Skip to main content

ฟ่อนคำ...การปรากฏตัวของหญิงสาว

คอลัมน์/ชุมชน


สายวันหนึ่งยาวเรื่อยไปตลอดจนจรดอีกเช้าของวันหนึ่ง อาจเป็นได้แค่วันธรรมดาๆ ที่ผ่านไปอย่างเรื่อยเปื่อยไม่มีอะไรน่าจดจำ ถ้าหากว่าเราไม่เสาะแสวงหาหรือพาชีวิตเข้าไปสู่เรื่องราวบางเรื่องราวที่รอคอยการเรียนรู้ ดุจเดียวกับหนทางที่มีอยู่อันไม่รู้จักจบสิ้นของชีวิต


 


สายวันหนึ่งปลายฤดูหนาวของเชียงใหม่ ผมพบว่าตัวเองกำลังอยู่บนรถที่เลี้ยวออกไปจากถนนเลียบคลองชลประทาน อันเคยคับคั่งด้วยการจราจรจากงานมหกรรมพืชสวนโลกขึ้นไปตามถนนเชียงใหม่ – สะเมิง ขณะเส้นทางกำลังค่อยๆ ไต่ขึ้นสู่เนินเขาและมีระยะคดโค้งแต่พองาม ผ่านชุมชนและบ้านเรือนที่เรียงรายอยู่ตามสองฟากถนนไม่นาน เพียงแค่ประมาณเลยหลักกิโลเมตรที่สามก็ถึงจุดหมายของการเดินทางแห่งการเรียนรู้อีกครั้งหนึ่งของชีวิต นั่นคือ หมู่บ้านพักแรมฟ่อนคำหรือ ฟ่อนคำวิลเลจ รีสอร์ท (www.fondcome.com)


 



ฟ่อนคำ


 


แรกทีเดียวเมื่อได้เว็บไซต์ของที่พักแห่งนี้มาเปิดเข้าไปชมเพื่อทำความรู้จักก่อนที่จะได้เดินทางมาเยี่ยมชม ณ สถานที่ตั้งจริงๆ ผมบังเกิดความคิดและความรู้สึกสองสามประการ...


 


ประการแรกก็คือ ณ บรรยากาศแห่งการท่องเที่ยวและที่พักในรูปแบบของเชียงใหม่ตอนนั้น (ปลายปี 2549 – 2550) ซึ่งคึกคักและเนืองแน่นด้วยนักท่องเที่ยวที่สนใจจะเดินทางไปเยี่ยมชมงานมหกรรมพืชสวนโลก ส่งผลให้มีการลงทุนและการเกิดใหม่ของที่พักในเชียงใหม่เกิดขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่มหาศาล การเกิดขึ้นของฟ่อนคำจึงเป็นธรรมดาที่จะถูกตั้งข้อสังเกตว่าเพื่อรองรับกระแสการท่องเที่ยวในช่วงขาขึ้นของเชียงใหม่ แต่จะมีอะไรพิเศษ แตกต่างออกไปจากโรงแรมในระดับหรือรูปแบบเดียวกันได้เพียงใด


 


ประการที่สอง เมื่อดูเว็บไซต์แล้ว ผมไม่เข้าใจวิธีการนำเสนอความเป็นล้านนา ซึ่งเป็นการจัดห้องพักในหมู่บ้านแบ่งออกไปตามกุล่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่จริงๆ ในล้านนาหรือทางเหนือของไทย เช่นบ้านลัวะ  บ้านม้งหรือบ้านอีก้อ หรือเฮือนไทใหญ่ปะปนกันอยู่ในบริเวณของหมู่บ้านพักแรมโดยมีตำนานซึ่งผู้ให้กำเนิดฟ่อนคำเป็นผู้ เขียนขึ้นมา นับว่าเป็นจินตนาการที่มีความเป็นแฟนซีที่ผมไม่เคยสัมผัสมาก่อน ดังนั้นจึงยากที่จะเข้าใจ


 


สำนวนไทยที่ว่า "สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น" ปรากฏกับตัวผมเองเมื่อจอดรถในบริเวณของฟ่อนคำเรียบร้อยและลงไปทำความรู้จักกลุ่มผู้บริหารของฟ่อนคำ ซึ่งส่วนมากเป็นคนกรุงเทพฯ และมีธุรกิจด้านอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานด้านโรงแรมมาก่อนเลย


