Skip to main content

รอยร้าวของความเจริญ

คอลัมน์/ชุมชน

เคยสังเกตภาพเขียนของเด็กๆ ไหม ภาพที่ผู้ใหญ่ชื่นชมยกย่องว่าเป็นต้นธารของจินตนาการและความพิสุทธิ์ในมุมมองของเด็กๆ ผู้อ่อนเยาว์ที่มีต่อโลก ชีวิตและสรรพสิ่งรายรอบตัว ภาพเขียนเหล่านั้นเป็นเพียงลายเส้นง่ายๆ ที่เกิดจากการลากและวางเส้นด้วยความไม่ชำนาญเกิดเป็นภาพภูเขา ดวงอาทิตย์ หมู่นกกา สายรุ้งบนฟ้า ภาพทะเลหรือนาข้าว ต้นมะพร้าว หรือบ้านที่เป็นกล่องๆ เรียบง่ายไม่ซับซ้อน

ลองดูตัวอย่างภาพเขียนแบบเด็กๆ ที่ผมพยายามจะถ่ายทอดออกมาว่าน่าจะมีหน้าตาประมาณนี้




.....................................................................



เรื่องที่กำลังจะกล่าวถึงมิได้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้นจากจินตนาการของเด็กๆ หากเพียงเราเชื่อว่า จินตนาการคือพื้นที่อันมีค่าของคนเราซึ่งเริ่มจะมีการปลูกสร้างบ่มเพาะ ขยายพื้นที่แห่งนี้ในวัยเยาว์ สิ่งต่างๆ ที่ปรากฏขึ้นในสังคมในชุมชนหรือเข้ามาเกี่ยวข้อง กลบทับหรือเบียดบัง มีอิทธิพลเหนือพื้นที่ที่สำคัญนี้จะมีผลอย่างไรต่อความเป็นไปของเด็กๆ เรื่องที่ผมกำลังจะกล่าวถึงก็อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่บ้างเหมือนกัน


ถ้าหากมีใครสักคนลงมือกลบทับพื้นที่นับสิบนับร้อยไร่ เปลี่ยนพื้นที่เดิมจากการเป็นสวนมะพร้าว ไร่ข้าวโพดหรือทุ่งนาข้าวชานเมืองให้กลายเป็นพื้นที่ก่อสร้างขนาดมหึมา โครงเหล็กเส้นที่ก่อรูปขึ้นมาเตรียมการก่อสร้าง เทคอนกรีตและวางเสาเข็มเริ่มปรากฏเรื่องราวขึ้นมาแทนรูปร่างที่เรียบง่ายของธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นต้นมะพร้าว หรือต้นข้าวโพดที่ผอมสูงให้ใบสีเขียวเข้มตัดกับดอกอ่อนๆ สีขาวของมัน หรือนาข้าวที่นอกจากจะมีต้นข้าวในนาแล้วก็อาจจะมีหุ่นไล่กายืนอยู่ให้เด็กๆ ได้มองเห็นอย่างซึมซับโดยไม่รู้ตัว...


การก่อสร้างลักษณะนี้กำลังปรากฏและรุกคืบกินพื้นที่เกษตรกรรมหรือเบียดบังชุมชนที่อยู่อาศัยไกลออกไปจากเมืองใหญ่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาที่เราออกไปในชุมชนใหญ่ห่างไกลจากกรุงเทพฯ และตัวจังหวัดใหญ่ๆ การมาถึงของศูนย์การค้าขนาดใหญ่หรือที่เรียกว่า "ห้าง" หรือซูเปอร์สโตร์ที่เป็นตลาดติดแอร์ขนาดใหญ่ได้ขยายตัวเข้าไปในพื้นที่ชุมชนทั่วประเทศในขณะนี้ ไกลออกไปและเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ตามชุมชนแล้วชุมชนเล่า



 


.....................................................................



