Skip to main content

เกาะสมุยกลางสายฝนพรำ

คอลัมน์/ชุมชน

หรือปีนี้ฝนจะมาก่อนกำหนด...



เงยหน้ามองท้องฟ้าก็เห็นแต่ความครึ้มทะมึนของหมู่เมฆฝนที่ไม่เคลื่อนที่ขยับย้ายไปไหน สายฝนหว่านตัวลงมาระลอกแล้วระลอกเล่าราวกับว่านี่คือฤดูกาลของมัน



เรื่องคงจะน่าเบื่อน้อยกว่านี้หรือปล่อยวางได้มากกว่านี้ถ้าหากว่าเรากำลังติดฝนและมองลอดช่องหน้าต่างที่บ้านออกไปสู่ความขมุกขมัวข้างนอก แต่นี่เรากำลังอยู่บน ‘เกาะสมุย’ เกาะที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเมืองพักผ่อนทางทะเลชื่อดังมาเป็นวันที่สองแล้ว...


 


.......................


 


ผมกับเกาะสมุยไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกันมานานหลายปีหรือเกือบจะสิบปีก็เป็นได้



ครั้งล่าสุดที่เดินทางไปที่เกาะสมุยก็เป็นเพียงการแวะทำกิจกรรมรณรงค์ด้วยพาหนะพิเศษสุดที่คนคนหนึ่งจะเดินทางไปถึงเกาะแก่งสักแห่งกลางทะเลได้ นั่นคือบนเรือ ‘เรนโบว์วอริเออร์’ ของกลุ่มอนุรักษ์กรีนพีซ แต่กว่าจะเดินทางจากเกาะภูเก็ตเพื่ออ้อมมาถึงเกาะสมุยก็ต้องเดินทางผ่านช่องแคบมะละกาและเกาะสิงคโปร์นานหลายวัน เป็นการเดินทางบนเรือใบติดเครื่องยนต์ลำเล็กๆ (เมื่อเทียบขนาดกับเรือเดินสมุทรทั่วไป) ที่ให้บทเรียนเรื่องการเมาเรือได้เป็นอย่างดี และกิจกรรมของการเดินทางถึงสมุยในวันนั้นก็คือการไปทำข่าวโรงงานเผาขยะขนาดใหญ่บนเกาะแห่งนี้



หลายปีผ่านไปพอได้กลับไปเยือนสมุยอีกครั้งในโอกาสที่ต่างออกไป กล่าวคือเน้นการพักผ่อนและเยี่ยมๆ มองๆ สอดส่องความสวยงามของทะเล (เมื่อเวลาของการไปเยือนไม่มากพอสำหรับทุกกิจกรรมที่อยากจะทำ) ก็ได้เห็นกับตาถึงความเปลี่ยนไปในด้านที่น่าเป็นห่วงตามประสาคนที่ผ่านทางไปพบเห็นสิ่งที่น่าห่วงในชั่วเวลาใดเวลาหนึ่ง


 


.......................


 


 


สมุยกลางสายฝนพรำ



คำพูดที่ว่า ‘สมุยเปลี่ยนไปจริงๆ ’ น่าจะเป็นคำพูดที่เกาะเกี่ยวกับความคิดเห็นส่วนบุคคลมากที่สุด...


 


สิ่งที่เราพบเห็นการเติบโตของเมือง การขยายตัวของหมู่อาคารคอนกรีต การก่อสร้างโรงแรมที่พัก ร้านอาหารในทุกๆ เหลือบสายตาที่เราแลออกไปรอบๆ ตัวบนเกาะแห่งนี้ และการมาถึงของร้านค้าสะดวกซื้อที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงเหมือนบนฝั่งทั่วไป กระทั่งห้างใหญ่จำพวกซูเปอร์สโตร์ที่กรีฑาทัพกันไปเปิดบนเกาะสมุยเพื่อเรียกลูกค้ากันเกือบจะทุกยี่ห้อ

