Skip to main content

สงครามนัก(เ)ล่าข่าว

คอลัมน์/ชุมชน

 


การสำรวจของบริษัท Nielsen Media Research ไตรมาสแรกของปีนี้ระบุว่าเม็ดเงินโฆษณาที่ลงไปกับรายการละครทางโทรทัศน์มีสัดส่วนลดลง 4% ในขณะที่รายการข่าวมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 3% และเป็นตัวเลขการเพิ่มขึ้นที่มากที่สุดเมื่อเทียบกับรายการประเภทอื่น (วาไรตี้เพิ่ม 2% สารคดีเพิ่ม 1% รายการเด็กและภาพยนตร์ตะวันตกเพิ่ม 1%) (ข้อมูลจาก Nielsen Media Research ในผู้จัดการรายสัปดาห์ 15-21 สิงหาคม 2548)


 


สรุปแล้วรายการข่าวในบ้านเรากลายเป็นชิ้นปลามันที่สามารถดึงเรตติ้งคนดูได้ทุกระดับ ทุกเพศและทุกวัย


 


ไม่เชื่อก็คงต้องเชื่อ ใครจะคิดว่ารายการข่าวจะมาแรงเบียดรายการบันเทิงซอฟท์ซอฟท์แบบละครหรือวาไรตี้เกมโชว์ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโฆษณาที่ลงไปกับสื่อโทรทัศน์ รายการต่างๆ ทั้งละคร เกมโชว์ เรียลลิตี้ทีวี หรือสารคดี พยายามปรับเปลี่ยนรูปโฉม เนื้อหา และสาระให้เข้าตากรรมการ ยังไม่รวมถึงการปรับพื้นที่นำเสนอข่าวสารช่วงเช้าและช่วงดึกให้เป็นรายการข่าวมากขึ้น ตามผลสำรวจที่ว่าผู้บริโภคต้องการรับข้อมูลข่าวสารในรูปแบบของ "ข่าว" ที่มากขึ้น ภายนอกข้อจำกัดว่าข่าวนั้นจะถูกปรุงด้วยวิธีกรรมอะไร ทั้งวิธีนำเสนอแบบรายงานข่าว สารคดีข่าว คุยข่าว คุ้ยข่าว เล่าข่าวหรือวิเคราะห์ข่าว


 


การเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมา ทำให้แต่ละช่องปรับและกลับตัวกันแทบไม่ทันหลังจากที่โมเดิร์นไนน์ทีวี ระเบิดโฉมช่อง 9 แดนสนธยาให้กลายเป็นโมเดิร์นไนน์สถานีข่าวและช่องเอ็ดดูเทนเมนท์ (edutainment) เปิดศักราชใหม่ของรายการข่าวให้น่าสนใจและน่าติดตามมากยิ่งขึ้น โดยเน้นข่าวและสาระบันเทิง ผังรายการถูกปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับบุคลิกใหม่ของการเป็นสถานีข่าว เวลาของการนำเสนอข่าวจากเดิมที่มีอยู่ไม่กี่ชั่วโมงถูกขยายออกไป แต่เพิ่มช่วงเสนอข่าวสำคัญทั้ง เช้า เที่ยง เย็น ค่ำ ดึก เวลาออกอากาศก็กลายเป็น 24 ชั่วโมงเพื่อให้สอดรับกับข่าวสั้นทุกต้นชั่วโมงรายงานความสดและทันต่อเหตุการณ์ให้ผู้ชมทางบ้าน


 


ในส่วนของรายการเล่าข่าว มีพิธีกรจอมยุทธ์ สรยุทธ สุทัศนะจินดา มาคุมโซนข่าวให้โมเดิร์นไนน์โดนใจชาวบ้านอยู่หลายรายการ ตามติดๆ มาด้วยไอทีวี ที่เผชิญกับความกดดันอย่างหนักด้วยว่าจุดแข็งของไอทีวีอยู่ที่ข่าว แต่กลับเผชิญหน้ากับการท้าทายของโมเดิร์นไนน์ที่ท้ารบ  ดังนั้น  ไอทีวีจึงต้องพยายามมากขึ้นด้วยการตอกย้ำบุคลิกของความเป็นสถานีข่าวให้กับผู้บริโภคและเข้าถึงกลุ่ม mass ให้กว้างขึ้นโดยยกเครื่องเปลี่ยนรูปแบบนำเสนอสาระช่วงเช้ากันใหม่ ปรับภาพจากชินคอร์ปแชนแนลให้กลายเป็นสถานีข่าวสำหรับคนไทยมากขึ้นพร้อมเพิ่มสัดส่วนรายการประเภทเจาะข่าวตลอดวัน ยังไม่รวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้วยเงินการลงทุนในส่วนอุปกรณ์ทั้ง software และ hardware


 