ที่หยิบยกภาพเขียนแบบเด็กๆ มากล่าวถึงเพราะผมมองเห็นว่ามีบางมุมที่ละม้ายคล้ายคลึงกันระหว่างภาพที่เด็กๆ เขียนขึ้นกับคุณค่าอันบริสุทธิ์ที่คนคนหนึ่งพึงจะมีในความทรงจำและความผูกพันกับบ้านเกิด


เวลาเอ่ยถึงวัยเด็กหรือวัยเยาว์ผมมักจะรู้สึกเกี่ยวประหวัดถึง "บ้านเกิด" ทุกครั้งไป ผมเชื่อว่าแม้แต่คนที่ไม่ผูกพันกับที่บ้านหรือไม่ได้มีบ้านเกิดอยู่ต่างจังหวัดไกลๆ ก็ตาม (คนทุกคนมีบ้านเกิดแม้จะเกิดในกรุงเทพฯ ก็เถอะ) บ้านและอดีตที่เกี่ยวกับบ้านของแต่ละคนย่อมเป็นความทรงจำที่มีค่ายิ่ง


ไม่นานมานี้ผมได้เดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านเกิด ซึ่งเป็นอำเภออำเภอหนึ่งที่อยู่ห่างจากตัวจังหวัดเกือบห้าสิบกิโลเมตรและอยู่ห่างจากเมืองหลวงไม่ต่ำกว่า 600 กิโลเมตรและผมก็ได้พบภาพที่น่าตื่นตะลึงด้วยไม่เชื่อสายตาตัวเองว่าชานเมืองที่อยู่ห่างจากบริเวณชุมชนซึ่งเป็นตัวอำเภอไม่เกินหนึ่งกิโลเมตรกำลังมีการก่อสร้างห้างขนาดใหญ่ชื่อดังซึ่งเป็นห้างจากต่างประเทศยี่ห้อดังแห่งหนึ่ง


ไม่ใช่ว่าไม่เชื่อในศักยภาพและพลังในการซื้อของผู้คนที่บ้านเกิดจะพึงมีแต่ประการใด ผมเพียงแต่ไม่คิดว่าอำเภอเล็กๆ ที่ผมจากมาเพื่อเติบใหญ่ขึ้นนั้น พอเหลียวหลังกลับไปมองอีกทีนั้นจะกำลังพลิกเปลี่ยนโฉมหน้าจากอำเภอที่อยู่ไม่ห่างจากชายแดนและพื้นที่สีชมพูในอดีตเมื่อผมยังเด็กเป็นอำเภอที่กำลังจะอู้ฟู่จากศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่กำลังก่อสร้าง (ซึ่งเพื่อนผมคนหนึ่งมีเพื่อนเป็นวิศวกรก่อสร้างโครงการนี้บอกว่าจะต้องเร่งสร้างให้เสร็จภายในระยะเวลาสี่เดือนครึ่ง) ทั้งๆ ที่บรรยากาศของตลาดเก่าและร้านค้าโชห่วยซึ่งเป็นเพื่อนบ้านผมก็ยังคงเงียบๆ เหงาๆ ค้าขายกันไม่ค่อยจะดีอยู่เหมือนเดิม


ถัดจากอำเภอที่เป็นบ้านเกิดผมออกไปอีกประมาณหกสิบกิโลเมตรซึ่งเป็นที่ตั้งของอำเภอชายแดนขนาดใหญ่ของอีกจังหวัดหนึ่งก็ได้ข่าวมาว่ามีโครงการก่อสร้างห้างเดียวกันนี้อยู่พร้อมๆ กัน


เราคงคุ้นเคยกันดีกับข่าวการคัดค้านของชาวบ้านในหลายชุมชนทั่วประเทศไทยที่ไม่ต้องการให้มีการผุดห้างจำพวกซูเปอร์สโตร์ที่นอกจากจะมาพร้อมกับสินค้าสารพัดสารพัน วิธีการขายที่ลึกล้ำและบริการความสะดวกสบายหลากหลายชนิดและร้านรวงนานาที่พ่วงมาพร้อมกันโดยนำเสนอในราคาต่ำกว่าร้านค้าชาวบ้านในตลาดที่เคยมีอยู่ เพราะผู้ค้ารายย่อยในท้องถิ่นหวั่นเกรงว่าจะเกิดผลกระทบต่อวิถีเดิมๆ และร้านค้าปลีกในชุมชนจะอยู่ไม่ได้


