Skip to main content

ป่าเล็กๆ ในบ้านของเรา

คอลัมน์/ชุมชน

ผมเพิ่งกลับจากการไปนั่งดูป่าสร้างเมฆม้วนตัวออกมาเป็นสายหมอก ดูลึกลับขรึมขลังแต่ก็มีพลัง ไม่แน่ใจว่านานเพียงใดแล้วที่ไม่ได้มีโอกาส ‘สัมผัส’ กับป่าอย่างใกล้ชิดเช่นนี้ มิเพียงแค่นั้นป่าที่ผมกำลังพาตัวเองเข้าไปสนิทชิดใกล้ยังได้ชื่อว่าเป็นป่าดงดิบ...ป่าดิบชื้นหรือป่าฝนเขตร้อน (TropicalRain Forestหรือ TropicalEvergreenForest) ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกบนเกาะบอร์เนียว


 


ได้ยินชื่อเกาะบอร์เนียว บางคนอาจจะไม่คุ้นเคยว่าตั้งอยู่ที่ตำแหน่งแห่งหนใดของโลก แท้จริงแล้วเกาะบอร์เนียวอยู่ในภูมิภาคบ้านเรา นั่นคือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นที่ตั้งของรัฐซาบาห์ รัฐซาราวัค ของประเทศมาเลเซีย และอีกสองประเทศคือบรูไนและอินโดนีเซีย นับว่าเป็นเกาะที่มีพื้นที่มโหฬาร เช่นเดียวกับที่มีพื้นที่ป่าดิบชื้นอันเป็นเขตอนุรักษ์ที่มีการจัดการด้านการท่องเที่ยวเป็นอย่างดีเช่นอุทยานแห่งชาติคินาบาลูตั้งอยู่


 


การเดินทางของผมครั้งนี้มุ่งหน้าไปยังอุทยานแห่งชาติคินาบาลู ซึ่งห่างจากเมืองโกตา คินาบาลู เมืองหลวงของรัฐซาบาห์ รัฐทางตะวันออกของมาเลเซียประมาณ 90 กิโลเมตร ด้วยชื่อเสียงอันได้ยินมายาวนานเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์และงดงามของธรรมชาติ พรรณไม้และสัตว์ป่าที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นจำนวนมาก และเทือกเขาที่มีชื่อเดียวกับที่ทำการอุทยานฯ คือเขาคินาบาลู ซึ่งมียอดเขาที่สูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งอยู่ ด้วยระดับความสูง 4,095.2 เมตร


 


วิธีเดียวที่จะเข้าไปสัมผัสป่าคินาบาลูได้อย่างใกล้ชิดและเข้าถึงมากที่สุดก็คือการเดินเท้า โดยมีเส้นทางที่เรียกว่า Summit Trial หรือทางขึ้นสู่ยอดเขาเป็นเป้าหมาย โดยผู้ที่ต้องการเข้าไปท่องเที่ยวตามเส้นทางนี้ควรจะมีเวลาพักบนเส้นทางที่ระดับความสูงกว่าสามพันเมตรในเขตอุทยานฯ อย่างน้อยเป็นเวลาหนึ่งคืน และจะต้องติดต่อล่วงหน้านานหลายเดือน เนื่องจากป่าคินาบาลูเป็นมรดกโลกแห่งแรกของมาเลเซียและมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเข้าคิวที่จะเดินขึ้นไปพิชิตยอดเขา ซึ่งทั้งหมดเป็นระยะทางที่จะต้องเดินร่วม 20 กิโลเมตรทั้งขาขึ้นและลงจากยอดเขารวมกัน


 


ด้วยความยิ่งใหญ่และรายละเอียดปลีกย่อยของการเดินทางมากมายที่จะต้องจัดการพาตัวเองเดินทางไปในช่วงเวลาที่ตระเตรียมไว้ล่วงหน้านานหลายเดือน ทำให้ผมไม่มีโอกาสที่จะได้ลงมือศึกษาพื้นที่ๆ จะเข้าไปสัมผัสด้วยการหาข้อมูลหรือหนังสือเกี่ยวกับพรรณไม้ที่จะมีโอกาสได้พบเห็นระหว่างการเดินเขาสามวันสองคืนดังที่ตั้งใจเอาไว้ แต่ใจหนึ่งก็คิดว่าสิ่งที่จะได้เห็นคงเป็นประสบการณ์ที่ดีและการพาตัวเองเข้าไปสัมผัสยังใจกลางของสิ่งที่มีอยู่และซึมซับความเป็นอยู่จริงๆ ของสรรพสิ่งน่าจะเป็นอีกหนทางหนึ่งของการเตรียมตัวที่ไม่ยุ่งยากหรือบีบคั้นตัวเองจนเกินไป


