Skip to main content

ทักษิณี เบนโล

คอลัมน์/ชุมชน



 


ผ่านไปเกือบสัปดาห์แล้วครับ แต่ยูเอ็นเอชซีอาร์ หรือ สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ยังเก็บข้อมูลไม่เสร็จว่า การที่คนไทยมลายู ๑๓๑ คนหนีจากแผ่นดินไทย เพื่อไปขอลี้ภัยที่มาเลเซียนั้น มีเหตุผลมาจากอะไรกันแน่ ใช่ประเด็นที่อ้างกันว่าถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐข่มขู่คุกคามหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือเปล่า


 


แต่ท่านผู้นำของเรา ใช้เวลาเพียงข้ามคืนหลังเกิดเหตุ อธิบายการหนีไปของคน ๑๓๑ คนว่า เป็นวิชามารเพื่อทำให้ปัญหาภาคใต้เป็นเรื่องระหว่างประเทศ (มติชน ๓ ก.ย.๔๘)


 


 ‘ไม่มีหรอก อยู่ประเทศไทยปลอดภัยที่สุด ความไม่ปลอดภัยเพราะว่าเป็นเรื่องที่พวกโจรฆ่าชาวบ้านที่บริสุทธิ์ ไม่ใช่ไม่ปลอดภัยเพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐ’ (กรุงเทพธุรกิจ ๔ ก.ย.๔๘)


 


ขณะที่ รมว.ต่างประเทศ ที่ท่านผู้นำปั้นมากับมือ ไม่แน่ใจว่าให้สัมภาษณ์ในเรื่องเดียวกันกับท่านผู้นำหรือเปล่า ว่า ‘ต้องตรวจสอบที่มาถึงข่าวลือที่ทำให้คนกลัว’ (มติชน ๔ ก.ย.๔๘)


 


ผมจับซุ่มเสียงของท่านผู้นำและคณะพรรค ก็ดูเหมือนว่าจะพยายามยุติข่าวนี้ลงให้ได้เร็วที่สุด ไม่รู้เกี่ยวกับการที่ในวันที่ ๑๓-๑๖ ก.ย.นี้ เขาไปประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ – องค์กรนานาชาติที่เขาเคยพาดพิงถึงว่า ‘ไม่ใช่พ่อ’ รึเปล่า


 


ในระหว่างที่ยูเอ็นเอชซีอาร์ กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อวินิจฉัยว่า สมควรให้คนไทยมลายู ๑๓๑ คนนี้ได้ลี้ภัยหรือไม่  ผมพยายามทบทวนข้อมูลจากแหล่งข้อมูลสาธารณะต่างๆ เพื่อดูว่า ข้ออ้างที่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐข่มขู่คุกคามและละเมิดสิทธิชาวไทยมลายู มันเป็นเรื่องชัวร์หรือมั่วนิ่มแค่ไหน เพียงใด


 


ตัวอย่างแรก อับดุลรอนิง อาแว ๑ ใน ๑๓๑ คน ให้สัมภาษณ์แก่โทรทัศน์ช่อง ๓ มาเลเซียว่า พวกเขาที่อพยพเข้ามานี้ ถูกกดขี่ข่มเหงจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย และไม่สามารถอยู่อาศัยในประเทศไทยได้ เนื่องจากไม่มีความปลอดภัย จึงมาขอความช่วยเหลือจากมาเลเซีย (ศูนย์ข่าวอิศรา อ้างในกรุงเทพธุรกิจ ๔ ก.ย.๔๘)


 


รูปธรรมถัดมาที่ชัดเจนขึ้น ก็คือเหตุการณ์ที่นักศึกษา มอ.ปัตตานี ๖ คน ที่สนใจใฝ่รู้ในปัญหาความรุนแรง จึงได้เข้าไปศึกษาเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชุมชนต่างๆ ด้วยตัวเอง


 


อับดุลเลาะ เต๊ะหละ ๑ ใน ๖ นักศึกษา ให้สัมภาษณ์ถึงข้อมูลเรื่องหนึ่งที่เขาค้นพบว่า ‘มีกำนันคนหนึ่งขับรถกระบะกำลังจะไปยะลา ถูกชาย ๒ คนแต่งชุดดาวะห์ขี่มอเตอร์ไซค์ตามประกบ พอดีพรรคพวกของกำนันคนนี้ผ่านมา ก็เข้ามาช่วย สุดท้ายยิงชายชุดวาดะห์เสียชีวิต


 


เมื่อไปเปิดเสื้อดู เจอเสื้อเกราะอยู่ด้านใน พอเจ้าหน้าที่มาเคลียร์พื้นที่ ก็นำศพไปเลย ไม่มีการสอบสวน’


 


ผลของการใฝ่รู้ ไม่นิ่งดูดายต่อปัญหาของชุมชน ทำให้นักศึกษากลุ่มนี้ถูกชายฉกรรจ์ในเครื่องแบบพร้อมอาวุธค้นบ้านตอนตี ๒ โดยให้นักศึกษานั่งรวมกัน ชายในเครื่องแบบ ๒-๓ คนยกอาวุธส่องไปยังเยาวชนที่มีแต่มือเปล่า


 


เมื่อเรื่องการค้นบ้านนี้ถูกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติออกมาโจมตี ไม่กี่วันถัดมา ชายฉกรรจ์ก็ไปเคาะประตูบ้านนักศึกษาเพื่อบอกว่า ‘เก่งนักนะ ได้ข่าวว่าไปร้องเรียนถึงกรรมการสิทธิ์’ หลังจากนั้น นักศึกษากลุ่มนี้ก็ถูกค้นบ้านอีก ๓ ครั้งซ้อน (กรุงเทพธุรกิจ ๑๔ ส.ค.๔๘)