แต่เรากลับพบว่าข่าวของชัยชนะจากการคัดค้านของคนในชุมชนเหนือห้างใหญ่เหล่านี้กลับมีอยู่น้อยมากเมื่อเทียบกับข่าวการฉลองชัยเปิดสาขาใหม่ในทุกๆ วันของห้างเหล่านี้ โดยที่วันหนึ่งห้างเหล่านี้ก็จำแลงตัวขึ้นราวกับสิ่งแปลกปลอมที่เบียดแทรกเข้ามาเบียดบังพื้นที่ของความทรงจำดีๆ ที่เราเคยมีต่อชุมชนบ้านเกิดของเราแต่ละคน


บ้านเมืองทำเหมือนไม่มีขื่อไม่มีแปที่ปล่อยปละละเลยหรือส่งเสริมให้เกิดกระบวนการปลาใหญ่กินปลาน้อยหรือมือใครยาวก็สาวเข้าไปในแต่ละชุมชนลึกขึ้นไปเรื่อยๆ ห่างไกลออกไปเรื่อยๆ โดยไม่มีหนทางหรือกระบวนการที่จะพิทักษ์ปกป้องคนที่มีอาชีพค้าๆ ขายๆ ซึ่งมีรายได้หล่อเลี้ยงชีวิตจากการทำมาหากินในชุมชนในแต่ละวันได้ไม่มากมายอะไรนัก


.....................................................................


ความอิสรเสรีในลายเส้นของเด็กๆ ที่ถ่ายทอดลงบนกระดาษวาดเขียนไปจนถึงฝาผนังบ้านหลังใดก็ตามแต่ได้ผนึกเรื่องราวลงไว้เป็นความทรงจำร่วมกันของครอบครัวเพื่อส่งผ่านเรื่องราวและสิ่งที่ได้ประสบพบเห็นจากชุมชนในวัยเด็กเก็บประทับเป็นเรี่ยวแรงให้นึกฝันและสร้างทำได้ในวัยที่เติบโต


จินตนาการอันเสรีของเด็กๆ คงจะเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่สูญเสียถ้าหากว่าเส้นขอบฟ้าที่ชุมชนบ้านเกิดของเราแต่ละคนต้องเสียไปให้กับอาคารสูงและห้างใหญ่ทันสมัยที่เบียดทับพื้นที่โล่งว่างอันเป็นสิ่งที่มีอยู่ทั่วไปในชุมชนต่างจังหวัด มินับว่าวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงย่อมทำให้เด็กๆ คุ้นชินกับการจับจ่ายสินค้าด้วยการหยิบของลงรถเข็นแล้วนำไปจ่ายเงินผ่านระบบบาร์โค้ดมากกว่าการซื้อขายแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยของร้านค้าเพื่อนบ้าน บรรยากาศที่เป็นธรรมชาติง่ายๆ จากต้นไม้และทุ่งข้าวหรือแปลงพืชผลถูกแปรเปลี่ยนเป็นพื้นที่เพื่อการค้าและอาคารพาณิชย์ไปจนเกือบจะสิ้น


สิ่งต่างๆ เหล่านี้มิใช่การเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปที่แต่ละคนแต่ละชุมชนจะสามารถปรับตัวและตั้งรับได้ทัน แต่หากคือรอยร้าวของความเจริญที่เบียดแทรกเข้าไปกลางชุมชนแล้วชุมชนเล่าของประเทศเรา


ทำไมความเจริญถึงต้องรวดร้าวและรอยก้าวของการเติบโตด้วยการสร้าง ทำและเปลี่ยนแปลงจึงเป็นไปเพื่อทำลาย ตักตวง มากกว่าแบ่งปันและพึ่งพา นี่คงเป็นการค้นหาคำตอบที่ต่อไปเราจะต้องคอยมองหาและตีความในสิ่งที่จะปรากฏบนภาพเขียนใหม่ๆ ของเด็กรุ่นต่อไป