Skip to main content

บทเพลงแห่งหมู่บ้านพลัม

คอลัมน์/ชุมชน

ระหว่างลมหายใจเข้าและลมหายใจออกของคนเรา มีเรื่องราวอเนกอนันต์รอคอยการค้นพบและความเข้าใจจากคนเราอยู่


………………….


ผมพลันค้นพบและคิดได้เช่นนั้น หลังจากไม่กี่ชั่วโมงของการเอิบอาบอิ่มในธรรมะของพระสงฆ์ที่มีนามว่าท่าน "ติช นัท ฮันห์" (Thich Nhat Hanh) พระมหาเถระนิกายเซ็นชาวเวียดนามแห่งหมู่บ้านพลัมในฝรั่งเศส



ท่านติช นัท ฮันห์ได้ปาฐกถาธรรมในหัวข้อ "ความสุขอันเป็นหนึ่งเดียวในครอบครัวและสังคม" วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม 2550 ณ อาคารลุมพินีสถาน สวนลุมพินี เป็นการเปิดปฐมฤกษ์การจาริกมาเผยแผ่ธรรมในประเทศไทยภายใต้งานที่มีชื่อว่า "สู่ศานติสมานฉันท์" (Toward Peace and Harmony) ซึ่งเป็นบรรยากาศอันร่มเย็นด้วยร่มเงาของธรรมะและกัลยาณมิตรที่เกิดขึ้นในบ่ายธรรมดาๆ วันหนึ่งในกรุงเทพฯ


………………….



ทันทีที่ย่างเท้าก้าวเข้าสู่อาคารลุมพินีสถาน ทุกคนก็ได้รับแจกกระดาษแผ่นหนึ่งซึ่งบรรจุไว้ด้วยเนื้อหาของบทเพลงแห่งหมู่บ้านพลัม เปิดพลิกอ่านดูเล่นๆ ก่อนที่กิจกรรมจะเริ่มในเวลา 14.30 . พบว่ามีทั้งสิ้น 13 เพลงทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ


อ่านดูในเนื้อหาโดยปราศจากความเข้าใจและเป้าหมายของการแจกจ่าย รู้สึกถึงความเรียบง่ายและลึกซึ้งราวกับบทกวีที่ไร้ฉันทลักษณ์…


"... (2) เราเป็นสุขในปัจจุบัน


เราเป็นสุขในปัจจุบัน
เราได้ปล่อยวางความกังวล
ไม่ไปที่ไหน
ไม่มีงานใด
เราจึงไม่ต้องรีบเร่ง
เราเป็นสุขในปัจจุบัน
เราได้ปล่อยวางความกังวล
ต้องไปที่ไหน จะมีงานใด
แต่เราก็ไม่ต้องรีบเร่ง


Happiness is here and now


I have dropped my worries,
Nowhere to go,
Nothing to do,
No longer in a hurry
Happiness is here and now,
I have dropped my worries,
Somewhere to go,
Something to do,
But not in a hurry." (
บทเพลงที่สอง: Happiness is here and now)


………………….


เมื่อกิจกรรมเริ่มขึ้น บทเพลงเพลงแรกแห่งหมู่บ้านพลัมก็ได้ถูกบรรเลงและขับร้อง แม้จะแผ่วเบา แต่ก็แน่วแน่ เปี่ยมด้วยสมาธิและความสงบ เป็นการเปล่งเสียงอันเกิดจากวัตรปฏิบัติอันต่อเนื่องของบรรดาภิกษุและภิกษุณีหรือคณะ "สังฆะ" (กลุ่มปฏิบัติธรรมตามแนวทางของท่านติช นัท ฮันห์) จากหมู่บ้านพลัมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และในระหว่างการขับร้องเพื่อสติครั้งนี้คณะสังฆะได้เคลื่อนไหวมือของท่านเพื่อเป็นการสร้างสมาธิ นับเป็นภาพและบรรยากาศที่ผมไม่เคยพบเห็นหรือเข้าร่วมกิจกรรมเช่นนี้มาก่อน


ภิกษุณีที่นำการขับร้องกล่าวต่อผู้คนจำนวนนับพันทั้งในลุมพินีสถานและบริเวณรอบๆ ว่า ขอให้ทุกคนมีสมาธิและรับรู้ตลอดลมหายใจเข้าและลมหายใจออกของเราเอง พร้อมกับตีระฆังสามครั้งเพื่อให้จังหวะและบอกให้ทุกคนได้รู้ว่าเมื่อคนเรามีสมาธิกับลมหายใจ รู้ตัวตลอดเวลา สติก็ได้เกิดขึ้นแล้วและกระแสของธรรมะ ก็ได้แผ่ออกไปพร้อมกับจังหวะเคาะระฆังสามครั้งนี้


"...(1) ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก

ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
ดั่งดอกไม้บาน
ภูผาใหญ่กว้าง ดั่งสายน้ำฉ่ำเย็น
ดังนภากาศ อันบางเบา


Breathing in,Breathing out
I am blooming as a flower
I am fresh as the dew
I am solid as a mountain
I am firm as the earth
I am free.


