Skip to main content

Academy Fantasia เรื่องจริง หรือเรื่องโกหกผ่านหน้าจอ?

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


เสาร์นี้คุณจะโหวตให้ V ไหนดี ?


 


คำถามนี้คงไม่แปลกสำหรับแฟนรายการเรียลลิตี้เกมโชว์ที่เรตติ้งพุ่งกระฉูด  เพิ่มยอดสมาชิกเคเบิ้ลทีวี และ ยอดการใช้ sms บางยี่ห้อขณะนี้


 


รายการประเภทเรียลลิตี้โชว์ เริ่มเข้ามาเป็นที่รู้จักในเมืองไทยไม่เกินสามสี่ปีมานี้เอง จำได้ว่ารายการแรกๆ ที่ฮอทฮิตติดชาร์ตคือ พวกรายการนำเข้าจากเมืองนอกเพียวๆ ไม่ว่าจะเป็น "Survivor" "America’s Next Top Model"  "The Bachelor"  "American Idol" ฯลฯ  ข้อมูลจาก Nielson Media Research ระบุว่า รายการประเภทเรียลลิตี้โชว์ในสหรัฐนั้นมีเปอร์เซ็นต์สูงถึง 56% ของรายการทั้งหมด และมีสัดส่วนสูงถึง 69% เมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนรายการโทรทัศน์อื่นๆ ทั่วโลก


 


สำหรับเมืองไทยเราAcademy Fantasiaนับเป็น เรียลลิตี้เกมรายการแรกที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ สามารถสร้างกระแสความฮือฮาและสร้างปรากฏการณ์หลายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในรายการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการโหวตให้คะแนนผู้เข้าแข่งขันจากผู้ชมจนระบบ sms ล่มในปีที่แล้ว การตั้งกลุ่มแฟนคลับเชียร์ผู้เข้าแข่งขันโดยการส่ง sms ผ่านหน้าจอทีวีตลอด`24 ชั่วโมง หรือแม้กระทั่งการแจกใบปลิวเชียร์ผู้เข้าแข่งขันที่ตนเองชื่นชอบ ฯลฯ


 


ก่อนที่จะเข้าประเด็นที่คันมืออยากนำกระตุ้นต่อมคิดของผู้อ่านนั้น ขออ้างอิงความหมายที่ค้นมาจาก  http://www. en.wikipedia.org ก่อนนะคะ เค้าบอกว่า Reality Television หมายถึง รายการโทรทัศน์ที่ไม่มีการเขียนบท เป็นการถ่ายทำโดยใช้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และคนธรรมดาอย่างเรา ๆ เท่านั้นที่จะเข้าไปอยู่ในเกมนั้นๆ ได้  ดารานักร้องคนที่ประชาชนทั่วไปรู้จักไม่มีสิทธิ์เด็ดขาด นอกจากนี้เค้ายังแบ่งประเภทของรายการเรียลลิตี้ (Reality TV) ออกเป็นรูปแบบต่างๆ เช่น Celebrity reality vs. ordinary reality  เช่นรายการ The Bachelor    Hidden cameras เช่นรายการ Candid Camera หรือ Game shows เช่น Survivors   Big Brother และAcademy Fantasia เป็นต้น


 


ขอพูดเจาะเฉพาะ Reality game shows แล้วกันนะคะ แนวคิดหลักของการสร้างรายการประเภทนี้คือ ผู้เข้าแข่งขันจะถูกกล้องจับภาพการใช้ชีวิต ทำกิจกรรมต่างๆ ตลอด 24 ชั่วโมงในสภาพแวดล้อมปิด(Enclosed environment)ที่ทีมงานสร้างขึ้น ผู้เข้าแข่งขันทุกคนมีจุดหมายเดียวกันคือต้องการเป็นผู้ชนะในเกมนั้น นอกจากนี้คนดูยังมีส่วนร่วมในการตัดสินที่จะให้ใครเป็นผู้ชนะ ซึ่งโดยปกติการให้คะแนนจะมีผลให้ผู้ได้รับคะแนนโหวตน้อยสุดในแต่ละครั้งถูกคัดออกไปโดยปริยาย


 


