Skip to main content

ชุมพล อักพันธานนท์…โปสการ์ดกับการเดินทางของความสุข

คอลัมน์/ชุมชน

คุณคิดว่าเงินสิบบาททุกวันนี้ซื้ออะไรได้บ้าง และจริงหรือที่ว่า "ของถูกไม่มี ของดี ของฟรีไม่มีในโลก"


 


ไม่ใช่แต่เพียงราคาถูกอย่างเดียว โปสการ์ดสามแผ่นสิบบาทจากผู้ชายคนนี้ - ชุมพล อักพันธานนท์ ยังอาจจะหมายถึงความสุขที่ได้เผื่อแผ่ออกไปถึงคนหลายคนยามที่เราประทับความทรงจำและความรู้สึกลงบนโปสการ์ดส่งถึงใครบางคน เหมือนลายมือโย้ๆ แต่อิสระที่ติดอยู่บนแผงโปสการ์ดหลากภาพของเขาที่ว่า "สิบบาทวันนี้คิดถึงได้ถึงสามคน" 


 



 


สำหรับคนที่พอจะรู้จักพื้นเพเขามาบ้าง ชุมพลเป็นมากกว่าพ่อค้าแผ่นกระดาษโปสการ์ดเล็กๆ เพราะเขายังเป็นศิลปินเขียนภาพ รับงานออกแบบตกแต่ง เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ ‘ไปทำไม’ และอยู่เบื้องหลังการจัดกิจกรรมฟื้นวิถีชุมชนและหาที่ทางให้กับคนทำงานศิลปะตัวเล็กๆ อย่างศิลปินเขียนภาพเหมือนในพื้นที่อันกว้างขวางของเมืองกรุง ล่าสุดเขารับงานแปลงโฉมอาคารเก่าแก่แห่งหนึ่งย่านเทเวศร์ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งในฐานะบูติกโฮเต็ลนาม ‘พระนครนอนเล่น’


 


แต่จะหางานไหนที่ชายในวัย 42 คนนี้จะเอาจริงเอาจังเท่ากับการตีพิมพ์เรื่องราวเล็กๆ ลงบนแผ่นกระดาษที่ทำมาอย่างต่อเนื่องถึง 13 ปี ตัวเลขจากปากคำของเขาถึงวันนี้มีโปสการ์ดพิมพ์ออกมาแล้วถึง 4 ล้านแผ่นและยังจะไม่หยุดเพียงเท่านี้ เพราะการทำโปสการ์ดสำหรับเขาหมายถึงการเดินทางของความสุขที่ไม่รู้จบสิ้น...


 


จุดเริ่มต้นของการทำโปสการ์ดเริ่มจากตรงไหน?


 


จุดเริ่มต้นเราเอาภาพวาดมาทำการ์ด ส.ค.ส. อวยพรปีใหม่ แต่การ์ดปีใหม่ก็ขายได้แค่ช่วงปีใหม่ แต่ถ้าทำเป็นโปสการ์ดอยู่ได้ทั้งปี ไปงานไหนก็สามารถไปวางได้ตลอด จริงๆ เรามองในเรื่องของความต้องการแค่เผยแพร่งานศิลปะของเรา เราขายรูปไปรูปหนึ่งราคาหมื่นหนึ่ง รูปนั้นก็เป็นของเจ้าของคนที่ซื้อรูปไปดูได้คนเดียว แต่การที่เราเอาถ่ายภาพนั้นมาพิมพ์แพร่หลายได้เป็นลิขสิทธิ์ของเราตลอดไป ตรงนั้นเป็นเรื่องที่เรารู้สึกว่าคือการที่เราอยู่ได้แล้วทำได้ซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่สำคัญจริงๆ เราต้องปรับเปลี่ยนมีสิ่งที่มันเกิดขึ้นมาใหม่ มีโปสการ์ดใหม่ตลอด เพราะโปสการ์ดก็ไม่ต่างจากหนังสือ เราเดินเข้าร้านหนังสือไหนมีหนังสือเหมือนเดิม  มาอีกครั้งไม่มีอะไรใหม่เราก็ไม่อยากดู ขณะที่หนังสือออกใหม่ทุกวันโปสการ์ดก็ต้องออกใหม่เหมือนกัน


 


เท่าที่เห็นด้านหน้าโปสการ์ดมักจะมีข้อความเขียนไว้ด้วย เป็นเพราะอะไร?


