Skip to main content

อาชญากรไร้เดียงสา

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


(1)


 


ตุลาคมเป็นเดือนที่ได้อ่านเรื่องเกี่ยวกับวัยรุ่นและเยาวชนไทยในแง่ลบอยู่พอควร ข้อมูลหนึ่งที่เป็นผลสะท้อนพฤติกรรมวัยรุ่นคือที่เอแบคโพลเผยผลสำรวจเรื่อง "เปิดใจเยาวชนสถานพินิจฯ และเด็กที่ถูกจับกุมที่สน.:อะไรเป็นต้นเหตุให้ผมทำผิด"  ว่าได้สำรวจเด็กและเยาวชนจำนวน 609 คน อายุระหว่าง 7-25 ปี แยกเป็นเด็กในสถานพินิจฯ และจากสถานีตำรวจ พบว่าก่อนเข้าสถานพินิจฯ หรือถูกจับกุมอยู่กับพ่อแม่ 28.6% อยู่กับญาติ 19.7% ทำกิจกรรมช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาคือการเล่นกีฬา 88. 1% ทำงานหารายได้ 71.3% ทานข้าวกับคนในครอบครัว 4  วันต่อสัปดาห์ 69.3% ส่วนกิจกรรมเดินเที่ยวห้างมีจำนวน 89.7% สูบบุหรี่ 85.1% และเที่ยวกลางคืน 78.3% สำหรับสื่อที่คิดว่ามีผลกระตุ้นให้เกิดการเลียนแบบความรุนแรงของวัยรุ่นอันดับแรกคือการชักจูงจากเพื่อน 76.1% จากภาพยนตร์ 56.1% ข่าวความรุนแรงตามสื่อ 40.6% และพบด้วยว่าเด็กในสถานพินิจและที่ถูกจับกุมในสน. พบเห็นเพื่อนร่วมชั้นพกอาวุธเข้ามาในโรงเรียนมีมีดปลายแหลม 54.1% ปืน 34.4% และระเบิด 19.9%


 


                              


 


 


(2)


 


ในเวลาไล่เลี่ย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำวิจัยร่วมกับจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยสำรวจพฤติกรรมเด็กในชุมชนเขตกรุงเทพมหานคร 1,800 แห่งพบว่าเด็กในชุมชนหลุดออกจากระบบโรงเรียนเกือบ 20,000 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กมัธยมต้นอายุระหว่าง 12-14 ปี และมีกิจกรรมเสี่ยงหลังสี่ทุ่มถึงตีสองเริ่มจากสูบบุหรี่ ดื่มเบียร์กระป๋อง ดูวีซีดีโป๊ ใช้ยาบ้า ทำร้ายเด็กด้วยกัน คาดการณ์ได้ว่าเด็กดังกล่าว 70% กำลังจะกลายเป็นยุวอาชญากร นอกจากนี้สาเหตุที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมรุนแรงมาจาก 2 แหล่งสำคัญคือเกมและสื่อ จึงได้นำเสนอต่อรัฐบาลให้นำการแก้ไขปัญหาเด็กและสังคมเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งเมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมาได้มีการเริ่มรณรงค์ในโครงการ "ได้เวลาเด็กไทยเป็นคนดี" ผ่านสื่อของรัฐ


 


(3)


 


สดๆ ร้อนๆ  เอแบคโพลนำเสนอการวิจัยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเกี่ยวกับโครงการเฝ้าระวังรักษาคุณภาพอนาคตเยาวชนไทย : กรณีรวบรวมผลวิจัยและกรอบแนวคิดในการนำเสนอยุทธศาสตร์ชาติเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเยาวชน พบว่า กลุ่มเป้าหมายที่เป็นเยาวชนอายุ 12-14 ปี ทั่วประเทศมีจำนวน 14 ล้านคน 75-80% ยังเป็นเยาวชนที่ดีมีคุณภาพแต่มีทิศทางเป็นกลุ่มเสี่ยงในปริมาณที่มากขึ้น โดยปัญหาหลักในกลุ่มเยาวชนไทย 1 ใน 9 ข้อคือ เยาวชนกว่า 7 ล้านคน มีประสบการณ์ดื่มเหล้าและบุหรี่ตามด้วยปัญหาการหนีเรียนจำนวนทั้งสิ้น 2  ล้านคน  เสพยา 5.6 แสนคน มีเพศสัมพันธ์และแนวโน้มการขายบริการทางเพศ 4.7 แสนคน