 


หลังจากนั่งเครื่องบินตรงจากกรุงเทพฯ สองชั่วโมงห้าสิบนาทีล้อเครื่องบินก็แตะรันเวย์ของสนามบินนานาชาติโกตา คินาบาลูตอนเกือบๆ จะสามทุ่ม ในคืนแรกของเมืองหลวงแห่งรัฐซาบาห์ผ่านไปอย่างสงบแต่ไม่เงียบเหมือนกับที่คิดไว้ เพราะเมื่อได้สัมผัสกับเมืองที่เป็นจุดแรกที่จะต้องผ่านก่อนขึ้นไปเดินเขาคินาบาลู ก็พบว่าเมืองที่ขนาดเดินเที่ยวไปทั่วถึงภายในวันหรือสองวัน เป็นเมืองที่มีระเบียบและมีความน่าอยู่ มีการรักษาความสะอาด มีจุดให้เดินเที่ยวเล่นทั้งร้านค้าที่เป็นห้องแถวขายของชำของชาวจีน ศูนย์การค้าขนาดพอดีๆ หลายแห่ง ชายทะเลที่มีติดกับชายหาดและตีนเขาย่อมๆ ที่เป็นจุดชมวิว


 



โกตาคินาบาลู


 


เมื่อเปลี่ยนผ่านความรู้สึกจากการเป็นคนต่างเมืองที่เมืองโกตา คินาบาลูสักวันสองวันก็ถึงเวลาเดินทางเข้าสู่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติคินาบาลู ซึ่งต้องเดินทางขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองด้วยการนั่งรถโดยสารไปตามถนนและไต่เขาไปเรื่อยๆ อย่างไม่รีบร้อน จนกระทั่งรถมาปล่อยผู้โดยสารที่หอบเป้หลังและถุงนอน พร้อมเสบียงนานาไว้ที่ทางเดินขึ้นอุทยานฯ ที่ห่างออกไปแค่สองสามร้อยเมตร


 



คินาบาลู


 


เมื่อนั้นสิ่งที่เราได้เพียรติดต่อและจองที่พักบนเขาเมื่อหลายเดือนก่อนก็จะปรากฏขึ้นตอนเข้าไปรายงานตัวและจ่ายเงินค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่จะต้องเกิดขึ้นระหว่างการเดินป่าและเดินเขาชมธรรมชาติที่นี่ ที่น่าสังเกตก็คือมีค่าธรรมเนียมการเดินเขาพร้อมค่าประกันหรือ Climbing Fee ที่สูงกว่าส่วนอื่นๆ เมื่อเทียบเป็นอัตราส่วนของค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นที่นี่ รวมทั้งค่าที่พักบนเขา ค่าคนนำทางและลูกหาบ ซึ่งจะอยู่กับเราไปจนตลอดการเดินทางสิ้นสุด ขั้นตอนการติดต่อและจ่ายเงินค่าธรรมเนียมต่างๆ กินเวลาประมาณ 15 นาทีก็ได้เวลาออกเดินทาง


 


รถยนต์จากที่ทำการอุทยานฯ พาเราวิ่งเข้าไปในเขตอุทยานฯ ประมาณสิบนาทีก็ถึงด่านที่เรียกว่า Timpohon Gate ซึ่งเป็นจุดแรกที่นักเดินเขาทุกคนที่จะขึ้นสู่ยอดเขาคินาบาลูอาจจะเคยเดินทางผ่านมาแล้ว เนื่องจากมีระยะทางที่สั้น เพียงหกกิโลเมตรก็จะถึงจุดพักค้างคืนคืนแรกในระดับที่เกือบๆ จะถึงยอดบนสุด


 



ป่าคินาบาลู


 


เพียงแค่ระยะทางหกกิโลเมตรของวันแรกที่เดินในอุทยานแห่งชาติคินาบาลู ผมก็สัมผัสได้ถึงความไม่ธรรมดาของป่าดิบชื้นที่มีชื่อเสียงแห่งนี้ เพราะเส้นทางเดินขึ้นเขาแม้จะอยู่ในระดับความรู้สึกที่เหนื่อยยากไม่น้อย แต่กลับมีพรรณไม้ขึ้นอยู่ในทุกระดับสายตาของเราไม่ว่าจะเป็นไม้พุ่ม พงหญ้า ไม้ดอกเล็กๆ ที่มีรูปทรงและสีสันสดใสหรือต้นไม้ใหญ่ที่พร่างเลือนอยู่ในเงาหมอกโดยมีมอสและไลเคนเกาะคลุมเต็มต้น หากไม่นับว่าการเดินขึ้นสู่ยอดเขาคินาบาลูเป็นเป้าหมายของการเดินทางเส้นนี้ การเดินป่าสายทิมโปฮอนก็มีความรื่นรมย์กลับคืนมาให้เราหลังจากได้สูญเสียเหงื่อและแรงกายไปแล้ว