 


ไม่ได้ตั้งใจจะทำ แค่อยากจะบอกคนที่ซื้อโปสการ์ดไปว่าภาพนี้ถ่ายที่ไหนหรือเป็นภาพอะไร เพราะตอนแรกที่เริ่มทำคนชอบถาม ก็เลยเขียนบอกไว้ แต่ก็ไม่ได้เป็นแบบนี้เหมือนกันทุกแผ่น ถ้าเอาภาพของเพื่อนมาทำโปสการ์ดอย่างชุด ‘ซานโตรินี’ ก็ไม่ได้เขียน ถ้าเราเอาภาพของคนอื่นมาแล้วนั่งดูก็ไม่รู้จะเขียนอะไรดี เพราะเราไม่ได้เป็นคนถ่าย ส่วนหนึ่งเราคิดว่าไหนๆ ก็ขายแผ่นละไม่กี่บาท ก็ขอพื้นที่ด้านหน้าสักเล็กน้อยส่วนนี้เหมือนกับว่าเรากำลังเล่าเรื่องอะไรสักอย่างที่เพิ่งผ่านมา ทุกครั้งที่ทำจะเขียนเดี๋ยวนั้นเลย ตอนทำจัดหน้าอยู่ที่ร้านเพลท มันจะได้เร็ว เขียนด้วยปากกาแล้วก็สแกนเลย ไม่มีที่คิดไม่ออก เห็นภาพแล้วก็รู้สึกได้หมดทุกครั้ง


 


เป็นความตั้งใจว่าจะขายที่ราคาสามแผ่นสิบบาท?


 


สามแผ่นสิบอย่างนี้ไปตลอด นอกจากบางมหาวิทยาลัยที่เราไปจำหน่ายต้องมีค่าใช้จ่าย ค่าฝากของ เป็นราคาที่เหมือนขายส่งและเราไปเอง แต่น้อยครั้งที่เราจะไปเอง แล้วเราก็ไม่แนะนำให้คนอื่นขายอย่างเรา เราต้องการให้คนรับไปขายราคาถูกแล้วขายได้ได้กำไร ขายห้าบาทเขาก็ขายได้ เขารับเราจากเราไปแผ่นละสองบาทแปดสิบสตางค์


 


เมื่อกำหนดราคาอย่างนี้แล้วต้องมีการจัดการกับต้นทุนและการผลิตอย่างไร?


 


คือยิ่งหากระดาษถูก ยิ่งออกแบบให้มันเอื้อกันก็ยิ่งจะได้วิถีที่เราอยู่ได้มากขึ้น ต้องเหมือนกับว่าเรามีโจทย์ตรงนี้ไว้แล้วทำอย่างไรถึงจะเอาสิ่งนี้มาใช้ได้ สิ่งที่ไม่ใช้แล้วเอากลับมาใช้ได้ เราอยู่ในวงการกระดาษใช้แล้วทำให้โรงพิมพ์บางโรงพิมพ์ที่มีกระดาษเหลือใช้จากการตัดเศษจากการดีไซน์โรงพิมพ์ก็จะติดต่อมา เราก็จะรับซื้อในราคาที่คนอื่นรับซื้อเป็นกิโลเหมือนกัน พอได้เศษกระดาษมา เราถึงดีไซน์เป็นโปสการ์ดหรือสมุดบันทึกต่างๆ ให้เข้ากับเศษกระดาษที่มีอยู่ จะได้สร้างมูลค่าว่าสมุดบันทึกเล่มนี้สามารถเกิดจากสิ่งที่ใช้แล้วหรือเศษกระดาษเหลือใช้


 


มีระยะเวลาในการออกโปสการ์ดชุดใหม่บ้างไหม?


 


จริงๆ ที่วางแผนไว้สองเดือนออกใหม่ชุดหนึ่งไปเรื่อยๆ ตรงนี้เป็นแค่การวางแผนไว้ ซึ่งมีข้อกำหนดหลายอย่าง เช่นเงินที่ออกมาจากการขายส่งหนังสือ ถ้าออกมาจังหวะที่มันพอดีกันเราก็สามารถทำชุดใหม่วนไปได้ เหมือนเรามีเงินหมุนอยู่ตลอด แต่ก็ไม่ได้กำหนดระยะเวลาชัดเจน อย่างนั้นไม่ไหวมันจะกลายเป็นเหมือนนิตยสารรายเดือน ผมมองดูว่าบางทีเราผูกมัดตัวเองเกินไป เหมือนหนังที่ทำแล้วต้องเร่งเวลาในการที่จะรีบฉาย เหมือนละครโทรทัศน์ที่ตั้งใจจะทำสุดท้ายก็ติดเงื่อนไขทางด้านเวลาของช่องที่ต้องเร่งทุกอย่างให้ฉายตรงตามเวลา พวกนี้เป็นตัวที่บั่นทอนวิถีชีวิตของการตั้งใจที่จะทำอะไรสักอย่าง