 


เรื่องราวที่ยกมาขีดเส้นใต้ครั้งนี้ไม่ได้แตกต่างไปจากการสำรวจในหลายครั้งที่ผ่านมาเท่าไรนัก อย่างไรก็ตามถึงจะมีความเหมือนในภาพการสำรวจโดยส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่อาจให้ชุดข้อมูลดังกล่าวผ่านเลยไปโดยไม่ได้ชวนอภิปรายใน 2-3 ประเด็น


 


จากเด็กไทยธรรมดาสู่อาชญากรไร้เดียงสา


 


เห็นได้ชัดว่ากิจกรรมและการใช้ชีวิต (lifestyle) ของเยาวชนที่เอแบคโพลตีแผ่ออกมาเป็นความเหมือนซึ่งดูแล้วแสนจะธรรมดาสำหรับวัยรุ่นและเยาวชนไทยทั่วไป  ทั้งกิจกรรมการเล่นกีฬา หารายได้ ทานข้าวกับคนในครอบครัวหรือจะเป็นกิจกรรมที่ถูกระบุชัดว่าไม่สร้างสรรค์อย่างเที่ยวห้าง สูบบุหรี่และเที่ยวกลางคืน


 


พิจารณาแล้วยังมองไม่เห็นความแตกต่างในสาระชีวิตระหว่างเด็กที่สังคมกำลังมองว่า "เป็นปัญหา" จากสถานพินิจและสถานีตำรวจกับเด็กที่ล้วนแล้วแต่เป็น "เด็กดีของสังคม"


 


ทุกครั้งที่อ่านผลสำรวจประเภทนี้มักตั้งคำถามในใจเสมอว่า  หากต้องการแก้ปัญหาพฤติกรรมวัยรุ่นในปัจจุบัน สังคมกำลังมาถูกทางหรือไม่ที่พยายามเน้นและตอกย้ำถึงชีวิตความเป็นอยู่และรสนิยมในการใช้เวลาว่างของเด็กไทยที่มักสรุปตอนจบว่า เป็นปัจจัยทำให้เด็กนั้น "เสี่ยง" ที่จะกลายเป็นยุวอาชญากร เพราะความชอบในการเล่นกีฬา เล่นเกม ทำงานพิเศษ เที่ยวห้าง สูบบุหรี่ ดื่มเบียร์และเที่ยวกลางคืนไม่น่าจะใช่ตัวชี้วัดพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อความรุนแรงแท้จริง  ซึ่งสามารถส่งต่อและอธิบายที่มาที่ไปของความรุนแรงและการก่ออาชญากรรมของวัยรุ่นได้


 


ความถี่ของการสำรวจและความคิดเห็นของแวดวงวิชาการด้านการศึกษาและสุขภาพจิตเกี่ยวกับการใช้เวลาของวัยรุ่นปัจจุบันกลายเป็นภาพหลอมความคิดของผู้รับสารในสังคมว่า เด็กที่ดื่มแอลกอฮอล์ เที่ยวห้าง เที่ยวกลางคืนและใช้เวลาไปกับเกมคอมพิวเตอร์ ฯลฯ มีความเสี่ยงสูงมากเหลือเกินที่จะจบอนาคตกลายเป็นอาชญากรใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา ซึ่งดูแล้วไม่ยุติธรรมสำหรับเด็กดีของสังคมอีกว่า 75-80% ที่ระบุไว้ในการสำรวจ ถึงขนาดที่ภาครัฐต้องทำการรณรงค์ "ได้เวลาเด็กไทยเป็นคนดี" ฟังแล้วให้ความรู้สึกสลดแบบเหมารวมเอาเองว่า ณ วันนี้เด็กไทยดีๆ ไม่มีแล้วจนถึงกับต้องรณรงค์ยกเป็นวาระแห่งชาติหรืออย่างไร


 