 


แต่บุคคลผู้อยู่เบื้องหลังความคิดของการให้กำเนิดหมู่บ้านพักแรมฟ่อนคำทั้งการวางเนื้อหาว่าจะผูกโยง สร้างตำนานขึ้นมาอย่างไร หรือจะมีห้องพักในรูปแบบใดบ้างที่แท้จริงกลับเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของคนเมืองหรือชาวเชียงใหม่แต่กำเนิด คือคุณอุรุพร อินทะพันธุ์ ปัจจุบันรั้งตำแหน่งพ่อเลี้ยงประจำหมู่บ้านหรือกรรมการผู้จัดการฯ


 



อุรุพร อินทะพันธุ์


 


หลังจากการทำงานในภาคราชการมานับสิบปีหลังจากเรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก่อนที่จะเริ่มต้นทำฟ่อนคำ คุณอุรุพรตัดสินใจยุติงานประจำที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และธุรกิจเดินรถประจำทางสายเชียงใหม่ – ฮอดเพื่อออกเดินทางไปในที่ที่ไม่ค่อยมีคนไปเที่ยวกัน โดยค้นหาสถานที่ที่สนใจเดินทางไปด้วยตัวเอง เป็นเวลานานถึง 2 ปีที่เขาใช้หมดไปกับการเดินทางไปตามขุนเขา หมู่บ้านชาวเขา การเดินทางตอนเหนือของลาวติดกับชายแดนจีนและการท่องไปตามหมู่บ้านไทใหญ่แถบเมืองเชียงรุ้งของจีนอย่างชาวบ้านธรรมดาๆ คนหนึ่ง ซึ่งบ่อยครั้งไม่ต้องพึ่งระเบียบการของการเดินทางข้ามแดนของประเทศเหล่านั้น


 


การสั่งสมประสบการณ์ด้านงานออกแบบผนวกกับความชอบในการเดินทางด้วยวิถีตนเอง วันหนึ่งเมื่อรุ่นพี่ที่จุฬาลงกรณ์ฯ ซึ่งสนิทสนมกันมาตั้งแต่วัยเรียน มีความสนใจจะจับธุรกิจสักอย่างในเชียงใหม่ โดยมีที่ดินตรงที่เป็นฟ่อนคำในปัจจุบันซึ่งมีพื้นที่เพียง 2.89 ไร่ คุณอุรุพรก็ได้รับการชักชวนให้เข้ามาเป็นผู้ดูแลและออกแบบ ควบคุมการก่อสร้างด้วยตนเองทั้งหมด โดยฟ่อนคำมีห้องพักทั้งสิ้น 50 ห้องแต่ละห้องมีการตกแต่งหลากหลายแตกต่างกันออกไปภายในเรื่องราวของความเป็นหมู่บ้านพักแรมแบบล้านนาที่วางไว้


 


แม้ขนาดพื้นที่ที่มีอยู่จะไม่ใช่โครงการขนาดใหญ่โตเหมือนที่เขาเคยดูแลในสมัยที่ทำงานประจำในงานด้านการวางแผนของมหาวิทยาลัยทั้งที่ธรรมศาสตร์และเชียงใหม่ แต่สิ่งที่อยู่เหนือกว่านั้นคือการบุกเบิกเส้นทางใหม่ๆ ในการทำธุรกิจโรงแรมของตัวเขาและทีมงาน


 


"คนอื่นที่ทำธุรกิจโรงแรมในเชียงใหม่ที่เขามีประสบการณ์ก็เหมือนคนที่วิ่งทางปกติ แต่เราซึ่งไม่เคยทำด้านนี้มาก่อนคงจะต้องใช้ทางลัดหรือบินไปเพื่อให้ถึงจุดหมายเดียวกัน แต่เราจะต้องมีวิธีพิเศษ ซึ่งจะต้องกลับไปที่คำถามตั้งต้นของการทำธุรกิจโรงแรมนั่นคือ การท่องเที่ยวคืออะไรและมองการทำธุรกิจโรงแรมในมุมมองของเราเอง" คุณอุรุพรเริ่มต้นเล่าถึงที่มาของฟ่อนคำ


 


