Skip to main content

เที่ยวผ่านบันทึกกับ "ครูกุ้ง"- ธัญลักษณ์ สุนทรมัฏฐ์

คอลัมน์/ชุมชน

อุปกรณ์บันทึกความสุขของคนเราแต่ละคนแตกต่างกัน เช่นเดียวกับความรู้สึกที่เราแต่ละคนมีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็มากน้อยไม่เหมือนกัน บางคนชอบดอกไม้ รสชาติของอาหารหรือรอยยิ้มของผู้คน ก่อให้เกิดความสุขและความทรงจำที่ประทับรอยเอาไว้โดยเฉพาะหลังเวลาที่ได้ออกเดินทาง


บางคนเลือกใช้กล้องถ่ายรูปและอัลบั้มภาพเพื่อที่จะเก็บช่วงเวลาที่น่าประทับใจ แต่การเก็บเกี่ยวความสุขและหนทางที่จะแสดงออกซึ่งความสุข ความงดงาม และความทรงจำของคนเรา – ในบางครั้งผลของมัน มากกว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ผ่านไปและหลงลืม


เพื่อที่จะเก็บเกี่ยวสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตและย้อนดูความสุขได้ทุกวัน ตัวหนังสือที่ปรากฏบนบันทึกหลากเล่ม ภาพถ่ายหลายขนาดที่ถูกตัดแต่งประดับประดาลงไว้ในอัลบั้มภาพ ภาพแบบสเกตช์ง่ายๆ แต่น่ามองที่เขียนขึ้นจากสิ่งที่ประทับใจจากการเดินทางของ ธัญลักษณ์ สุนทรมัฏฐ์  หรือ "ครูกุ้ง" ครูสอนศิลปะแห่งโรงเรียน ‘รุ่งอรุณ’ และนักวาดภาพประกอบหนังสือคู่มือศึกษาธรรมชาติหลายเล่ม กำลังสื่อความหมายกับทุกคนที่มีโอกาสได้จับต้องว่า คนเราจะเดินผ่านวันเวลาไปอย่างมีความหมายได้อย่างไร และน่าแปลกที่คนเรามีวันเวลาในชีวิตเท่าๆ กันแต่ทำไมคนบางคนถึงบันทึกความสุขได้ทุกวัน



ไปค้นพบได้อย่างไรว่าตัวเองชอบการดูนก เขียนบันทึกและอยู่กับธรรมชาติ?


หลังจากที่เรียนจบภาควิชาศิลปะไทย จากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาก็ทำงานไปเรื่อยๆ ทำตั้งแต่เป็นเสมียนในเหมืองแร่ไปอยู่ที่บันนังสตาร์ ยะลาปีหนึ่งแล้วก็กลับมาเป็นดีไซเนอร์ที่บี เฮาส์ ทำงานออกแบบลายผ้า และผลิตภัณฑ์ส่งไปขายที่ญี่ปุ่น แล้วก็ไปปั้นเซรามิกเป็นผักผลไม้เล็กๆ เป็นแมคเน็ตส่งออก ทำงานแต่ละอย่างไม่นาน อย่างละสามสี่เดือน รู้สึกไม่สนุกก็จะเปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็มีรุ่นพี่ที่เชียงใหม่ชวนไปเขียนจิตรกรรมฝาผนังด้วยกัน จนกระทั่งได้ไปทำอยู่ในโบสถ์แถวอุทัยธานีอยู่ปีหนึ่ง พอไปอยู่อุทัยฯ ก็คิดว่าเดี๋ยวก็ต้องย้ายงานไปอีก เราน่าจะไปเที่ยวก่อนก็เลยคิดว่าน่าจะไปเที่ยวห้วยขาแข้งสักครั้งหนึ่ง พอเข้าไปที่ห้วยขาแข้ง ก็คิดว่าถ้าเรามีโอกาสไปทำเป็นอาสาสมัครให้ที่ห้วยขาแข้งก็เหมือนกับได้เที่ยวด้วย เราก็เลยไปเป็นอาสาสมัคร ก็แล้วแต่เขาจะให้ช่วยงานอะไรที่เราถนัด พวกงานวาดๆ ทำโปสเตอร์ ทำป้ายต่างๆ มีอะไรให้ช่วยเราก็ช่วย


จากจุดนั้นเลยทำให้ได้ฝึกฝนตัวเองเรื่องเกี่ยวกับความสนใจในธรรมชาติ?    


