Skip to main content

เมื่อ " ท่านผู้นำ " จะพัฒนาความสัมพันธ์กับสื่อ (กึ๋ย...)

คอลัมน์/ชุมชน

ท่านผู้อ่านศาลาสี่มุมรู้สึกอย่างไรครับ เมื่อท่านผู้นำประกาศว่า ท่านจะพัฒนาความสัมพันธ์กับสื่อมวลชน แต่มีสร้อยห้อยท้ายกำกับไว้ว่า ต้องเป็น สื่อมวลชนที่ " เคารพศักดิ์ศรีประเทศ " และ " ปรารถนาดีต่อบ้านเมือง "


โดยเนื้อหาแล้ว ก็ฟังดูดีจังนะครับ ที่ท่านผู้นำจะช่วยกันทำให้สื่อเคารพศักดิ์ศรีของประเทศ และปรารถนาดีต่อบ้านเมือง


แต่ในใจก็สงสัยอยู่เหมือนกันนะครับว่า จะพัฒนาความสัมพันธ์กับสื่อที่ " เคารพศักดิ์ศรีประเทศ " และ " ปรารถนาดีต่อบ้านเมือง " มันหมายความว่าอะไร จากมุมมองของใคร เช่น มุมของท่านผู้นำเบ็ดเสร็จ หรือมุมของนักสิทธิมนุษยชน มุมของเสนาบดีที่ดูแลสื่อ หรือมุมของผู้นิยมสื่อเสรี มุมของเจ้าพ่อเจ้าแม่ผู้ผลิตรายการวิทยุโทรทัศน์ หรือมุมของผู้ผลิตรายการของชุมชน มุมของนักธุรกิจการเมืองแบบกินรวบ หรือมุมของภาคประชาชนคนเสียภาษี


เชื่อแน่ว่า มุมของบุคคลที่มีผลประโยชน์ต่างกัน ก็ย่อมให้ความหมายที่ต่างกัน


ผมอยากจะยกตัวอย่างของสื่อหนังสือพิมพ์ไทยฉบับหนึ่งว่า เขาได้เคารพศักดิ์ศรีต่อประเทศ ปรารถนาดีต่อบ้านเมือง หรือไม่อย่างไร และผู้มีอำนาจได้ปฏิบัติต่อเขาอย่างเคารพศักดิ์ศรีต่อประเทศ และปรารถนาดีต่อบ้านเมือง หรือไม่


กรณีที่ว่าคือ การนำเสนอข่าวเอ็นท์ฯ รั่ว ของ นสพ.มติชน ซึ่งคณะวารสารศาสตร์ฯ ธรรมศาสตร์สนับสนุนทุนให้ทำวิจัยเรื่องนี้เอาไว้เมื่อปีกลาย


ผลการศึกษาพบว่า ข่าวเรื่องนี้เป็นที่สนใจของทีมงานมติชนมาก เพราะการสอบเอ็นท์กลายเป็น " สถาบัน " ที่สังคมไทยให้ความเชื่อมั่นสูงมากมานมนาน แต่เมื่อมีเงื่อนงำเกิดขึ้น อีกทั้งลูกของท่านผู้นำถูกสื่อและสังคมสงสัยว่า อาจจะได้ประโยชน์จากข้อสอบรั่วในครั้งนี้ มติชนก็เลยจัดทีมลุยทำข่าวนี้จนกระทั่งได้รับรางวัลข่าวชมเชยประจำปี 47 จากมูลนิธิอิศรา อมันตกุล


ข้อค้นพบหนึ่งที่น่าสนใจคือ ระหว่างการทำงานชิ้นนี้ มีการแทรกแซงกระบวนการการเข้าถึงข้อเท็จจริงของสื่อมวลชนในหลายรูปแบบ เช่น การทำให้ข่าวสารไหลช้าโดยที่ " ผู้ใหญ่ " ในกระทรวงฯ จะพูดแต่เพียงว่า " ยังไม่ได้รับรายงาน " หรือห้ามข้าราชการพูดคุยกับผู้สื่อข่าวของมติช


หรือเมื่อข้อเท็จจริงเริ่มปรากฏชัด " ผู้ใหญ่ " ก็จะลดแรงกดดันโดยการตั้งกรรมการสอบ ซึ่งกระบวนการสอบก็ค่อนข้างล่าช้า อีกทั้งยังมีกรณี " ผู้ใหญ่ " จัดตั้งกรรมการสอบสวนตัวเอง ซึ่งถือว่าเป็นการหา " ข้อเท็จจริง " ที่ไม่รู้ว่าจะได้ " ข้อเท็จจริง " ได้อย่างไร


นอกจากนี้กองบรรณาธิการมติชนยังถูกแทรกแซง เช่น " ผู้ใหญ่ " โทรศัพท์มาบอกให้งดการทำข่าว หรือผู้ถูกพาดพิงในข่าวขู่ฟ้องมติชน