 


ยังไม่หมดครับ ยังมีอีก ศุภรา จันทร์ชิดฟ้า นักข่าวบางกอกโพสต์ เขียนลงในนิตยสารสารคดี ฉบับเดือน ก.พ.๔๘ เล่าถึงเหตุการณ์ที่ชาวบ้านไทยมลายูถูกกระทำ เช่น กรณีมาลาตี มาแซะ อดีตทหารเกณฑ์ค่ายทหารกองพันพัฒนาที่ ๔ ถูกอุ้มไปจากบ้านต่อหน้าเมียและลูก


 


สิหามะ ภรรยาของมาลาตี เล่าให้ฟังว่า มีชายหลายคนซึ่งใช้ผ้าคลุมหน้าคลุมตา มาที่บ้านของเธอ และนำตัวมาลาตีไป


 


สี่วันต่อมา มีคนพบศพของมาลาตีที่สะพานตรงรอยต่อระหว่างบ้านมะยูงกับบ้านปะนาเระ คืนนั้นชาวบ้านได้ยินเสียงเฮลิคอปเตอร์บินในระดับตํ่า ร่างของมาลาตีเหมือนถูกโยนลงมาจากที่สูง นอกจากนี้ร่างยังเต็มไปด้วยบาดแผลที่ถูกตีด้วยของแข็ง เท้าไหม้เหมือนถูกไฟฟ้าชอร์ต


 


ศุภรา อ้างอิงคำพูดชาวบ้านที่ญาติถูกอุ้มไปว่า พวกเขาเชื่อในความบริสุทธิ์ของญาติ แต่ถ้าญาติของพวกเขาผิดจริง ทำไมไม่จับไปไต่สวนตามกระบวนการยุติธรรม การใช้อำนาจของกฎอัยการศึกโดยไร้ขอบเขต ยิ่งสร้างความโกรธแค้นให้แก่ชาวบ้าน


 


ส่วนประธาน กอส. อานันท์ ปันยารชุน เคยบรรยายเมื่อวันที่ ๖ ก.ค.๔๘ ถึงรายงานเหตุการณ์กรือเซะ และตากใบ ว่า ‘อ่านไปแล้วก็น่าเป็นห่วงว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติตัวกันอย่างไร เห็นคนเป็นสัตว์หรืออย่างไร ไม่ให้ความเคารพนับถือมนุษย์ทั่วไปหรืออย่างไร เขาไม่ใช่วัวไม่ใช่ควายนะครับ ที่จะโยนขึ้นบนรถกระบะ แล้วใครรับผิดชอบบ้างครับ ไม่มี’ (www.prachatai.com)


 


ถัดมา เมื่อวันที่ ๓๑ ส.ค. ๔๘ จอน อึ๊งภากรณ์ สว.กทม.กล่าวในพิธีรับรางวัลรามอน แมกไซไซ ตอนหนึ่งว่า ‘มีรายงานมากมายที่ชี้ว่า มีตำรวจและทหารบางส่วนที่ปฏิบัติต่อชาวมุสลิมในพื้นที่ในลักษณะที่ขัดต่อหลักนิติธรรม โดยมีข้อหาเกี่ยวกับการอุ้ม การฆ่า การทรมาน ข่าวเหล่านี้ทำให้ประชาชนในพื้นที่จำนวนมากเกิดความไม่พอใจ และไม่ไว้วางใจต่อหน่วยงานด้านความมั่นคง’ (ไทยโพสต์ ๑ ก.ย.๔๘)


 


สุดท้าย จดหมายเปิดผนึกของ Human Rights Watch ยื่นต่อท่านผู้นำ ลงวันที่ ๔ ส.ค. ๔๘ ชี้ว่า ‘ยังไม่ปรากฏว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐคนใดที่ต้องรับผิดต่อการลักพาตัว การทรมาน และการฆาตกรรมที่เกิดขึ้นภายใต้ปฏิบัติการต่อต้านกลุ่มติดอาวุธในภาคใต้ของประเทศไทย’


 


ผมทบทวนข้อมูลที่หามาข้างต้นแล้ว (ความจริงมีมากกว่านี้ แต่พรรณนาต่อไปไม่ไหวแล้วครับ) ก็รู้สึกว่า ไม่ว่าการวินิจฉัยของยูเอ็นเอชซีอาร์ในการพิจารณาให้คนไทยมลายู ๑๓๑ คนได้ลี้ภัย จะออกมาเป็นอย่างไร ก็คงชดเชยไม่ได้กับความรู้สึกของพี่น้องไทยมลายูที่ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ด้วยนํ้ามือของผู้กินเงินเดือนที่มาจากภาษีประชาชน แต่นิยมใช้อำนาจในการแก้ปัญหา


 


และไม่ว่าท่านผู้นำจะใช้ยาขนานใดเพื่อยุติข่าวการลี้ภัยของคนไทยมลายู ๑๓๑ คนนี้ ก็คงยากที่จะหยุดข่าวได้


 


เพราะท่านผู้นำเพิกเฉยต่อสาเหตุที่แท้จริงของโรค และยังมีความเข้าใจเรื่องคุณสมบัติของยาอย่างคลาดเคลื่อน (โคตรๆ)