 


วันที่สองของการเดินทางเริ่มขึ้นตั้งแต่เช้ามืดเพื่อเดินทางขึ้นสู่ยอดเขาในระดับความสูงสี่พันเมตรเศษ อากาศข้างบนเขาหนาวเหน็บ แต่นักท่องเที่ยวคะเนว่าเกือบร้อยที่แยกย้ายกันพักผ่อนตามโรงนอนหรือ hut ต่างๆที่มีอยู่ไม่กี่จุด ต่างก็ทยอยกันส่องไฟฉายเดินไต่ความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อชมความงามและยิ่งใหญ่ของยอดเขาให้ทันก่อนตะวันขึ้นกันอย่างพร้อมเพรียง


 



 



หนึ่งในยอดเขาคินาบาลู


 


ระหว่างที่ค่อยๆ เดินต่อสู้กับแรงโน้มถ่วงของโลกและความหนาวเย็นของอากาศในระดับยอดเขาอยู่นั้น คำว่า "สูงสุดคืนสู่สามัญ" ก็แว่วๆ อยู่ในหัว เนื่องจากในวันเดียวกันกับที่เราได้เดินขึ้นไปชมหินผาและยอดเขาคินาบาลูเสร็จในช่วงเช้าแล้วนั้น ก็จะได้เวลาที่ไกด์และลูกหาบจะเดินประกบเรากลับลงไปพื้นราบในระยะทางที่ไกลกว่าทางเดินขึ้นเพื่อกลับอีกเส้นทางหนึ่ง ซึ่งขึ้นชื่อว่ายากกว่าทางเดินขึ้นที่ทิมโปฮอนแม้แต่ไกด์เองก็ยังออกปากเตือน


 


 


 


ทิมโปฮอน


 


 



ทางเดินขึ้นสายทิมโปฮอน


 


แต่ด้วยความที่มีเป้าหมายแน่นอนอยู่แล้วว่าจะลงไปพักค้างคืนที่ Mesilau Nature Resort ที่ได้ติดต่อเรื่องที่พักไว้ล่วงหน้าแล้วและเห็นว่าเราได้ฟันฝ่าเส้นทางมาหลายรูปแบบแล้ว การเดินกลับทางเมอสิเลา น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจที่จะได้เห็นธรรมชาติของคินาบาลูที่หลากหลายกว่าการขึ้นและลงเขาทางเดียว ที่แม้จะสั้นและเร็วกว่าก็ตาม


 



 



เมอสิเลา


 


สิ่งหนึ่งที่เราไม่ทันได้คิดก็คือป่าดิบชื้นในระดับความสูงที่ต่างกันมากๆ อย่างคินาบาลูนั้น ย่อมก่อเกิดความชื้น เมฆหมอก และฝนที่ตกลงมาได้อย่างน่าอัศจรรย์


 


สิ่งแรกที่เราสัมผัสได้ตลอดการเดินทางแม้ขณะที่ไม่มีเมฆฝนตั้งเค้าก็คือความเย็นชื้นแบบสบายตัวตลอดการเดิน กระทั่งต้องควักเสื้อแขนยาวหรือเสื้อหนาวขึ้นมาใส่ ขณะเดียวกันในระดับความสูงมากๆ สิ่งที่เห็นคือฝอยลมที่เกาะกิ่งก้านของต้นไม้เป็นระย้าย้อย และหมอกขาวที่คลุมเส้นทางโดยไม่ใส่ใจว่าจะเป็นช่วงเวลาใดๆ


 


ในที่สุดตอนบ่ายที่ค่อยๆ เดินกลับมาลงสู่เมอสิเลานั้น ฝนก็ได้ตกลงมาระหว่างทางทำให้บนทางดินและก้อนหินที่ต้องไต่ระดับเดินลงมาเป็นไปได้อย่างยากลำบาก ด้วยความลื่นและชัน แต่นั่นก็เป็นโอกาสที่เราได้ใกล้ชิดกับเม็ดฝนของบอร์เนียวที่มีขนาดใหญ่และเย็นไม่น้อยทีเดียว


 


แม้ฝนจะตกกระหน่ำแต่เรายังคงเดินหน้ากันต่อไปอย่างช้าๆ เพราะไม่มีร่มเงากลางป่าให้พักบ่อยนัก ส่วนมากแล้วแต่ละระยะทางหนึ่งกิโลเมตรก็จะมีศาลาพักจุดหนึ่งแค่นั้น ส่วนเรื่องสภาพอากาศเมื่อเลือกที่จะมาเดินคินาบาลูแล้วเราคงเลือกสภาพอากาศไม่ได้ ความเย็นและความเปียกปอนเป็นเหมือนด่านที่สกัดกั้นไม่ให้การเดินป่าเส้นนี้เป็นเรื่องง่ายดายเกินไป


