมชาติ ภูผา สายน้ำและผู้คนก็ทำให้เราเสพติดความเป็น ‘วังเวียง’ จนอยากหวนกลับไปครั้งแล้วครั้งเล่า


 


ปลายทางที่หลวงพระบาง


 


เมืองหลวงเก่าแก่แห่งหนึ่งของโลกซึ่งตั้งอยู่ ณ ปลายแผ่นดินที่สายน้ำคานสายเล็กๆ บรรจบกับแม่น้ำโขงอันกว้างใหญ่ เป็นเมืองที่เคยมีเจ้าชีวิตหรือพระเจ้าแผ่นดินของอาณาจักรล้านช้างหรือประเทศลาวในอดีตประทับอยู่ โดยมีชื่อเรียกขานอีกนามหนึ่งก่อนว่าเมืองเชียงทองที่จะมีการเรียกกันใหม่ภายหลังจากมีการอัญเชิญ "พระบาง" มาประดิษฐานอยู่ที่เมืองนี้ว่าหลวงพระบาง


 


เราเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางที่ใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมงจากวังเวียงเข้าสู่ที่ราบริมฝั่งแม่น้ำโขงในยามพลบค่ำ หนทางประมาณสองร้อยกิโลเมตรที่ผ่านมาตลอดทั้งกลางวันและบ่ายส่วนมากเป็นเส้นทางบนเขาสูง คดเคี้ยวและวกวน จนไม่น่าแปลกใจหากจะเคยได้ยินว่ามีนักท่องเที่ยวจำนวนมากสมัครใจที่จะเข้าสู่หลวงพระบางด้วยเรือช้าหรือเรือนอนจากเชียงของสู่ปากแบ่งแล้วจึงจะถึงจุด หมายปลายทางในย่ำเย็นวันที่สองของการเดินทาง


 


บ่อยครั้งก่อนการเดินทางเยือนเมืองที่มีฐานะเป็นเมืองมรดกโลกของยูเนสโก เรามักจะได้ยินหรือได้เห็นภาพ เรื่องราวอันวิจิตร ความงดงามและเก่าแก่ของสถานที่ วิถีชีวิตและผู้คนอย่างล้นเหลือ จนกระทั่งเมื่อได้มาเจอด้วยตัวเองจริงๆ จึงจะรู้สึกได้เองว่าชอบหรือไม่ชอบ บ่อยครั้งเมื่อได้ยินคำร่ำลือมากๆ ก็ทำให้คนเราเกิดความคาดหวังในสิ่งที่จะได้เห็นได้เจอเหมือนกัน


 


หลวงพระบางเป็นเมืองเมืองหนึ่งที่เข้าข่ายที่ว่านี้ เพราะเป็นเมืองเก่าอีกเมืองหนึ่งที่คนไทย (และคนทั่วโลก) ให้ความสนใจเดินทางมาเยี่ยมชน จนมีเฮือนพักหรือเกสต์เฮาส์เกือบทุกหย่อมย่าน และแน่นอนการเยือนหลวงพระบางก็แทบจะกลายเป็นกระแสความนิยมที่นักท่องเที่ยวยุคปัจจุบันให้ความสนใจ


 


ผมเคยได้ยินคนไทยพูดว่าในช่วงวันหยุดเทศกาลที่มีวันหยุดยาวๆ หลายวันติดกันนั้น เราอาจจะมีโอกาสเดินกระทบไหล่คนไทยในกรุงเทพฯ ที่รู้จักกันในเมืองหลวงพระบางได้บ่อยกว่าโอกาสที่จะได้เจอกันที่บ้านเราเองเสียอีก


 



หลวงพระบาง


 


แต่อาจจะเป็นด้วยอากาศที่เย็นตัวลงอย่างรวดเร็วจนกระทั่งถึงขั้นหนาวเย็นในยามค่ำคืนทำให้คืนแรกของการมาถึงเมืองหลวงพระบางของกลุ่มเรากลายเป็นเรื่องที่ตื่นเต้น และตื่นตาตื่นใจกับแสงสลัวของตลาดนัดยามค่ำคืนบนถนนสีสว่างวง เส้นหน้าพระราชวังและการได้แลเห็นหลังคาของสิมวัดใหม่สุวันนะพูมารามอันวิจิตรซึ่งมองเห็นอย่างชัดเจนขณะเดินบนถนนการค้าสายเล็กๆ ที่เรืองรองด้วยแสงไฟ เป็นเหมือนการค้นพบอันมีค่าหลังจากการเดินทางบนรถโดยสารมาทั้งวัน


 



วัดใหม่สุวันนะพูมาราม


 


สามสี่วันที่เหลือของเรากับเมืองอันเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวในลาวครั้งนี้หมดไปกับกิจวัตรเดิมๆ นั่นก็คือยามเช้าตรู่ตื่นขึ้นมาในเฮือนพักริมสายน้ำคานและฝ่าความหนาวเย็นออกไปนั่งกินอาหารเช้าในร้านกาแฟของชาวบ้าน และอาหารเช้าส่วนใหญ่ก็มักจะมีข้าวจี่หรือขนมปังฝรั่งเศสเป็นกับแกล้ม


 


ในยามกลางวันเราท่องไปบนถนนสายเล็กๆ ในเมืองหลวงพระบางด้วยปลายเท้าหรือการเช่าจักรยานขี่ จะว่าไปแล้วหากตั้งหน้าตั้งตาเที่ยวเฉพาะที่เมืองหลวงพระบางจริงๆ ผมคิดว่าสองวันก็น่าจะพอ แต่หากเราใช้หลักการละเลียดและค่อยๆ ดู ค่อยๆ ชม สี่ห้าวันอย่างพวกเราก็น่าจะเกินพอ


