Skip to main content

"ทำอย่างไร ไม่ให้โดนสื่อหลอก"

คอลัมน์/ชุมชน

คราวที่แล้วได้กล่าวถึงการให้ความสำคัญของการสร้างสารโดยมีพื้นฐานจากความจริง และความจริงใจเป็นสำคัญ คราวนี้ขอพูดในมุมของผู้บริโภคบ้างว่าในการตั้งรับกับข้อมูลข่าวสารของสื่อที่
ถาโถมมาอย่างแนบเนียนนั้น ผู้บริโภคควรมีภาระหน้าที่ในการจัดการกับข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นอย่างไร


เมื่อปีที่แล้ว พวกเราอาจารย์กลุ่มเล็ก ๆ ของคณะวารสารฯ (คนกันเองในศาลาสี่มุมนี่แหละ) ได้ช่วยกันทำ "ค่ายนักศึกษา... เท่าทันสื่อ" ขึ้นมา จุดประสงค์ก็เพื่อต้องการลดผลกระทบด้านลบจากการที่ผู้บริโภคไม่เท่าทันข้อมูล ข่าวสารต่าง ๆ เพราะการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในรูปแบบที่แยบยลนั้น มีอิทธิพลอย่างมหาศาลต่อการสร้างกระแส รวมทั้งการกำหนดพฤติกรรมต่าง ๆ ให้กับผู้บริโภค


และในฐานะที่เราก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างนักสื่อสารมวลชน (มืออาชีพในอนาคต) ทำให้พวกเราอดคิดไม่ได้ว่าการให้ความรู้ ทักษะ และจรรยาบรรณของการเป็นนักสื่อสารมวลชนที่ดีคงไม่เพียงพอที่จะป้องกันปัญหาให้รอบด้าน เราคิดว่า "การสร้างนิสัย และทักษะให้กับผู้บริโภคในการจัดการ และเท่าทันกับข้อมูลข่าวสารที่สื่อนำเสนอก็น่าจะเป็นเรื่องที่จำเป็นไม่แพ้กัน"


ทฤษฎีการกำหนดวาระ ทฤษฎีหลักทางการสื่อสารทฤษฎีหนึ่งที่อธิบายไว้ชัดเจนว่า สื่อมีหน้าที่ในการจัดลำดับความสำคัญของข้อมูลข่าวสารเพื่อนำเสนอต่อสาธารณชน ทั้งนี้ก็เพื่อให้ประชาชนให้ความสนใจ ได้พูด ได้ถกเถียงในประเด็นที่สื่อเลือกมานำเสนอ ผลลัพธ์อย่างน้อยที่สุดก็คือ "ทำให้คนคิดในเรื่องที่สื่อบอก และถ้าจะให้ดีไปกว่านั้นก็คือสิ่งที่พูด และคิดกันนั้นนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคข้อมูลข่าวสารในที่สุด"


ตัวอย่างที่เห็นกันชัด ๆ เช่น ได้มีการสำรวจพฤติกรรมกลุ่มวัยรุ่นเกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ปัจจัยหนึ่งที่วัยรุ่นพูดถึงก็คือการเห็นพฤติกรรมของคู่รักในการแสดงความรู้สึกที่ใกล้ชิดกันตามสื่อประเภทต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งพฤติกรรมของดาราดังหลายคู่ที่ตั้งครรภ์ก่อนแต่งงาน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กวัยรุ่นบางกลุ่มรู้สึกว่า เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปรกติธรรมดาที่ตนเองทำตามได้โดยไม่คำนึงถึงความพร้อม และความเหมาะสมกับสถานภาพของตนเอง


ตรงนี้เองเป็นประเด็นสำคัญที่อาจพูดได้ว่า คนส่วนใหญ่จึงมักตั้งกติกา ตามเงื่อนไขที่สื่อนำเสนอไปโดยปริยาย เช่น เรื่องใดที่พูดบ่อย ๆ เรื่องใดที่พูดก่อน เรื่องใดที่พาดหัวใหญ่ ๆ มักแปลว่าเรื่องนั้นสำคัญ


คำถามต่อมาก็คือ แล้วเราในฐานะคนบริโภคสื่อจะทำอย่างไร อย่างแรกเลยเราคงต้องดูว่าประเด็นต่าง ๆที่สื่อเลือกนำเสนอนั้นพูดในมุมของใคร หลายครั้งในประเด็นเดียวกันอาจมีการนำเสนอผ่านสื่อมวลชนในหลายมุมมอง เห็นชัด ๆ ในเรื่องไข้หวัดนกเมื่อปีที่แล้ว สื่อมวลชนประโคมข่าวเรื่องนี้เป็นเดือน ๆ จากมุมของรัฐบาลบ้าง มุมของเอ็นจีโอที่ไม่ต้องการให้เกิดการทารุณกรรมสัตว์บ้าง มุมของคนเลี้ยงไก่ชนบ้าง ฯลฯ


หลายครั้งที่เราผู้บริโภคข้อมูลข่าวสารทำตัวไม่ถูกว่าควรจะเชื่อใคร ควรสนับสนุนความคิดหรือพฤติกรรมของใคร และบ่อยครั้งที่เรามักเผลอเชื่อ หรือทำตามกระแสหรือการจัดลำดับความสำคัญของข่าวสารที่สื่อเป็นคนกำหนดให้ โดยไม่คำนึงถึงความพร้อม ความเหมาะสมกับสถานภาพของตน หรือแม้บริบทของสังคมที่เราอยู่


ทางออกที่ดีที่สุดก็คงหนีไม่พ้น ภาระของผู้บริโภคอย่างเราที่ต้องตั้งตัวรับให้ทันกับกระแสที่สื่อสร้างขึ้นมาโดยไม่ด่วนสรุป หรือเชื่อตามสิ่งที่สื่อนำเสนอทันที แต่ควรหยุด หรือก้าวถอยหลังมาสักครึ่งก้าวก่อนแล้วพิจารณาว่าเรื่องนี้ใครเป็นคนพูด พูดเพื่ออะไร นอกจากนี้ควรตรวจสอบกับข้อมูลหลาย ๆ แหล่ง เพื่อวิเคราะห์ให้รอบด้านมากที่สุด จากนั้นจึงเป็นวิจารณญาณของแต่ละบุคคลในการที่จะเลือกเชื่อ เลือกสนับสนุน และเลือกทำตาม


เชื่อแน่ว่าการตัดสินใจโดยมีพื้นฐานง่าย ๆ เหล่านี้จะทำให้ผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ไม่ถูกสื่อหลอกง่าย ๆ ไม่ว่าจะถูกนำเสนอข้อมูลด้วยกลเม็ดเทคนิคที่ลึกลับ ซับซ้อนเพียงใดก็ตาม