Skip to main content

มติชน..เพื่อประชาชน (อีกสักครั้ง)

คอลัมน์/ชุมชน

 


วันจันทร์ที่ผ่านมา คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกับนักวิชาการ นักวิชาชีพสื่อสารมวลชน นักศึกษาและประชาชนที่สนใจเสวนาโต๊ะกลมในหัวข้อ  "ผ่าทางตันธุรกิจการเมือง บ่อนทำลายเสรีภาพประชาชน"  ที่ไปที่มาของการจัดเสวนามาจากการกว้านซื้อหุ้นบริษัทมติชน (แบบไม่เป็นมิตร) จำนวน 32.23% และหุ้นบริษัทโพสต์ พับลิชชิ่ง อีก 23.6% โดยบริษัทจี เอ็ม เอ็ม มีเดีย ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง


 


เสาร์อาทิตย์ที่แล้ว แม้ว่าจะมีข่าว (หวาน) ชื่นมื่นของสองผู้บริหารมติชน แกรมมี่ จับมือกัน เป็นภาพตอนจบการเทคโอเวอร์ที่อากู๋ยอม "ถอย" ขายหุ้นร้อยละ 12.23% หรือ 25 ล้านหุ้นกลับไปให้คุณขรรค์ชัยในราคาที่ซื้อมาหุ้นละ 11.10 บาท เป็นเงิน 278 ล้าน แต่ที่หลายคนเชื่อว่าเป็น "ชัยชนะ" แท้จริงอาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของขบวนการนายทุนกินรวบสื่อที่นำไปสู่วิกฤตการณ์ภาคประชาชน รวมตัวกันแสดงจุดยืน "ขอเสรีภาพของเราคืน"  จนอาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์ สว.กรุงเทพมหานครและนักวิชาการหลายท่านกล่าวในวงเสวนาวันก่อนว่า "การถอยของแกรมมี่ยังไม่สิ้นสุด และยังไม่ใช่ชัยชนะที่แท้จริง เป็นเพียงการถอยเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น"


 


สิ่งที่ประชาชนควรตระหนักคืออย่าปล่อยให้โดนหลอก แต่ต้องต่อสู้ต่อไปเพื่อทวงสิทธิ์ในการรับรู้ข่าวสารและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นคืนมา ซึ่งน่าจะเป็นรูปแบบการทำงานคู่ขนานทั้งการรวมกันของสื่อ พลังภาคประชาชน การมีส่วนร่วมในสื่อทางเลือก และการเดินหน้าในปฏิบัติการปฏิรูปสื่อ ตลอดจนความชัดเจนในตัวบทกฎหมายที่จะต่อต้านเผด็จการอำนาจทุนนิยมในสังคมเสรีประชาธิปไตย


 


สัปดาห์ที่ผ่านมา สังคมให้ความสนใจข่าวนี้ จนก่อให้เกิดปฏิกิริยาความเคลื่อนไหวทั้งจากกลุ่มนักวิชาการ องค์กรอิสระ ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่เฝ้าดูด้วยความเป็นห่วง สุดท้ายรวมตัวเป็นกลุ่มเพื่อนมติชน หรือกลุ่มอื่นๆ ที่อยู่ข้างเดียวกับสื่อที่ไม่ต้องการถูกกินรวบจากธุรกิจการเมืองมาร่วมระดมความเห็น และชุมนุมผ่านสื่อที่เปรียบเป็นสัญลักษณ์แสดงอธิปไตยและเสรีภาพอันชอบธรรมของประชาชน  สุดท้ายได้ระบายความอึดอัดและออกมาเรียกร้องจนเกิดข้อสรุปประชาฉันท์ที่จะ "ไม่อนุญาต" ให้แกรมมี่เข้ามาถือหุ้นส่วนใหญ่ในหนังสือพิมพ์มติชน


 


เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดความสนใจของสาธารณะในวงกว้าง นำไปสู่อารมณ์และความรู้สึกร่วมที่จะต้านกระแสนายทุนควบสื่อ สุดท้ายพัฒนาความสนใจและความรู้สึกดังกล่าวสู่การเคลื่อนไหวภาคประชาชนเพื่อร้องเรียกเสรีภาพให้กลับคืนสู่เจ้าของที่แท้จริง


 


เดือนกันยายน..เป็นอีกเดือนที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์แห่งการรายงานข่าว เป็นกรณีตัวอย่างสำหรับนิสิตนักศึกษาสื่อสารมวลชนที่ต้องการข้อมูลเพื่อศึกษาแนวคิด คุณค่าและองค์ประกอบของเหตุการณ์ ก่อนจะมาเป็นข่าวผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ซึ่งมีเนื้อหาและผลกระทบจากการเสนอข่าวที่แตกต่างกัน เริ่มต้นที่...