ในทางกลับกันมีผลวิจัยไม่มากนักที่กล่าวถึงสภาพแวดล้อมและรายละเอียดปัญหาในครอบครัวของเยาวชนโดยเฉพาะการสำรวจสาเหตุแท้จริงว่าทำไมเด็กไม่อยากอยู่บ้านหรือการเจาะลึกปัญหาของพ่อแม่ที่เป็นเหตุให้ครอบครัวไม่สมบูรณ์  รวมทั้งประเด็นความอึดอัดที่ทำให้เด็กไม่มีความสุขเมื่ออยู่บ้าน  สุดท้ายจึงเลือกทางออกปลายเหตุด้วยการฆ่าเวลาเวลาตามสถานที่ต่างๆ ที่สังคมเรียกว่าเป็นแหล่งมั่วสุมหรือสถานที่อโคจร


 


เมื่อไม่อยากอยู่บ้าน ธรรมชาติของเด็กวัยรุ่นจะรวมตัวกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเรียกร้องเพื่อชดเชยความรู้สึกที่ขาดหายไปจากสังคม ทั้งการเป็นคนสำคัญ การได้รับความเอาใจใส่ ความสนุก ความอิสระจนเลยเถิดไปถึงความคะนอง ความคึกในอารมณ์ตามวัยของวัยรุ่นที่ขาดผู้ใหญ่คอยชี้แนะ  สุดท้าย  เด็กเหล่านี้จึงกลายเป็นจำเลยของสังคม ก่อเหตุวิวาท ใช้ความรุนแรงในการตัดสินปัญหาจากประสบการณ์ที่เข้าใจว่าเป็นวิธีที่ถูกต้องของกลุ่ม "เพื่อนนอกบ้าน" ผนวกกับการเรียนรู้ผ่านข่าว ภาพยนตร์หรือเกมออนไลน์ วงจรแห่งความรุนแรงจึงเกิดขึ้นและนำมาซึ่งการกระทำที่ผิดกรอบไปจากมาตรวัดของสังคม ซึ่งทำให้เด็กธรรมดากลุ่มนี้ถูกตราหน้าว่าเป็นยุวอาชญากรหรือาชญากรที่ไร้เดียงสาในที่สุด


 


กฎหมายควบคุมอาวุธ : ทางออกของวงจรความรุนแรง?    


 


เมื่อวัยรุ่นเลือกที่จะใช้อาวุธยุติปัญหาความขัดแย้ง ทั้งปืน มีดและระเบิดมือ ฯลฯ ทุกครั้งที่ได้อ่านข่าวเด็กใช้อาวุธ (ของผู้ปกครอง) ทำร้ายผู้อื่น สังคมจะลงโทษเด็กทันทีว่าผิดและตราหน้าว่าก้าวร้าว นิยมความรุนแรง หรือมีปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งนับเป็นภัยอย่างยิ่งของสังคม ภายหลังการสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดี เด็กที่ก่อเหตุก็จะถูกส่งไปเข้าโรงเรียนที่ครั้งหนึ่งเรียกว่าเป็นโรงเรียนดัดสันดานเพื่อหวังจะปรับและเปลี่ยนพฤติกรรมให้กลับมาเป็นเด็กดีของสังคมอีกครั้ง


 


สังคมไทยเป็นสังคมไร้ระบบที่นิยมการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ นิยมการอุดรอยรั่วมากกว่าการรื้อและสร้างฐานใหม่ให้แข็งแรง โดยเฉพาะปัญหาความรุนแรงในวัยรุ่น น้ำหนักของประเด็นเน้นไปที่พฤติกรรมเสี่ยงที่ไม่ปฏิเสธว่าเป็นส่วนหนึ่งทำให้เด็กนิยมความรุนแรงด้วยข้อสันนิษฐานว่าการหนีเรียน เที่ยวกลางคืน ใช้ยาบ้า ฯลฯ เป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เด็กเป็นอาชญากร แต่กลับละเลยสาเหตุที่ทำให้เด็กเก็บกด ไม่มั่นคงในจิตใจ ไม่มีความสุขเมื่ออยู่ที่บ้าน ฯลฯ เมื่อยึดบ้านและพ่อแม่ไม่ได้ จึงเป็นธรรมชาติที่เด็กต้องหาที่ยึดนอกกรอบ ซึ่งรวมไปถึงการอยู่รวมกันเป็นแก๊ง การสร้างความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน นิยมความป่วนหรือทำให้สังคมเดือดร้อนเพื่อเรียกร้องความสนใจ ไปจนถึงการยึดอาวุธอันตรายเป็นมิตรแท้แก้ปัญหาชีวิต


