Skip to main content

เพลงรบ เพลงสงครามบนแผ่นดินฟากตะวันตก (2) ฉ่าเกโดะ นักรบศิลปินแห่งห้วยเตอกื่อ

ผมบอกคุณได้อย่างไร วันที่เสียงร้องของคุณตะโกนกู่ก้องออกมา โหยหวนไปถึงลุ่มน้ำอิระวดีหรือไม่ กังวานสะท้านผ่านแม่เมย เย็นเยือกสู่แม่สาละวิน ข้ามแม่ตื่น ล่องแม่ปิงกลางเมืองเชียงใหม่ เจ้าพระยาอยู่อีกไม่ไกล เพลงคุณจะเดินทางไปด้วยวิธีใด …


บทเพลงพลีชีพ บอกเหล่าทายาทนักรบก่อซูเล ลูกหลานเสือดำ ให้ลุกขึ้นสู้เมื่อปกป้องแผ่นดินเกิด
ฉ่าเกโดะ เสียงของคุณดังอยู่ในมุมแคบๆ แต่ท่วงทำนองในเนื้อหาสาระกลับกระชากใจคนหนุ่ม






"ก่อซูเลจะเป็นอิสระ
ฉันต้องเป็นเสือดำที่เสียสละ
ห่างไกลคนที่รัก
เพื่อประเทศ ฉันต้องทน
เจ็บปวดในแนวหน้า ยามแสงจันทร์ส่องมา
ฉันนอนตากน้ำค้าง จิตใจปั่นป่วน
คิดถึงหนทางกอบกู้ชาติที่ฉันรัก
น้ำตาฉันไหลริน
ไม่ใช่อ่อนแอ
ปวดร้าวในพี่น้องอยู่บ้านใหญ่
แต่บางคนยังใส่เสื้อผ้าขาดๆ
บางคน สู้จนตัวตาย …" (เพลงชื่อ สู่สวรรค์)


เพลงภาษากะเหรี่ยง ตะเบ็งเสียงราวสำลักสำรอกออกมาเป็นลิ่มเลือดชิ้นเนื้อ สู่ร่องเสียง ณ ดินแดนการต่อสู้
ฉ่าเกโดะ ผมรู้จักคุณผ่านบทเพลงของคุณ
ผมเคยเห็นทีมงานทำเพลงของคุณ เคลื่อนไหวประหนึ่งนักรบยามค่ำคืน
งานเพลงของคุณชุด ก่อซูเล แผ่นดินเกิด ถึงมือผมในฤดูหนาวหนึ่งกลางเมืองเชียงใหม่ มันหลบเข้ามากลางเมืองในยามวิกาล



ปกเทปถ่ายเอกสาร เห็นใบหน้าคุณมีสีขาวดำ ตัวตลับเทปไม่มีรายละเอียดใดๆ ทุกอย่างดูดำมืด เป็นความลับ ตัวหนังสือภาษาของคุณเล็กเสียจนต้องใช้แว่นส่องขยาย
คุณถ่ายรูปคู่กับรูปถ่าย ซอว์บาอูยี วีรบุรุษนักรบที่คุณศรัทธาเชื่อมั่น วีรบุรุษดุจเทพนิยายของคนบนพรมแดนอีกคนหนึ่ง ไม่สยบยอมอำนาจเผด็จการ ออกกู้ชาติ ตั้งกองกำลัง หาทางออกให้เผ่าพันธุ์ของคุณ


สู้รบ
คุณเขียน "คำประกาศ" ไว้ในแผ่นปกเทป




"หนึ่ง
ก่อซูเล แผ่นดินเกิด พระเจ้าเลือกให้เราต้องต่อสู้
สอง
ฆ่าศัตรูของเรา ไม่ใช่บาปที่นำไปสู่นรก
สาม
การตอบแทนอยู่ที่ปืน และกระสุน
สี่
ทุกข์ยากระกำลำบาก ดีกว่าตกเป็นทาส
ห้า
ชาวกะเหรี่ยง 99 คน แม้ได้เป็นกษัตริย์หนึ่งคน ที่เหลือยังเป็นทาส
หก
เพื่อเผ่าพันธุ์ ถ้าเราตายในสงคราม จะได้ขึ้นแผ่นดินสวรรค์"





ผมสืบเสาะจนรู้ความหมายชื่อของคุณ -- ดาวสวยน้ำนองแห่งขุนห้วยเตอกื่อ
หัวใจห้องซ้ายคุณบรรจุปืนกับกระสุน หัวใจห้องขวาเต็มไปด้วยบทเพลงที่ใส่ทำนอง
ข่าวว่าคุณร้องเพลงไปด้วย สู้รบไปด้วย
สู้รบไปด้วย เขียนเพลงไปด้วย 
สู้กับศัตรูที่ไม่เคยมองเห็นด้วยตาเปล่า ตลอดระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษ