Skip to main content

ระลอกที่สองของข่าวสาร (2) ทางออกพลังงานไทย (เมื่อไม่เอาถ่านหิน ไม่เอานิวเคลียร์ จะเอาอะไร)

คอลัมน์/ชุมชน


จนแล้วจนรอดผมก็ยังไม่ได้ดูหนังเรื่อง An Inconvenient Truth ซึ่งว่าที่อดีตประธานาธิบดีอัล กอร์ของสหรัฐฯ (อันนี้ไม่ได้เขียนผิด แต่เขาแนะนำตัวเองไว้ในหนังอย่างนี้จริงๆ) เป็นผู้ดำเนินเรื่องและถ่ายทอดเนื้อหาเกี่ยวกับปัญหาภาวะโลกร้อนหรือหรือปัญหาที่เกิดจาก "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ"


 


โดยเฉพาะชาวอเมริกันหรือสังคมบริโภคนิยมแบบอเมริกาที่ยังไม่หยุดเดินหน้าใช้พลังงานที่ได้จากการเผาผลาญน้ำมันหรือถ่านหิน ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการสะสมของก๊าซเรือนกระจก หรือคาร์บอนไดออกไซด์ไปปกคลุมบรรยากาศหรือชั้นโอโซนของโลกไว้ ทำให้ความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่เคยส่องและให้ความร้อนแก่โลกของเรา เกิดการสะสมตัวและปิดกั้นอยู่ในชั้นบรรยากาศ ไม่สามารถส่องสะท้อนกลับออกไปได้เหมือนที่เคยเป็นมา โลกจึงมีอุณหภูมิสูงขึ้นโดยเฉพาะบริเวณน้ำแข็งขั้วโลกหรือธารน้ำแข็งใหญ่ๆ ภูมิอากาศของโลกแปรปรวนหรือเกิดภัยพิบัติจากภัยธรรมชาติ เช่น พายุหรือสึนามิบ่อยครั้งกว่าเมื่อก่อน


 


กล่าวโดยที่ยังไม่ต้องได้ดูหนังเรื่องนี้ก็คือ ผลจากการใช้ไฟฟ้า การผลิตในภาคอุตสาหกรรมและผลิตพลังงาน การคมนาคมขนส่งและการใช้ชีวิตในรูปแบบที่อเมริกันชนเป็นอยู่หรือทำอยู่ และเป็นต้นแบบให้คนทั้งโลกใบนี้อยากจะมีชีวิตสะดวกสบายแบบคนอเมริกันนั่นเองที่ทำให้โลกของเราร้อนขึ้น


 


.....................................................


 


การติดตามและบริโภคข่าวสารในชีวิตประจำวัน ทำให้ข่าวสารเรื่อง "โลกร้อน" ไหลวนเข้าสู่ห้วงของความสนใจของผมเองอยู่เป็นระลอก แน่นอนว่าการนำเสนอข่าวสารถึงหนังที่ยังไม่ได้ดู (An Inconvenient Truth) ก็คงเป็นระลอกของข่าวสารระลอกหนึ่ง         และแม้ว่าจะไม่ได้จดจ่อหรือคอยเงี่ยหูเปิดตารับฟังแต่ข่าวเรื่องนี้เรื่องเดียว แต่หลายต่อหลายครั้ง ข้อมูล การพูดคุยในชีวิตประจำวันหรือแม้กระทั่งกระแสข่าวโดยทั่วไปและการนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ทางสื่อมวลชนก็ย้ำชัดถึงปัญหาโลกร้อนที่อยู่ในความสนใจของสื่อ


 


"ปารีสดับไฟ 5 นาทีลดปัญหาโลกร้อน" (หน้าแรก กรุงเทพธุรกิจ 5 กุมภาพันธ์ 2550)


