Skip to main content

ถึงเวลาประกาศ...

คอลัมน์/ชุมชน

สองสามวันก่อนผมรวบรวมกระดาษจากหนังสือพิมพ์และนิตยสารเก่า กระดาษใช้แล้ว ลังกระดาษและเศษกระดาษประดามีทั้งหลายที่ไม่เคยทิ้งไปพักใหญ่แล้วเรียกรถซาเล้งที่วิ่งเข้ามาในซอยแถวบ้านทุกเช้าให้มาแวะซื้อ ผลปรากฏว่ากระดาษที่รวบรวมไว้นั้นหนักรวมกันเกือบ 12 กิโลฯ ซึ่งซาเล้งก็ปัดเศษให้เป็น 12 กิโลฯ เพื่อจะจ่ายสตางค์ให้ผมกิโลฯ ละ 5 บาทรวมกันแล้วผมได้เงินจากการขายกระดาษ 60 บาท

นอกจากขายกระดาษแล้วผมยังขายพวกขวดน้ำพลาสติกและพลาสติกอื่นๆ ทุกประเภทรวมกันอีกกิโลฯ หนึ่ง เขาให้ราคากิโลฯ ละ
10 บาท พลาสติกราคาเหมือนจะดีกว่าเศษกระดาษ แต่กว่าจะเก็บได้น้ำหนักหนึ่งกิโลฯ นั้นก็ถุงเบ้อเริ่มเพราะพวกพลาสติกน้ำหนักเบามาก

ไม่ใช่เรื่องปากท้องที่ต้องมาขายของเก่ากิน แต่ตามกาลและวาระ ผมได้แยกกระดาษและพลาสติกหรือขวดแก้ว กระป๋องอะลูมิเนียม ซึ่งเป็นขยะที่เป็นสิ่งที่เหลือจากการใช้หรือไม่ต้องการแต่ยังมีราคาค่างวดอยู่ มีการรับซื้อโดยซาเล้งเอาไว้และเมื่อได้จำนวนหนึ่งก็ขายออกไป ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของการจัดการว่าจะทำอย่างไรไม่ให้การใช้ชีวิตของเราเบียดเบียนหรือเบียดบังเอาจากทรัพยากรธรรมชาติฝ่ายเดียวมากเกินไป

ที่แน่ๆ ไม่ใช่แต่ผมเท่านั้นที่มีการแยกขยะเท่าที่พอทำได้ ขนาดเพื่อนฝูงหรือรุ่นพี่ที่รู้จักหลายคนและหลายครอบครัวก็มีการแยกขยะและปลูกฝังเรื่องนี้ให้กับลูกๆ หลานๆ ของตัวเอง วันก่อนเจอเพื่อนคนหนึ่งซึ่งมีลูกสาวลูกชายกำลังเข้าประถมฯ ต้น เธอเล่าให้ฟังว่าก็พาลูกๆ แยกขยะและเก็บขยะกระดาษขาย พอได้สตางค์ห้าบาทสิบบาทก็ให้ลูกๆ เอาไว้หยอดกระปุกออมสิน ซึ่งเด็กๆ ชอบมากที่มีรายได้ค่าขนมเพิ่มจากตรงนี้ มิเพียงเท่านั้นเธอยังบอกเล่าปัญหาสิ่งแวดล้อมให้ลูกๆ ฟังอีก โดยเฉพาะเรื่อง ‘โลกร้อน’ ซึ่งเป็นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่ผู้คนให้ความสนใจและเอาไปพูดขยายความติดปากมากที่สุด ประมาณว่าหากใครๆ ทำให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมอย่างใดอย่างหนึ่งก็ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อนตามมาได้ทั้งนั้น เหมือนที่เพื่อนเล่าให้ฟังอีกว่าคุยเรื่องผลกระทบจากโลกร้อนที่ทำให้เกิดน้ำท่วมให้ลูกๆ ฟัง จนเวลาฝนตกและเกิดน้ำท่วมขัง เด็กๆ เลยร้องเรียก แม่ๆ ดูสิน้ำท่วมเพราะโลกร้อนแล้วนี่!


ต้องยอมรับว่านอกจากปัญหาขยะและการทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง ซึ่งนอกจากจะทำให้บ้านเมืองสกปรก รกหูรกตา และขยะที่ไม่ย่อยสลายทั้งหลายยังไปอุดตันตามท่อน้ำทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมเมืองติดตามมาได้ง่ายๆ เมื่อหลายสิบปีก่อน ทำให้เกิดบรรยากาศของการตื่นตัวในปัญหาสิ่วแวดล้อมในเมืองใหญ่ของผู้คน (หากนึกไม่ออกขอให้นึกถึงสโลแกนของ ‘ตาวิเศษ’ ที่ว่า "อ๊ะ อา อย่าทิ้งขยะ ตาวิเศษเห็นนะ") แล้วก็ทำให้เกิดขบวนการรณรงค์ปัญหาสิ่งแวดล้อมของไทยขึ้นมาพักใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บขยะตามพื้นที่สาธารณะ รณรงค์เรื่องน้ำเสียในคูคลองต่างๆ