ข่าวที่หนึ่ง 2 กันยายน : เจ้าหญิงมายา เบนโล และ "แหม่มเพิ่งรู้"(ว่าท้อง)


ข่าวที่สอง 7 กันยายน : มือมีด โรงเรียนเซนโย และอาชญากรโรคจิต ?


ข่าวที่สาม 13 กันยายน : ทุนนิยม ปฏิบัติการประชาชน และการทวงคืนเสรีภาพ กรณีแกรมมี่ vs มติชน


 


เจ้าหญิงมายา เบนโล และ "แหม่มเพิ่งรู้"(ว่าท้อง)


 


 "คุณน้องแหม่ม"  คัทลียา แมคอินทอช เป็นนักแสดง พิธีกรที่มีความสามารถและเป็นที่รักของประชาชน ด้วยเหตุแห่งการครองตนเป็นแบบอย่างที่ดีของวัยรุ่นและคนไทยมาโดยตลอด การแถลงข่าวของคุณแหม่มถือเป็นการตกลงปลงใจที่จะ "เป็นข่าว" ในทรรศนะที่ไม่สามารถนำไปรวมกับข้อโต้แย้งในประเด็นละเมิดสิทธิส่วนบุคคลได้


 


 "คนไทยรับไม่ได้กับการโกหก" น่าจะเป็นคำอธิบายที่เหมาะสมสำหรับเหตุการณ์ "after shock" ครั้งนี้  รวมทั้งเป็นกรณีศึกษาได้อย่างดีสำหรับแวดวงประชาสัมพันธ์โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับบทที่วางไว้ตลอดจนการประเมินค่ากลุ่มเป้าหมาย  ซึ่งเป็นทั้งผู้รับสารและผู้ชี้ขาดที่ต้องการความจริงใจจากแหล่งข่าว  ครั้งนี้ถือว่าคุณแหม่มสอบตกเพราะกระบวนการเตรียมการ วิธีการแถลงข่าว และบทรับส่ง "สองพี่น้อง" ไม่ "เนียน" พอที่จะหลอกคนให้เชื่อได้อย่างสนิทใจ จนก่อให้เกิดกระแสต้านคัทลียาผ่านรายการโทรทัศน์และคอลัมน์ต่างๆ ในหนังสือพิมพ์ค่อนข้างรุนแรง


 


ข่าวคุณแหม่มเป็นภาพสะท้อนให้เห็นบทบาทความรับผิดชอบของความเป็นบุคคลสาธารณะที่ถูกจับจ้องอยู่ในความสนใจของประชาชนอยู่เสมอ  และจากความสนใจดังกล่าว  สื่อจึงต้องนำเสนอความเคลื่อนไหวของคุณแหม่มในหลายแง่มุมผ่านข่าวและบทวิเคราะห์ที่พูดถึงผลกระทบพฤติกรรมในมิติต่างๆ ของสังคมเพื่อตอบสนองความสนใจของผู้อ่านที่กำลังเฝ้ารออย่างใจจดจ่อ


 


มือมีด โรงเรียนเซนโย และอาชญากรโรคจิต ?


 


นับตั้งแต่คดีสะเทือนจิตที่นางสาวจิตรลดา ตันติวาณิชยสุข มือมีดบุกเข้าไปแทงนักเรียนเซนโยเซฟคอนแวนต์จนได้รับบาดเจ็บเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ข่าวนี้ได้กลายเป็นข่าวใหญ่ประจำสัปดาห์ที่ทั้งสื่อมวลชนและประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในประเด็นการป่วยเป็นโรคจิตหรือไม่ของผู้ต้องหา  และถึงแม้ว่าทางสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์และกรมสุขภาพจิตจะยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดจนกว่าจะถึงปลายเดือนนี้เนื่องจากต้องรอ 2 สัปดาห์เพื่อสังเกตการณ์ผู้ป่วยในกลุ่มอาการหวาดระแวง  แต่สังคมก็ได้ตัดสินเธอผ่านสื่อแล้วเรียบร้อย ทั้งฉายา "ทอมโรคจิต" "อาชญากรโรคจิต" "สาวเพี้ยน" "สาวมือมีดจิตโหด" "สาวโรคจิต" โดยไม่ต้องรอผลตรวจสอบสภาพจิตให้ชักช้าเสียเวลา


 


เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในความสนใจของประชาชน โดยเฉพาะในมุมของความปลอดภัยและห่วงสวัสดิภาพลูกหลาน  เนื้อหาข่าวที่นำเสนอไม่ได้เป็นเพียงข้อมูลเพื่อสนองตอบต่อความสนใจและใคร่รู้ของประชาชนเหมือนกรณีคุณน้องแหม่ม หากแต่ยังมีมิติของการเปลี่ยนแปลงและเคลื่อนไหวในมาตรการป้องกันเหตุร้ายดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นในโรงเรียนทั้งระบบรักษาความปลอดภัย ระบบแสดงบัตรประจำตัวผู้ปกครอง รวมทั้งประเด็นการผลักดันพระราชบัญญัติสุขภาพจิตต่อเนื่องสู่การทำประชาพิจารณ์เพื่อหาความชัดเจนในส่วนการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลก็ถูกหยิบยกมาพูดอีกครั้ง


 


ทุนนิยม ปฏิบัติการประชาชน และการทวงคืนเสรีภาพ กรณีแกรมมี่ vs มติชน


 


นอกเหนือจากความสนใจในประเด็นข่าวการซื้อหุ้นมติชนของแกรมมี่ โยงกลับไปสู่การซื้อหุ้นบริษัทโพสต์ เครือเนชั่นของตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ ไอทีวีของชินคอร์ป ฯลฯ เมื่อรวมกันจึงเกิดข้อกังขาและหลีกเลี่ยงไม่ได้กับคำถามของประชาชนในฐานะผู้เป็นเจ้าของประเทศที่จะไม่ไว้วางใจในความไม่สร้างสรรค์ของการควบรวมกิจการธุรกิจทุน ธุรกิจการเมืองและธุรกิจสื่อแบบม้วนเดียวจบ


 


การนำเสนอข่าวโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ครั้งนี้จึงไม่ใช่เพียงเพื่อสนองตอบต่อความสนใจของประชาชนเหมือนกรณีคุณคัทลียา หรือไม่ใช่เพียงแต่การออกมาตรการป้องกันหรือเตรียมทำประชาพิจารณ์กฎหมายสุขภาพจิตเหมือนกรณีคุณจิตรลดา หากแต่มีพลังมากขึ้นด้วยการขยายวงไปสู่การเคลื่อนไหวที่จะเรียกร้องเสรีภาพประชาชนให้กลับคืนมาในเชิงปฏิบัติ เพื่อแสดงออกถึงเสรีภาพในการรวมกลุ่ม (freedom of association) ของประชาชน


 


ทั้งสามเหตุการณ์เป็นตัวอย่างของการทำหน้าที่สื่อเพื่อมวลชน ตอกย้ำความสำคัญของสื่อที่ทำงานเพื่อประชาชน ผู้ที่มอบความไว้วางใจให้เป็นตัวแทน เป็นปากเสียงด้วยการตรวจสอบความถูกต้องผ่านหลักการของวิชาชีพสื่อที่มีหัวใจเสรีบนการทำงานที่เป็นอิสระ ตอบความสนใจในเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและที่สำคัญเน้นย้ำบทบาทของสื่อมวลชนที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการบรรยากาศการเคลื่อนไหวเพื่อทวงสิทธิ์และถามถึงเสรีภาพอันชอบธรรมทั้งเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสาร การแสดงความคิดเห็น และท้ายที่สุดเสรีภาพในรวมกลุ่มชุมนุมเพื่อทวงคืนอิสรภาพของ "สื่อ" สัญญนิยามประชาธิปไตยแท้จริงให้กลับคืนมา


 


การเคลื่อนไหวเพื่อ "มติชน" ของประชาชนในครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการทำเพื่อหนังสือพิมพ์เพียงฉบับเดียว หากแต่หมายรวมถึงการร่วมเป็นแนวรบเดียวกับสื่อมวลชนทุกแขนงเพื่อทัดทานอำนาจทุนในบรรยากาศการคุกคามผ่านการแทรกแซงสื่อจากนาย (ทุน) ใหญ่เบื้องหลังผู้คุ้นเคย


 


การเคลื่อนไหวเพื่อ "สื่อ" ของประชาชนครั้งนี้เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นถึงการ "รวมกัน" ของคนที่ต้องการเสรีภาพทุกตารางนิ้วกลับคืนจากความพยายาม "รวบกิน" ของนาย(ทุน)ใหญ่เบื้องหลังผู้คุ้นเคย


 


และการเคลื่อนไหวของมวลชนเพื่อ "สถาบันสื่อ" ครั้งนี้เป็นตัวอย่างให้เห็น "พลัง" ของการมีส่วนร่วมภาคประชาชนที่เลือกอยู่เคียงข้างสื่อที่เชื่อว่ามีคุณภาพและพร้อมกล้าชนกับนาย(ทุน)ใหญ่เบื้องหลังผู้คุ้นเคย


 


โปรดอย่าทำให้เราผิดหวัง!!!


 


หมายเหตุ : รับฟังเสียงการเสวนาผ่าทางตันฯ จัดโดยคณะวารสารศาสตร์ มธ. ที่ http://www.jc.tu.ac.th