Skip to main content

วัยรุ่น "Episode 3"

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


"ชอปปิ้ง ซิ่งมัน ดูหนัง นั่งร้านเหล้า อยากเข้าบริษัท" สโลแกนที่เค้าว่าเป็นนิยามเบ็ดเสร็จพฤติกรรมวัยรุ่นยุค "เศรษฐกิจพังผืด ชีวิตฝืด เงินเก็บฟุบ" ที่ออกมาล่าสุด!!!


 


2 สัปดาห์ที่แล้ว บริษัทสปาแอดเวอร์ไทซิ่ง จำกัด ทำการสำรวจกลุ่มเป้าหมายในระดับอุดมศึกษาโดยเจาะจงนักศึกษาชั้นปีที่ 3-4 ของสามมหาวิทยาลัยได้แก่ จุฬาลงกรณ์ ธรรมศาสตร์และเกษตรศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์และค้นหาพฤติกรรมการใช้ชีวิตและใช้จ่ายของกลุ่มวัยรุ่นที่กำลังจะเป็นบัณฑิตอีกไม่ช้าในสภาวะเศรษฐกิจขาลงและช่วงความนิยมในท่านผู้นำสุดจะต่ำ


 


ผลสำรวจระบุแผนอนาคตหลังจบการศึกษาของนักศึกษาว่า ส่วนใหญ่จะเรียนต่อปริญญาโททันที ส่วนอีกหนึ่งในห้าของกลุ่มตัวอย่างจะสมัครเข้าทำงานกับบริษัทเอกชน และมีนักศึกษาทั้งหมด "ร้อยละศูนย์"  ที่อยากเป็นข้าราชการ


 


รายการโทรทัศน์รายการหนึ่งตั้งธงวิพากษ์นักศึกษาจากข่าวนี้ว่า สาเหตุที่เด็กไม่ยอมรับราชการเพราะเด็กสมัยนี้เห็นแก่เงิน เห็นแก่ตัว ไม่มีจิตสำนึกสาธารณะและเสียสละเพื่อส่วนรวม   ได้ยินแล้วอยากจะตั้งประเด็นกลับไปถึงผู้ใหญ่ในบ้านเมืองผ่านผู้ดำเนินรายการให้ย้อนมองหน่อยว่า ณ วันนี้ "ระบบราชการไทย" มีอะไรจูงใจให้เด็กรุ่นใหม่อยากร่วมงานบ้าง


 


ว่ากันด้วยเรื่องปากท้อง…สมัยก่อนเงินเดือนข้าราชการเริ่มต้นที่ 1,200 บาท ทองบาทละ 400 หักค่ากินอยู่แล้วอาจเหลือซื้อทองได้อย่างน้อยก็หนึ่งบาท


 


ปี 2548 เงินเดือนข้าราชการปริญญาตรีเริ่มต้นที่หกพันกว่าบาท  ยังไม่ได้กินสักมื้อ และซื้อทองก็ยังไม่ได้ครบบาท  พุทโธ่!!!


 


ถ้าจะว่ากันด้วยภาพพจน์ หรือจะพูดให้หรูว่าภาพลักษณ์ ก็มองเห็นแต่ด้านมืดของความคิดที่ว่าข้าราชการ "เช้าชามเย็นชาม โกงกิน  คอรัปชั่น เน่า เฟะ นิ่ง คร่ำครึ เบื่อ เชย เฉื่อย ช้า ไม่ก้าวหน้าและไม่พอกิน"  ฝังแน่นอยู่ในใจคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมกับกระแสแปลงสินทรัพย์เป็นทุน และการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ส่งเสริมให้ทุกคนเป็นเจ้าของกิจการ รวมทั้งกระแสความขัดแย้งจากการปฏิรูประบบราชการก็ลดทอนภาพลักษณ์ด้านดีในเกียรติและศักดิ์ศรีแห่งฐานะข้าราชการไทยไปเกือบหมด


 