เอาล่ะค่ะ ทีนี้เราลองมาดูกรณีของAcademy Fantasiaที่เค้าโปรโมทกันปาวๆ ว่าเป็นการนำเสนอเรื่องจริงผ่านหน้าจอนั้นเนี่ย มันคือเรื่องจริงทั้งหมด หรือเรื่องจริงเพียงครึ่งเดียว  มีนักวิจารณ์หลายท่านให้ความเห็นว่าการนำเอาผู้เข้าแข่งขันไปอยู่ในสถานที่ หรือสิ่งแวดล้อมที่ถูกปิด (Enclosed environment) หรือแม้กระทั่งการนำไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ผิดไปจากการใช้ชีวิตอยู่อย่างปรกติเช่น การนำผู้แข่งขันไปอยู่ในบ้าน ที่มีกล้องติดอยู่ทั่วบ้านนั้นโดยไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับผู้ใดนอกจากทีมงานได้เลย อาจจะพูดได้ไม่เต็มปากนักว่าเป็นเรียลลิตี้เกมจริง ๆ 


 


ถ้าจะมองกันอย่างวิเคราะห์เจาะลึกคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ผลิตรายการนั้นเป็นฟันเฟืองสำคัญที่สามารถกำหนดรูปแบบ สร้างกระแสหรือสร้างสถานการณ์ให้ผู้เข้าแข่งขันคนใดคนหนึ่งดูเป็นฮีโร่ หรือเป็นเหยื่อ  หรือแม้กระทั่งอาจมีส่วนในการกำหนดผลลัพธ์ที่ได้ออกมาในแต่ละครั้ง ในทำนองเดียวกันผู้ผลิตอาจสร้างสถานการณ์ให้เกิดความท้าทาย ความขัดแย้ง ฯลฯ  


 


ซึ่งตัวแปรต่างๆ เหล่านี้สามารถกระตุ้นให้ผู้เข้าแข่งขันแสดงพฤติกรรมบางอย่างหรือส่งผลให้ของผู้ชมให้หรือไม่ให้คะแนนโหวตกับผู้เข้าแข่งขันได้ เช่น กระแสจุ้มจิ้มฟีเวอร์เมื่อปีที่แล้ว ที่ดูเป็นบุคลิกที่เป็นนางเอกอ่อนหวาน จิตใจดี หลายคนวิจารณ์ว่าเธอได้เพลงค่อนข้างง่ายกว่าคนอื่นๆ   ปรากฏการณ์ระบบ sms ล่มที่หลายคนแห่กันลงคะแนนเสียเงินกันไปหลายสตางค์ และต้องมาโหวตกันใหม่โดยทางรายการให้เหตุผลว่าเป็นอุบัติเหตุ


 


นี่เป็นเพียงตัวอย่างเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งดิฉันก็เป็นผู้ชมรายการนี้คนหนึ่ง (ที่ไม่ยอมเสียเงินโหวต) จนกระทั่งมาถึงปีนี้ หลายเหตุการณ์ทำให้ต้องกลับมานั่งตั้งคำถามกับตัวเองในฐานะที่เป็นแฟนประจำAF คนหนึ่ง ว่ารายการนี้นำเสนอเรื่องจริงผ่านจออย่างที่ว่าหรือไม่?  การสร้างกติกาการโหวตคนตกรอบให้กลับเข้ามาได้อีกโดยที่ผู้เข้าแข่งขัน และคนดูไม่รู้มาก่อน การสร้างสถานการณ์ให้ผู้เข้าแข่งขันที่ไม่ตกรอบซ้อมกันอย่างหนัก และไม่ได้ขึ้นเวทีแข่งขันจริงในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยอ้างว่าเป็นการให้โอกาสคนที่ตกรอบได้พิสูจน์ตัวเองอีกครั้ง  การนำผู้เข้าแข่งขันทั้งห้าคนที่ (คนดูคิดว่า) ตกรอบไปเรียบร้อยแล้วมาให้สัมภาษณ์ทางรายการของ Academy Fantasia โดยลักษณะของการตั้งคำถาม และการให้สัมภาษณ์เปรียบเสมือนกับพวกเขาจะไม่ได้มีโอกาสกลับเข้ามาพิสูจน์ความสามารถอีกครั้ง


 