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ผมมองด้วยสายตาเป็นห่วงและไม่เข้าใจถึงการปล่อยปละละเลยจนทำให้เสน่ห์แบบ ‘บ้านๆ’ ที่สมุยเคยมีและผมเคยพบเห็นเมื่อสิบกว่าปีก่อนขณะที่สัญจรไปบนเบาะมอเตอร์ไซค์เที่ยวรอบเกาะ และเรายังพอแวะอุดหนุนขนมจีนน้ำยา – ข้าวยำตามเพิงค้าของชาวบ้านย่านละไมได้อย่างเอร็ดอร่อยหรือลงจากมอเตอร์ไซค์แวะอุดหนุนขนมจากที่ชาวบ้านปิ้งขายกันที่สองข้างทาง เสน่ห์ง่ายๆ และมีเอกลักษณ์เช่นนี้ได้จางจากไปในขณะที่อาคารพาณิชย์ห้องแถวหน้าตาธรรมดาหรือออกจะสมัยใหม่ได้ขึ้นมาบดบังทิวทัศน์ของท้องทะเลและดงมะพร้าวที่น่าชมไปเสียสิ้น



แต่ความคิดของใครก็ของใคร สิ่งที่หลายๆ คนเป็นห่วง ไม่ชอบ ไม่ชื่นชมคงเป็นสิ่งที่หลายๆ คนบนเกาะสมุยอยากให้มีอยากให้เป็น ภาพที่เห็นเป็นความเจริญอย่างรกเรื้อจึงบังเกิดขึ้น


.......................




ตึกเก่าสวยแถวบางเก่า



ณ ถนนสายหนึ่งเล็กๆ ของบ้านบ่อผุด อันเป็นถนนทางเข้าหมู่บ้านประมงที่แยกออกมาจากถนนสายหลักของเมือง


 



ในวันนี้แม้การเปลี่ยนแปลงของรูปลักษณ์ภายนอกของชุมชนจะเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ไม่ชัดเจนสักเท่าไรเมื่อเทียบกับชุมชนที่ตั้งอยู่ริมทะเลอื่นๆ บนเกาะสมุย ซึ่งมีความแตกต่างในลักษณาการที่มากกว่า รุนแรงกว่าหรือเปลี่ยนโฉมหน้าไปแบบพลิกฝ่ามือ แต่หากมีโอกาสไปเดินบนทางสายแคบๆ ของบ่อผุดและพักที่นี่สักคืนสองคืนก็จะเห็นถึงความจริงข้อสองข้อเหมือนที่ผมได้เคยรับรู้มากแล้ว


 


ข้อที่หนึ่ง...


แม้การเปลี่ยนแปลงภายนอกเราจะเห็นว่าชุมชนเล็กๆ ของบ้านบ่อผุดยังคงมีชาวบ้านและร้านรวงของชาวบ้าน รวมทั้งตึกไม้เก่าๆ ที่ให้อารมณ์ย้อนยุคคงหลงเหลืออยู่ แต่การมาถึงของร้านค้าสะดวกซื้อ กับบูธธนาคารที่หลักๆ มาเปิดเพื่อแลกเปลี่ยนเงินตราให้กับนักท่องเที่ยวโดยพาสีสันอันจัดจ้านตัดกับอาคารไม้เก่าๆ เข้ามาสู่ชุมชน ตลอดจนร้านอาหารนานาชาติ และโรงแรมรีสอร์ทระดับสามดาวขึ้นไปก็แทรกตัวเข้ามาอยู่ในชุมชนในอัตราที่มากขึ้นเรื่อยๆ เราได้รู้มาว่าคนสมุยที่มีห้องแถวหรือที่ดินริมทะเลนิยมให้มีการเช่าช่วงในระยะยาวเป็นสิบๆ ปีขึ้นไป แน่นอนว่าต้องได้ดอกผลก้อนโตจากการตัดสินใจนี้



ข้อต่อมา...


ลำพังแต่บ่อผุดที่เดียว มีร้านอาหาร ร้านขายชากาแฟ โรงแรมและรีสอร์ทที่เป็นของฝรั่งเกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ (ส่วนที่เหลืออาจจะหมายถึงคนต่างชาติชาติอื่นๆ ที่ไม่ใช่ตะวันตก) ร้านอาหารของคนอินเดีย โรงแรมของคนฝรั่งเศสและอังกฤษ ตรงนั้นคือร้านชากาแฟของผู้หญิงเยอรมัน...