ประเด็นสุดท้ายที่ค้นพบจากงานวิจัยก็คือว่า ทุกขณะที่ข่าวข้อสอบรั่วกำลังมีพัฒนาการถึงจุดหนึ่ง ๆ ก็มักจะมีข่าวใหม่อีกข่าวหนึ่งถูกสร้างให้เกิดขึ้น คล้าย ๆ กับพยายามดึงดูดความสนใจของสาธารณะจากเรื่องข่าวข้อสอบฯ รั่วไปสู่ข่าวใหม่


เช่น 5 มีนาคม 47 เมื่อมติชนเปิดข่าวว่ามีความผิดปกติในกระบวนการเตรียมข้อสอบฯ ในวันที่ 7 มีนาคม " ท่านผู้นำ " ได้ออกมาพูดว่ารู้สึกเหนื่อยแทนลูกสาวที่ต้องกวดวิชาหนัก เพื่อเตรียมเอ็นท์ฯ จึงได้ขอให้มีการจัดระเบียบโรงเรียนกวดวิชา ทว่าจนถึงขณะนี้ก็แทบจะไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงใด ๆ กับโรงเรียนกวดวิชาเหล่านั้น


ต่อมา 22-29 มีนาคม " ผู้ใหญ่ " ยอมรับว่าเอาข้อสอบและเฉลยมาเก็บไว้จริง ขณะที่ที่ประชุมอธิการบดีทั่วประเทศขอให้มีการตั้งกรรมการสอบเรื่องนี้ แต่ในอีกด้านหนึ่งระหว่าง 30 มีนาคม- 3 เมษายน มีข่าวใหญ่ตามสื่อหลายแห่งว่า ลูกของ " ท่านผู้นำ " ไปฝึกงานที่ภัตตาคารชื่อดัง ผู้หลักผู้ใหญ่พากันไปเยี่ยมและชื่นชมที่ใช้เวลาว่างอย่างสร้างสรรค์ แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่าไปฝึกงานจริง ๆ อยู่กี่วัน


หรือกรณีมีข่าวระหว่าง 24 – 30 เมษายนว่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ลดเกณฑ์การรับสมัครสอบเข้า ทำให้ลูกของ " ท่านผู้นำ " มีคุณสมบัติครบในการเข้าสอบได้ ถัดมา 1 พฤษภาคม " ท่านผู้นำ " ก็ออกมายกมือไหว้สื่อมวลชน ขอให้ยุติการนำเสนอข่าวนี้ โดยให้เหตุผลว่าอย่าดึงเอาเด็กไปยุ่งเกี่ยวด้วย


หลังจากนั้น 16 พฤษภาคม " ท่านผู้นำ " ก็มีดำริซื้อหุ้นทีมลิเวอร์พูล เกิดการแลกเปลี่ยนกันในสังคมอย่างกว้างขวางว่า ควรซื้อไหม เพราะอะไร ใช้เงินใครซื้อ หรือกระทั่งจะให้เชิญไมเคิล โอเวน มาลงนามในประเทศไทย ฯลฯ สุดท้ายปลายมิถุนายน เรื่องการซื้อหุ้นก็ยุติลงตรงที่ว่าไม่มีการซื้อใด ๆ เกิดขึ้นเลย


ขณะที่เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน รมว.ศึกษาธิการแถลงผลสอบของกรรมการ โดยย่อผลการสอบเหลือ 2 หน้ากระดาษว่าข้อสอบฯ ไม่รั่ว โดยไม่ยอมเปิดเผยเอกสารผลการสอบทั้งหมด เพราะเอกสารถูกตีตราเป็น " เอกสารลับ " ขณะที่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการสอบ ให้สัมภาษณ์ว่า รมว.ศึกษาธิการแถลงข้อมูลไม่ครบถ้วน


การทำงานของมติชน สะท้อนให้สังคมรู้ว่า ในยุคมืดของสังคมข่าวสาร ที่สื่อถูกแทรกแซงจาก " ท่านผู้นำ " และบริวารจนสื่อไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาหลายอย่าง เสนอได้แต่เพียงบางอย่าง แต่สื่อส่วนหนึ่งก็ยังมีความพยายามที่จะดิ้นรนนำข้อเท็จจริงมานำเสนอแก่สังคมได้อยู่บ้าง


ดังนั้นแล้ว การที่ท่านผู้นำประกาศจะพัฒนาความสัมพันธ์กับสื่อนั้น ผมเห็นว่า ท่านผู้นำกับสื่อควรจะมีระยะห่างออกจากกันให้เยอะ ๆ จะดีกว่า อย่าเข้าใกล้กันปานจะกลืนกินต่อไปอีกเลย


เพราะเวลานี้หันไปทางไหน ก็ล้วนแต่เจอสื่อที่ " เคารพศักดิ์ศรีประเทศ " " ปรารถนาดีต่อบ้านเมือง " เต็มไปหมด


จนท่านผู้นำประกาศอย่างมั่นอกมั่นใจว่า จะอยู่ต่ออีก 12 ปี (กึ๋ย...)