ประชาพิจารณ์ไฟฟ้านิวเคลียร์ พลังงานไม่คาดหวังผลตอบรับแต่ระยะยาวจำเป็น


"กระทรวงพลังงานจะเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2550-2564 (พีดีพี 2007) ซึ่งได้แบ่งการศึกษาไว้ 3 กรณีคือ กรณีที่ 1 แผนที่มีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าต่ำที่สุด ซึ่งจะเน้นให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นหลัก กรณีที่ 2 ระหว่างปี 2554-2564 กำลังผลิตไฟฟ้าที่จะมีเพิ่มขึ้น หลังจากหักลบจากปริมาณการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ และผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระรายเล็ก (เอสพีพี) ก็จะพิจารณาเพิ่มจำนวนโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับสถานที่ตั้งที่เหมาะสม และกรณีที่ 3 ผลักดันให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นตัวเลือก 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการพิจารณาของกระทรวงพลังงาน เบื้องต้นได้พบว่าทางเลือกที่ 2 เป็นทางเลือกที่มีโอกาสเป็นไปได้มากที่สุด เพราะทางเลือกแรกคงเกิดขึ้นได้ยาก แม้ว่าจะมีต้นทุนการก่อสร้างที่ต่ำ แต่การผลิตจากโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมด โอกาสคงจะเกิดขึ้นยากเพราะจะถูกต่อต้านจากประชาชน ขณะที่ทางเลือกที่ 3 นั้น การที่จะมีพลังงานนิวเคลียร์เข้ามาเป็นทางเลือกในปี 2563 ก็คาดว่าจะไม่ได้รับการตอบรับมากนัก แต่ยอมรับว่าจำเป็นต้องมีทางเลือกนี้ไว้ เพื่อมองในระยะยาว เพราะการพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าจะต้องมองต้นทุนและความมั่นคงด้านพลังงานที่จำเป็น และต้องกระจายความเสี่ยงในการใช้เชื้อเพลิง  


สำหรับทางเลือกที่ 2 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานประเมินว่าจะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ๆเกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 2,800 เมกะวัตต์ ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เสนอตัวเป็นผู้ก่อสร้างที่ อ.ทับสะแก ประจวบคีรีขันธ์3 ยูนิต ยูนิตละ 700 เมกะวัตต์ และที่ จ.กระบี่ อีก 700 เมกะวัตต์ 


ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานตั้งเป้าว่า การเปิดประมูลหาผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระรายใหญ่หรือไอพีพีในเดือน เม.ย.นี้ จะมีปริมาณผลิตไฟรวม 4,000 เมกะวัตต์ เพราะหากเปิดประมูลต่ำกว่านี้ จะไม่เกิดการจูงใจให้ลงทุน ส่วนจะมีการใช้เชื้อเพลิงประเภทใดบ้าง ขึ้นอยู่กับความต้องการลงทุนของเอกชน" (ข่าวเศรษฐกิจ ไทยรัฐ 7 กุมภาพันธ์ 2550) (http://www.thairath.co.th/news.php?section=economic&content=36100)


วันหนึ่งผมนอนดูรายการสารคดีทางช่องเนชั่นแนลจีโอกราฟิกที่บ้าน แม้จะไม่ได้เริ่มดูแต่แรก แต่เนื้อหาของเรื่อง Strange Days On Planet Earth มีเนื้อหาที่น่าใคร่ครวญเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนดังนี้


 


เขาวิจัยพบว่าถ้าน้ำทะเลอุณหภูมิเปลี่ยนเพียง 2 องศาเซลเซียสสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในทะเล (แม้ไม่เล็กมาก) อย่างปูบางชนิดก็จะหัวใจหยุดเต้นทันที มันทำให้คำพูดที่ว่าเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาวเป็นจริงตรงที่ว่า สิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่อาหารที่กินปูทะเลชนิดนั้นเป็นอาหารก็จะได้รับผลกระทบหรือพลอยที่จะตายตามกันไป


 


ในเรื่องเดียวกันแต่ต่างสถานที่ออกไปคือที่ประเทศตรินิแดด แถบแคริบเบียน ทวีปอเมริกา คุณหมอท่านหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดประเทศที่มีชายฝั่งมหาสมุทรกว้างไกลและแดดจ้าฟ้าใสเช่นนี้จึงกำลังถูกคุกคามด้วยโรคทางเดินหายใจยอดฮิตเช่นโรคหอบหืด ชนิดที่ว่ามีเด็กชาวตรินิแดดเป็นโรคนี้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน ซึ่งแทบจะไม่พบโรคหอบหืดมากเท่านี้มาก่อน


