Skip to main content

สื่อเสรี แบบชิลด์ ชิลด์

คอลัมน์/ชุมชน

ผมค่อนข้างจะเห็นด้วยกับท่านผู้นำว่า การสร้าง ‘ความเชื่อมั่น’ ให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน เป็นเรื่องสำคัญ เพราะความเชื่อมั่น (ในทางที่ชอบ) จะเป็นพลังมหาศาลในการฝ่าฟันวิกฤตต่างๆ ให้ผ่านไปได้


 


แต่ความเชื่อมั่นนั้น ต้องประกอบมาจาก ‘ข้อเท็จจริง’ ที่เป็นเนื้อแท้ มิใช่มาจากการเจื้อยแจ้วพรรณนา และคาดหวังให้ผู้ฟังต้องเชื่อตาม ราวกับทฤษฎีการสื่อสารที่เรียกว่า ทฤษฎี‘เข็มฉีดยา’ ในศตวรรษก่อน อันแสนจะเช้ย... เชย...


 


และแล้ว...ท่านผู้นำก็แสดงความเชย และทำลายความน่าเชื่อถือที่อยากได้ ด้วยตัวเอง (อีกครั้ง) เมื่อไปประกาศต่อหน้าบรรดาสื่อมวลชนนานาชาติว่า ประเทศของท่านผู้นำนี้เป็นประเทศหนึ่งที่สื่อมีเสรีภาพมากที่สุด ดังจะเห็นได้จากหนังสือพิมพ์ไทยสามารถวิพากษ์วิจารณ์นายกฯได้


 


ผมไม่แน่ใจว่าสื่อเสรีสุดๆที่ว่า อยู่ในประเทศเดียวกับที่ผมและเพื่อนๆ ‘ประชาไท’ อาศัยอยู่หรือเปล่า เพราะประเทศที่พวกเราอยู่กัน มีการใช้กำลังบุกปิดวิทยุชุมชน โดยเฉพาะสถานีที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐ ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ บัญญัติเอาไว้ชัดเจนว่า การสั่งปิดสื่อ เป็นสิ่งที่กระทำมิได้


 


ประเทศแห่งนี้อีกเหมือนกัน ที่บรรดานักจัดรายการวิทยุโทรทัศน์หลายท่านผู้มุ่งมั่นกับการตรวจสอบรัฐบาล ต้องถูกถอดผังรายการออกไป เช่น สุทธิชัย เจิมศักดิ์ ฟองสนาน อัญชลี พรชัย ฯลฯ แล้วพวกเราก็ได้สื่อที่เป็น ‘ยานอนหลับ’ ขนานดีมาแทน ที่มีชื่อว่า สรยุทธ กนก สมัคร ดุสิต ฯลฯ รับชมรับฟังรายการไป ก็ ‘ซาบายจาย’ เพราะพวกเขาเหล่านั้นพากันยํ้าเตือนว่า ‘รัฐบาลนี้ดี ขยันขันแข็ง แต่หากจะมีปัญหาบ้าง ก็เป็นเรื่องเล็กๆ ขอให้เราเชื่อใจ ก้มหน้าทำมาหากิน แล้วท่านผู้นำจะเอื้ออาทรเราเอง ไชโย’


 


ประเทศแห่งนี้อีกเหมือนกัน ที่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ถูกจี้กลางอากาศให้ออกจากตำแหน่ง ขณะเดียวกันสมุนของนายหญิงและนายใหญ่จะคอยค้นหาว่า หนังสือพิมพ์ฉบับใดที่ตรวจสอบรัฐบาลจนทำให้นายทั้งสองระคายเคือง ก็จะขู่ถอนโฆษณา จนประดาหนังสือพิมพ์ทั้งหลายต้องรูดซิปปากตัวเองไปตามๆกัน


 


และประเทศแห่งนี้เอง ที่บรรดาคนใหญ่ทั้งหลายจะออกประกาศเตือนสื่อให้นำเสนอข่าวอย่างระมัดระวัง และให้เสนอข่าวของนายกฯและคณะแบบสร้างสรรค์ (แปลว่าห้ามตรวจสอบรัฐบาล?) หรือไม่ก็ให้หน่วยงานของรัฐไปตรวจสอบสถานะทางการเงินของนักข่าวหัวเห็ด แม้แต่นักข่าวต่างประเทศหลายรายก็ถูกห้ามเข้าประเทศ เพราะทำให้นายใหญ่เคือง


 


ดังนั้น ผมจึงเชื่อมั่นว่า คำพูดของท่านผู้นำต่อหน้านักข่าวนานาชาติในวันนั้น จะกลายเป็นเรื่องเชิญยิ้ม ที่ทำให้ความเชื่อมั่นที่ท่านผู้นำอยากได้ ต้องมลายหายไปกลายเป็นศูนย์


 


นอกจากนี้ผมยังรู้สึกว่า ท่านผู้นำที่ทำทีเป็นคนรู้ทุกเรื่อง อาจจะไม่ค่อยเข้าใจ หรือแกล้งไม่เข้าใจเรื่อง ‘เสรีสื่อ’


 


เสรีสื่อ เป็นหลักประกันในระบอบประชาธิปไตย ที่จะทำให้พลเมืองได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่รอบด้าน (แปลว่าทุกด้าน ไม่ใช่ด้านเดียวแบบทุกเช้าวันเสาร์ หรือวันใดๆ) เป็นข้อมูลที่จำเป็นต่อชีวิต รวมทั้งต่อการตัดสินใจทางการเมือง


 


