Skip to main content

‘เสรีภาพ’สื่อไทยถูกจัดอันดับลดลง

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


ในปี ๒๕๔๘ นี้ องค์การนักข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders) ได้พิจารณาลดอันดับ‘เสรีภาพ’ ของสื่อในประเทศไทย จากปีกลายเคยอยู่ในลำดับที่ ๕๔ ดิ่งลงสู่ลำดับที่ ๑๐๗ จากทั้งหมด ๑๖๗ อันดับ


 


รายงานที่ออกมาเมื่อปลายเดือนตุลาคมระบุว่า เพื่อนบ้านของเราในบางประเทศ ได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้นกว่าปีกลาย เช่น เวียตนาม (๑๕๘) ได้รับการจัดลำดับที่ดีขึ้น เพราะไม่มีการจำคุกนักข่าว แต่พรรคคอมมิวนิสต์ยังคุมสื่อเอาไว้ได้ มาเลเซีย (๑๑๓) ก็ดีขึ้น เพราะไม่มีการจำคุกนักข่าวและผู้ผลิตเนื้อหาในเน็ต ที่อินโดนีเซีย (๑๐๒) รัฐบาลได้เปิดกว้างให้เสรีภาพมากขึ้นที่อาเจะห์ จนสื่อทำงานได้ และสื่อออนไลน์ทั้งหลายก็ออกดอกออกผลดี (ประชาไทน่าจะไปเปิดสาขาที่อาเจะห์กันเนอะ)


 


ส่วนที่เกาหลีใต้ (๓๔) ซึ่งสื่อมีเสรีภาพมากที่สุดในเอเซีย และไต้หวัน (๕๑) พบว่า สองประเทศนี้ได้รับการยกย่องให้สื่อมีเสรีภาพใกล้เคียงกับประเทศในยุโรปเข้าไปทุกที แต่รัฐก็ยังไม่วายหาทางกลั่นแกล้งสื่อที่อยู่ตรงข้าม เช่น รัฐบาลไต้หวันสั่งถอนใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์ที่มีความใกล้ชิดกับพรรคฝ่ายค้าน (อันนี้ก็คล้ายๆ กับเมืองไทยนะครับ อีตารัฐมนตรีคนหนึ่งไล่ปิดวิทยุชุมชน โดยอ้างว่าเป็นอันตรายต่อคลื่นวิทยุการบิน ครั้นนักบินการบินไทยมาให้การต่อ ส.ว.ว่า คลื่นวิทยุชุมชนไม่ได้รบกวนคลื่นวิทยุการบิน ก็มีข่าวลือตามมาว่านักบินการบินไทยคนนั้นถูกสอบกราวรูด) ส่วนที่ฮ่องกง (๓๙) ก็ไม่เลว เพราะแทบไม่มีการแทรกแซงสื่อเกิดขึ้นเลย


 


เพื่อนบ้านที่เสรีสื่อแย่ลงได้แก่ ฟิลิปปินส์ (๑๓๙) เพราะมีนักข่าวถูกฆ่าตายเพิ่มขึ้น ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจเซ็นเซอร์ข่าวมากขึ้น แม้แต่ประธานาธิบดีอาร์โรโย ก็ออกอาการกับนักข่าวต่างประเทศ ที่คุ้ยข่าวฉาวเรื่องการคอรัปชั่น


 


องค์การนักข่าวไร้พรมแดน วิเคราะห์ว่าประเทศในเอเชียส่วนมากยังประสบปัญหาด้านเสรีภาพของสื่อมวลชน เช่น จีน (๑๕๙) เพราะกรมโฆษณาชวนเชื่อคอยเฝ้าดูสื่อ ไม่ให้นำเสนอเรื่องราวที่อ่อนไหว สำหรับพม่า (๑๖๓) ยังไม่มีวี่แววที่ดีขึ้น ยังไม่มีการปล่อยตัวนักข่าวที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลทหาร นักข่าวบางคนถูกคุมขังมาถึง ๑๖ ปีแล้ว ยังมีการตรวจเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์ แม้แต่ตรวจคอลัมน์ประกาศมรณกรรม


 


