Skip to main content

‘OTOP’ เมืองไทย เยอะ ใหญ่ แต่ ‘ไม่คม’

คอลัมน์/ชุมชน

‘ทองสุข เมืองน้อย’* เป็นใครหรือจะมีตัวตนอยู่ที่ไหน ผมไม่มีทางทราบได้...

ทราบได้เพียงแต่ว่าเสื้อผ้าไหมสีดำอันเกิดจากสีที่ย้อมด้วยลูกมะเกลือจากบ้านห้วยทับทัน ศรีสะเกษที่เธอเป็นคนปักและเย็บมือถูกส่งตรงเข้ามาจำหน่ายในแผงค้าของชุมชนของเธอในกรุงเทพฯ ที่งาน OTOP 2007 Select ณ ชาเลนเจอร์ฮอล เมืองทองธานีช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

เป็นบรรยากาศที่น่าดูชมเมื่อสินค้าทางวัฒนธรรมทั่วเมืองไทยทั้งงานฝีมือ หัตถกรรม อาหารการกินประเดประดังมาปรากฏตัวอยู่ในบรรยากาศฮอลใหญ่โตทันสมัยขนาดมโหฬารที่มีรูปลักษณ์เหมือนตู้แช่มหึมา


ผมไม่ค่อยได้มีโอกาสย่างกรายเข้าไปชมบรรยากาศงานทำนองนี้บ่อยนัก เท่าที่จำความได้ตั้งแต่ได้ยินคำว่าสินค้า OTOP และมีการตีข่าวโหมประโคมเรื่องนี้กันมาในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมา ผมก็เพิ่งจะได้เข้าไปชมงานที่เมืองทองธานีเป็นครั้งที่สอง


นอกจากปริมาณของสินค้าและประเภทอาหารไทยจากทั่วภูมิภาคที่มีให้เลือกชมและอุดหนุนแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกไม่เปลี่ยนเมื่อได้ไปเดินชมงานประเภทนี้ก็คือบรรยากาศของการจับจ่ายสินค้าของคนไทย ซึ่งเห็นได้ว่าเรื่องซื้อข้าวซื้อของของคนไทยนั้นไม่เคยเปลี่ยนเลยจริงๆ ไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจรายรอบตัวจะตะแคงขึ้นลงอย่างไร


นอกจากการแบ่งแผงค้าหรือบูธขนาดมาตรฐานที่เราเคยพบเห็นเวลาที่ไปเดินชมงานประเภทงานแสดงสินค้าออกเป็นภูมิภาคและโซนของสินค้าอุปโภคและสินค้าบริโภคออกจากกัน คะเนว่าด้วยขนาดของตู้แช่หรือฮอลขนาดใหญ่แห่งนี้ได้บรรจุเรื่องราวของสินค้าชุมชนเอาไว้ไม่ต่ำว่าพันๆ แห่งเลยทีเดียว



สินค้า OTOP หรือ "หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์" มีความเป็นมาอย่างไรและจะมีความเป็นไปอย่างไร คงไม่ใช่ประเด็นที่ผมอยากจะนำเสนอ ณ ตรงนี้ เพราะสิ่งที่มีเป็นเพียงข้อสังเกตว่า เมื่อกระทรวงพาณิชย์เป็นตัวแทนของรัฐบาลรับลูกมาจัดงานส่งเสริม (และคัดสรร เพราะชื่องานคือ OTOP 2007 Select) สินค้า OTOP ให้มาปรากฏ ณ กลางเมืองกรุงเพื่อกระตุ้นการซื้อขายในบรรยากาศที่ใหญ่โต แท้จริงแล้วคนที่ได้คือคนที่อยู่ในชุมชน (เพราะคำว่า OTOP มาจากชุมชนหรือตำบล จากคำว่า "สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์") แน่แท้จริงหรือ


คำตอบจริงๆ จะเป็นเช่นไร ผมก็ไม่อาจทราบได้ มีเพียงข้อสังเกตอีกประการหนึ่งว่า งานลักษณะที่ใหญ่ๆ รวบรวมสินค้ามานับพันๆ บูธ จัดขึ้นในฮอลขนาดมโหฬารที่ได้พบเห็นนั้น เป็นการขยายความคำว่า "เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ทำ" ของหน่วยงานรัฐของไทยเสียจริงๆ


ระหว่างเดินดูแผงค้านานาในงานเราอดที่จะเปรยกันขึ้นมาไม่ได้ว่า นี่คือสินค้าตัวแทนของแต่ละชุมชน (ตำบล) ที่ผ่านการคัดสรรมาแล้วหรือ เพราะหลายแผงก็มีสภาพหน้าตาไม่ต่างจากแผงขายสินค้าปกติที่พบเห็นทั่วไป หรือไม่ได้มีเอกลักษณ์หรือความโดดเด่นการันตีได้ว่าเป็นตัวแทนของชุมชนหรือของประเภทสินค้า OTOP ชนิดนั้นๆ ที่น่าจะนำมาให้คนในภาคส่วนอื่นได้ชื่นชมและอุดหนุน



