Skip to main content

ความสุขที่สันทราย

คอลัมน์/ชุมชน

ผมไม่รู้ว่าความสุขของแต่ละคนเป็นเช่นไร มีโฉมหน้าเหมือนหรือแตกต่างเช่นไร เพราะความสุขบางคราเป็นเช่นอาการค่อยๆ ซึมซาบเหมือนน้ำยามเอ่อขึ้นมาเปียกชื้นผืนทรายอันแห้งผาก มันมีงดงามซึมซาบ แตกต่างไปตามแต่ภาวะและผู้คน


 


หลังปีใหม่ผมไป ‘สันทราย’ และมีเรื่องราวมาฝากครับ...


 


ในความรู้สึกของผม สันทรายเป็นอำเภออำเภอหนึ่งที่ติดกับตัวเมืองเชียงใหม่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่บนเส้นทางที่จะพาเราออกจากตัวเมืองไปสู่อำเภอดอยสะเก็ดและจังหวัดเชียงรายในที่สุด แต่สันทรายนั้นอยู่ในระยะทางไม่ใกล้ไม่ไกลจนแทบจะแยกแยะไม่ออกว่าถนนเส้นนั้นพาเราออกนอกเมืองมาถึงอีกอำเภอหนึ่งแล้ว


 


แม้จะเป็นการไปท่องเที่ยวพักผ่อนที่เชียงใหม่ในช่วงเวลาที่ชีวิตเอื้ออำนวยให้เหมือนทุกครั้งคราว แต่ครานี้ชีวิตกลับอนุญาตให้ผมได้เห็นมุมเล็กๆ ของชีวิตในชุมชนหนึ่งของสันทราย ที่สร้างและดูแลความสุขของพวกเขากันอย่างเรียบง่ายและไม่เรียกร้องอะไรจากชีวิตมากมายไปกว่าที่หาได้และลงมือทำ


 


‘พี่วัล’ (ขออนุญาตกล่าวถึงเพียงชื่อเล่นนะครับ) เป็นรุ่นพี่มหาวิทยาลัยที่ผมได้รู้จักชื่อเสียงเรียงนามในระยะห่างระยะหนึ่งในระหว่างที่เรียน พอต่างคนต่างจบก็แยกย้ายกันไปตามเส้นทางชีวิตของตัวเองไม่มีโอกาสพบเจอกับบ่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อผมได้กลับมาเยือนสันทรายอีกครั้ง โดยมีเป้าหมายคือการไปเที่ยวบ้านพี่วัล


 


พี่วัลยังดูเป็นผู้หญิงร่างเล็กที่มีบุคลิกเข้มแข็งเช่นเคย ร่างกายดูผอมลงกว่าเดิมเล็กน้อย ซึ่งนั่นอาจจะหมายถึงภาระการงานและความรับผิดชอบของชีวิตที่เพิ่มเติมมากับการเป็นคุณแม่ลูกสอง


 


ลูกหญิงหนึ่ง ชายหนึ่งของพี่วัลเป็นลูกครึ่ง มีคุณพ่อเป็นคนเยอรมัน ทั้งครอบครัวพักอาศัยในที่ดิน 5 ไร่ของอำเภอสันทราย แต่หากจะนับคนในครอบครัวที่แท้จริงของพี่วัล คงต้องนับรวมคุณพ่อคุณแม่สามีชาวเยอรมันที่สมัครใจมาหลบความหนาว สร้างบ้านพักผ่อนแยกออกมาอีกหลังอยู่ในบริเวณรั้วเดียวกัน นอกเหนือจากนั้นก็มีคนงานชาวไทยใหญ่อีกเป็นครอบครัวๆ (ของพวกเขาเอง)


 


ผมสอบถามเห็นได้ความว่า คนงานต่างด้าวเหล่านี้ พี่วัลจัดการเรื่องเอกสารและการขออนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยเพื่อทำงานอย่างถูกต้องทุกคน เน้นว่าทุกคนที่กล่าวถึงมีทั้งเด็กๆ ผู้หญิง เด็กหนุ่ม อยู่กันเป็นครอบครัว พี่วัลมีพื้นฐานการทำงานเอ็นจีโอด้านผู้หญิงอยู่แล้วและสนใจเรื่องชนเผ่าเรื่องชาติพันธุ์ เธอเลยดูแลคนงานที่บ้านประดุจญาติมิตรและดูแลอย่างใกล้ชิด


 


พื้นฐานอีกด้านของพี่วัล คือเรียนจบเกษตรและเป็นทายาทเกษตรกรตัวจริงเสียงจริง ด้วยเหตุนี้ภูมิทัศน์ในบริเวณบ้าน ไม่ว่าจะเป็นตัวบ้านที่ลงมือซื้อตำราก่อสร้างบ้านมาเรียนรู้คุมงานก่อสร้างเองหรือต้นไม้ที่ปลูกประดับ ไม้ดอกที่แต่งสวนอย่างพอดิบพอดี แปลงผักสวนครัวแบบอินทรีย์หลังบ้านหรือทิวไผ่รอบรั้วบ้านก็ล้วนแต่เป็นผลงานของบัณฑิตเกษตรอย่างพี่วัล


 



กระท่อมดินหลังแรก


 