แล้วอย่างนี้มันจะไปเหลืออะไร…จะเหลือสักกี่คนที่อยากรับราชการ นอกจากเด็กคนนั้นจะถูกปลูกฝังกันมาแต่รุ่นพ่อแม่หรือได้รับทุนรัฐบาลไปเรียนต่อ  นอกนั้นก็ไม่เห็นว่าจะมีใครที่ไหนอยากเข้าสู่ระบบ แต่จะว่าเด็กก็ไม่ได้เพราะสังคมเองก็สนับสนุนให้บัณฑิตใหม่สมัยนี้มีสิทธิ์เต็มที่ในการเป็นผู้เลือกโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกงานและวิธีดำเนินชีวิต  แล้วผิดอะไรที่ระบบราชการจะเจอทางตัน เป็นทางเลือกให้กับบัณฑิตไทยไม่ได้


 


ไม่แปลกใจว่านิสิตนักศึกษาที่ถูกบริษัทสปาสำรวจจะอยากทำงานกับบริษัทเอกชนที่ให้ผลแห่งความพอใจเป็นเงินที่มากกว่า  แถมภาพลักษณ์ยังดีกว่าการเป็นข้าราชการ ความคิดรุ่นปู่ย่าว่าข้าราชการจะเป็นเจ้าคนนายคน เป็นอาชีพที่มั่นคง ละลายหายไปพร้อมกับความพยายามปฏิรูประบบบำเหน็จบำนาญ สวัสดิการและการกลายร่างเป็นพนักงานราชการหรือข้าราชการพันธุ์ใหม่ รวมทั้งภาพ "ยี้" ของตัวบุคคลที่จะเป็นต้นแบบก็ไม่อาจซื้อใจให้นักศึกษาที่กำลังจะจบอยากเข้ามาร่วมหัวจมท้าย  แถมถ้าเทียบหมัดต่อหมัดด้วยผลตอบแทนระหว่างเงินเดือนข้าราชการและพนักงานบริษัทเอกชน  เคาะสุดท้ายคงไม่ต้องต่อเวลาคิด เป็นใครก็คงอยากแปรสภาพเป็นพนักงานบริษัทมากกว่าจมปลักอยู่ในระบบราชการ


 


ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องคงต้องประชุมใหญ่ว่าจะปฏิรูปราชการ (จริงๆ ) อย่างไรให้จูงใจคนรุ่นใหม่เสียที


 


ประเด็นอื่นที่น่าสนใจจากผลสำรวจระบุชัดว่า ว่าที่บัณฑิตใหม่นิยมซื้อของแพง ชอบนัดสังสรรค์กันตามร้านเหล้า นอกนั้นยังมีค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยประเภทเหล้าบุหรี่อีกเป็นประจำทุกเดือน ฯลฯ (รายละเอียดผลการสำรวจจากบริษัทสปาฯ)


 


ฟังแล้วก็ไม่เป็นที่แปลกใจเท่าไร ถ้าย้อนรอยไปนิดน่าจะยังจำได้กับผลสำรวจพฤติกรรมวัยรุ่น episode 1 เมื่อปีที่แล้วของสถาบันรามจิตติที่สื่อมวลชน (ช่วย) สรุปไว้เป็นพาดหัวตัวใหญ่เข้าใจง่ายๆ ว่าวัยรุ่นสมัยนี้ "ชอปไว ใช้แหลก แดกด่วน" (ข่าวสด 11 สิงหาคม 2547) แปลความได้ว่าวัยรุ่นมีพฤติกรรมซื้อของเร็ว ซื้อง่าย ซื้อแหลกและชอบบริโภคอาหารฟาสต์ฟู๊ตจนเป็นนิสัย กลายเป็นประเด็นสาธารณะที่ชวนคุยกันอย่างกว้างขวางช่วงท้ายรัฐบาลทักษิณ 1


 


มาพร้อมรัฐบาลทักษิณ 2  มีตัวเลขอีกระลอกออกมาเป็นการสำรวจ episode 2 พฤติกรรมวัยรุ่น นอกจากจะถามในมุมอาชีพ ยังมีข้อมูลค่าใช้จ่ายรายเดือนว่าส่วนใหญ่หมดไปกับกิจกรรมฟุ่มเฟือยเป็นหลัก เช่น ดูภาพยนตร์ ซื้อการ์ตูน เที่ยวคาราโอเกะ เล่นอินเตอร์เน็ตและซื้อบุหรี่ รวมไปรวมมานักศึกษากลุ่มเป้าหมายใช้เงินเฉลี่ยเดือนละ 7,000-8,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับเงินเดือนข้าราชการที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนหรือ ก.. กำหนดคือวุฒิปริญญาตรี 7,260-7,960 บาท (หมายเหตุว่าอัตรานี้เป็นอัตราก่อนนายกฯ ประกาศนโยบายปรับเงินเดือนข้าราชการอีก 5% เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระยะสั้น)


 


ผลสำรวจทั้ง episode 1 และ 2 ออกมาในทิศทางเดียวกันเหมือนจะยืนยันว่าเด็กสมัยนี้ติดสบายและใช้จ่ายกันอย่างมือเติบ และเกือบทุกครั้งที่ภาพลักษณ์ของวัยรุ่นจะถูกเน้นย้ำให้กลายเป็นเด็กไม่ได้เรื่อง ฟุ้งเฟ้อ และไร้ความคิด  ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีส่วนถูกแต่ก็ไม่ทั้งหมดเพราะยังมีนิสิตนักศึกษาจำนวนมหาศาลที่มีความคิดดี ๆ น่าชื่นชม หรือทำชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ ล่าสุดทั้งนำเหรียญทองจากการแข่งขันฟิสิกส์ คณิตศาสตร์และชีวะโอลิมปิกมาฝากคนไทย เป็นหน้าเป็นตาให้โลกประจักษ์ว่าเด็กไทยไม่ธรรมดา


 


ผลสำรวจที่อ้างมาทำให้ผู้ใหญ่หลายคนกุมขมับและมีท่าทีผิดหวัง แต่ข้อมูลดังกล่าวก็สะท้อนความจริงในสิ่งที่วัยรุ่นเป็นในวันนี้ ส่วนหนึ่งสะท้อนลึกถึงวิธีการของพ่อแม่ผู้ปกครองที่เลี้ยงดูลูกหลาน และแน่นอนย่อมจะส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ต่อไป ตั้งแต่ปัญหาพฤติกรรม ค่านิยม เซ็กส์ วิจารณญาณไปจนถึงการรู้จักคุณค่าของเงิน


 


วัยรุ่นตกเป็นจำเลยทุกครั้งเวลามีข่าวหรือเหตุการณ์ "ไม่ดี" ออกมา บางครั้งสื่อเองก็เป็นตัวตั้งตัวตีที่ตั้งศาลเตี้ยพิพากษาวัยรุ่นผ่านการรายงานข่าว บทความ ไปจนถึงรายการขุดคุ้ยประเภทต่างๆ โดยปราศจากข้อมูลที่วิเคราะห์ถึงสิ่งแวดล้อมในบ้านและวัฒนธรรมสังคมที่อาจเป็นสาเหตุแท้จริงทำให้วัยรุ่นมีพฤติกรรมเหมือนผลสำรวจในยุคปัจจุบัน


 


จากนี้ไปทั้งครอบครัวและสังคมอาจต้องประณีตมากขึ้นในวิธีการดูแลหล่อหลอมจิตใจวัยรุ่นพร้อมทั้งไม่ลืมที่จะเตือนตัวเองในฐานะต้นแบบ เป็นตัวอย่างที่ดีให้วัยรุ่นเดินตามอย่างถูกต้องบนหลักการแห่งความพอเพียง ทั้งต้นแบบที่มาจากพ่อ แม่ สื่อ หรือแม้แต่แบบอย่างจากท่านผู้นำประเทศและพรรคพวก


 


เมื่อไหร่ที่ทั้งสังคมกลับลำ และหันมามองข้อบกพร่องของตัวเอง ผลสำรวจ episode 3 ของพฤติกรรมวัยรุ่นทำนองนี้ ก็น่าจะมีอะไรดี ๆ ออกมาให้ชวนคุย


 


……………………………….