ปรากฏการณ์เช่นนี้บอกอะไรแก่เราในยุคที่เปิดกว้างทางการค้าและรัฐบาลไทยนิยมเอาตัวเองไปผูกไว้กับการค้าเสรีหรือ FTA กับประเทศยักษ์ใหญ่ สำหรับผมเองมันเป็นความรู้สึกสูญเสียอธิปไตยในอีกด้านหนึ่ง จริงอยู่ที่คนไทยที่เคยเป็นเจ้าของห้องหรือที่ดินริมทะเลย่อมเห็นแก่ผลประโยชน์ที่จะได้รับและเปิดทางให้ระบบเงินตราได้เข้ามาทำงานอย่างเต็มที่ด้วยคำว่า "เช่าระยะยาว" (สิบปีขึ้นไป) และเกิดการลงทุนเพื่อก่อสร้างร้านรวงและที่พักอันสะดวกสบายจำนวนมหาศาลขึ้นบนเกาะแห่งนี้


 


 



ป้ายคัดค้านห้างใหญ่จากหัวถนน



คงยากที่จะมีผู้หนึ่งผู้ใดหรือข้อห้ามทางกฎหมายบางข้อที่จะกีดกั้นไม่ให้ใครสักคนข้ามน้ำข้ามทะเลมาปลูกสร้างสิ่งอาศัยหรือลงทุนลงแรงทำกินอยู่บนเกาะแห่งใดแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่ออาศัยอัตราแลกเปลี่ยนจากเงินสกุลที่แข็งกว่าเป็นเงินสกุลท้องถิ่นที่มีชาวบ้านกำลังโหยหาอยากจะมีอยากจะได้



สำหรับผมมันคือการสูญเสียอธิปไตยทางความรู้สึกประการหนึ่งเมื่อเราเดินเข้าไปเพื่อเข้าพักในโรงแรมสักแห่งแล้วมีฝรั่งเจ้าของทักทายเราเป็นภาษาต่างด้าวหรือเราเองที่ต้องใช้ภาษาต่างด้าวสอบถามข้อมูลเรื่องราคาที่พักกับบรรดาเจ้าของพลัดถิ่นทั้งหลาย



.......................



ความเจริญและความเปลี่ยนแปลงยังคงเกิดขึ้นและดำเนินไปบนเกาะสมุย เฉกเช่นหรือยิ่งกว่าแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลอื่นๆ ของเมืองไทยหรือของโลก


 


นับแต่ท่าเรือเฟอร์รี่ที่หน้าทอนไปจนถึงย่านหาดเฉวงหรือหาดละไมที่มองดูไม่ได้แตกต่างกันนัก ในความเจริญของร้านรวงที่เบียดกันรอนักท่องเที่ยวอยู่ตามสองฟากถนน ต่างกันก็แต่ว่าหน้าทอนคือความเจริญอันเนื่องมาจากความเป็นตลาดและย่านการค้าเก่าแก่ ซึ่งผู้คนบนเกาะสมุยครั้งหนึ่งเคยเดินทางมาหาความเจริญเอาที่หน้าทอนแห่งนี้ แต่ถึงทุกวันนี้จากปริมาณของร้านค้าและความหนาแน่นของชุมชนที่เกิดขึ้นใหม่ ตลาดอาหารที่กระจายตัวออกไปตามย่านที่พักของคนทำงานที่พบเห็นอยู่เป็นระยะเมื่อเดินทางไปตามถนนสายหลักรอบเกาะ ผมคิดว่าคงยากที่จะแยกแยะว่าจุดไหนคือย่านที่คึกคักหรือเจริญแตกต่างออกไปจากย่านอื่นๆ แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอนก็คือหน้าทอนมิใช่ชุมชนย่านเดิมย่านเดียวที่เคยคึกคักหรือยึดครองความเจริญที่สุดอีกต่อไป


 