 


เงื่อนไขขึ้นกับจังหวะเวลามากกว่า อย่างสมมติว่าโปสการ์ดขาวดำชุด ‘กลับรัก’ ที่มันออกมาตอนเราเดินทางกลับจากเชียงใหม่ ขับรถมาเห็นป้ายจราจรข้างทางเราก็เกิดความคิดแล้วก็ถ่ายภาพป้ายเอามาจัดใหม่ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องการนำเสนอบนโปสการ์ดคือ ภาวะสิ่งแวดล้อมของการมีชีวิตในปัจจุบัน


 


เลือกภาพที่เอามาทำโปสการ์ดและถ่ายภาพเองทั้งหมดหรือเปล่า โดยเฉพาะรูปที่ถ่ายจากเมืองนอก?


 


บางรูปเป็นของเพื่อน แต่เดี๋ยวนี้ไม่ทำภาพถ่ายเมืองนอกแล้ว จะทำสิ่งที่มันใกล้ตัวมากเป็นภาพในเมืองไทย อยากให้คนเข้าใจวิถีชีวิตที่เขาเป็นอยู่มากกว่า บางทีเราก็ไม่ได้เลือกรูปเอง เพราะรูปที่เราเลือกเองคนอาจจะไม่ชอบก็ได้ เราเดินทางไปไหนครั้งหนึ่ง บางครั้งก็จะให้น้องที่ออฟฟิศเป็นคนเลือกรูป เราดูว่าเขาชอบตรงไหน จากที่เขาชอบเราเลือกอีกครั้งหนึ่ง เพราะถือว่าแม้การถ่ายแต่ละครั้งเราตั้งใจถ่ายและชอบรูปที่ตัวเองถ่ายอยู่แล้ว แต่เพียงแต่มุมมองของคนอื่นที่รู้สึกว่า ภาพนี้น่าจะเอามาทำนะ นี่คือมุมมองคนอื่นบางทีเราก็นึกไม่ถึง เราควรจะมีการแชร์และการยอมรับ


 


เราต้องการความต่างในการนำเสนออีกรูปแบบหนึ่ง คือนำเสนอการถ่ายภาพด้วยอารมณ์ ความรู้สึกร่วมเป็นหลัก ไม่ใช่ถ่ายชัดมากจนเราขาดบางอย่างไป


           


มีชุดไหนที่รู้สึกว่าชอบมากเป็นพิเศษบ้าง?


 


ไม่มีชุดไหนที่ชอบที่สุด เหมือนกับวันหนึ่งพอคนเราเดินไปก็มีอะไรใหม่ๆ ทุกวัน ก็คงเหมือนกับคนทำหนังสือก็คงอยากทำเล่มใหม่ๆ อยู่ตลอด ไม่ค่อยอยากจะทำอะไรที่ซ้ำเดิม ภาพทุกภาพที่ทำโปสการ์ดแล้วก็ไม่ได้ทำซ้ำ เราอยากให้มีอะไรใหม่ๆ เวียนมาตลอด


 


ภาพที่เลือกเอามาทำโปสการ์ดต้องการสื่ออะไรและเวลาถ่ายภาพใช้มุมมองแบบไหน?


 