พออยู่ไปก็มีการฝึกดูนก ซึ่งก็ไปฝึกจนดูเป็นที่นั่น พออยู่ในพื้นที่ก็โชคดีที่เห็นนกเยอะ พี่ที่เป็นเจ้าหน้าที่ก็ให้ยืมคู่มือดูนก ให้ยืมกล้องส่องนก สอนวิธีใช้ให้ ก็ใช้ของเขาไปเรื่อยๆ พอมีเด็กมาเข้าค่ายเราก็ไปสอนเด็ก สอนศิลปะ วาดรูป สอนดูนก พาเด็กเดินศึกษาธรรมชาติ ไปเดินเส้นทางเขาหินแดง แล้วก็ได้ช่วยทำคู่มือธรรมชาติศึกษาป่าห้วยขาแข้ง เส้นทางเขาหินแดง เพราะตอนหลังคนมาเที่ยวห้วยขาแข้งเยอะจนทั้งวันก็นำเดินกันไม่ไหว ก็คิดว่าถ้ามีคู่มือเขาสามารถเปิดคู่มือแล้วก็ไปเดินที่จุดนี้เพื่อหยุดอ่านข้อมูลได้เอง ในบางช่วงที่เจ้าหน้าที่ไม่มีเวลาพาไปเดิน


หนังสือคู่มือธรรมชาติศึกษาป่าห้วยขาแข้ง ก็เลยทำเป็นเล่มโดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเป็นฝ่ายสนับสนุนการพิมพ์และจัดทำ โดยเราเป็นคนวาดรูปคนเดียว มีเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ เป็นคนเขียนเนื้อหา แล้วก็จะมีเจ้าหน้าที่เขาพาไปเดินสำรวจด้วย แต่เราก็เดินเส้นทางนี้บ่อย เพราะฉะนั้นพอเราก็ไปสำรวจกับเขา ช่วยบอกเขาว่าจุดนี้มีอะไรน่าสนใจตั้งแต่เดินสำรวจกันครั้งแรกๆ จากนั้นก็มาคัดกันว่าน่าจะมีสักกี่จุดดีสำหรับที่จะทำลงในหนังสือ


เป็นอาสาสมัครที่นั่นอยู่สี่ ตั้งแต่ปี  2537 – 2540  ก็ไปช่วยงานพี่ๆ เขา แต่เดิมไม่คิดว่าจะอยู่นานขนาดไหนแล้วแต่ว่ามีงานอะไรให้ช่วย อีกอย่างเราก็พอมีอยู่มีกินบ้างจากการทำของที่ระลึกพวกเสื้อยืดเพ้นท์ ซึ่งตอนแรกกะว่าจะทำให้พี่ๆ เจ้าหน้าที่เป็นที่ระลึก แต่พอคนที่มาเที่ยวห้วยขาแข้งเห็นก็อยากได้เสื้อของเราเป็นที่ระลึกเขาก็มาสั่งกันไว้แล้วก็ส่งไปให้ทางไปรษณีย์ เขาก็จะส่งสตางค์มาให้ ก็เลยเป็นรายได้พอมีนิดๆ หน่อยๆ  ไว้สำหรับใช้จ่ายส่วนตัว ซึ่งจริงๆ แล้วก็อยู่ในนั้นก็ไม่ต้องใช้จ่ายอะไร ก็เลยได้เก็บเงินซื้อคู่มือดูนก และกล้องส่องทางไกลเป็นของตัวเอง          


ทำไมถึงได้อยู่ที่ห้วยขาแข้งนานถึงสี่ปี?


มันมีความสุขแล้วก็อยากเที่ยวด้วย เพราะที่ห้วยขาแข้งพื้นที่ใหญ่มากแล้วก็มีหน่วยพิทักษ์ป่าต่างๆ ตั้งสิบปีกว่าหน่วย ซึ่งไหนๆ เราก็อยู่ที่นี่ทั้งทีก็น่าจะได้ไปให้ทั่วๆ ทุกหน่วย ได้ไปเยี่ยม ไปดูว่าแต่ละที่เป็นยังไง เขาแล้วพอดูนกเป็นมันก็ยิ่งสนุกใหญ่ ไปหน่วยนี้ได้เจอหัวขวานใหญ่สีเทาแบบง่ายๆ ตื่นเช้ามาก็มาปลุกเราเลย ยิ่งทำให้เราก็อยากไปเยอะๆ พออยากไปก็ต้องรอให้มีงานที่จะได้ไปช่วยที่หน่วยนั้นเสียก่อนเราถึงจะได้ไปเที่ยว ก็ไปช่วยทำโมเดลหรือไปช่วยทาสีศาลา เราก็จะรีบทำงานให้เสร็จแล้วจึงจะได้ของขวัญหรือเป็นรางวัลเป็นการไปเดินเที่ยว  


พอมองย้อนกลับไปรู้สึกว่าได้อะไรจากช่วงเวลาที่อยู่ในนั้น?