สำหรับเขาแล้ว การไปท่องเที่ยวก็คือการไปแสวงหาความแตกต่าง หาใช่การไปเห็นหรืออยู่กับสิ่งที่วิถีชีวิตปกติมีอยู่ การเดินทางคือการไปสัมผัสกับประสบการณ์แตกต่างจากที่เคยพบเห็นมา ดังนั้นเมื่อแรกเริ่มทำฟ่อนคำจึงเกิดขึ้นจากพื้นฐานความคิดการมองการท่องเที่ยวแบบนี้ โดยเขาบอกว่า "เราจะต้องทำสิ่งที่เชื่อว่าดีที่สุดในทัศนะของเราเพื่อให้คนที่มาได้มาชื่นชม ไม่ใช่ดีที่สุดในทัศนะของนักท่องเที่ยวอื่นๆ"


 


เรื่องเล่าเกี่ยวกับล้านนาที่หยิบออกมาจากประสบการณ์และลิ้นชักของความทรงจำของคุณอุรุพรได้ถูกผูกโยงขึ้นมาเป็นตำนาน รองรับการเกิดขึ้นของห้องพักที่มีการจัดวางทำเลที่ตั้งและการออกแบบห้องพักให้มีความแตกต่างกันภายในพื้นที่ที่จำกัด เป็นเหมือนการรวบรวมประสบการณ์ชีวิตและเรื่องเล่าขานที่ไม่รู้จักสิ้นสุด


 


"ที่นี่เป็นเหมือนการเล่าเรื่องราวทางความคิดที่ผมไปเจอมา ประวัติศาสตร์และความเป็นมาของฟ่อนคำถูกวางไว้เหมือนเป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่ง เราสมมติว่าการเริ่มต้นของฟ่อนคำเกิดขึ้นเมื่อแผ่นดินล้านนาล่มสลายเพราะข้าศึกคือพม่าเข้ามาตีเมือง เจ้ากาวิละก็ได้ชักชวนเพื่อนฝูงไพร่พลเข้ามาอยู่ที่ฟ่อนคำ ซึ่งถือว่าเป็นเมืองหน้าด่านและเป็นจุดที่เฝ้าการใช้น้ำหรือเป็น "แก่ฝาย" เพราะทำเลจริงๆ ของฟ่อนคำติดกับฝายเปา ซึ่งเป็นลำธารที่สองหมู่บ้านใกล้เคียงใช้น้ำอยู่จริงๆ เกิดฟ่อนคำ ซึ่งเป็นหมู่บ้านล้านนาที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน เป็นเหมือนคนในยุคสมัยนี้ ที่มีความภูมิอกภูมิใจในตัวเองและเราเชื่อมั่นว่าเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งเรื่องราวหรือวิธีการออกแบบห้องพักให้แตกต่างตามแต่ลักษณะของกลุ่มบ้านและชนชาติต่างๆ แบบนี้เหมาะกับการท่องเที่ยว เพราะเหมือนกับเวลาเราไปเที่ยวที่ไหนเราก็ต้องได้ความคิดด้วยถึงจะเที่ยวสนุก"คุณอุรุพรเล่า


 


จากมุมมองของผู้ที่ผ่านงานด้านราชการ สถาปนิกนักออกแบบ เมื่อต้องมาจับงานด้านโรงแรมซึ่งเป็นงานที่ใหม่สำหรับเขา ทำให้คุณอุรุพรบางครั้งเหมือนกับเดินไปในความมืด "ผมได้เขียนภาพๆ หนึ่งขึ้นมาที่อยู่บนผนังห้องพักแบบหัวหน้าเผ่า ห้องมลาบราลีหรือกระท่อมผีตองเหลือง เพราะเป็นห้องพักห้องแรกที่ฟ่อนคำได้มีการก่อสร้าง เป็นภาพของคนโง่คนหนึ่งที่ตาบอด ไม่มีตา แต่ต้องการเดินไปหาแสงจันทร์ เขาจึงจะต้องถามทางจากคนอื่นๆ ที่คอยช่วยบอกทางให้เขา ซึ่งผมหมายถึงรุ่นพี่ผมที่ทำธุรกิจนี้มาด้วยกันและชายโง่คนนี้ก็มีกระต่ายช่วยนำทางเขา ดังนั้นที่ฟ่อนคำเราจึงเลี้ยงกระต่ายเอาไว้ด้วยเปรียบเหมือนเป็นสัญลักษณ์ของที่นี่"


 