 


ในขณะเดียวกันนักสำรวจและศึกษาปะการังใต้น้ำที่แคริบเบียนก็พบความเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ นั่นคือปะการังพัดที่มีลักษณะเป็นแผ่นกางออกคล้ายพัดกำลังค่อยๆ ตายไป ข้อสันนิษฐานแรกของนักวิจัยใต้น้ำเรื่องนี้คือฝุ่นที่พัดพาเชื้อรามาจากต่างถิ่น


 


สารคดี Strange Days On Planet Earth ตอนนี้เฉลยว่า ฝุ่นที่ว่าพัดพาเชื้อราชนิดหนึ่งมาจากทะเลทรายซาฮาร่าในทวีปแอฟริกา ที่อยู่ห่างไกลออกไปเป็นพันๆ ไมล์จนยากจะเชื่อได้ว่าฝุ่นจากซาฮาร่ามันเป็นต้นเหตุ ของโรคหอบหืดที่เพิ่มขึ้นของคนตรินิแดดและทำให้ปะการังพัดเสียหาย


 


สาเหตุที่แท้จริงนั้นมาจากอุณหภูมิเหนือมหาสมุทรอินเดีย (ในแถบอันดามันบ้านเรา) เพิ่มสูงขึ้นทำให้มีฝนตกมากขึ้น และเป็นเหตุให้มวลของอากาศที่เคลื่อนตัวหมุนวนในระดับสูงขึ้นไปเหนือทวีปแอฟริกาสองกระแสหมุนแรงขึ้นจนสามารถนำฝุ่นจากซาฮาร่าไปสู่ทวีปอเมริกาที่ตั้งของประเทศตรินิแดดได้ ทั้งๆ ที่ในอดีตนับพันปีไม่เคยเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้มาก่อน


 


ภาพที่น่าสนใจภาพหนึ่งก็คือ ทะเลสาบ Chad ในแอฟริกา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฝุ่นจากซาฮาร่าที่เพิ่มขึ้น เมื่อก่อนเป็นทะเลสาบที่กว้างใหญ่ มีน้ำอยู่เต็มฝั่ง แต่เวลาที่ต่างออกไปเพียง 35 ปี ปัจจุบันนี้พื้นที่ทะเลสาบส่วนใหญ่กลายเป็นผืนทรายและเหลือน้ำอยู่เพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง


 


.....................................................


 


ผมติดตามดูสารคดีขนาดสั้นนี้ด้วยความสนใจ เพราะการนำเสนอและประเด็นที่น่าสนใจ ไม่น่าเบื่อ ไม่จงใจที่จะว่าร้ายหรือประณามใคร ไม่ชี้นำและไม่มีการสรุปประเด็น สิ่งเดียวที่เขาบอกก็เหมือนกับชื่อสารคดีคือ "วันแปลกๆ ของการอยู่บนโลก"


 


เราจะเคยฉุกคิดกันบ้างไหมว่า มีสิ่งแปลกๆ เกิดขึ้นบนโลกนี้บ่อยครั้งขึ้นและทุกครั้งที่เราตั้งข้อสังเกตหรือมองเห็น เราก็จะพบว่ามนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการบริโภคหรือรูปแบบการใช้ชีวิตเช่นที่เป็นอยู่กันทุกวันนี้ มักจะเป็นส่วนเร่งหรือทำให้เกิดเรื่องราวแปลกๆ ขึ้นกับโลกและสิ่งมีชีวิตทั้งในระดับเล็กๆ อย่างปูทะเล ปะการังใบพัดหรือแม้แต่พายุลมหมุนเหนือทวีปอันยิ่งใหญ่ก็ยังเปลี่ยนแปลงไปเพราะคนเรา...