 


เหตุใดอาวุธซึ่งเป็นวัตถุอันตรายและก่อให้เกิดความเดือดร้อนทั้งปืน มีดปลายแหลมและระเบิดจึงใกล้มือให้เด็กหยิบฉวยได้ง่ายนัก? น่าจะเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญมากกว่าปลายเหตุเหมือนอย่างที่ทำกันอยู่ กฎหมายอันศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวกับการครอบครองหรือใช้อาวุธโดยเฉพาะสำหรับเด็กและเยาวชนอยู่ที่ไหน ความรับผิดชอบของพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีสิทธิ์พกพาอาวุธควรจะเป็นเช่นไร การกำหนดบทบาทและขอบเขตของผู้ซื้ออาวุธและวัตถุอันตรายน่าจะต้องชัดเจนกว่าที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะการจัดเก็บอาวุธในที่ลับ ปลอดภัยและพ้นสายตาเด็ก รวมทั้งการคาดโทษผู้ปกครองอย่างรุนแรงหากพบปัญหาเยาวชนนำอาวุธไปใช้จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียทรัพย์สินและถึงแก่ชีวิต


 


ไม่แน่ใจว่าประเทศของเรามีตัวบทกฎหมายเกี่ยวกับการถือครองอาวุธไว้ชัดเจนขนาดไหน รวมทั้งผู้ใหญ่ที่มีสิทธิ์ครอบครอง ให้ความสำคัญกับสำนึกรับผิดชอบอันเนื่องมาจากผลการใช้อาวุธมากน้อยเพียงไร หรือว่าธุรกิจอาวุธพาณิชย์เป็นเพียงการซื้อขายประเภทหนึ่งที่ให้กำไรสูงโดยผู้ค้า-ผู้ซื้อไม่จำเป็นต้องเสียเวลารับผิดชอบกับผลกระทบที่เกิดตามมา


 


ปัญหาความรุนแรงในวัยรุ่นหรือปัญหายุวอาชญากรที่สังคมกำลังกลัวไม่ใช่ปัญหาเล็กที่แก้ได้ง่าย ไม่เหมือนกับปัญหาแก๊งซิ่งมอเตอร์ไซค์ที่ผู้ใหญ่บางคนดันทุรังจะแก้ให้ได้ด้วยการจัดพื้นที่ซิ่งสี่ภาค และไม่ง่ายเหมือนการจัดโซนนิ่งและใช้มาตรการตำรวจเข้มงวดปิดสถานบันเทิงตอนตีสอง หากแต่เป็นปัญหาของระบบและโครงสร้างสังคมที่ซับซ้อนนับตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียน และชุมชนที่ต้องอาศัยการร่วมมือของหลายฝ่ายทั้งการใช้ระบบคุณธรรม เมตตาธรรม ความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวและมาตรการแก้ไขป้องกันปัญหาการใช้อาวุธและความรุนแรงที่เป็นรูปธรรมมากกว่าที่เห็น


 


การสำรวจแต่ละครั้งเป็นเหมือนชิ้นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ปะติดปะต่อภาพปัญหาความรุนแรงในวัยรุ่น หากแต่เท่าที่ผ่านมาเรายังเห็นข้อมูลไม่พอที่จะมองทะลุได้ถึงภาพปัญหาที่แท้จริง และตราบใดที่สังคมยังต้องการเวลาเพื่อให้เห็นต้นตอเด่นชัด จำนวนอาชญากรไร้เดียงสาก็จะเพิ่มมากขึ้น ตราบเท่าที่ระบบยังเลอะ สถาบันครอบครัวยังเละ และเท่าที่คนที่มีอำนาจในบ้านเมืองนี้ยังลืมให้ความสำคัญกับปัญหานี้ด้วยการไม่แสดงความพร้อมและความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาวัยรุ่น ซึ่งเป็นฐานสำคัญที่สุดของประเทศชาติด้วยความจริงใจ


 


…แต่กลับปล่อยเวลาผ่านไปเพื่อสร้างภาพให้ตัวเองและพวกพ้องดูดีในสายตาประชาชนไปวันๆ


 


** ข้อมูลผลสำรวจจากหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ 7,15 ตุลาคม 2548        


น็้ฯ