ภาพเขียนของอุรุพรเล่าตำนานฟ่อนคำ


 


เมื่อได้มาสัมผัสกับอารมณ์ ความคิดและเรื่องราวของฟ่อนคำ ผมแทบจะหลังลืมวันเวลาปัจจุบันของโลกภายนอกไป แต่กลับให้ความสนใจรายละเอียดและแง่มุมของความเป็นล้านนาที่ถูกหยิบยกหรือนำเสนอเอาไว้ในฟ่อนคำได้อย่างมากมายและแยบยลภายในพื้นที่ที่จำกัด แม้กระทั่งการหมุนวนของร่องน้ำที่ไหลอยู่รอบๆ หมู่บ้านที่ให้ความรื่นรมย์แก่ผู้พบเห็น ซึ่งนอกจากจะเป็นการหมุนเวียนน้ำกลับมาใช้ของที่นี่แล้ว ร่องน้ำที่ไหลผ่านประตูทางเข้าออกที่รถทุกคันต้องแล่นผ่านนั้นยังมีนัยยะถึงการชะล้างสิ่งสกปรกหรือสิ่งชั่วร้ายออกไปก่อนที่จะเดินทางเข้ามาที่ฟ่อนคำ รวมทั้งการตกแต่งภูมิทัศน์ภายนอกด้วยการออกแบบสมัยใหม่แต่มองคล้ายตุงหรือตะแหลว ซึ่งเป็นเครื่องรางของล้านนาที่ใช้ปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายและอวยชัยให้พรผู้ที่พักในฟ่อนคำได้ด้วย


 



หน้าห้องพักเฮือนชาวนา


 


 



ห้องหัวหน้าเผ่า กระท่อมผีตองเหลือง


 


คุณอุรุพรยังได้เล่าให้ฟังด้วยว่า การทำธุรกิจโรงแรมของฟ่อนคำใช้หลักเหมือนหมู่บ้านทั่วไปของล้านนาที่จะต้องพึ่งพาอาศัยกัน ลูกบ้านก็ต้องให้ความเคารพนับถือพ่อหลวง ทุกคนในฟ่อนคำจึงต้องช่วยงานกันโดยไม่ยึดติดกับตำแหน่งหน้าที่ ไม่ได้ทำธุรกิจที่คำนึงถึงแต่ความอยู่รอดของธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ทำด้วยความเอื้ออาทรต่อกัน ต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม


 


 "เราทำฟ่อนคำด้วยความคิดที่อยากเป็นส่วนหนึ่งของเชียงใหม่ ขณะเดียวกันก็ต้องการจุดประกายความคิดให้ธุรกิจอื่นๆ ในเชียงใหม่ในแบบที่เราทำอยู่ ซึ่งคำนึงถึงความพอเพียงและผลกำไรในด้านอื่นๆ นอกเหนือจากความสำเร็จหรือการเติบโตของธุรกิจเพียงอย่างเดียว เรื่องราวในฟ่อนคำนั้นผมอยากจะชี้ให้เห็นเรื่องจริงของประวัติศาสตร์ ว่ายังมีแง่มุมเล็กๆ ที่น่าสนใจมากมายแต่เราไม่เคยได้ยินหรือรับรู้มาก่อน คนที่มาพักที่นี่ ไม่ใช่แค่การมาพักค้างคืนแต่จะได้ความคิดไปด้วย"


 



ยามเย็นที่ฟ่อนคำ


 


 "ที่เชียงใหม่เองมีโรงแรมหรือที่พักต่างๆ มากมายเกินพออยู่แล้ว โดยเฉพาะโรงแรมระดับสี่ดาวห้าดาวที่เสนอตัวเองอย่างใหญ่โตหรูหราอลังการ ซึ่งถ้าหากเป็นผู้หญิงก็คงจะเป็นสาวสังคม ร่ำรวย ชอบแต่งตัวหรูหรา ขณะที่ฟ่อนคำถึงแม้จะเป็นโรงแรมเล็กๆ แต่ก็มีความเป็นธรรมชาติ เรียบง่าย เข้าใจตัวเอง เปรียบเหมือนกับหญิงสาวล้านนาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นสาวชาวบ้านธรรมดาๆ แต่มีความสวย จริงใจและมีน้ำใจ" คุณอุรุพรกล่าวถึงสิ่งที่อยู่ในความคิด