 


จริงหรือที่เรากำลังยืนอยู่บนทางแพร่งทางแยก


 


ทางแยกที่บอกว่าโลกที่อยู่มานับแสนนับล้านปีโดยที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือไปเร่งรุดกระบวนการวิวัฒนาการ มาบัดนี้เรากำลังพูดถึงความเปลี่ยนแปลงไปสู่จุดจบกันชนิดเป็นสิบๆ ปี หรือความแตกต่างที่เกิดขึ้นชั่วปีต่อปี เหมือนการละลายของธารน้ำแข็ง น้ำแข็งบนยอดเขา (คิรีมันจาโร) หรือน้ำแข็งขั้วโลกจากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มขึ้น


 


เมื่อเราพูดถึงบทบาทของคน ภาครัฐ หรือการพัฒนาพลังงานเพื่อหยุดยั้งความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น จริงหรือที่เรากำลังอยู่บนทางแยกของการพัฒนา


 


เมื่อโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ไม่เอา โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ก็ไม่เอา แล้วเราจะเอาพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งไหนมาใช้ จะหันหน้าไปใช้โซล่าร์เซลล์ก็แพงและยังเป็นเทคโนโลยีที่ยังไม่เหมาะสมกับความเป็นจริงรายรอบสังคมไทยตอนนี้


 


เพื่อไม่ให้ฟังดูอุดมคติเกินไปเราควรจะสัมผัสหรือร่วมอยู่ในบรรยากาศของระลอกแห่งข่าวสารเรื่องโลกที่ร้อนขึ้นนี้เช่นไร


 


.....................................................


 


วันหนึ่งเพื่อนที่ทำงานเป็นบรรณาธิการนิตยสารด้านการตกแต่งบ้านและสวนคนหนึ่งพูดขึ้นมาระหว่างบทสนทนาทางโทรศัพท์ว่า พักนี้เธอสังเกตว่าสื่อให้ความสนใจหรือนำเสนอเรื่องปัญหาโลกร้อนมากขึ้นและสงสัยว่าเป็นเพราะอะไรกัน


 


วันหนึ่งที่บ้านผมเองเราก็หยิบยกเรื่องค่าไฟฟ้ารายเดือนที่แพงขึ้น แม้ว่าอากาศจะเย็นลงสมกับฤดูกาลที่แท้จริงของมัน (เดือนกุมภาพันธ์) และเราไม่ได้เปิดเครื่องปรับอากาศตอนเข้านอนกันสักเท่าไรแล้ว สิ่งหนึ่งที่เห็นก็คือค่าเอฟทีที่สูงเทียบเคียงกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปรากฏบนใบเสร็จค่าไฟฟ้า


 


มีใครเคยสนใจที่จะดูใบเสร็จค่าไฟฟ้าแต่ละเดือนของแต่ละบ้านกันสักกี่คน ส่วนที่ว่าสนใจลึกไปถึงว่าเข้าใจที่มาของค่าเอฟทีว่าคืออะไร นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าจะยิ่งน้อยลง dj


 


"จนกระทั่งปี 2535 รัฐบาลได้ประกาศราคาเชื้อเพลิงลอยตัวตามราคาตลาดโลก ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า เพราะการผลิตไฟฟ้า ต้องใช้เชื้อเพลิงทั้งน้ำมัน และกาซธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ แต่เนื่องจากการประกาศค่าไฟฟ้าใหม่ทุกเดือน เป็นเรื่องยุ่งยาก และไม่สะดวกทั้งต่อผู้ใช้ไฟฟ้าและการไฟฟ้า จึงได้มีการแยกต้นทุนเชื้อเพลิง ส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปจากการกำหนดค่าไฟฟ้านี้ออกมา และเรียกส่วนนี้ว่า ต้นทุนผันแปร หรือ ค่าเอฟที ( Ft : Fuel Adjustment Cost ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น Energy Adjustment Cost) และมีการรวมต้นทุนผันแปรตัวอื่นๆ เช่น ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน อัตราเงินเฟ้อ ฯลฯ เข้าไปด้วย ตั้งแต่นั้นมา ค่าเอฟที ก็ปรากฏให้เห็น และมีการแปรผันไปตามต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้น ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2535 ค่าไฟฟ้าจึงมี 3 ส่วน ได้แก่ ค่าไฟฟ้าฐาน (คงที่) + ค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) + ภาษีมูลค่าเพิ่ม " (Pantip.com คำชี้แจงวิธีการคำนวณค่าไฟฟ้า จากการไฟฟ้านครหลวง)