ต้องการสื่อว่าทุกวันนี้ชีวิตมนุษย์มัวยึดติด และลุ่มหลงกับสิ่งอันเป็นแมคคานิกบางอย่างที่มันตายตัว แต่หลงลืมบางอย่างที่เป็นอารมณ์ร่วม เราขาดตรงนั้น ซึ่งมุมในการถ่ายภาพของผมกับมุมของคนทั่วไปก็ไม่เหมือนกันนะ มุมของผมก่อนจะถ่ายภาพ เราจะต้องเกิดความรู้สึกอยากจะถ่ายและอารมณ์ร่วมก่อนเป็นสำคัญ เพราะการถ่ายภาพทั่วโลกทุกวันนี้มันติดอยู่กับมือถือที่ถ่ายง่ายกดง่ายมากจะกดเมื่อไรก็ได้ จนลืมไปว่าจริงๆ แล้วเรามีความรู้สึกกับมันหรือเปล่า ตรงนี้เราขาดความรู้สึกอะไรไป พอมันไม่มีต้นทุนเหมือนการถ่ายด้วยฟิล์มแล้ว ทุกคนก็จะกด เสร็จปุ๊บเมื่อไรผิดพลาดจะล้างทิ้ง ลบรูปทิ้ง มันทำให้เราหลงลืมและละเลยบางอย่างไป เราปล่อยความรู้สึกของเราทิ้งขว้าง นั่นคือสิ่งที่สูญเสียแต่เราไม่รู้สึกว่าสูญเสียเป็นเงิน แต่เราเสียในเรื่องของจิตใจ  เหมือนกับเป็นคนที่มักง่าย นึกจะถ่ายอะไรก็ถ่ายไปเรื่อยๆ แล้วค่อยมาดูว่ารูปไหนดีถึงเก็บไว้ รูปที่ผมพยายามนำเสนอ มันมีเรื่องของความเรียบง่าย มุมมองที่ธรรมดามาก ไม่ได้เป็นมุมมองทางด้านศิลปะอะไรมาก แต่ต้องการนำเสนออารมณ์ของภาพมากกว่า ที่มันสื่อออกมาให้เห็นว่าจริงๆ สิ่งที่เรากำลังจะนำเสนอ มันตรงกับสิ่งที่เขามองหรือเปล่า ผมถึงมีคำบางคำที่มากำหนดความรู้สึกบางอย่างไว้ด้วย ตอนเห็นเรารู้สึกยังไง นั่นคือความรู้สึกที่เราต้องส่งไปอีกครั้ง ด้วยการเขียนลงไปใต้ภาพ


 


เป็นคนทำโปสการ์ดแล้วจริงๆ ชอบเขียนโปสการ์ดไหม?


 


ไม่เขียน ผมเป็นคนที่ผมก็ไม่ค่อยเขียนจดหมายถึงใคร ผมก็ไม่ค่อยตอบน้องๆ ที่เขาส่งมาเท่าไรด้วยนะ เป็นเรื่องแย่มากเหมือนเราเป็นคนใจดำ แต่เรากลายเป็นคนมาทำสิ่งที่คนเขียนกัน น้อยครั้งจะได้ตอบ มันไม่ดีเหมือนกัน แต่เวลาไม่ค่อยมี คนส่งกลับมาให้เราเยอะ มีทุกวันโดยที่ไม่รู้จักกันเลย เรารู้สึกว่ามันอบอุ่น เหมือนคนเราแต่ละคนดำเนินชีวิตโดยที่ว่าเหมือนกับมีความรักบางอย่างอยู่ โดยที่ชีวิตเราดำเนินไปมันมีความสุข งานที่ทำก็มีความสุข  แล้วมันส่งผลแล้วคนอื่นมองเห็น มันเป็นชิ้นแผ่นเดียวเล็กนิดเดียวที่ส่งไปแต่มันไม่จบตรงนั้น ไม่หยุดที่คนที่ซื้อไป มันยังมีอีกคนที่คนที่ซื้อไปเขาต้องส่งไปให้ มันไม่รู้อีกกี่ต่อ ตรงนี้เรารู้สึกว่ามันเดินทางได้


 


หลายปีก่อนที่เริ่มทำโปสการ์ด อีเมล์และอินเทอร์เน็ตยังไม่เฟื่องฟู แต่ยุคนี้คิดว่าอินเทอร์เน็ตจะทำให้คนเขียนโปสการ์ดน้อยลงไหม?