เหมือนได้กลับไปเรียนอีกครั้ง มันมีเรื่องให้เราได้เรียนเยอะมาก โดยที่แบบไม่ต้องเข้าห้องเรียนแล้วเราไม่เคยรู้สึกเบื่อ พออยู่ไปๆ มันก็เหมือนกับไม่หมดสักที มีโน่นมีนี่ที่เรายังไม่รู้เยอะ อย่างนกก็เปลี่ยนในแต่ละปีไม่ซ้ำกัน พอช่วงหน้าร้อนแบบหนึ่ง พอเริ่มเข้าหน้าหนาวก็มีนกแปลกๆ มา หน้าฝนก็อีกอย่างหนึ่ง มีต้นไม้ ดอกไม้แปลกๆ ใหม่ๆ บางทีหน้าร้อนเราก็จะเจอดอกไม้เยอะมาก แล้วก็จะได้กลิ่นหอมดอกไม้ในป่า ซึ่งเราชอบแล้วก็ทำให้ได้หัดวาดรูปจากสิ่งต่างๆ ที่เจอเก็บไว้


ตอนอยู่ที่ห้วยขาแข้งก็เขียนบันทึกแล้วหรือเปล่า?


ใช่ ทั้งเขียนทั้งวาดบันทึกตามประสาเรา วาดต้นไม้ ดูนก เดิมเขียนก่อน บันทึกเป็นตัวหนังสือ แล้วก็วาดจากรูปถ่ายจากหนังสือ แต่ก็มีพี่เจ้าหน้าที่บอกว่าทำไมไม่วาดจากของจริงไปเลย ลองดูสิ  ซึ่งตอนแรกเรากลัว อย่างวาดนกก็กลัวว่านกจะบินหนี แล้วเราคงไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี พอพี่เขาบอกน่าลองนะ ก็เลยลองวาดจากของจริงก็ยิ่งทำให้สนุกมาก อย่างนกมันบินก็บินไปเราไม่กลัวแล้ว บางทีนั่งวาดอยู่ได้เป็นครึ่งวันแล้วก็เหมือนกับเราได้เรียนรู้ธรรมชาติของนกไปในตัว คือนกตัวนี้พอมันบินปุ้บ เดี๋ยวมันก็บินกลับมาอีก เรารู้นิสัยมันว่ามันไปไม่นานแล้วก็ได้แมลงกลับมากินตัวหนึ่ง เราก็รู้พฤติกรรมนกมากขึ้นๆ ว่าก่อนที่จะกินมันจะต้องใช้ปากจับแมลงเคาะกับกิ่งไม้ให้แมลงตายหรือว่าฉีกส่วนไหนออกก่อน การวาดภาพนกจริงๆ ทำให้ได้ความละเอียดมากขึ้นแล้วเราก็ เหมือนจะรู้จักอดทนโดยอัตโนมัติ ในการอดทนนั่งดูนกคู่นี้หรือตัวนี้อยู่ได้ครึ่งวันแล้วก็วาดๆ รู้สึกสนุกกับทุกเรื่อง วาดได้ทุกอย่างเลยคราวนี้



ก่อนที่จะไปอยู่ห้วยขาแข้งมีความสนใจในเรื่องธรรมชาติในตัวอยู่แล้วหรือเปล่า?


ไม่มี ไปเจอตอนนั้นเอง เหมือนกันไปชอบที่นั่น เพราะมันสนุก เดินบนพื้นก้มหน้าก้นตาเห็นเป็นรอยตีนอะไรก็ไม่รู้แปลกๆ  เราก็วาดหรือวัดมา กลับมาถามพี่เจ้าหน้าที่ เพราะเราไม่กล้องถ่ายรูป ก็มีเรื่องใหม่ให้เราได้เรียนได้ค้น ได้ทำไปเรื่อยๆ


จากการเป็นอาสาสมัครตรงนั้นแล้วมาเป็นครูที่โรงเรียนรุ่งอรุณได้อย่างไร?