ที่สิงคโปร์ (๑๔๐) (ประเทศที่ผู้นำไทยชอบเอาบ้านเราไปเปรียบเทียบ เช่น ว่าที่นครสุวรรณภูมิ หรือจังหวัดนครสวรรค์ มีขนาดพื้นที่เป็นเท่านั้นเท่านี้ของสิงคโปร์) ยังเป็นประเทศที่เสรีภาพสื่อตํ่ามาก เพราะผู้นำยังคงกุมสื่อเอาไว้แน่น และใช้กฎหมายจัดการสื่อที่นิยมเสรีภาพ


 


สำหรับสุดยอดเสรีสื่อ ๑๐ ลำดับแรกล้วนเป็นประเทศในยุโรป ลำดับที่ ๑ มี ๗ ประเทศ ได้แก่ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ และสวิสเซอร์แลนด์ ลำดับ ๘ ได้แก่ สโลวาเกีย ลำดับ ๙ มี ๒ ประเทศได้แก่ สาธารณรัฐเชค และ สโลเวเนีย


 


ไม่มีรายละเอียดอธิบายถึงเหตุผลที่ประเทศไทยถูกจัดลำดับเสรีภาพของสื่อลดลงจาก ๕๙ ในปีกลายมาเป็น ๑๐๗ ในปีนี้ แต่รายงานประจำปี ๒๕๔๘ ของนักข่าวไร้พรมแดน (คนละฉบับกับรายงานการจัดอันดับเสรีสื่อ) ซึ่งออกมาเมื่อกลางปีนี้ ระบุว่า เมื่อปีที่แล้วรัฐบาลของท่านผู้นำ และปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ ได้ส่งผลในเชิงลบต่อเสรีภาพของสื่อ มีนักข่าวอย่างน้อย ๓ คนหายตัวไป ส่วนกองทัพ ซึ่งถูกพาดพิงจากสื่อว่ามีส่วนในการสังหารหมู่ชาวมุสลิมในภาคใต้ ก็ได้ขัดขวางการทำหน้าที่ของนักข่าวจากบีบีซี


 


มีข้อสังเกตว่า ลำดับที่ ๑๐๗ ของไทยนี้เป็นลำดับที่ตามหลังประเทศเกิดใหม่ หรือเพิ่งมีประชาธิปไตยอย่าง สโลวาเนีย (๙), เอสโธเนีย (๑๑) ลัทเวีย (๑๖) บอสเนีย (๓๓) โครเอเทีย (๕๖) และติมอร์ตะวันออก (๕๘) และยังตามหลังประเทศที่ยากจนอย่างมาลี (๓๗) โบลิเวีย (๔๕) โมซัมบิก (๔๙) มองโกเลีย (๕๓) และติมอร์ตะวันออก ดังนั้น การที่พยายามกระตุ้นการส่งออกเพื่อเพิ่มจีดีพี ด้วยเชื่อว่าความรํ่ารวยจะนำมาซึ่งเสรีภาพ และการเคารพสิทธิมนุษยชนนั้น ออกจะเป็นภาพลวงตาอยู่ไม่น้อย


 


ลำดับที่ ๑๐๗ ยังเป็นลำดับที่ตามหลังประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ฮ่องกง (๓๙) ไต้หวัน (๕๑)  กัมพูชา (๙๐) อินโดนีเซีย (๑๐๒) และอินเดีย (๑๐๖)


 


จะเห็นได้ว่า เสรีภาพของสื่อนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญๆ เช่น การฟ้องร้องนักข่าว การจำคุกและสังหารนักข่าว การเซ็นเซอร์สื่อทั่วไปและสื่อออนไลน์ การแทรกแซงและสั่งปิดสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล การออกกฎหมายคุมสื่อ และการออกอาการของผู้นำเมื่อสื่อตรวจสอบรัฐบาล ฯลฯ


 


คนจะก้าวหน้าได้จริง ย่อมต้องฟังเสียงสะท้อนจากผู้อื่น แม้ว่าเสียงสะท้อนนั้นจะเป็นเสียงที่ไม่ชอบ ไม่อยากฟัง หรือไม่อยากได้ยินก็ตาม