 


มันคนละอย่างกัน วันหนึ่งที่เราติดต่อกับใครทางอีเมล์ไปแล้วพอเครื่องมันจบหรือเครื่องมันแฮ้งค์มีปัญหา ภาพมันหายไปหมดเลยนะแต่เราส่งโปสการ์ด มันยังมาถึง จับต้องได้ มันก็เป็นอีกมุมหนึ่ง ผมมองว่าบางทีคงไม่ใช่เรื่องที่จะให้ลดเลิกสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะสิ่งบางอย่างมันอยู่ด้วยกันได้  นึกถึงคนที่ชอบเราก็รู้สึกว่า บางทีเราจะเลิกทำก็ไม่ได้ การที่เราทำอยู่ในวิถีชีวิตความเคยชินแล้วก็เกิดความสุขด้วย มันก็ไม่ไปเบียดบังอะไร ผมก็คิดว่ามันเป็นงานศิลปะด้วยเหมือนกัน ผมมีความสุขกับการทำโปสการ์ดอยู่ตลอดมา ตราบใดที่คนยังซื้อเยอะ นอกจากการที่มันขายถูกแล้ว เรายังรู้สึกดีใจที่โปสการ์ดแต่ละแผ่นของเรามันไปไกลได้ทุกที่ แล้วมันยังมีอารมณ์ร่วมบางอย่างที่เราสัมผัสรับรู้ได้ว่าเราอยู่ใกล้กับคนซื้อโปสการ์ดของเรา มันมีอารมณ์ร่วมจุดเดียวกัน


 


รูปแบบโปสการ์ดจะกลับเอาภาพเขียนมาพิมพ์เหมือนตอนเริ่มแรกอีกไหม?


 


บอกตรงๆ เลยว่ากลับไปทำแบบนั้นได้ยาก นอกจากไปขายตามที่สถานที่ท่องเที่ยวขายให้ฝรั่ง กลุ่มคนที่ชอบโปสการ์ดของผมคือเป็นกลุ่มที่ซื้อโปสการ์ดเพื่อเขียนส่ง แล้วกลุ่มนี้ก็ไม่ค่อยซื้อโปสการ์ดอย่างที่เห็นกันอยู่ทั่วไป มันคนละแบบคนละส่วนกันเลย เราก็รู้สึกว่ามันไม่เหมือนกัน


 


โปสการ์ดมีสามประเภท อันแรกคือโปสการ์ดท่องเที่ยวตามเมืองหรือแหล่งทั่วไปที่เราเห็น เป็นภาพวัดสุทัศน์ วัดพระแก้ว วัดอรุณ คือโปสการ์ดถาวร กับโปสการ์ดที่เป็นส่วนตัวหรือค่อนข้างที่จะเป็นส่วนตัว ไม่ได้ถึงขนาดเป็นทำมือ แม้จะคล้ายการเพราะว่าออกมาโดยที่ไม่ค่อยซ้ำกัน แต่ใช้ระบบอุตสาหกรรมเหมือนกับโปสการ์ดอย่างแรก การออกโปสการ์ดมาที่ไม่ซ้ำกัน มีการปรับเปลี่ยนกันบ่อยๆ ผมรู้สึกว่ามันคล้ายเป็นปัจเจก แล้วอีกประเภทก็คือโปสการ์ดเพื่อการโฆษณา เขาจะวางตามห้าง ตามร้านต่างๆ ให้หยิบได้ คืออารมณ์มันต่างกันมาก


 


เอาจริงเอาจังกับการทำโปสการ์ดจนได้ข่าวว่าไปรษณีย์ติดต่อมาพูดคุยด้วยเกี่ยวกับการออกโปสการ์ด?


 


เขาจัดงานการเขียนโปสการ์ดมาครั้งหนึ่ง มีการพูดคุยแล้วชวนผมให้ไปร่วมการเสวนาแล้วก็มีคนของไปรษณีย์สนใจพูดคุยกับผมว่าจะฟื้นเรื่องการเขียนโปสการ์ดกันยังไง  แล้วก็โทรมาปรึกษา ผมก็แนะนำเขาว่าอยากให้ไปรษณีย์แต่ละที่ มีโปสการ์ดประจำทุกจังหวัด ถ้าหากส่งเสริมการอ่านการเขียนจริงๆ ต้องมีโปสการ์ดเป็นของตัวเองประจำแต่ละจังหวัด


 


ทำไมจึงคิดว่าโปสการ์ดเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนวัฒนธรรมการเขียนการอ่าน?