           


ไม่แน่ใจว่าจะเข้าใจถูกหรือผิดเพียงไร แต่จากคำชี้แจงดังกล่าวย่อมนำไปสู่ความจริงที่ว่า นอกจากภาระในการบริโภคพลังงานไฟฟ้าจะอยู่ที่ตัวเราทุกคนในฐานะผู้ใช้ไฟฟ้าแล้ว ผู้บริโภคไฟฟ้าทุกคนยังต้องแบกรับค่าต้นทุนผันแปร อันสืบเนื่องมาจากนโยบาย การปฏิบัติและทิศทางการลงทุนด้านพลังงานของหน่วยงานภาครัฐเช่นเดียวกัน


 


ผมเคยกล่าวว่า การทำงานในภาคของนักข่าวสิ่งแวดล้อมและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานรณรงค์ในประเด็นปัญหาระดับโลกและทำงานด้านการสื่อปัญหาภาวะโลกร้อน ทำให้เราต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารหลากหลายระดับ และบ่อยครั้งประเด็นเรื่องปัญหาโลกร้อนก็ถูกสื่อสารด้วยภาษายากๆ หรือคำทางวิชาการที่ยากต่อการเข้าถึงหรือการสื่อสารให้คนสนใจ เช่นคำว่า ก๊าซเรือนกระจก พิธีสารเกียวโต  CDM: กลไกสะอาด คณะกรรมการว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก ฯลฯ


 


เมื่อมีการตั้งคำถามหรือหยิบยกปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม : ภาวะโลกร้อนมาพูดคุยกันในบ้านในครัวเรือนหรือในระดับที่คนเดินดินกินข้าวแกงให้ความสนใจเรื่องนี้ ย่อมบ่งบอกว่าระลอกคลื่นของข่าวสารได้ทำให้เกิดกระแสในสิ่งที่มาถูกทางแล้วในการที่จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมรับมือหรือต่อกรกับปัญหานี้ในระดับบุคคล


 


โลกในภาวการณ์ที่มีเรื่องแปลกๆ แปรปรวน และอาจจะมีความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพในระดับใหญ่และกว้างขึ้นจากผลกระทบอันเกิดจากพฤติกรรมเล็กๆ ของประชากรชาวโลกอย่างเราๆ คงไม่มีเวลาให้เรากังขากับบทบาทของตัวเองว่า เรื่องเช่นนี้เกี่ยวข้องกับตัวเราเองไหมหรือเราจะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือไม่เพื่อที่จะทำให้โลกร้อนน้อยลง หรือกระทั่งว่าเราจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรได้ทันท่วงทีล่ะหรือ?


 


เราต้องเลิกคิดว่าเรื่องโลกร้อนเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลก ซึ่งมันไกลตัวและไม่มีทางส่งผลต่อตัวเราหรือคนใกล้ชิดได้ เราต้องให้ความสนใจกับพฤติกรรมในระดับปลีกย่อยของตัวเอง เช่น เราได้ประหยัดไฟฟ้าหรือยัง ได้ดับไฟดวงที่ไม่จำเป็นหรือไม่ได้ใช้แล้วหรือยัง ปิดแอร์ในเมื่อไม่ได้ร้อนจนทนไม่ได้ หันมาเดินหรือใช้พาหนะที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมและตามความจำเป็นจริงๆ และช่วยปลูกต้นไม้ให้มากขึ้นในทุกที่และทุกครั้งที่มีโอกาส


 


การเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดปัญหา ดังนั้นคำตอบจึงต้องอยู่ที่การเปลี่ยนแปลง