Breathing in,Breathing out
I am water reflecting
What is real, what is true
And I feel there is space
Deep inside for me
I am free,I am free,I am free. (
บทเพลงที่หนึ่ง :ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก)


………………….


ไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าท่านติช นัท ฮันห์ เป็นพระสงฆ์ที่ได้รับการยอมรับและรู้จักดีจากผู้ที่สนใจการปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนานอกเหนือจากองค์ดะไลลามะ ซึ่งเป็นภิกษุอีกรูปหนึ่งที่รับการนับถือบูชาจากคนทั่วโลก


ท่านติช นัท ฮันห์ เป็นนักประพันธ์ที่ได้รับการยอมรับและหนังสือของท่านก็ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยแล้วนับสิบๆ เล่มผ่านเวลามาไม่น้อยกว่าสิบยี่สิบปี (ชมผลงานหนังสือของท่านได้ทางเว็บไซต์ http://www.thaiplumvillage.org/plum_books01.html)



หนังสือในชื่อ "เดิน วิถีแห่งสติ" "ทางกลับคือทางเดินต่อ" "ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ" และ"สันติภาพทุกย่างก้าว" เหล่านี้คือหนังสือจำนวนหนึ่งที่ผมได้เคยอ่านมาและหลายเล่มได้ใช้แลกเปลี่ยนพูดคุยกับกัลยาณมิตร ยามที่เราต้องการความสงบแห่งจิตใจและเรียกสติกลับคืนสู่ปัจจุบัน นับเป็นเข็มทิศหรือเสาหลักให้กับชีวิตในท่ามกลางความว้าวุ่นและสับสนของโลกยุคใหม่และทำให้เรารู้สึกว่าธรรมะมิใช่เรื่องอื่นใดหรือไกลตัว หากเรามีสติและรู้ตัวทั่วพร้อม


"...การที่เราจะบังคับบัญชาจิตใจ และทำความคิดให้สงบได้นั้น เราจะต้องเจริญสติที่จิตใจด้วย  ไม่ใช่ที่ลมหายใจอย่างเดียว  นั่นคือ ต้องฝึกมีสติให้รู้พร้อมถึงความรู้สึกต่าง ๆ (เวทนานุปัสสนาและรู้พร้อมถึงความคิดต่าง ๆ (จิตตานุปัสสนา) ด้วย เราต้องรู้วิธีสังเกต และรู้เท่าทันความรู้สึกและความคิดทุก ๆ อย่างที่เกิดขึ้นในจิตใจของเรา ท่านอาจารย์เซน เดื่อง เจียว ซึ่งอยู่ในช่วงสุดท้ายของราชวงศ์ลี เขียนไว้ว่า

"
ถ้าผู้ปฏิบัติธรรมรู้จักจิตใจของตนเองอย่างถ่องแท้  ก็จะเข้าถึงธรรมโดยไม่ต้องใช้ความพยายามมาก  แต่ถ้าไม่รู้จักจิตใจของตนเองเลย  ความพยายามทั้งหมดของเขาก็จะสูญเปล่า"

มีหนทางเดียวเท่านั้นที่เธอจะรู้จักจิตใจของเธอเองได้  นั่นก็คือการสังเกตและรู้เท่าทัน ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับจิตใจ  และต้องฝึกปฏิบัติอยู่ตลอดเวลาทั้งในชีวิตประจำวัน และในเวลาของการฝึกสมาธิ..." (คัดจาก "ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ")


………………….