 


เพราะว่าเราเคลื่อนไปกับงานหนังสือตลอด กับงานหนังสือของมติชนเราก็ไปตลอด เรารู้สึกว่าแผ่นภาพแผ่นเดียวกับหนังสือเล่มหนึ่ง จริงๆ แล้วก็ไม่ต่างกัน เพียงแต่ต่างที่การใช้งานหรือเพียงรูปลักษณ์แค่นั้นเอง แต่ความรู้สึกจริงๆ คนซื้อน่าจะเป็นคนเดียวกัน โปสการ์ดผมก็จะขายได้กับร้านหนังสือ คือแหล่งที่มีการศึกษาหรือคนตามสถาบันการศึกษาก็จะซื้อ ผมเลยรู้ว่าจริงๆ แล้วมันไม่ได้ต่างกัน เราคือทิศทางเดียวกัน คนเข้ามาอ่านหนังสือกับคนที่เขียนโปสการ์ดคือคนที่ใกล้กันมาก ผมยังรู้สึกว่า ร้านหนังสือหลายๆ ร้านถ้ามีการสร้างกิจกรรมร่วมกันได้ คุยกันได้ ร้านหนังสือจะเกิดสีสันขึ้นเยอะ  เพราะว่าร้านเล็กๆ ไร้การผูกมัด ไร้รูปแบบยึดติดว่าจะต้องเหมือนกันทั้งหมด สีสันมันก็สามารถเกิดจากร้านหนังสือเล็กๆ ได้


 


นอกจากทำโปสการ์ดแล้วที่ผ่านมาทำอะไรมาบ้าง?


 


พื้นเพผมเป็นคนนครสวรรค์ แล้วมาเรียนศิลปากร (คณะจิตรกรรมฯ) ตั้งแต่เด็กผมชอบดูหนังมากหนังอะไรก็ดูหมดถึงกับหนีแม่หนีโรงเรียนไปดูหนัง เป็นสิ่งเสียหายที่สุดแล้ว ตอนเรียนจิตรกรรม ประมาณหกโมงเย็นก็จะนั่งรถเมล์ไปดูหนัง พอเที่ยงคืนถึงกลับมาวาดรูป เป็นอย่างนี้ทุกวัน แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเสียเวลาจากการทำงานศิลปะที่เรียน เพราะกลับมาทำงานตอนกลางคืน วิถีชีวิตก็จะต่างกันจากเพื่อนๆ ที่คณะ เราเข้าโรงหนังไปดูคนเดียวตลอด จนทำให้รู้สึกว่าเราเหมือนกล้องการที่ถ่ายทำไปแล้ว รู้สึกว่าหนังมันเปลี่ยนแปลงชีวิตคนได้ แม้หนังไทยทุกวันนี้ก็ยังดูหมด


 


หลังจากจบก็ไปทำหนังก่อนเลย อยากทำหนังมาก เพราะหนังเปลี่ยนชีวิตเรา โดยเข้าไปทำงานที่กันตนาไปทำเรื่องวิมานมะพร้าวอยู่ฝ่ายศิลป์ จากนั้นก็มาทำหนังเรื่อง ‘เร็วกว่าใจ ไกลเกินฝัน’ ของอาจารย์บรรจง โกศัลวัฒน์ แล้วก็ไปทำงานที่เอ็กแซกท์ทำละครเรื่อง ‘บัลลังก์เมฆ’ ทำหนังกับพี่หง่าว ยุทธนา มุกดาสนิท ทำละครกับอาจารย์ป้อม รัศมี (เผ่าเหลืองทอง) ทำงานเกี่ยวกับหนังมาห้าปี จากที่เคยคิดว่าหนังมันสื่อเข้าใจกับคนได้ง่าย ทำให้เรารู้สึกว่าหนังไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นเรื่องที่ต้องสั่งสมประสบการณ์จริงๆ รีบทำไม่ได้ เป็นเรื่องยากแต่ก็ยังชอบ และรัก อยากจะทำอยู่เหมือนเดิม


 


นอกจากนี้ก็ยังแล้วจึงมาเขียนรูปตามในห้าง เขียนพอร์ตเทรต แล้วก็ไปตกแต่งร้านอาหารในออสเตรเลีย เราก็รับไปทำร้านอาหารในต่างประเทศเรื่อยๆ เวลาที่คนเขาขอมา ไปออสเตรเลีย อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์  เสาร์อาทิตย์ของการไปทำตกแต่งร้านอาหารตกแต่งก็ไปทำโต๊ะเก้าอี้ดีไซน์ ไปตามโบสถ์ซึ่งตามต่างประเทศเขาจะมีการเปิดตลาดตามโบสถ์ต่างๆ เป็นอาร์ตมาร์เก็ต มีคนมาเปิดหมวก เราก็ไปวาดรูป โบสถ์ของแต่ละที่เขาจะจัดที่ไว้ให้เลย คือเขาให้เกียรติ อาศัยการทำงานทำให้ได้เดินทางไปทำงานตรงนี้บ่อย เหมือนไปท่องเที่ยวทีละหกเดือน


 


มีการเดินทางบ่อยๆ ในชีวิตแล้วชอบที่ไหนและชอบอะไรในการเดินทาง?