 


วัดเก่าในหลวงพระบางมีมากมายหลายสิบแห่ง แต่วัดอันเป็นศิลปะสกุลช่างล้านช้างหรือหลวงพระบางแท้จริงนั้น หาชมได้ตามวัดเชียงทอง ซึ่งอยู่ขึ้นไปเหนือของตัวเมือง วัดนี้มีความโดดเด่นของตัวสิมหรือตัวโบสถ์ ขณะที่ผมมาทราบเอาภายหลังว่าสวนนานาชาติของรัฐบาลลาวในงานมหกรรมพืชสวนโลกก็จำลองสิมของวัดเชียงทองมาตั้งไว้ แต่ความสวยงามและวิจิตรบรรจงเทียบกันกับที่วัดจริงๆ ไม่ได้


 



 



วัดเชียงทอง


 


สถานที่โดดเด่นอีกสองแห่งในวัดเชียงทองก็คือ หอพระหอเล็กๆ ที่ขนาบสิมหลังใหญ่อยู่นั่นเอง หอพระเล็กๆ สองแห่งนี้มีการประดับกระจกติดเป็นรูปภาพคน ชุมชน ต้นไม้ สัตว์และการใช้ชีวิตของชาวลาวในอดีต เป็นศิลปกรรมที่น่ารักน่าชมมาก ต่างจากหอที่เก็บพระโกศของพระเจ้าชีวิตที่มีหน้าบันแกะสลักลวดลายไม้ปิดทองอย่างอลังการ


 


จากวัดเชียงทองอาจจะย้อนเข้ามาในเขตตัวเมืองที่เป็นย่านการค้าก่อนถึงพระราชวังเก่าหรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหลวงพระบาง เพื่อชม "เฮือนมรดกโลก" เฮือนจัน ซึ่งเปิดให้เข้าชมฟรี ตรงตัวบ้านที่เป็นอาคารไม้ยกใต้ถุนสูง ปลูกอยู่ในสวนที่มีขนาดกำลังดี อดีตเคยเป็นบ้านของข้าราชการระดับสูง แต่ก็ให้ภาพของที่อยู่อาศัยของสามัญชนคนลาวในอดีตแก่เราได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้บริเวณรอบๆ ยังเป็นที่ตั้งของเฮือนพักและวัดวาอารามอีกหลายแห่งที่น่าเดินเล่นไปเรื่อยๆ


 


ส่วนที่ประทับใจผมในการเที่ยวหลวงพระบางอีกส่วนหนึ่งก็คือวิถีชีวิตที่เราได้พบเห็นในตลาดสดตอนเช้าบนถนนสายเล็กที่คั่นอยู่ระหว่างถนนเส้นกลางอันเป็นที่ตั้งของพระราชวังเก่าและร้านรวงต่างๆ กับถนนเส้นเลียบแม่น้ำโขง ถนนสายเล็กๆ ที่มีความยาวประมาณไม่เกินสองร้อยเมตรแห่งนี้มีแม่ค้านำสินค้าหลากหลายมาวางเรียงรายเสนอขายด้วยบรรยากาศพื้นบ้านและดำเนินต่อเนื่องกันมายาวนานนับร้อยๆ ปีแล้ว


 


 



ตลาดเช้าหลวงพระบาง


 


ก่อนที่จะถึงวันเดินทางกลับ ผมบังเอิญได้พบกับคนที่รู้จักกันมาก่อนที่กรุงเทพฯ เป็นคนไทยที่ไปช่วยงานร้านอาหารแห่งหนึ่งในเมืองหลวงพระบางมาหลายเดือนจนพูดลาวสำเนียงหลวงพระบางได้คล่อง ขณะนี้กำลังช่วยเตรียมงานเพื่อเปิดกิจการเฮือนพักและนวดแผนโบราณ - สปา (เป็นกิจการที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในเวียงจันทน์และหลวงพระบางเอง)


 


น้องคนนี้เล่าหลายๆ เรื่องให้ฟังถึงความคลางแคลงใจของพวกเราเกี่ยวกับความยุ่งยากของการเป็นคนไทยที่ไปลงทุนหรือเปิดกิจการในลาว ขณะเดียวกันก็พูดถึงธรรมชาติอันเป็นเสน่ห์ของคนหลวงพระบางให้ฟังด้วยว่าคนที่นี่นอกจากจะเป็นกันเองแล้วยังมีความใจเย็นอย่างเหลือเฟือ เวลาพบเจอปัญหาหรือความยุ่งยากก็จะยิ้มๆ และพูดว่า "บ่เป็นหยังๆ" (ไม่เป็นไรๆ) และก็ดูจะใจเย็นอย่างนั้นได้จริงๆ


 


ผมว่าบางครั้งเราคงต้องการมากกว่าการเหลือบแลไปด้านข้างๆ เพื่อเข้าใจความเป็นลาวของประเทศเพื่อนบ้าน การใช้เวลาสัญจรช่วงหนึ่งก็ให้บรรยากาศ รสชาติการเดินทางและการเข้าถึงขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง และทำให้ได้เห็นบางสิ่งบางอย่างในตัวของเราเองที่ลดทอนไปหรือบางสิ่งที่ขาดหายไปเมื่อเรา – คนไทยรุ่มร้อนขึ้นและพาตัวเองไปข้างหน้าด้วยจังหวะเวลาอัตราเร่งทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็วจนไม่เหลือที่ให้ความงามและวิถีที่เย็นใจอย่างที่เห็นในลาว