Skip to main content

ดูการแทรกแซงสื่อในจีน แล้วย้อนดูตัว

คอลัมน์/ชุมชน


การพัฒนาทางเศรษฐกิจอันร้อนแรง และการปฏิรูปทางการเมืองของจีนก่อนหน้านี้ ได้ขยับขยายให้เสรีภาพแก่ประชาชนเพิ่มมากขึ้น แต่ในเรื่องของการแทรกแซงและควบคุมสื่อต่างๆ กลับหนักหน่วงรุนแรงขึ้นมาอีกครั้งในระยะสองปีมานี้


 


Jehangir Pocha แห่งสื่อทางเลือก In These Times วิเคราะห์ว่า การแทรกแซงสื่อด้วยวิธีต่างๆ กำลังเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีเหตุการณ์การประท้วงรัฐบาลอยู่บ่อยๆ เช่น ชาวนาประท้วงเรื่องที่ดินทำกิน ประชาชนประท้วงเรื่องการคอรัปชั่นของรัฐ หรือชนกลุ่มน้อยประท้วงเพราะถูกละเมิดสิทธิ์ หรือกรณีเมื่อ ๑๖ มิถุนายน ที่เมือง Shenyou ห่างจากกรุงปักกิ่งราว ๘๐ กิโลเมตร มีกลุ่มหัวรุนแรงปะทะกับผู้ต่อต้านการครอบครองที่ดิน มีคนตาย ๖ ราย บาดเจ็บ ๕๐ ราย


 


รัฐบาลพยายามเซ็นเซอร์ข่าวความไม่สงบนี้ โดยสั่งปิดล้อมพื้นที่เกิดเหตุ และกักตัวนักข่าวที่จะเข้าไปทำข่าว แต่เพราะคนจีนร้อยล้านคนใช้อินเตอร์เน็ต และกว่า ๓๓๐ ล้านคนใช้โทรศัพท์มือถือ ข่าวเรื่องนี้จึงแพร่ไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว


 


อย่างไรก็ตามมีความพยายามควบคุมการใช้อินเตอร์เน็ต โดยใช้แรงงานคน และเทคโนโลยีตรวจสอบ การศึกษาของ  HarvardLawSchoolพบว่า จีนเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในการเซ็นเซอร์เว็บ มีเว็บมากกว่า ๒.๕ แสนแห่ง รวมถึงเว็บจากสื่อตะวันตก และเอ็นจีโอ ถูกบล็อก มีเจ้าหน้าที่ ๓๐,๐๐๐ คนคอยตรวจสอบจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ สแกนโปรแกรมค้นหาของ google และช่อง chat นอกจากนี้จีนยังมีแผนที่จะใช้ซอฟต์แวร์ในการตรวจสอบข้อความที่ส่งทางมือถือ และในปี ๒๐๒๐ จะมีดาวเทียมราวร้อยดวงตรวจสอบกิจกรรมทางสังคมทุกตารางนิ้วในแผ่นดินจีน


 


สำหรับนักหนังสือพิมพ์นั้น Committee for the Protection of Journalists ในนิวยอร์ก รายงานว่า ปีที่แล้วนักข่าวจีนถูกจำคุก ๔๒ ราย ซึ่งถือเป็นจำนวนที่มากที่สุดในโลก เช่น บรรณาธิการของ Southern Metropolitan Daily ในกวางตุ้ง ตีพิมพ์บทความวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลท้องถิ่นในการจัดการโรคซาร์ส เขาถูกจำคุก ๑๒ ปี โดยถูกตั้งข้อหาคอรัปชั่น ซึ่งว่ากันว่าเป็นข้อหาที่ฟังไม่ขึ้น


 


นักข่าวจีนจะถูกทางการเตือนในการทำข่าวเรื่องต่างๆ เพื่อนนักข่าวชาวจีนคนหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า วิธีเตือนที่สำนักงานโฆษณาชวนเชื่อ (ชื่อนี้แปลมาจากภาษาจีน แต่เพื่อนบอกว่าในภาษาจีนเป็นคำที่มีความหมายกลางๆ ไม่เป็นลบแบบในภาษาอังกฤษ) นิยมใช้คือ การแฟกซ์คำเตือนไปตามสำนักพิมพ์ต่างๆ ไม่ให้นำเสนอเรื่องนั้นเรื่องนี้ ซึ่งวิธีการนี้ถือว่าล้าสมัยมากเมื่อเทียบกับไทย เพราะมันจะกลายเป็นหลักฐานว่าผู้สั่งการกำลังใช้อำนาจขัดรัฐธรรมนูญ ดังนั้นลิ่วล้อของนายใหญ่จึงมักจะสั่งด้วยคำพูด ไม่มีลายลักษณ์อักษร หรือมักใช้วิธีอื่นๆ เช่น ลักซื้อหุ้นไปก่อนแล้วมาบอกทีหลัง หรือสั่งถอดรายการด้วยข้อหาขำขำคือ "พูดข้างเดียว" (ฮา)