หลายสินค้าโดยเฉพาะประเภทผ้าทอมือ ซึ่งพบเห็นได้มากมายในส่วนของแผงค้าของภาพอีสานและภาคเหนือก็แข่งขันกันขายในราคาต่ำได้ต่ำไป (สนนราคาผืนละหนึ่งร้อยบาท หรือต่ำกว่าหนึ่งร้อยถ้าหากเป็นผ้าขาวม้า) บรรยากาศที่พบเห็นชวนให้สลดใจและนึกถึงการต่อเติมมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า (ถ้าหากนึกอยากจะขายของกันจริงๆ) เป็นไปได้ไหมที่เราจะทำสินค้าประเภทเดียวกันให้ออกมาแตกต่างและมีเอกลักษณ์ พร้อมกับนำเสนอที่ราคาเหมาะสมได้มากขึ้นกว่านี้


คนที่ไปเดินชมงานพร้อมๆ กับผม บอกว่าเมื่อก่อนนี้ เคยมีการนำเอาดีไซเนอร์คนไทยเข้าไปทำงานประกบกับชาวบ้านหลายชุมชน ช่วยคิดช่วยค้นช่วยผลักดันสินค้าให้ออกมามีเอกลักษณ์และสร้างความแตกต่าง แต่ก็ไม่เห็นว่าจะมีความต่อเนื่อง (อันนี้ผมฟังมา ไม่รู้ข้อมูลที่แท้จริงเป็นเช่นไร)


ส่วนตัวผมคิดว่าในช่วงเวลาหลายวันที่มีการจัดงานนี้ขึ้นแล้วชาวบ้านอย่างน้อยตัวแทนจากชุมชนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตำบลหรือหมู่บ้านจากทั่วสารทิศของไทยก็ต้องเดินทางมาเพื่อดูแลบูธหรือเอสินค้าเข้ามาจำหน่าย ระหว่างการเปิดบูธหรือระหว่างวันเวลาที่มีการแสดงสินค้าเป็นไปได้ไหมที่จะมีการจัดแลกเปลี่ยนความรู้ งานฝีมือหรือการเข้าเวิร์กช็อประหว่างกันของชาวบ้าน ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดบรรยากาศที่ดีและมากกว่าการมาซื้อๆ ขายๆ สินค้าแล้ว อย่างน้อยคนที่มาจากต่างจังหวัดเพื่อมาเฝ้าบูธขายของก็จะได้ไม่เบื่อ รวมทั้งอาจจะได้ความรู้และเพื่อนใหม่ๆ กลับไปเล่าให้คนที่ที่บ้านฟังด้วย


มีหลายเรื่องราวและความรู้สึกส่วนตัวของผมที่ไม่เห็นด้วยและไม่ได้ชื่นชอบแนวคิดแรกเริ่มของการทำ OTOP ด้วยการไปหยิบยืมแนวคิดในการพัฒนาสินค้าจากชุมชนที่ประเทศญี่ปุ่นมา เพราะผมเห็นว่าสินค้าชุมชนหรือสินค้าทางวัฒนธรรมที่ปู่ย่าตายายคนไทยช่วยกันคิด สังเคราะห์และสร้างทำให้อยู่คู่กับชุมชนมาเนิ่นนานนั้นมีความศักดิ์สิทธิ์และมีความเฉียบคมในภูมิปัญญาชาวบ้านมากกว่าแค่ความคิดที่จะเปลี่ยนหรือทำหีบห่อใหม่ให้มีราคาและหน้าตาทันสมัยเพื่อให้ขายได้และขายกันมากขึ้น


จริงอยู่ คนเราไม่ว่าอยู่ที่ไหนๆ ในชุมชนหรือตำบลต่างก็ต้องดูแลปากท้องหรือทำมาหากินด้วยกันทั้งนั้น และการขายสินค้า (จากชุมชน) ก็เป็นอาชีพที่สุจริต แต่ว่าคนกลางนี่สิครับ ที่คิดจะเข้าไปผลักดันหรือทำให้เกิดการแข่งขันหรือคัดสรรพวกเขาเพื่อเอาออกมาออกในงานแสดงสินค้าแล้วทำสื่อเพราะกระตุ้นการบริโภค มีความเข้าใจในกระบวนการที่จะเปลี่ยนวัฒนธรรมหรือสมบัติทางปัญญาของแต่ละชุมชนให้เป็นเงินเข้ากระเป๋ามากน้อยแค่ไหน


คิดน่ะคิดได้ แต่เวลาลงมือทำของให้ ‘คมๆ’ กว่านี้สักนิดได้ไหมครับ


* ชื่อที่ปรากฏเป็นชื่อที่ผู้เขียนหยิบยกมาใช้โดยมิได้ขออนุญาตและต้องขออภัยที่ล่วงเกินมา ณ ที่นี้ด้วย