บ้านไม้กลางสวนมะพร้าว


เมื่อลองนั่งรถรอบๆ เกาะสมุยซึ่งน่าจะมีระยะทางประมาณ 40 – 50 กิโลเมตรจากการวนเหนือสุดของเกาะลงสู่ด้านใต้สุด ผมพบว่าตัวเองแทบจะจำเกาะสมุยในภาพเดิมๆ เพียงแค่ระยะสิบปีที่ผ่านมาไม่ได้ แม้ในอดีตจะไม่ได้ปักใจชื่นชอบสมุยหรือเห็นว่าสมุยมีความเป็นชุมชนเข้มแข็งจนยากที่ความเปลี่ยนแปลงภายนอกจะทะลักเข้ามาไม่ได้ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่เชื่อว่าพอผ่านยุคฟองสบู่แตกเมื่อปี 2540 และในช่วงเวลาที่ประเทศไทยขายการท่องเที่ยวเป็นสินค้าหลักได้น้อยลง เราจะยังคงพบเห็นภาวะที่นักเดินทางอาศัยเรือบินของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ ซึ่งให้บริการบินตรงสู่เกาะสมุยเพียงเจ้าเดียวกันอย่างเนืองแน่น และเมื่อได้ทัศนารอบเกาะก็เห็นว่ามีการก่อสร้าง การยึดครองพื้นที่ทั้งตามไหล่เขา เลียบหน้าผา กระทั่งป่ายปีนขึ้นไปก่อสร้างอยู่บนภูเขาเลยก็มีมองด้วยสายตาบางจุดผมเองก็คิดว่าเราสามารถบอกตัวเองได้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นการบุกรุก หรือการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือเปล่า



ผมได้ยินมาว่ามูลค่าของการก่อสร้างบนเกาะสมุยนั้นสูงกว่าการก่อสร้างบนฝั่งอย่างน้อยก็สองเท่า แต่จากการที่เห็นปริมาณงานก่อสร้างจำนวนมากที่เป็นอยู่ เราไม่อาจตัดสินได้ว่ากลไกด้านราคาจะสามารถทัดทานอาคารคอนกรีต ห้องชุดและตึกสูงที่กำลังจะทยอยเปิดตัวไม่หยุดหย่อน



ในบางคืนที่ฝนตกแม้จะเป็นฝนที่ต่างฤดูแต่น้ำที่ไหลบ่าออกไปอย่างไร้ทิศทางเพราะการก่อสร้างที่ เกิดขึ้นได้ปิดกั้นทางน้ำจนทำให้เกิดน้ำท่วมทะลักถนน เป็นภาพที่ยากจะปักใจเชื่อว่าเกาะสมุยจะยังคงมีมนต์เสน่ห์เอาไว้ให้ผู้คนจากที่อื่นหรือคนบนเกาะสมุยเองได้อยู่เย็นเป็นสุขไปอีกนานเท่าไร



เมื่อสายฝนนอกฤดูเบาตัวลง เราพลัดหลงขับรถลงไปทางทิศใต้แถวบ้านท้องกรูด ที่ซึ่งนักท่องเที่ยวจำนวนมากยังไม่เข้าถึงหรือหากจะเข้าถึงก็อาจจะเป็นเพราะขับรถหลงทางเสียมากกว่า เราหยุดรถเพื่อที่จะชื่นชมห้องแถวไม้หลายหลังที่ทรุดโทรมแต่ก็ยังคงอยู่ในย่านหัวถนน และเรายังพบที่ว่างระหว่างดงมะพร้าวแบบภาพเก่าๆ ของเกาะสมุย ตัวบ้านของชาวบ้านที่เป็นบ้านไม้อายุหลายสิบปีหรือนับร้อยปีที่ยังไม่ถูกแทนที่ด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยวในแถวบางเก่า แต่ถึงกระนั้นป้ายเชิญชวนให้เข้ามาจับจองที่ดินหรือการประกาศขายบ้านก็ยังติดหราอยู่กลางสวนมะพร้าวหรือหน้าบ้านที่ดูเงียบๆ เหงาๆ ไร้ผู้คน



ในบรรยากาศเช่นนั้น ผมพบว่าเราไม่อาจหยุดการเปลี่ยนแปลงที่โหมมาดั่งพายุได้ แต่เราก็ยังอยากให้ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีช่วงเวลาเหมือนพายุดีเปรสชั่น คือแม้จะกระหน่ำรุนแรงแต่ก็รู้จักหยุดหรือระงับยับยั้งเสียบ้าง มิใช่การมีชีวิตอยู่ในฤดูกาลของความเปลี่ยนแปลงที่โหมกระหน่ำตลอดเวลาเหมือนชีวิตบนเกาะสมุยตอนนี้ ซึ่งเราไม่รู้ว่าจะทานทนหรือทรงตัวต่อไปได้อย่างไร