Skip to main content

เอดส์รักษาได้

คอลัมน์/ชุมชน

 


เชื่อแน่ว่า ผู้อ่านศาลาสี่มุมคงจะคุ้น ๆ กับคำขวัญที่ว่า " เอดส์เป็นแล้วตาย" ที่รณรงค์กันมานมนานและเชื่อแน่อีกเหมือนกันว่า บางคนอาจจะตกใจด้วยซํ้าหากพูดไปในทิศทางใหม่ว่า " เอดส์รักษาได้" และคงนึกในใจ " พูดผิด พูดใหม่ได้นะเพ่"


ที่จริง เอดส์เป็นแล้วตาย เป็นประโยคที่นานาชาติและองค์การอนามัยโลกรณรงค์ให้ช่วยกันเลิกพูด (และเลิกเชื่อ) เพราะการพูดเช่นนั้นนอกจากไม่เป็นความจริงแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการรักษาพยาบาล และคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวีด้วย


ที่ว่า " เอดส์เป็นแล้วตาย" ควรกลายเป็นเรื่องอดีต ที่ไม่หวนกลับก็เพราะว่า เวลานี้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี อันเป็นสาเหตุของภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเอดส์ สามารถดูแลสุขภาพตัวเองได้ไม่ยากมากนัก กล่าวคือ เมื่อร่างกายรับเชื้อไปแล้ว ๕-๗ ปีแรก ก็แทบจะไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะเอชไอวียังทำลายภูมิคุ้มกันของเราไปไม่มากนัก


ต่อมาเมื่อภูมิคุ้มกันเริ่มลดลง เริ่มเจ็บป่วยด้วยโรคฉวยโอกาสต่าง ๆ ผู้ติดเชื้อและแพทย์ก็สามารถช่วยกันรักษาโรคติดเชื้อเหล่านั้นได้ทุกโรค เช่น ปอดอักเสบ วัณโรค เชื้อราเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฯลฯ


พูดง่าย ๆ คือ เจ็บโรคไหน ก็รักษาโรคนั้น และทุกโรครักษาได้หากไปรักษา และหากหมอ (ยอม) ลงมือรักษา


ในทางกลับกัน หากเชื่อคำขวัญว่าเอดส์เป็นแล้วตาย เจ็บป่วยด้วยโรคฉวยโอกาสแล้วไม่ยอมไปรักษา (เพราะเชื่อคำขวัญ) หรือไปรักษา แต่หมอไม่ยอมรักษา (เพราะเชื่อคำขวัญ) ก็อาจตายได้จริง ๆ (สมดังคำขวัญ)


นอกจากนี้แล้ว โรคฉวยโอกาสบางโรค สามารถกินยาป้องกันได้ เช่น ปอดอักเสบพีซีพี สามารถกินยาปฏิชีวนะป้องกันได้ เพียงวันละเม็ด ๆ ละไม่ถึง ๑ บาทเท่านั้น ก็จะไม่เจ็บป่วยด้วยโรคปอดอักเสบฯ อีกเลย


การดูแลสุขภาพอีกด้านหนึ่งก็คือ ผู้ติดเชื้อเมื่อภูมิต้านทานตกลงถึงระดับหนึ่ง ก็ต้องเริ่มกินยาต้านไวรัส เพื่อให้เอชไอวีขยายตัวลดลง ภูมิคุ้มกันของร่างกายก็จะเพิ่มมากขึ้น โรคติดเชื้อฉวยโอกาสก็จะมาย่างกรายได้ลำบาก


นี่ไงที่เรียกว่า " เอดส์รักษาได้" แม้เอชไอวีจะไม่หมดไป แต่ก็อยู่ในร่างกายอย่างสงบ ไม่ต่างอะไรจากการรักษาเบาหวานหรือโรคเรื้อรังอื่น ๆ