ดังนั้น ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม รัฐบาลประชาธิปไตย ‘มีหน้าที่’สร้างความกระจ่างให้แก่สื่อและประชาชน ในทุกประเด็นที่สาธารณชนซึ่งเป็น ‘เจ้าของประเทศ’ เกิดความสงสัย เช่น ทำไมจึงมีรอยร้าวที่หนองงูเห่า ทำไมซีทีเอ็กซ์จึงแพง ลำไยหายไปไหน ทำไมคนที่มีความผิดจากกรณีข้อสอบเอ็นฯรั่ว ถึงได้มาเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี สต๊อกข้าวทำไมจึงมีลม ทำไมกองทุนหมู่บ้านจึงกลายเป็นมือถือ จริงไหมที่คนค้ายาถูกยิงทิ้งแทนที่จะถูกนำขึ้นศาล ทำไมพี่น้องทางใต้จึงถูกอุ้ม และอีกหลายๆ ‘ข้อสงสัย’ ที่เกิดขึ้นในรัฐบาลของท่านผู้นำ และเจ้าของประเทศอยากรู้


 


หากรัฐบาลตอบได้ ก็จะเป็นการทวีความเชื่อถือให้แก่รัฐบาลโดยปริยาย แต่หากรัฐบาลตอบไม่ได้ ก็ต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองด้วยเช่นกัน เช่น กรณีสื่อร่วมกับภาคประชาชนพารัฐมนตรีเข้าคุกในกรณีทุจริตยา  หรือกรณีสื่อตรวจสอบรัฐบาลและราชการต่างๆ เช่น การทุจริตเรือขุด การทุจริตคลองด่าน ฯลฯ ซึ่งสามารถรักษาประโยชน์ของประชาชนเอาไว้ได้


 


การตรวจสอบเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากสื่อไม่เสรี และไม่มีบรรยากาศประชาธิปไตยขึ้นในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อท่านผู้นำไม่พร้อม ไม่ยินยอมจะให้สื่อมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการตรวจสอบ


 


อีกประเด็นหนึ่งที่ไม่เกี่ยวกับการที่สื่อมีหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล (แต่ดูเหมือนท่านผู้นำชอบเอาไปปนกัน) นั่นก็คือ ท่านผู้นำ และคนจำนวนมากอาจจะไม่ชอบใจสื่อ ที่หลายครั้งสื่อรายงานข่าวผิดพลาด ก่อให้เกิดผลกระทบ เลยเหมารวมการทำหน้าที่ของสื่อไปหมด


 


ในประเด็นนี้ ผมก็เห็นด้วยอย่างยิ่งที่สื่อต้องเพิ่มความระมัดระวัง แต่สื่อก็คือมนุษย์ ย่อมผิดพลาดได้ และเมื่อผิดพลาดแล้ว ก็ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยเช่นกัน


 


อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหานี้โดยการ ‘แทรกแซงสื่อ’ ถือเป็นสิ่งที่นานาอารยะประเทศเขายอมรับไม่ได้อย่างสิ้นเชิง เพราะถือเป็นการขัดขวางเสรีภาพในการทำงานของสื่อ เปรียบเสมือนเป็นการปิดหูปิดตาประชาชน


 


การพิจารณาว่า สื่อทำหน้าที่ได้ดี ถูกต้องหรือไม่ ถือเป็นหน้าที่ของพลเมืองทุกคนในการใช้วิจารณญาณในการตรวจสอบ ส่วนรัฐก็มีหน้าที่ชี้แจงทำความเข้าใจผ่านสารพัดสื่อที่มีอยู่รอบตัว


 


แต่รัฐไม่มีหน้าที่ในการชี้ว่าสื่อไหนดีควรอยู่ สื่อไหนไม่ดีต้องแทรกแซงให้ออกไป เพราะสื่อที่รัฐเห็นว่าไม่ดี อาจจะดีในสายตาประชาชนก็ได้ เช่น อดีตประธานาธิบดีนิกสัน คงไม่เห็นว่าวอชิงตันโพสต์ เป็นสื่อที่ดี เพราะหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เข้าไปขุดคุ้ยกรณีที่เขาส่งคนไปล้วงความลับของเดโมแครตในอาคารวอเตอร์เกต จนทำให้นิกสันต้องลาออกจากตำแหน่ง


 


ผมจึงอยากให้รัฐบาลเลิกเป็นผู้ชี้ถูกชี้ผิด ยุติการแทรกแซงสื่อ แล้วหันมาสนับสนุนประชาชนให้ช่วยกันตรวจสอบสื่อ และให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้ใช้อำนาจสูงสุดในการชี้ถูกชี้ผิดการทำงานของสื่อ


 


ผู้ได้รับผลกระทบจากการทำหน้าที่ที่ผิดพลาดของสื่อ ต้องหมั่นไปใช้บริการของศาลในคดีละเมิดหรือหมิ่นประมาท แม้การขึ้นโรงขึ้นศาลจะเป็นเรื่องน่าเบื่อ แต่หากอยากได้สื่อที่ดี สังคมที่ดี ก็ต้องช่วยกันทำ


 


หากไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายละเมิดหรือหมิ่นประมาท แต่เป็นเรื่องผิดจรรยาบรรณ เช่น นักหนังสือพิมพ์รับซองขาว ลำเอียง ไม่ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ตกเป็นข่าว ฯลฯ ผมสนับสนุนให้ทุกท่านไปใช้บริการของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ http://www.presscouncil.or.th


 


หากเราเชื่อผู้นำ อนุญาตให้เขาแทรกแซงสื่อต่อไปอีก สื่อก็จะเสรีได้แค่ชิลด์ ชิลด์ คนโกงก็จะโกงกันต่อ คนซื่อสัตย์สุจริต (เช่น กล้านรงค์ คุณหญิงจารุวรรณ ฯลฯ) ก็จะถูกทำลายให้หายไปจากเวที


 


แบบที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้ไงครับ