"ในการนำระบบ digital news room systems มาใช้ ซึ่งเป็นผลทำให้ผู้สื่อข่าวสามารถดึงภาพข่าวและเนื้อหาข่าวจากฮาร์ดดิสก์ที่เก็บอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายมาใช้งาน ตัดต่อ เขียนข่าวบนหน้าจอคอมพิวเตอร์และส่งออกอากาศได้ทันทีโดยไม่ต้องแปลงเป็นเทป" (จากบทสัมภาษณ์ธีรัตถ์ รัตนเสวี บรรณาธิการเศรษฐกิจและไอที บริษัทไอทีวี ในคอลัมน์ Media Trend Growth & Chaos หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ)


 


ช่อง 3 ปรับผังรับศึกสงครามข่าวดูเหมือนจะ 2 ครั้ง ครั้งแรกกับการปรับโฉมรายการเช้าใหม่โดยเพิ่มเรื่องเล่าเช้านี้ที่เรียกว่าส่งมาออกรบทันทีก็ตีข้าศึกได้กระจาย กลายเป็นรายการสามัญประจำบ้านที่เข้าถึงทุกครัวเรือน กระแสเรื่องเล่าเช้านี้เป็นเหตุให้แต่ละช่องต้องตั้งรับปรับรูปแบบรายการช่วงเช้ากันยกแผง มาถึงก๊อกสองช่อง 3 ปรับแผนการเสนอข่าวใหม่ภายใต้แนวคิด "ครอบครัวข่าว"


 


"โดยเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ประกาศตัวขอเป็นหนึ่งในสมาชิกทุกครัวเรือนทั่วประเทศไทยกับการเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ของ ครอบครัวข่าว ที่เสมือนหนึ่งว่าอยากให้ผู้ชมมีสมาชิกในบ้านเพิ่มขึ้นเพื่อมาเล่าข่าวให้ฟังชนิดที่อยากรู้เรื่องไหนไม่มีพลาดโดยมีผู้ประกาศข่าว ทั้งฝีมือและฝีปากชั้นแนวหน้าของเมืองไทยกว่า 20 คน มาประมวลข่าวชนิดครบรอบด้าน ครอบคลุมทุกประเด็นด้วยสโลแกน คุยข่าวตลอดวัน…อยู่ด้วยกันตลอดเวลา" (รายละเอียดเพิ่มเติมใน www.thaitv3.com)


 


ศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงนักเพราะเล่นด้วยการปรับและเปลี่ยนแบบโฉมของทั้งสถานี รายการ ผู้ดำเนินรายการซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคสื่อของประชาชน  ภาพการเสนอข่าวเป็นทางการแบบเมื่อก่อนมีให้เห็นน้อยลงแทนที่ด้วยภาพและเสียงเจื้อยแจ้วของทั้งผู้ประกาศชายหญิงหน้าตาและบุคลิกเกินมาตรฐานชวนกันคุยเรื่องข่าวและแสดงความคิดเห็นที่เป็นส่วนตัวกันอย่างกว้างขวาง นอกเหนือจากรูปแบบการเล่าข่าวแบบเป็นกันเองตามสไตล์เรื่องเล่าเช้านี้ คุยคุ้ยข่าว ที่ฮิตติดลมบนไปเรียบร้อยแล้ว


 


ล่าสุด  เป็นปรากฎการณ์ที่เห็นอยู่ในทีวีบ้านเรากับการนำรูปแบบวาไรตี้รายการข่าวมาเสนอเพิ่มขึ้น โดยส่วนหนึ่งใช้ดารา นักร้อง นักแสดงมาทำหน้าที่เป็นผู้เล่าเรื่อง ทั้งมาเดี่ยว มาคู่ มารวมหมู่เป็นก๊วนแล้วชวนกันคุยข่าว สาระสนทนามีขอบเขตไม่จำกัดตั้งแต่เรื่องเบาๆ อย่างข่าวดารา ข่าวชาวบ้าน เรื่องกีฬา ไปจนถึงกลุ่มก่อกวนเรื่องหนักเช่นการวิพากษ์รัฐบาลและนโยบายภาครัฐ เป็นต้น


 


หัวใจของการเสนอข่าวคือการรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสังคม โดยเฉพาะเรื่องที่มีประเด็นความน่าสนใจ มีความสำคัญและส่งผลกระทบต่อสมาชิกในสังคมทั้งในด้านความคิด พฤติกรรมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ สื่อจึงมีหน้าที่เป็นตัวกลางผ่านข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นที่เกิดขึ้นทั่วทุกสารทิศส่งต่อไปยังผู้บริโภคซึ่งหมายถึง ผู้ชม ผู้อ่าน ผู้ฟังให้ได้รับรู้ข่าวสารอย่างทันท่วงทีบนหลักการของการเสนอข้อเท็จจริงโดยปราศจากการปรุงแต่งจากอคติ และความคิดเห็นใดๆ   แต่ด้วยกระแสการเล่าข่าวผ่านรายการโทรทัศน์ที่กำลังเป็นที่สนใจอยู่ขณะนี้ ทำให้เกิดข้อสังเกตที่ว่าสาระน้ำหนักที่ผู้บริโภคควรจะได้จาก "ข้อเท็จจริง" ที่เป็นข่าวดูจะน้อยกว่าสาระบันเทิงที่ผู้ชมนิยมชมชอบในตัว "คน"  ที่เล่าข่าวทั้งจากบุคลิก ท่าที และการใช้ภาษาผ่านลีลาเฉพาะตน ข้อมูลข่าวสารที่ได้จึงเป็นข้อเท็จจริงผสมผสานกับความคิดเห็นตลอดจนการคาดเดาและคะเนความเป็นไปได้ในสายตาของผู้เล่าเรื่องที่กลายเป็นตรายี่ห้อของรายการและสถานีข่าวแห่งนั้น