สิ่งที่เห็นได้ชัดประการหนึ่งของความพยายามในการที่จะรณรงค์ก็คือ การส่งเสริมให้ใช้ถุงผ้าและลดการใช้ถุงพลาสติกที่ไม่ย่อยสลาย และตอนนั้นเองที่สังคมไทยก็ได้รู้จักกับคำว่า "4 R – Reduce Refuce Reuse Recycle" พร้อมๆ กับคำว่า "รีไซเคิล" ก็กลายเป็นคำที่เราคุ้นหูมากที่สุดและคงอยู่ในบทสนทนาที่ว่าด้วยการลดวิถีการบริโภคนิยมลง


ต้องขอบคุณกระแส "โลกร้อน" ในตอนนี้ที่หวนกลับมาทำให้คนเราคิดถึงการลดถุงพลาสติก การนำกลับมาใช้ซ้ำใหม่ การปลูกต้นไม้หรือการลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าลง เพราะไม่ว่าอะไรก็ตามที่คนเราใช้มากบริโภคมากก็ย่อมมีผลต่อบรรยากาศของโลกในลักษณะลูกโซ่ด้วยกันทั้งนั้น


ทุกวันนี้ในสื่อไม่ว่าจะเป็นหน้าหนังสือพิมพ์ ตามคอลัมน์ในนิตยสารหรือรายการวิทยุ โทรทัศน์นั้นเรียกว่าถ้าหากใครไม่ได้เอ่ยหรือดึงประเด็นเรื่องโลกร้อนมาพาดพิงหรือนำเสนอ ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นสื่อที่ไม่ ‘อินเทรนด์’ เลยก็ว่าได้


ผมมีตัวอย่างสองตัวอย่างที่ว่า ยุคนี้เป็นยุคที่ใครๆ ไม่สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ได้แล้ว แม้ว่าปัญหานั้นๆ (เช่นกรณีนี้คือปัญหาโลกร้อน) จะเป็นปัญหาที่มีความยุ่งยากและซับซ้อนมากก็ตาม แต่หากเราดึงให้ปัญหาลงมาอยู่ในระดับที่ชาวบ้านร้านตลาดได้รับรู้ ได้ยินกันมากๆ ก็อาจจะมีผลถึงขั้นเปลี่ยนพฤติกรรมที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาเลยก็ว่าได้


ยกตัวอย่างเรื่องการลดการใช้ถุงพลาสติก เพราะทุกวันนี้จำนวนถุงพลาสติกที่ถูกนำไปใช้อย่างไม่คุ้มค่า ไม่ย่อยสลายและตกค้างในสิ่งแวดล้อมนั้นถือได้ว่ามีจำนวนล้นเกินจะเยียวยาจริงๆ เมื่อมีการพูดถึงเรื่องการหลีกเลี่ยงถุงพลาสติกกันในยุคนี้ก็เป็นธรรมดาที่ต้องมีการนำไปเชื่อมกับปัญหาลดภาวะโลกร้อน



กระเป๋าผ้าฝ้ายสีตุ่นๆ ของฮาบิแทต เจ้าของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ดังก็ขอเข้ามามีเอี่ยวในการรณรงค์ด้วย บ่อยครั้งเราจึงได้เห็นคนสะพายกระเป๋ารูปทรงง่ายๆ ที่มีข้อความตัวหนังสือเหล่านี้เด่นชัด...


How Green are You?
Reduce Reuse Recycle
Stop Global Warming
………………………



ไม่เพียงเท่านี้ถ้าหากใครที่ติดตามด้านแฟชั่นหน่อยจะเห็นว่ากระเป๋าผ้าท่าทางแข็งแรงที่ประกาศกร้าวชัดๆ ว่า I'm Not A Plastic Bag โดย Anya Hindmarch ก็กำลังเป็นที่นิยมในฮอลลีวู้ดและที่ลอนดอน และได้ส่งกระแสลดปัญหาโลกร้อน เป็นกระแสนิยมที่ลุกลามมาถึงเอเชียแล้ว ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น อินโดนีเซียและล่าสุดผมเห็นกระเปาที่ว่านี้วางขายอยู่ในสวนจตุจักรหรือที่เซ็นทรัลลาดพร้าวก็เห็นมีคนไทยหิ้วกันแล้วด้วย


ถึงยุคนี้แล้วผมว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ของโลกย่อมไม่เข้าใครออกใคร เรื่องที่ว่าไกลตัวหรือธุระไม่ใช่อีกต่อไป ไม่ว่าจะจริงใจหรือตามกระแสหากช่วยกันได้คนละไม่ละมือ แม้สักเล็กน้อยก็น่าจะช่วยให้ทุกอย่างทุเลาหรือไม่เร่งไปสู่จุดสุดท้ายที่อาจจะเป็นปัญหาเกินทนทานได้


ส่วนที่ว่าใครจะ "กรีน" ได้แค่ไหนหรือเป็นชาวกรีนแล้วต้องบอกออกไปด้วยข้อความบนกระเปาหรือเสื้อยืดหรือเปล่าก็คงเป็นเรื่องที่แล้วแต่จะศรัทธา


สำหรับผมคงนิ่งกับคำตอบของตัวเองเหมือนรู้แก่ใจ และใช้เวลาเก็บกระดาษเก็บขวดที่แยกไว้ขายอยู่ต่อไป


…………………………………..


ไหนๆ ก็เป็นยุคที่คนรักสิ่งแวดล้อมต้องประกาศตัวกันแล้ว หากอยากจะรู้ว่าฝรั่งเขา ‘Go Green’หรือจะช่วยโลกลดปัญหาสิ่งแวดล้อมกันอย่างไร เข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่ www.treehugger.com/gogreen.php