นานเพียงไรแล้วที่เราห่างไกลจากธรรมะด้วยข้ออ้างและบรรยากาศต่างๆ นานาอันเชื้อเชิญให้เราเพลิดไปกับสิ่งต่างๆ โดยบางคราเราได้หลงลืมตัวตน หลงลืมวันเวลาโดยเฉพาะปัจจุบันขณะที่เราสามารถเรียกสติคืนกลับมาและมีความสุขด้วยจิตใจที่สงบ ไม่ว่าโลกจะเคลื่อนไหวไปด้วยบรรยากาศหรือสภาพการณ์ใดๆ


นับเป็นโอกาสอันดีที่เราได้มานั่งพร้อมเพรียงกันกับสาธุชนคนอื่นๆ นับพันคนภายในลุมพินีสถานกลางเมืองกรุงในบรรยากาศอันแสนรุ่มร้อนของเมืองและโลกภายนอก แต่ภายในห้องกลับสงบร่มเย็นราวกับอยู่ในวิหารแห่งความเมตตา


"ถ้าหากเราสามารถติดตามลมหายใจเข้าออกของเรา หายใจเข้าเรารู้ตัวว่าเราอยู่ที่นี่ มีสติตลอดเวลา หายใจออก เราส่งยิ้มน้อยๆ ให้กับตัวเอง เพื่อเป็นการเชื่อมต่อระหว่างกายกับจิตของเราเอง ให้กายกับใจของเราสามารถที่จะสื่อสารกันได้ คุณสมบัติในการที่จะสื่อสารกันได้นี้ได้สูญหายไปจากยุคสมัยปัจจุบัน ทำให้คนเราเกิดความไม่ไว้วางใจกันและไม่มีความสุขสงบทางจิตใจ แต่ถ้าเราสามารถกระทำผ่านบุคคลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นคู่รักหรือคนในครอบครัว ฝึกที่จะรับฟังและได้ยินสิ่งที่เขาบอกเล่าอยู่ต่อหน้าเราในขณะนั้นก็จะเกิดความสุขสงบขึ้นในสังคมของเรา


การปฏิบัติไปสู่หนทางแห่งสติและการรู้ตัวทั่วพร้อมนั้นเราไม่จำเป็นต้องไปที่โบสถ์ หรือเข้าวัดเพื่อที่จะเจริญสติ แต่ทำที่ไหนก็ได้ ในปัจจุบันที่เรารู้ตัว แค่การกำหนดลมหายใจเข้าออกแบบอาณาปาณสติตามพระสูตรในพุทธศาสนาที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้มอบไว้ให้เรา แม้เวลาจะผ่านไปนาน 2,600 ปีแต่ก็ยังนำมาประยุกต์ใช้ได้ดีและยังใช้ได้จริงในยุคสมัยนี้" ผมเก็บความส่วนหนึ่งของการกล่าวให้สติในการกล่าวปาฐกถาของท่านติช นัท ฮันห์เป็นเวลาเกือบสองชั่วโมง



………………….


ท่านติช นัท ฮันห์เป็นพระชาวเวียดนามที่อพยพไปอยู่ที่ฝรั่งเศสและได้ก่อตั้งหมู่บ้านพลัม อันเป็นชุมชนแห่งพุทธบริษัทสี่ที่เน้นการเจริญสติในชีวิตประจำวันอย่างตระหนักรู้ในแต่ละลมหายใจเข้าออกและกลับมาอยู่กับปัจจุบัน


มีคนไทยหลายคนที่ได้ยินชื่อเสียงของหมู่บ้านพลัมและด้วยความเลื่อมใสในท่านติช นัท ฮันห์จึงได้เดินทางไปฝึกปฏิบัติและเยี่ยมชมหมู่บ้านพลัม พร้อมๆ กับต่อมาได้มีแนวคิดในการก่อตั้งหมู่บ้านพลัมขึ้นในประเทศไทย (หลังจากที่มีการก่อตั้งหมู่บ้านพลัมในที่อื่นๆ อีก 12 แห่งทั่วโลก)โดยกลุ่มสังฆะชาวไทยได้ดำเนินการจัดซื้อที่ดินและวางแผนการพัฒนาหมู่บ้านพลัมในที่ดิน 26 ไร่ของบ้านแก่งปันเต๊า ก.. 61 .เชียงใหม่- ฝาง อ.เชียงดาว จ. เชียงใหม่ แต่ยังขาดปัจจัยสนับสนุนอีกจำนวนมากและกำลังขอรับบริจาคและความช่วยเหลือในรูปแบบการทำงานเพื่อการก่อตั้งหมู่บ้านพลัมในประเทศไทยอยู่ในขณะนี้


อยากให้บทเพลงแห่งหมู่บ้านพลัมบรรเลงในเมืองเรา สนใจร่วมบริจาคได้ที่ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยฯ เพื่อหมู่บ้านพลัม ธนาคารไทยพาณิชย์ บัญชีเลขที่ 043 – 264728-2 บัญชีออมทรัพย์ สาขาถนนเพชรบุรีตัดใหม่ และติดตามรายละเอียดของการก่อตั้งหมู่บ้านพลัมในประเทศไทยทาง www.thaiplumvillage.org และโทร. 086 – 9104050, 089 – 700 - 8720