 


"อันตราย" เหลือเกินหากผู้ทำหน้าที่เล่าข่าวลืมนึกถึงความจริงและหลักของการรายงานข้อเท็จจริงในวิชาชีพและจรรยาบรรณของ "คนข่าว"  แต่กลับเพลิดเพลินและสนุกสุดเหวี่ยงกับการละเลงข้อมูลที่ปรากฎอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ให้ละลายเป็นเนื้อเดียวกับความคิดเห็นหรืออคติส่วนตัว  จนทำให้ผู้บริโภคสื่อที่นิยมชมชอบในตัวผู้เล่าข่าวเหล่านั้นเกิดความสับสนและยากที่จะแยกได้สนิทใจว่าส่วนไหนคือข้อเท็จจริงและส่วนไหนเป็นความเห็นของผู้บอกเล่าเรื่องราว


 


เอกลักษณ์ของโทรทัศน์อยู่ที่การเป็นสื่อที่สามารถให้ความสด ทันสมัยและรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ประกอบกับธรรมชาติของสื่อที่สามารถนำเสนอความจริงผ่านภาพและเสียงได้ในเวลาเดียวกันทำให้เสน่ห์ของโทรทัศน์ต่างจากสื่อหนังสือพิมพ์ตรงที่สามารถรายงานเหตุการณ์ได้เร็วกว่า สดกว่าและทันเหตุการณ์มากกว่า แต่ภาพที่เห็นผ่านหน้าจอในรายการข่าวปัจจุบันกลับช้ากว่าสื่อที่ต้องผ่านกระบวนการพิมพ์อย่างหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์กลายเป็นเพียงช่องทางขยายความ "ข่าว" ในหนังสือพิมพ์ฉบับเมื่อวานหรือเมื่อเช้ามากกว่าที่จะเสนอความสดของเหตุการณ์สู่ผู้บริโภคได้เต็มศักยภาพ


 


ถึงแม้รายการเล่าข่าวจะมาช่วยเพิ่มเรตติ้งของการเปิดรับสื่อโทรทัศน์และช่วยถ่วงให้สัดส่วนรายการสาระมากขึ้นกว่าในอดีต  ในฐานะผู้บริโภคสื่อก็อยากเห็นพัฒนาการของผู้ทำหน้าที่เล่าข่าวในสถานีโทรทัศน์และวิทยุตอนเช้าทุกรายการทำการบ้านมากขึ้นด้วยการศึกษาข้อมูลเบื้องหน้าเบื้องหลังและเบื้องลึกให้ดีเกี่ยวกับข่าวก่อนนำเสนอด้วยการทำความเข้าใจกับประเด็นข่าวให้ครบถ้วน รวมทั้งปรารถนาจะเห็นภาพความเป็นกลางของสื่อเพื่อมวลชนที่มุ่งเสนอสาระและข่าวสารสู่ประชาชนมากกว่าการกำหนดบทบาทตัวเองเป็นศาลเตี้ยหรือศาลไคฟงตัดสินชีวิตของบุคคลในข่าวด้วยการคาดโทษประหารคนเหล่านั้นผ่านการออกความเห็น "เอามัน" แบบไร้ทิศทางที่ปราศจากหลักฐานอ้างอิง


 


ถ้าจะมีรายการเล่าข่าวรายการไหนสามารถเพิ่มคุณค่าให้รายการด้วยมีผู้เล่าข่าวทำหน้าที่เป็นผู้ "ล่า" ความจริงไปพร้อมกับการศึกษาข้อมูลโดยเฉพาะรายละเอียดที่เป็นข้อเท็จจริงของข่าวนั้นให้มากและสามารถจุดประเด็นความคิด ชวนคุย ชวนวิเคราะห์ข่าว และเหตุการณ์ที่กำลังเป็นปัญหาสังคมด้วยการเสนอข้อมูลอย่างรอบด้านได้มากกว่าความสามารถในการดำเนินรายการและการบริหารนิ้วมือด้วยทักษะ "กาง" "พับ" และ "พลิก" หนังสือพิมพ์เพื่ออ่านให้เราฟังตอนเช้าๆ ....


 


ก็คงจะดีกว่าที่เห็นและเป็นอยู่ไม่น้อย....


 


หมายเหตุผู้เขียน ** คิดถึงข่าวแปซิฟิกยุค ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล, คุณยุพา เพชรฤทธิ์ ฯลฯ คิดถึงคุณดุ่ย ในคุยขโมงหกโมงเช้า และดร.เจิมศักดิ์ ในรายการมองต่างมุม