จากที่อยู่ห้วยขาแข้งมาก็ได้รู้จัก อาจารย์รตยา จันทรเทียร ซึ่งตอนนั้นท่านเป็นประธานมูลนิธิ และเราก็สนิทกับน้องๆ ที่ทำงานมูลนิธิสืบฯ ที่ไปห้วยขาแข้งกันบ่อยๆ เหมือนก็ทำงานด้วยกัน ถ้าเขามีอะไรให้ช่วยเราก็ช่วย เราชอบวาดรูป เราก็อาสาช่วยเขา แล้วพออยู่ไปช่วงหนึ่ง แฟนซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในห้วยขาแข้งเขาต้องย้ายมาช่วยราชการที่กรุงเทพฯ แต่เรายังไม่อยากออกมาจากห้วยขาแข้ง ใครอยากไปไหนก็ไปทำเถอะ แต่เราจะขอช่วยงานอยู่ในนั้นเหมือนเดิม แต่เขาก็เป็นห่วง ก็เลยไปช่วยที่มูลนิธิสืบฯ เป็นงานเล็กๆ น้อยๆ พวกช่วยตัดข่าว ช่วยอะไรไป ตอนหลังก็รู้จักกับ WWF ตอนนั้นทีม WWF เขาอยากได้คนวาดรูปทำสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับการสื่อความหมายธรรมชาติ เราได้คุยกันเรื่อยๆ อยู่แล้ว เขาก็อยากให้มาช่วยกันเป็นโครงการอยู่ที่อำเภอบ้านไร่ อุทัยธานี เราก็เลยต้องกลับไปอยู่อุทัยฯ อีก ทำอยู่ปีหนึ่ง ตอนนั้นต้องทำจัดอบรมโครงการสิ่งแวดล้อมศึกษาห้วยแม่ดี จัดอบรมให้กับครูที่อยู่รอบป่า มีเด็กนักเรียนมาเข้าค่ายบ้าง มีสัมมนาบ้างก็ทำปีหนึ่ง แล้วก็ไม่ได้ต่อสัญญา เพราะ รู้สึกว่าไม่สนุก เทียบกับสี่ปีที่อยู่ในป่าเองไม่ได้ก็เลยไม่ไปต่อสัญญา


แล้วก็พอจากงานของ WWF ก็มาอยู่ที่มูลนิธิสืบฯ เหมือนเดิม จนกระทั่งอาจารย์รตยาคุยถึงเรื่องโรงเรียนรุ่งอรุณว่าเขาต้องการคนที่ทำงานเหมือนกับสื่อความหมายธรรมชาติ ดูนก หรือสร้างแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ ความรักเล็กๆ น้อยๆ แล้วก็อาจจะช่วยทำสื่อด้วย เพราะว่าตอนนั้นสิบปีที่แล้วโรงเรียนเองก็เพิ่งตั้งมาใหม่ๆ และที่โรงเรียนก็มีต้นไม้เยอะ เราก็สนใจเลยเข้าไปดูโรงเรียนก่อน


พอได้ไปดูโรงเรียนจริงๆ แล้วรู้สึกอย่างไร?


พอมาดูแล้วชอบเลย คิดว่าอยากทำ รู้สึกว่าที่นี่ร่มรื่นแล้วเด็กก็น่าจะได้เรียนอย่างมีความสุขดี วิธีการเรียนของเด็กด้วย เราได้เห็นเด็กๆ เดินในโรงเรียน รู้จักครู สิ่งแวดล้อมก็ดีคนก็น่าจะอัธยาศัยดีด้วย เหมือนกับตอนนั้นก็กำลังผิดหวังมาจากที่ทำงานเก่าที่แม้จะทำเรื่องสิ่งแวดล้อมสัตว์ป่าแต่เราก็ไม่เห็นจะสนุกเลย พอมาที่รุ่งอรุณเขาให้เขียนใบสมัครก็อยากทำเลย จึงไม่ได้กรอกในช่องว่าต้องการเงินเดือนเท่าไร แล้วแต่จะพิจารณา เท่าไรก็ไม่เกี่ยง เพราะเราอยากทำ ตอนนั้นถ้าเขาให้เป็นอาสาสมัครก็ไม่เห็นจะเป็นไร ในใจคิดว่ามาเป็นอาสาสมัครที่นี่ก็อยู่ได้ เพราะว่าเราก็เคยเป็นอาสาสมัครมาก็อยู่ได้ จากตอนนั้นก็เข้ามาทำงานเจ็ดย่างแปดปีแล้ว


ตอนแรกงานที่ทำไม่ได้เป็นครูสอนศิลปะ?


ทำสื่อให้ทางโรงเรียนก่อน ตอนนั้นมีโครงการตำรา ที่โรงเรียนยังไม่มีหนังสือเรียนก็มาช่วยทำภาพประกอบบ้างแล้วก็ทำเรื่องที่ตัวเองถนัดและอยากจะทำก็คือชมรมดูนก อยากจะให้เด็กดูนกเป็นเหมือนเรา ถ้าดูเป็นแล้วเหมือนกับสิ่งที่ได้จากการดูนกมันมากกว่าการที่ดูนก รู้จักนกชนิดนั้นชนิดนี้ ก็รู้สึกว่าถ้าเด็กดูนกเขาจะค่อยๆ สิ่งนี้ได้เอง เราจะมาบอกว่าดูนกแล้วได้อะไร มันพูดออกมาเฉย ๆ ไม่ได้ นอกจากต้องทำต้องพาดู แล้วเขาจะรู้เอง เขาจะได้ความละเอียด ช่างสังเกต เขาจะหูไว แยกเสียงได้ เขาจะบันทึกเหมือนเราทำ เพราะตอนนั้นเราก็บันทึกอยู่แล้ว เราก็เขียนประจำ ถ้าเด็กเห็นเราทำ เขาต้องอยากทำเรื่องนี้ด้วย