หลักการ " เอดส์รักษาได้" ข้างต้นนี้ ได้ถูกนำไปปฏิบัติจริง ในโรงพยาบาลของรัฐเกือบทั่วประเทศในเวลานี้ วรารักษ์ รัตนธรรม พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลแม่ลาว จังหวัดเชียงราย เล่าให้ฟังว่า การดูแลรักษาด้วยวิธีข้างต้นนี้เกิดผลดีมาก เช่น ก่อนที่จะมีการรักษา มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีป่วยด้วยโรคปอดอักเสบพีซีพีปีละ ๙๙ คน เชื้อราเยื่อหุ้มสมองปีละ ๗๐ คน แต่พอเริ่มการรักษาด้วยวิธีข้างต้น ก็ไม่พบว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวี ติดโรคฉวยโอกาสทั้งสองโรคอีกเลย


ในด้านอัตราการครองเตียงของโรงพยาบาลแม่ลาวพบว่า ในปี ๒๕๔๓ ผู้ติดเชื้อเอชไอวีครองเตียงถึงร้อยละ ๓๖ แต่หลังจากมีโครงการเมื่อปี ๒๕๔๗ ผู้ติดเชื้อครองเตียงเพียงร้อยละ ๓.๔ เท่านั้น แสดงว่าการเจ็บป่วยในกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีลดลงอย่างมาก " จึงอยากให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่ถูกปิดหูปิดตามาตลอดว่าเอดส์เป็นแล้วตาย ให้ไปรับบริการรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง"


พยาบาลวรารักษ์ เล่าอีกว่า โรงพยาบาลแม่ลาวจัดบริการทางการแพทย์แบบนี้ให้แก่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีโดยเฉพาะเดือนละ ๒ ครั้ง เป็นบริการแบบครบถ้วนในจุดบริการแห่งเดียว (One stop service) และที่น่าสนใจคือ ทางโรงพยาบาลแม่ลาวได้จ้างผู้ติดเชื้อ ๒ คน เป็นเจ้าหน้าที่เต็มเวลาของโรงพยาบาลที่มาช่วยทางโรงพยาบาลในการดูแลเพื่อน ๆ ผู้ติดเชื้อโดยเฉพาะ


สมหมาย (ปกปิดนามสกุล) ผู้ติดเชื้อที่เป็นเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลแม่ลาวบอกว่า " เราเคยเป็นผู้รับบริการ เรารู้อาการและความต้องการของเพื่อนผู้ติดเชื้อดี เราจึงมาช่วยเชื่อมเพื่อน ๆ กับหมอ เพื่อให้หมอทำงานได้สะดวกขึ้น"


งานของสมหมายเริ่มตั้งแต่การกรอกประวัติเพื่อนผู้ติดเชื้อลงคอมพิวเตอร์เพื่อให้หมออ่าน ชั่งนํ้าหนัก ให้บริการปรึกษาเพื่อนผู้ติดเชื้ออย่างเข้มข้นเรื่องการตัดสินใจกินยาต้านไวรัส ที่ต้องกินอย่างต่อเนื่อง การส่งเสริมให้เพื่อนกินยาต้านฯให้ต่อเนื่องและตรงเวลา การไปเยี่ยมเพื่อนผู้ติดเชื้อที่บ้าน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีงานให้การศึกษาเรื่องเอดส์และเพศแก่เยาวชนตามโรงเรียน


เมื่อโรงพยาบาลเห็นถึงศักยภาพของสมหมายและเพื่อน ในที่สุดจึงได้ตั้งงบประมาณเพื่อจ้างให้เป็นเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ที่ต้องมาทำงานทุกวันไม่ต่างจากบุคลากรอื่น ๆ


ถ้า " เอดส์เป็นแล้วตาย" ป่านนี้สมหมายและเพื่อนคงไม่ได้มาทำหน้าที่เคียงบ่าเคียงไหล่กับหมอและพยาบาลที่โรงพยาบาลแม่ลาวเป็นแน่...


เรามาช่วยกันเลิกทึกทักว่า " เอดส์เป็นแล้วตาย" และเสนออันใหม่ว่า " เอดส์รักษาได้" กันดีกว่าไหม