ปรากฏการณ์ต่างๆ เหล่านี้ทำให้นึกถึงหนังเรื่อง "Truman Show" หนังเรื่องนี้มีความเหมือนและความต่างกับ เรียลลิตี้เกมโชว์ "Academy Fantasia" เหมือนตรงที่การนำเสนอเรื่องราวเป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมปิดให้กับผู้ที่ถูกกล้องถ่ายอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง เหมือนตรงที่สถานที่ที่ตัวละคร หรือผู้เข้าแข่งขันอยู่นั้นเป็นเวทีสำหรับสินค้าแบรนด์ดังต่าง ๆ จับจองเนื้อที่เพื่อโฆษณาตอกย้ำแบรนด์ตนเอง เช่น Truman Show มีอาหารยี่ห้อ Spam ที่จะต้องวางไว้ในครัวสำหรับอาหารมื้อเช้าเสมอ  สำหรับรายการ AF อย่างที่เห็นๆกันอยู่เสื้อผ้าแบรนด์ดังอย่าง Nike น้ำดำอย่าง Pepsi Cola  ตู้เย็นยี่ห้อ Sharp ฯลฯ เสนอตัวเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนรายการนี้อย่างไม่อั้น


 


และความเหมือนอีกอย่างคือผู้ผลิตรายการทั้งสองเรื่องดูเหมือนว่าจะสามารถสร้างสถานการณ์บางอย่างให้ตัวละคร หรือผู้เข้าแข่งขันแสดงพฤติกรรมที่พวกเขาอยากให้เกิดขึ้นได้ เช่น  การทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองจนพระเอกในเรื่องต้องผจญภัยในเรือคนเดียว หรือการระงับการขึ้นเวทีประกวดของผู้เข้าแข่งขันที่เหลือทั้งเจ็ดคนในอาทิตย์ที่ผ่านมาในรายการ AF จนทำให้เขาเหล่านั้นเกิดความสับสน 


 


เช่น  กระทู้ใน http://www.ubcaf.com  หัวข้อ "พัด" ระบายความในใจ  ค่ำคืนนี้ชั้นเป็นได้แค่ตัวประกอบ เป็นต้น  อย่างไรก็ตามความต่างของทั้งสองเรื่องนี้ก็มีอยู่บ้าง เช่น ระดับการมีส่วนร่วมในการตัดสินของคนดูเรื่อง Truman Show นั้น  คนดูเป็นเพียงแค่คนดูเฉยๆ ที่ไม่มีหน้าที่ในการให้คะแนนหรือตัดสินสิ่งที่เกิดขึ้นกับพฤติกรรมที่ตัวละครแสดงออก ตรงข้ามกับกรณีของ AF ที่คนดูมีส่วนในการตัดสินให้ผู้เข้าแข่งขันคนใดตกรอบหรือเข้ารอบ โดยการกด SMS ผ่านมือถือที่เป็นสปอนเซอร์รายใหญ่ 


 


ตรงนี้เองที่น่าคิดว่าเราในฐานะที่ทำหน้าที่เป็นคนดูนั้นอาจมีสิทธิตกเป็นตัวละครตัวหนึ่งที่ถูกผู้ผลิตดึงเข้าไปร่วมใส่สีสัน และเรื่องราวให้กับเกมโดยการเสียเงินกด SMS ส่งข้อความถึง V ที่เราชื่นชอบ หรือระดมกันกดโทรศัพท์ให้คะแนนกับผู้เข้าแข่งขันทุกอาทิตย์หรือไม่ 


 


การมานั่งคิดตอนนี้ว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในรายการเรียลลิตี้เกมนี้เป็นการนำเสนอเรื่องจริงผ่านหน้าจอทั้งหมด  คงไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่สุดในขณะนี้  ข้อเขียนนี้ต้องการย้ำอีกครั้งให้ผู้ดู และแฟนคลับของทุกๆ V รับชมเรียลลิตี้เกมส์อย่างมีสติ และระลึกไว้อีกด้านเสมอว่าทุกครั้งที่คุณโหวตคุณอาจตกเป็นส่วนหนึ่งของการถูกกำกับโดยรายการอย่างไม่ทันรู้ตัวเลยก็เป็นได้