ในที่สุดก็ได้ตั้งชมรมดูนก เจ็ดโมงเช้าก็นัดเด็ก พาดูนก แบบปูเสื่อเด็กเล็กๆ ป. หนึ่ง ป. สองก็สอนเขียน ก็จะ พ่อแม่ก็มานั่งป้อนข้าว พี่ ป.หนึ่งดูนกอนุบาล ก็จะมีเก้าอี้ตัวเล็กๆ แทนบันไดให้เด็กๆ ปีนขึ้นมาส่องกล้องดูนก ก็เลยต้องมีอาวุธประจำเป็นเก้าอี้เล็กๆ ตัวหนึ่ง ไปไหนก็ต้องคอยยกไปให้เด็กยืนบนเก้าอี้แล้วก็ฝึกการใช้คู่มือ ก็ฝึกเขาเหมือนกับฝึกผู้ใหญ่ดูนก ค่อยๆ ฝึกไป เหมือนจะยากแต่เด็กๆ เขาทำได้ ทำชมรมแล้วก็มีความสุข แต่ก็มาทำงานอยู่หลายปีเหมือนกันกว่าจะได้เริ่มตั้งชมรม ต้องหาลู่ทางก่อนว่าจะทำยังไง ก็ได้เอาบันทึกที่เราทำไปให้เด็กๆ ดู แล้วครูก็จะให้ไปช่วยครูสอน เช่นการเขียนบันทึกในธรรมชาติ ครูอยากให้เด็กทำแต่เขาไม่รู้จะเริ่มทำยังไง



หนักใจไหมที่จะต้องสอนเรื่องการเขียนบันทึกให้เด็กๆ?


ไม่หนักใจ เราก็ขนเอาสมุดบันทึกที่เราทำไปให้เขาเปิดดู แล้วก็บอกว่าเราเขียนบันทึกได้ทุกเรื่องตั้งแต่ชีวิตประจำวันก็ได้ ตื่นมาเราทำอะไรบ้าง เราได้สตางค์กี่บาท เราใช้อะไร เราใช้ยังไง นี่คือวิธีเริ่มแรกที่ตัวเองทำ แล้วก็เล่าว่าตัวเองเริ่มจากบันทึกมาจากแบบนี้ พอเราบันทึกๆ ไปเราก็ชอบวาดรูปก็วาดใส่บันทึกไปเรื่อยๆ มันก็สนุกดีแล้วก็ดูสวยด้วย เราเรียนอะไรก็เขียนได้ เหมือนเรามีตำราเป็นของเราเอง เข้าใจแค่ไหนก็เขียนตามความเข้าใจว่าวันนี้ครูสอนอะไร เราอยากจะวาดรูปให้สวยเราก็วาดไปเอง พอเราเขียนประจำ เราก็จะนึกออก เหมือนเราจัดวางองค์ประกอบได้เอง แต่ถ้าเราบอกวิธีกับเด็กบางทีต้องเปิดสมุดบันทึกให้เขาดู ยกตัวอย่างให้เขาดูว่าวันนี้ครูเห็นอันนี้ก็ใส่เข้าไปในบันทึก ครูก็จะจำแม่นมากเลยทุกครั้งที่เปิดหน้านี้เห็นอันนี้ ครูก็จะนึกเหตุการณ์วันนั้นออกหมดเลยว่ามันเกิดอะไรขึ้น พอเขาเขียนไปๆ เขาก็ไม่อยากให้สมุดเขาเลอะเทอะ เพราะถ้าไม่สวยเขาก็ไม่อยากเปิดอ่าน ก็เลยต้องหัดเขียนลายมือบรรจงเขียนสวยๆ เขาก็จะได้เรื่องความระเบียบในตัวเอง พอเราทำมันก็เป็นนิสัย นอกจากเรื่องเขียนก็ต้องมีเรื่องอื่นที่เราได้จากการเขียนที่ค่อยๆ มาเอง



