Skip to main content

จัดระเบียบข้อมูลข่าว : นักศึกษาฆ่าตัวตาย

คอลัมน์/ชุมชน


เศร้าโศก โศกา และอาลัย


 


หนังสือพิมพ์เสนอข่าวที่น่าตกใจสัปดาห์ที่แล้วเป็นเรื่องของวัยรุ่นที่จำนนกับปัญหาชีวิตจนตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดตึก และล่าสุดโดยการใช้อาวุธปืนจ่อขมับ


 


ทั้งสามเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยเก่าแก่ของประเทศไทย ซึ่งทั้งครอบครัว สื่อ ทั้งนักวิพากษ์ นักวิชาการสันนิษฐานเบื้องต้นว่าปัญหาสำคัญที่เป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตายมาจากความรักในกรณีนิสิตคณะพาณิชย์ศาสตร์ และปัญหาความเครียดจากการเรียนในกรณีของนิสิตแพทย์ปี 5 และวิศวกรรมศาสตร์ปี 4


 


สามเรื่องนี้เป็นข่าวที่สื่อพร้อมใจกันนำเสนอ  ทั้งเนื้อหาข่าวและภาพที่สาธารณชนเห็นแล้วละลายจินตนาการความฝันสีชมพูและความสดใสในรั้วมหาวิทยาลัยของวัยรุ่นให้หายไปอย่างราบคาบ


 


"นิสิตหนุ่ม-ถูกหักอก โดดตึกจุฬาฯ สุดสยองต่อหน้าคนรัก"


"นิสิตแพทย์เครียด 3 ปีไม่ผ่านโดด รพ.ภูมิพลดับ"


"วิศวะเกษตรระเบิดขมับดับเครียดสอบตก"


 


ปัญหาแท้จริงที่เป็นจุดเริ่มต้นอยู่ตรงไหนไม่มีใครทราบ  แต่ผลที่ตามมาเป็นสักขีให้ทุกคนได้เป็นพยานซาบซึ้งกับความสูญเสียที่สายเกินจะแก้ไข


 


มีการพูดถึงประเด็นการเสนอข่าวฆ่าตัวตายผ่านสื่อกันพอสมควร ที่เคยกล่าวกันไปแล้วก็มีอยู่ไม่น้อย มารอบนี้เกิดเหตุวัยรุ่นนิสิตฆ่าตัวตายหลายกรณี  สาเหตุของการตัดสินใจไม่ต่างอะไรไปจากที่ผ่านมา โดยเฉพาะปัญหายอดนิยมอย่างความรัก การเรียน น้อยใจครอบครัว หรือหลายสาเหตุที่ผสมผสานกันจนกลายว่ามีเรื่องหนึ่งเรื่องใดทำหน้าที่ "ฟางเส้นสุดท้าย"  ทำให้ชีวิตหนึ่งต้องจากไปอย่างน่าเสียดาย


 


ศาลาสี่มุมตอนนี้อยากนำเสนอภาคต่อของวิธีและกระบวนการเสนอข่าวผ่านสื่อกระแสหลักกระแสรองต่ออีกนิด เผื่อจะได้มีโอกาสชวนคิดกันอีกหน่อยโดยเฉพาะในประเด็นการจัดระเบียบข้อมูลการนำเสนอข่าวฆ่าตัวตายในวัยรุ่น


 


1. "How To" ฆ่าตัวตาย


 


ข่าววัยรุ่นเครียด น้อยใจ อกหักจนฆ่าตัวตายเป็นประเด็นหอมหวานสำหรับสื่อ ด้วยองค์ประกอบที่เพียงพอที่จะทำให้คนสนใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วกลายมาเป็นข่าวหน้า 1  ซึ่งหากพ่วงท้ายไปด้วยภาพที่เห็นกองเลือด  สภาพศพหรือใบหน้าผู้ตายแล้ว  ข่าวนั้นก็ดูน่าสนใจขึ้น ส่งผลให้ขายได้ดี


 