 


นอกจากนี้ นักข่าวต่างประเทศในจีนก็ถูกข่มขู่บ่อยๆ เริ่มตั้งแต่ กันยายนปีที่แล้ว ชาวจีนคนหนึ่งเป็นผู้ช่วยนักข่าวของ New York Times ถูกจับในข้อหาเปิดเผยข้อมูลลับทางราชการ อาจได้รับโทษสูงถึงจำคุกตลอดชีวิต นอกจากนี้ชาวจีนที่เป็นผู้ช่วยนักข่าวต่างประเทศจะถูกราชการเรียกไปเพื่อตักเตือนเป็นระยะๆ


 


นักข่าวที่แตกแถว ยังอาจถูกทำให้กลายเป็นบุคคลอันตราย เช่น Mu Zimei ผู้เขียนหนังสือ A Book of Lost Love เพื่อเปิดเผยเรื่องราวทางเพศของบุคคล ซึ่งเป็นหนังสือที่ถูกแบน กล่าวว่า "ขณะนี้มีการจัดระเบียบสังคม ใครที่ไม่ทำตามการจัดระเบียบ ก็จะถูกมองว่าเป็นบุคคลอันตราย เป็นผู้ทรยศต่อสังคม" ซึ่งก็คล้ายๆ กับเมื่อสื่อไทยบังอาจวิพากษ์รัฐบาล ก็จะถูกท่านผู้นำเปรียบเปรยเอาว่า "ไม่รักชาติ" หรือ "ไหนดูซิ เลือดสีอะไร"


 


ทางเลือกของนักข่าวจีนในยุคสื่อไม่เสรีเช่นนี้ ก็ใช่ว่าจะไร้ทางออกเสียทีเดียว เช่น เมื่อได้รับแฟกซ์สั่งห้ามเสนอข่าว นักข่าวก็ยังจะออกไปทำข่าวที่ถูกห้ามเสนอ แต่นำมาเขียนและแอบอ่านกันเองภายในโรงพิมพ์ เพื่อนผมไม่ได้บอกว่า นอกจากแอบอ่านแล้ว ยังแอบส่งต่อให้คนนอกโรงพิมพ์หรือเปล่า แต่เดาว่าน่าจะแอบส่งด้วย  หรือกรณี Chu Tian นักข่าวของ Southern Weekend บอกว่า การเขียนงานต้องใช้การเปรียบเทียบเป็นนิทาน หรือเปรียบเปรยเอา ซึ่งก็โชคดีที่มีผู้อ่านถอดรหัสสิ่งที่เขียนได้


 


นึกย้อนดูแล้ว ประเทศไทยในยุค "ประชาธิปไตย" ในกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา ก็มียุคนายใหญ่นี่แหละครับที่สื่อไทยถูกแทรกแซงมากที่สุด นับตั้งแต่ฟ้องไทยโพสต์ ฮุบมติชน ย้ายบรรณาธิการโพสต์ ถอดรายการเนชั่น ปลดนักจัดรายการฝีปากกล้า ฟ้องสนธิ ฮั้วกทช. กสช. ตัดตอนวิทยุชุมชน ฯลฯ


 


แม้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับสื่อไทยจะยังไม่โหดแบบจีน (แปลว่าอาจจะโหดแบบจีนเข้าสักวันก็ได้ โปรดติดตาม) แต่ก็ใช่ว่าเราควรจะสบายใจกับสถานการณ์แทรกแซงสื่อในยุคนายใหญ่ เพราะยุคก่อนนายใหญ่ ไทยเราเคยเป็นประเทศที่สื่อมีเสรีภาพสูงติดอันดับโลกมาแล้ว


 


ขอจบบทความนี้ด้วยข่าวเล็กๆ ครับ เมื่อวันจันทร์ วิปรัฐบาลพิจารณาร่างกฎหมายห้ามใช้มือถือบนรถ แม้ใครไม่ตามข่าวชิ้นนี้ก็คงเดาได้ว่า ในที่สุดแล้ววิปรัฐบาลพิจารณาร่างกฎหมายนี้ว่าอย่างไร


 


อาณาจักรของ "นายใหญ่" เนี่ย "สุดตีน" จริงๆ (ศัพท์เด็กแนวแปลว่า "ที่สุดของที่สุด")