พอมาถึงเรื่องบันทึกที่ได้จากการไปเที่ยว เราก็มีรูปที่อยากจะเก็บให้เป็นหมวดหมู่ จากการที่เราเขียนบันทึกประจำ เราก็อยากจะทำให้มันเป็นเล่มๆ จากการที่เราไปที่ใดที่หนึ่งมา ก็เอารูปมาบวกกับสิ่งที่เขียนมาประกอบกัน แล้วเราเขียนยังไงให้มันน่าอ่าน ให้สมุดภาพบันทึกการท่องเที่ยวของเรามันน่าสนใจ  เปิดเมื่อไรเราก็จะนึกออก เคยเอาสมุดภาพพวกนี้มาให้นักเรียนและผู้ปกครองดูในงานดลใจ ซึ่งที่โรงเรียนจัดขึ้นเป็นงานศิลปะสำหรับผู้ปกครอง แม่บ้าน คุณครู พนักงานเอางานแนวไหนก็ได้ ใครทำอะไรที่คิดว่าตัวเองตั้งใจก็เอามาแสดงได้ ก็เลยเอาสมุดบันทึกแบบนี้ไปวาง เป็นบันทึกประมวลการท่องเที่ยวโดยภาพถ่าย ปรากฏว่าคนก็จะมามุงดู จะมีเด็กมาดูกัน แล้วก็พูดขอบคุณที่เราเอาบันทึกอย่างนี้ให้เขาดู ทำให้เขาอยากทำ เขากำลังจะได้ไปญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศในฝัน เขาเห็นบันทึกของครู ทำให้รู้สึกว่าการไปของเขาจะต้องมีค่า เขาจะเก็บทุกสิ่งทุกอย่าง ตั๋วเครื่องบิน ไปเที่ยวที่ไหน ตั๋วเข้าพิพิธภัณฑ์ จะถ่ายรูปแล้วก็จะจด ทำเหมือนกับที่ครูทำ ผู้ปกครองก็เข้ามาดูแล้วก็บอกว่า เขามีโอกาสไปไหนต่อไหนเยอะแยะแล้วก็ลืม ไม่เคยได้เก็บมา แล้วเขาจะทำอย่างที่ครูกุ้งทำ บอกขอบคุณเราที่เป็นแรงบันดาลใจที่ดี


บันทึกจากการเดินทางแต่ละเล่มเหมือนที่เคยเอามาแสดงในงานดลใจ ก็ทำมานานแล้ว?


ทำมานานแล้ว อันนี้ที่เริ่มทำเป็นอัลบั้มรูปนั้นได้แรงบันดาลใจมาจากตอนอยู่ห้วยขาแข้ง ซึ่งมีเพื่อนของหัวหน้าสืบ (นาคะเสถียร) ชื่อคุณเบอร์ลินดา เวลาเขาไปเที่ยวไปไหนแล้วเขาก็จะทำอัลบั้มเป็นรูปเก็บไว้ เวลาที่เขานั่งทำเราก็จะไปช่วยทากาว เราก็เขานั่งทำก็สวยดีเราน่าจะทำบ้าง แรงบันดาลใจในการทำอัลบั้มรูป ก็เลยมาจากคุณเบอร์ลินดา แต่พอเราทำ เราก็ไม่อยากทำแบบเป็นอัลบั้มที่สำเร็จรูป ก็เลยคิดว่าเราจะตกแต่งยังไงแล้วก็วาดประกอบลงไป เหมือนเราทำบันทึกในสมุดบันทึกของเรา เอารูปที่เราวาดมาใส่ลงไปบ้าง รูปบางรูปเราถ่ายไม่ได้ เราก็อาศัยวาดเอาเพื่อให้เป็นบันทึกที่มันจะได้ไม่ขาดหายและทำให้อัลบั้มรูปเราน่าดูด้วย



เขียนสมุดบันทึกหรือทำเป็นอัลบั้มจากการเดินทางแล้วให้คนอื่นๆ ดู ต้องคำนึงถึงเรื่องความเป็นส่วนตัวไหม?


ไม่เลย สนุกดี หลักๆ คือเราเอาไว้ดูเอง แต่เพื่อนๆ หรือใครอยากจะเอาไปดู  เราก็จะได้ไม่ต้องอธิบาย เขาก็ดูไปได้เลย บางทีเราไม่มีเวลาว่างหรือเขาไม่มีเวลามาฟังเรามานั่งเล่าก็เอาไปดูได้เลย ที่เราทำแบบนี้เพราะไม่อยากให้ใครดูแต่รูป เพราะมันไม่รู้เรื่องหรอก ถ้ามีแต่รูปแล้วเราเองไม่ได้อยู่เล่าก็อย่าให้เขาดูเลย ไม่รู้เรื่องหรอก  ถ้าเขาดูผ่านๆ เราเห็นแล้วจะรู้สึกเสียดายโอกาสแทนเขาว่าเขาได้เห็นแล้วน่าจะได้รู้เรื่องด้วย เผื่ออยากไปบ้างเหมือนเราหรือว่าไปเที่ยวที่อื่นก็ได้แล้วแต่เขา เขาได้ทำแบบนี้ อยากให้เขาได้ทำเหมือนเราบ้าง


เป็นความตั้งใจก่อนเลยหรือเปล่าว่าไปเที่ยวแต่ละครั้งแล้วจะกลับมาทำแบบนี้เก็บไว้?