 


ทุกที่ที่ไปก็ชอบหมด ยิ่งการเดินทางมากมันก็ยิ่งคิดถึงบ้านมากขึ้นทุกที เพราะว่าไม่ว่าไปที่ไหนก็มีความสุขกับการเดินทาง แต่ไม่ได้มีความสุขกับการอยู่ที่นั่นนานๆ เลย ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหน เมื่อไปเสพสุขแต่ละที่ สิ่งที่เราเห็นมีความประทับใจ ความรู้สึกก็กลับมาที่เดิมว่าเราจะกลับไปทำอะไร เราต้องกลับมาใช้ชีวิตของเรา มันจะคิดอยู่ตลอด ติดตัวอยู่ตลอด พอกลับมาแล้ว เราจะมีอะไรบางอย่างกลับมาสื่อในโปสการ์ดบางอย่าง จริงๆ มันเพลนเหมือนคนทั่วไป มันเหมือนกับเป็นความสุขที่เรารู้สึกว่าอยากให้คนอื่นที่ชอบเดินทางหรือทำอะไรบางอย่าง พยายามที่เอางานเข้ามาเกี่ยวเนื่องแตะต้องในสิ่งที่รัก ผมว่ามันเป็นเรื่องเดียวกัน แต่มันจะต้องอดทน


 


เราชอบการเดินทางและการเดินทางมีอิทธิพลกับตัวเองมาก เรารู้สึกว่าพอเดินทางเราได้เห็นอะไรทุกวันมันก็เกิดความคิดทุกวัน ผมก็เชื่อว่าชีวิตก็คือการเดินทาง เราไปเจออะไรทุกวัน ไม่ว่าจะเดินออกจากบ้าน ภาพข้างๆ ทางมันก็ไม่มีทางเหมือนกันอยู่แล้ว ผมก็คิดว่านั่นคือการเดินทางทุกวัน ผมคิดว่าคนเราขาดการเดินทางไม่ได้ เพราะเราต้องได้เดินทางอยู่ตลอด คนตาบอดเขาก็จะเดินทางในเรื่องของจิต ความคิดของเขา แม้เขาจะมองไม่เห็น เราก็ต้องเดินทางเท่าที่เรามองเห็นและเราไปตรงไหนได้ ทุกคนเดินทางหมด เพียงแต่เรากลับมาทำให้ชีวิตเราเองมีอะไรใหม่ได้ทุกวัน เราจะคิดมากแค่ไหน เราจะรู้สึกภูมิใจกับการเดินทางทุกวันซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่เราต้องหาอะไรที่ให้เข้ากับตัวเอง ชีวิตผมก็คงเป็นเรื่องก็คงจะต้องหาทางทำอะไรที่มันไม่ค่อยซ้ำกันเท่าไร


 


การเดินทางไปต่างประเทศมีค่าใช้จ่ายเยอะตรงนี้มีการจัดการอย่างไร?


 


ผมได้เดินทางไปต่างประเทศจากงานหนังสือที่เคยทำแล้วก็ไปแสดงงานศิลปะ เมื่อก่อนผมถ่ายภาพแล้วก็เขียนหนังสือเล็กๆ น้อยๆ เหมือนเป็นฟรีแลนซ์ให้หนังสือนักเดินทางช่วงเริ่มต้นก็เลยได้อาศัยการทำงานหนังสือไปเที่ยวด้วย เราได้เห็นว่าเมืองท่องเที่ยวแต่ละเมือง เขารักษาบางอย่างไว้เพื่อดึงนักท่องเที่ยวมาเที่ยวได้มหาศาล เกือบจะทุกประเทศในโลกตอนนี้อนุรักษ์ของเก่าเพื่อที่จะดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ อย่างบาหลีเขาเคยมีพระเจ้าแผ่นดินสมัยก่อนที่ชอบศิลปะและรักศิลปิน ศิลปินมาจากประเทศไหนมาก็ได้มาอยู่ที่บาหลีแล้วแบ่งพื้นที่ให้อยู่เป็นชุมชน ทุกวันนี้ศิลปินออกลูกออกหลานมา ความเป็นบาหลีก็ยังอยู่ เพราะศิลปินที่ไปอยู่เคารพความเป็นประเพณีและศาสนาของเขา ร้านเหล้าไม่ค่อยมี แต่คนมาดูในวิถีชีวิตเยอะมาก เกาะเดียวเล็กๆ แต่เลี้ยงประเทศได้มหาศาล นี่คือสิ่งที่เราต้องนึกถึง