ในวันที่ได้ไปเยี่ยมเยียน พี่วัลกุลีกุจอนำเอาน้ำหมัก ซึ่งทำดื่มเองประจำ โดยได้จากการหมักน้ำตาลทรายแดง น้ำต้มสุกกับชาเขียวเอาไว้สิบวันมาต้อนรับพวกเรา ผมเพิ่งตระหนักว่าพี่วัลซึ่งเคยเป็นสิงห์นักดื่มในสมัยเรียนและทำงานมาบัดนี้สละคราบนั้นไปหมดแล้วเพื่อมาเป็นชาวมังสวิรัติและคนที่ใช้ชีวิตปลอดสารพิษ ดูแลสุขภาพทั้งตัวเองและคนในบ้านอย่างแข็งขัน


 


พวกเราพากันเดินตามเจ้าของบ้านเพื่อชมรอบๆ บริเวณบ้าน ซึ่งนับได้ว่ามีการจัดแบ่งการใช้พื้นที่ได้อย่างลงตัว เป็นสัดเป็นส่วน แปลงผักสวนครัวพื้นที่ไม่มากไม่น้อยแต่กลับแน่นขนัดไปด้วยผักนานาชนิดโดยมีไม้ดอกจำพวกดาวเรือง ดาวกระจายและหงอนไก่ปลูกแทรกไว้ระหว่างแปลง เห็นแล้วชวนให้อยากเปลี่ยนไปเป็นชาวมังสวิรัติไปทันที


 



ต้นถั่วน่อยในแปลงผัก


 


ที่หน้าบ้านยังมีกระท่อมบ้านดินหลังใหม่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผลงานที่พี่วัลศึกษาการก่อสร้าง ออกแบบและควบคุมช่างทำเองจนเสร็จในเวลาเพียงหนึ่งเดือน ตอนนี้เห็นบอกว่าทั้งลูกสาวลูกชายต่างแย่งกันเข้าไปนอนในห้องนอนเล็กๆ เหมือนบ้านในนิทาน


 


มีหลายอย่างนอกจากตัวเจ้าของบ้านที่บ่งบอกว่าบ้านนี้เป็นบ้านในแบบตะวันออกพบตะวันตก (East Meet West) ได้อย่างสมดุล ของใช้ในบ้านหลายอย่างตั้งแต่ง่ายๆ อย่างราวตากผ้าที่เวลาจะใช้ก็กางเสาออกเป็นแฉก ทำให้ประหยัดพื้นที่ (ซึ่งมีอยู่อย่างมากมายในบ้านหลังนี้) เป็นข้าวของที่นำมาจากเยอรมนี รวมถึงแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านที่ใช้เก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์เพื่อทำระบบน้ำอุ่นให้บ้านทั้งหลังนั้นด้วย


 



ด้านในกระท่อมดิน


 


สิ่งหนึ่งที่ผมนึกนิยมพี่วัลและสามีก็คือ พวกเขาให้ลูกๆ เข้าเรียนที่โรงเรียนประชาบาลแถวบ้าน (ชื่อโรงเรียนบ้านป่าก้าง) ซึ่งอยู่ห่างจากตัวบ้านในระยะทางที่เด็กๆ ปั่นจักรยานไปตามถนนสายเล็กๆ ผ่านบ้านของเพื่อนๆ และแปลงนาไปเพียงห้านาที ทำให้เด็กๆ ไม่ค่อยเสียเวลาเดินทางอย่างเคร่งเครียดเพื่อไปเรียนโรงเรียนชื่อดังในเชียงใหม่ ตกเย็นเรียนเสร็จก็มีเวลาวิ่งเล่นหรือต่อแพหัดถ่อกันกับเพื่อนๆ ในสวนหลังบ้าน พอว่างก็มานั่งเรียนภาษาอังกฤษซึ่งพี่วัลและสามีช่วยกันสอนให้กับเด็กๆ เพื่อนของลูกๆ ด้วย


 



เด็กๆ ถ่อแพ


 


พอดีที่วันนั้นเป็นวันคล้ายวันเกิดของคุณพ่อสามีชาวฝรั่ง ทั้งพี่วัลและคนทำงานที่บ้านร่วมแรงกันผัดไทกระทะใหญ่แล้วชวนเพื่อนบ้านมากินมื้อเย็นโดยมีผักปลอดสารพิษสดๆ ที่เพิ่งเก็บจะแปลงนำมาแกล้ม ส่วนมหรสพนั้นได้คณะรำนกยูงแบบชาวไทยใหญ่ ผู้แสดงล้วนประกอบไปด้วยเด็ก ผู้ใหญ่ หญิงและชายคนไทยใหญ่ที่ทำงานในบ้านนั่นเอง


 


จากการใช้ชีวิตในรั้วบ้านนี้เพียงช่วงบ่ายจนย่ำเย็น ผมรู้สึกว่าชีวิตเช่นนี้มองดูเหมือนง่าย มองดูเหมือนมีความสุข เรียบง่าย อุดมสมบูรณ์และพึ่งพาตัวเองได้ เพียงแต่ว่าใครเล่าจะเริ่มต้น ใครเล่าจะฉุกคิดได้ว่ามันสมควรแล้วหรือลงมือทำได้แล้ว ในเมื่อความสุขของชีวิตที่สันทรายเช่นนี้เป็นความสุขที่ได้จากการลงแรงและลงมือทำเอง