ไม่ได้ตั้งใจก่อน  แต่พอตอนหลังเรามีบันทึกที่มีแต่ตัวหนังสือหรือภาพที่เขียน เราก็รู้สึกว่าเราก็มีบันทึกที่เป็นรูปภาพด้วย พอไปเที่ยวกลับมาก็มาเลือกรูป อันไหนที่เราไม่มีก็ไปขอคนอื่นที่ไปเที่ยวมาด้วยกัน รูปจะเยอะ มาก อย่างไปเที่ยวพม่ากันเป็นกลุ่มมาสิบสองวัน ก็เอาไปสมุดบันทึกไปเล่มเดียว พอกลับมาค่อยขอรูปจากคนอื่นที่เขาถ่ายรูปให้เราหรือเราจำได้ว่ามีคนถ่ายรูปนี้ที่เราชอบแล้วอยากเอามาทำเป็นบันทึกเก็บไว้


ไปเที่ยวพม่ามาแล้วชอบไหม ประทับใจกับอะไร?


ชอบมากๆ รู้สึกว่าคนพม่าน่ารัก แต่สงสารเขา เขาน่าจะได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่านี้ เพราะถนนหนทางไม่มีไฟฟ้า เขาอยู่กันมืดๆ กลางคืนเราต้องเดินหาข้าวกินตามถนนของเมืองเล็กๆ ไม่ค่อยมีไฟ หรือบางครั้งขนาดกลางวันก็ยังต้องจุดเทียนกินข้าว ยาหรือสาธารณสุขก็ยังไม่ดี เห็นแล้วก็สงสาร แต่ชาวบ้านจริงๆ เขาก็มีความสุขดี แม้ไฟจะไม่มี แต่คนมีน้ำใจ นอกจากนี้เราก็ทึ่งที่ได้ไปเห็นศิลปะเขา อย่างปูนปั้นในวัดพม่าไปเห็นของจริง สวยมาก ยิ่งเราเรียนศิลปะมายิ่งทึ่งมากว่าช่างเขาทำได้อย่างไร จริงๆ แล้วเขาทำทุกอย่างเพื่อศรัทธา ศรัทธาเกี่ยวกับศาสนาเขาแรงมากๆ เห็นแล้วแบบว่าขนลุกเลย คนพม่าศรัทธาในศาสนาเยอะมากเขาถึงอยู่ได้แบบไม่ร้อนใจ อยู่กันสบายๆ



ถึงตอนนี้ก็ยังบันทึกเขียนประจำวันอยู่ไหม?


ยังเขียนอยู่ แต่เล่มหลังๆ จะมีแต่เรื่องงาน เราสเกตช์งานจะออกแบบอะไร ทำป้าย จะทำอะไรในโรงเรียน  ก็อยู่ในบันทึกหมด ประชุมอะไรก็จดอยู่ในบันทึก ไปฟังบรรยายธรรม ปาฐกถาหรืองานอะไรของโรงเรียน ใช้สมุดบันทึกติดตัวอยู่ตลอดเลย ไปไหนก็เอาไป ไปห้างบางทีก็เอาไปด้วย เผื่อแบบต้องมีการนั่งรอกันหรือถ้าเราไปดูหนังแล้วซื้อตั๋วรอบที่อยากดูไม่ได้ต้องนั่งรอ ไม่รู้จะทำอะไรก็จะเอาบันทึกขึ้นมาเขียน คือมันเหมือนเป็นของที่ต้องพกติดตัวไว้อย่างหนึ่งแบบเหมือนกระเป๋าตังค์หรือบัตรประชาชนไปแล้ว


พอไปเที่ยวการจดต่างออกไปไหม?


ไม่ต่าง เหมือนกันกับจดประจำวัน แต่ว่าเราไปเที่ยวจะมีแต่เรื่องตื่นตาตื่นใจ ชวนให้จดมากกว่าชีวิตประจำวัน ซึ่งบันทึกแบบเช้ามาวันนี้มีอะไร พอมันไม่สนุกแล้วก็งานยุ่งๆ ก็จะใช้วันหยุดเสาร์ อาทิตย์ มานั่งเรียบเรียงทบทวนว่าทำอะไร พอเราจดประจำมันเหมือนไม่ยากเลยที่เราจะนึกย้อนกลับไปเมื่อวาน วานซืน เราสามารถย้อนได้ทุกวัน ทำให้ได้เรื่องความจำ ค่อยๆ จำได้นานขึ้น เรื่องที่เราลืมไปแล้วว่าเมื่อวานซืนเราทำอะไร พอเราบันทึกประจำ มันก็เหมือนค่อยๆ นึกทบทวนๆ ก็จะจำได้เยอะขึ้น จำได้เป็นช่วงนานๆ ขึ้น


การเขียนบันทึกในชีวิตประจำวันทำให้เราได้อะไรอีก กับการบันทึกเมื่อเดินทางได้อะไร?