 


ทราบว่าอีกเรื่องที่สนใจคือการรักษาภูมิทัศน์ของเมือง เช่นการไปทำตกแต่งให้พระนครนอนเล่น?


 


สิ่งหนึ่งที่มันสูญเสียกับวิถีชีวิตก็คือตอนนี้ทุกอย่างมันถูกปรับเปลี่ยน ตอนนี้คนไม่ชอบอะไรก็รื้อก็ทุบก็ทิ้ง มันทำให้เราไม่เคยที่จะหันกลับมานั่งสร้างบางอย่างกับสิ่งที่มันหลงเหลือกับอะไรเลย เราน่าจะมีบางอย่างที่นึกถึงสภาพแวดล้อมที่ผ่านไปเหมือนกับที่ไปทำพระนครนอนเล่น ซึ่งอยู่หน้าโรงเรียนสตรีวรนาถ แล้วมีภูมิทัศน์ทุกอย่าง คนที่ไปดูก็มองเห็นวิถีชีวิต เห็นบ้านหลังคาสังกะสีที่อยู่ย่านนั้น นอกจากไปพักแล้วยังได้เห็นวิถีชีวิตคน ได้มุมมองที่งดงามของย่านเทเวศร์


 


คิดว่าเส้นทางของการทำโปสการ์ด และสิ่งต่างๆ ที่ทำอยู่จะนำไปสู่อะไร?


 


ทุกวันนี้การทำตรงนี้มันยังไม่ได้ถูกแพลนว่าจะไปถึงจุดไหน อาจจะเลิกทำไปเมื่อไรยังไม่รู้ อยู่ที่เวลาและโอกาสว่าชีวิตเราจะเดินอยู่ตรงไหน ณ ตรงนี้ก็ยังไม่เคยจะหยุดทำแต่เรายังกำหนดไม่ได้ เหมือนอนาคตมันจะไปถึงไหนยังไม่รู้เลย  เราแค่เพียงประกอบกิจส่วนตัวกับความรักที่เราอยู่โดยความอิสระ แต่ไม่รู้จะบอกว่าจะทำได้นานแค่ไหน ตอนนี้บอกได้แค่อย่างเดียวที่คืบกว่านี้คือทำเป็นรถแล้วเปิดเป็นที่ขายโปสการ์ดแล้วพาศิลปินไปวาดรูปตามที่ต่างๆ ตามมหาวิทยาลัย ชุมชนต่างๆ ซึ่งเป็นงานของชมรมศิลปวัฒนธรรมวิถีชุมชนที่ผมประสานงานให้


 


...........................................................


 



 


หากซามูไรต้องคู่กับดาบฉันใด ข้างๆ กายของชุมพลก็คงจะต้องมีกล้องฉันนั้น วันนี้เขาเลือกกล้องดิจิตอลแคนนอน ขนาดเหมาะมือ ไม่ระบุรุ่น ราคา หรือระยะเวลาใช้งาน เพราะเน้นการเก็บภาพที่มีความหมายต่อตัวเองและสื่ออารมณ์มากกว่า


 


"เวลาเดินทางต้องพกกล้องตัวหนึ่งเป็นกล้อง Manual คู่ชีพที่ใช้งานประจำ แล้วก็สมุดบันทึกเล่มหนึ่ง ตอนหลังหันมาใช้ดิจิตอลซึ่งให้อารมณ์มันต่างกันมาก แต่พอเรานึกถึงอารมณ์ของการถ่ายภาพ ภาพหรือกล้องมันก็คือวัสดุหรือเครื่องมืออย่างหนึ่ง เหมือนสีหรือเฟรมจะใช้ยี่ห้อไหนก็แล้วแต่ ดินสอยี่ห้อไหนก็อยู่ที่ภาษาที่เขียน สำคัญอยู่ที่เรา กล้องก็เหมือนกันอยู่ที่มุมที่เราสามารถกะออกมามากกว่า"