 


ระหว่างเส้นทางเมอสิเลานี้เองเราได้เห็นพรรณไม้เฉพาะถิ่นของคินาบาลูเช่นต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงขึ้นอยู่เป็นดง ได้เห็นสายน้ำ น้ำตกและสะพานไม้หลายจุดที่พาเราเดินผ่านสายน้ำที่ไหลลงมาจากยอดเขาที่ส่งเสียงดังกระหึ่มสนั่นป่าจนเมื่อแสงสว่างสุดท้ายของวันหายไปจากเส้นทางเดินอีกร่วมชั่วโมงเราจึงค่อยๆ พาร่างกันอ่อนระโหยกลับมาลงมายังที่ทำการหน่วยเมอสิเลา ซึ่งมีการจัดการเหมือนลักษณะรีสอร์ท ตากอากาศกลางหุบเขา


 



ที่พักบนเขา


 


เช้ารุ่งขึ้นอีกวันเมื่อมีแสงตะวันกลับคืนมาเราจึงได้เห็นความเขียวขจีของป่ารายรอบตัวตั้งแต่หน้าห้องพักจนกระทั่งการเงยหน้าขึ้นไปมองรอบๆ ตัว เป็นป่าที่ให้ความเย็นขนาดที่ว่าห้องพักบางห้องของที่นี่จะต้องมีเครื่องทำความร้อนและน้ำอุ่นไว้บริการ


 


ผมไม่แน่ใจว่าภูมิอากาศโดยรวมของอุทยานแห่งชาติคินาบาลูจะเป็นเช่นไร จะมีฝนตกตลอดทั้งปีหรือตกหนักกระหน่ำจนต้องปิดเส้นทางเดินขึ้นยอดเขาเมื่อไร รู้แต่ว่าเมื่อเราเดินเราได้รับพลังงานจากอากาศที่สดและใสมาก ป่าให้ความเย็นที่รู้สึกได้ถึงพลังอันมหาศาลของจุดกำเนิด ซึ่งนั่นก็คือป่าไม้ ที่เรามักจะได้ยินได้ฟังเรื่องผลกระทบจากการลดลงของป่าไม้ หรือเคยได้รับรู้ว่าป่ามีคุณค่าหรือเป็นตัวช่วยสร้างบรรยากาศหรือพิทักษ์ชั้นบรรยากาศเพื่อรักษาโลกไม่ให้ร้อนจนถึงระดับวิกฤติไว้ได้อย่างไร


 


ในบางชั่วขณะที่ใช้ชีวิตช่วงสั้นๆ อยู่ที่นั่นผมคิดว่าผมเองมีความเข้าใจถึงเรื่องประโยชน์ของป่า แต่เป็นความเข้าใจที่ไม่ได้เกิดจากการได้ยินหรือมีคนบอกสอน แต่เป็นเพราะการที่ได้ไป ‘นั่งดู’ มีเวลาหยุดหย่อนตัวลงนั่งลง ณ ที่พักแล้วเหลือบแลขึ้นไปเห็นพลวัตที่ยิ่งใหญ่ของป่าที่ทำงานอย่างใจเย็น ค่อยๆ ผลิตเมฆ ค่อยๆ กลั่นฝน โดยไม่สนใจว่าจะมีใครเดินอยู่เบื้องล่างบ้าง เป็นการทำงานของธรรมชาติที่มีเป้าหมายหนึ่งเดียวคือการสร้างสมดุลและการทำหน้าที่ไปตามวงจรของตนเอง


 


แม้กระทั่งกลับมาแล้วผมก็ยังโหยหาความบริสุทธิ์และความงดงามของป่าที่เราได้มีโอกาสใกล้ชิดและทำให้เห็นได้ว่าถ้าเราไม่วางเฉยจนเกินไป บ้านทุกบ้านของเราเองก็สามารถมีป่าหรือมีลมหายใจของธรรมชาติได้เช่นกันด้วยการปลูกประดับต้นไม้ให้มากขึ้นในทุกๆ พื้นที่ ในทุกๆ โอกาสของชีวิต...เป็นป่าเล็กๆ ในบ้านของเรา


 


เมื่อนั้นความเป็นคินาบาลู อินทนนท์ หรือดอยหลวงเชียงดาว เขาใหญ่ ห้วยขาแข้งก็จะได้ไม่เป็นความงามของป่าที่ทำหน้าที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวอีกต่อไป