ได้เรื่องการเขียนเพื่อบันทึกเรื่องราวเพื่อไม่ให้ลืม เวลาไปเที่ยวเราก็มีอะไรทำเยอะแยะ เราก็จะสนุก ในการนั่งรถ บางช่วงที่ต้องนั่งรถไฟตั้งห้าชั่วโมง อยู่บนรถไฟทำอะไรไม่ได้มาก ถ้าไม่อ่านหนังสือ เราก็จดนู่นจดนี่ ดูวิว วาดรูปแบบเร็วๆ เราก็ได้ฝึกควิกสเกตช์ ถ้าไม่งั้นเราก็จะกลัว ก็เหมือนกับได้ฝึกมือตลอดเวลา เพื่อควบคุมมือให้ได้มากขึ้น การเขียนบันทึกประจำวันก็จะมีการวาดเยอะเหมือนกัน ส่วนมากก็จะต้องมีวาดภาพเก็บเอาไว้ ไม่ได้เขียนอย่างเดียว พอทำไปทำไปมันก็เป็นนิสัยว่าวันนี้เราได้ทำบันทึกหรือยัง เราอยากทำอยากเขียนตลอด พอเขียนแล้วเราก็จะได้เรื่องการทำให้มันน่าอ่านด้วย เราก็จะอยากให้มันสวย เขียนลายมือให้สวย แล้วถ้าเราวาดรูปเป็นเรายิ่งจำแม่น เราจะจำรายละเอียดได้มากกว่าเขียนอีก ก็เหมือนการจัดระเบียบตัวเอง มันก็ได้ถึงเรื่องอื่นด้วย อย่างเรื่องห้องที่อยู่เราก็อยากทำให้มันสวยๆ ฝึกเรื่องได้ความเป็นระเบียบ ได้เรื่องการจัดวางองค์ประกอบ ใครๆ ก็ทำได้ ขอให้เราลงมือทำทุกวันแล้วมันจะเป็นนิสัยเอง


เรียกว่าการทำบันทึกเป็นทั้งความสุขและความรู้ด้วย?


ใช่ แล้วเราก็กลับไปเปิดไปค้นบันทึกเหล่านี้ได้ตลอด หรือว่าจะสอนอะไรที่เป็นประโยชน์กับเด็กหรือคนอื่นก็อาจจะมีอยู่ในบันทึกเล่มใดเล่มหนึ่ง ก็รู้สึกว่าทั้งเป็นประโยชน์ที่ช่วยในเรื่องความจำ กลับไปค้นใหม่ได้ เป็นบันทึกข้อมูล เป็นประวัติศาสตร์ได้เหมือนกัน เพราะบางเล่มอายุเป็นสิบปีแล้วที่ทำมา


…………………………



สมุดบันทึกและอัลบั้มประมวลการเดินทางเล่มแล้วเล่มเล่าที่รวบรวมไว้ในกล่องโดยที่มีหมายเลขและรายละเอียดของแต่ละเล่มอยู่ด้านหน้าเพื่อให้ง่ายต่อการเปิดค้นและเตือนความจำ มีความหมายถึง ‘ความสุข’ ที่ครูกุ้งบอกว่า "ทำแล้วมีความสุขแล้วทุกครั้งที่กลับมาดูเราก็จะมีความสุข พอดูแล้ว เราก็จะเหมือนเราได้นึกภาพเก่าๆ ที่ทำให้เรามีสุข ยิ่งมาเปิดดูบันทึกบางเล่ม อย่างรูปนกฮูกที่วาดเก็บไว้ตัวนี้อยู่ด้วยกันที่ห้วยขาแข้งนานตั้งสี่เดือนและเราต้องดูแลมันเหมือนเราเป็นแม่" แล้วยังหมายถึงแหล่งข้อมูลส่วนตัวที่เป็นประโยชน์ในชีวิต


"พอคิดถึงอะไรเราที่จำได้ว่าเราเคยเจอก็จะต้องกลับมาค้น เหมือนเป็นหลักฐานอย่างหนึ่งที่บางอันก็อ้างอิงได้ บางอันก็ไม่ได้ อย่างเรื่องนก ทำไมเราเคยเจอนกเหยี่ยวแมลงปอขาแดง ที่มีสีแดงปื้นๆ ตรงคอ จำได้ว่าเคยวาดไว้ ปรากฏว่ามันอาจจะเป็นนกที่ยังเด็กหรือว่าตัวย่อยก็กลับมาค้นได้ หรือชอบมีคนโทรมาถามด้วยว่าตอนนั้นเวลานั้นเราไปอบรมเรื่องนั้นกันเมื่อไร จำได้ไหม บันทึกพวกนี้ก็จะเป็นประโยชน์มากช่วยให้กลับมาค้นได้ว่าเราไปทำอะไรที่ไหน มันอยู่ในเล่มที่เท่าไร เราก็บอกได้"