นอกเหนือจากการเสนอภาพที่หลายครั้งพบว่าไร้จรรยาบรรณและไม่ให้เกียรติผู้ตาย เนื้อหาการเดินเรื่องที่เข้าใจว่าเป็นข้อเท็จจริงยังมีลักษณะชี้นำเหมือนคัมภีร์ปฏิบัติสำหรับการฆ่าตัวตาย  ที่เข้าใจให้ง่ายว่าเป็นข้อมูล " How To" การฆ่าตัวตาย โดยระบุไว้ละเอียดยิบหากผู้เลือกอยากที่จะ "จากไป" จะมีวิธีการอะไรได้บ้าง จะใช้ยาแก้ปวดหัว (จำนวนกี่เม็ด) ดีดีที แก๊ส (ขนาดและความเนิ่นนานของเวลา) ปืน (รุ่น ขนาด แบบกระสุน และตำแหน่งการยิง) ผูกคอ (วัสดุที่ใช้) หรือกระโดดตึก (ความสูงกี่ชั้น) โดยเฉพาะในกรณีกระโดดตึกนั้นข้อมูลค่อนข้างชัดและเปิดตัวเลือกให้ผู้อยากจากไปได้พิจารณาก่อนว่าเมื่อกระโดดแล้วอยากจะตายคาที่ ตายที่โรงพยาบาลหรือเอาแบบเจ็บปางตาย รวมทั้งช่วยโวหารพรรณนาสงเคราะห์ให้คนอ่านเห็นภาพหลังตัดสินใจกระโดดด้วยว่าอยากให้สภาพศพเป็นอย่างไร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของการกระโดด ความสูงของชั้นตึกรวมทั้งท่าทางของการดิ่ง ซึ่งหาอ่านได้อย่างละเอียดใน How To ฆ่าตัวตายของหนังสือพิมพ์ไทยหลายฉบับ


 


ข้อเสนอ : ลดการให้ความสำคัญกับภาษาพรรณนากระบวนการและวิธีการของการฆ่าตัวตาย ตลอดจนการบรรยายสภาพศพและการสันนิษฐานล่วงหน้าโดยปราศจากการประกอบสร้างที่สมบูรณ์ระหว่างข้อเท็จจริง  ข้อมูลจากครอบครัวและการวิเคราะห์จากนักวิชาการด้านสุขภาพจิตและจิตเวช


 


2. ให้พื้นที่เสนอเรื่องราวของวัยรุ่นที่เคยคิดอยากฆ่าตัวตาย


 


ปฏิเสธไม่ได้ว่าข่าวฆ่าตัวตายเป็นข่าวที่ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสนใจ ด้วยว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเกี่ยวข้องกับตัวเองและคนใกล้ชิด ที่สำคัญผลที่ตามมาเป็นความสูญเสียที่กระทบอารมณ์ของผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนดึงความรู้สึกร่วมของคนในสังคมได้ค่อนข้างมาก การเสนอข่าวฆ่าตัวตายนั้นถ้าพิจารณาแล้วก็ยังเห็นด้วยที่สื่อควรจะต้องนำเสนอให้สังคมได้รู้ ได้ระวังและได้ป้องกัน เหมือนเป็นการเสนอข่าวเพื่อเป็นบทเรียนและช่วยเพิ่มพื้นที่ในการหาวิธีป้องกัน โดยเฉพาะสำหรับวัยรุ่นที่อยากยุติปัญหาชีวิตด้วยการทำร้ายตัวเอง


 


การตัดสินใจ "ไม่อยู่" ของผู้ที่คิดอยากฆ่าตัวตายเป็นผลของหนึ่งอารมณ์ที่แฉลบเข้ามาในความคิด  เป็นนามธรรมที่อธิบายความท้อแท้สิ้นหวังซึ่งไม่สามารถแสดงให้เห็นได้ชัดๆ เป็นรูปธรรม วัยรุ่นหลายคนที่เคยคิดอยากฆ่าตัวตายสามารถเดินข้ามผ่านอารมณ์ดังกล่าวไปได้  แต่ก็ยังมีอีกมากมายที่กำลังประสบปัญหาคล้ายกับคนที่จากไป  เลือกทำในวิธีเดียวกันและฆ่าตัวตายได้สำเร็จ ทิ้งปัญหาและความอาดูรของคนที่เรารักและรักเราไว้เบื้องหลัง


 


วินาทีแห่งการตัดสินใจโดยเฉพาะจังหวะหลุดจากขั้วของฟางเส้นสุดท้ายเป็นวิกฤตเวลาสำคัญที่ผู้พยายามฆ่าตัวตายต้องทำความเข้าใจและผ่านพ้นให้ได้  ปัจจุบันเรามักเห็นการนำเสนอชุดข้อมูลการฆ่าตัวตายในเชิงพรรณนาผ่านสื่อมวลชนมากเกินพอ  ในขณะที่พร้อมใจกันกระโดดข้ามการอภิปรายในประเด็นอารมณ์ความรู้สึกของวัยรุ่นในวินาทีแห่งชีวิตที่ตัดสินใจว่าจะอยู่หรือไป


 


ข้อเสนอ : 1.ให้พื้นที่สำหรับวัยรุ่นที่เคยคิดหรือพยายามฆ่าตัวตายในสื่อและเปิดโอกาสให้เล่าหรือบรรยายอารมณ์ความรู้สึกขณะอยู่ในห้วงความทุกข์ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับสิ่งที่ดึงใจให้กลับมาสู่ความปรกติ  อะไรหรือว่าใครคือจุดหันเหความคิดและช่วยประคองอารมณ์คนที่อยากฆ่าตัวตายให้เข้าสู่ภาวะสมดุลย์ในเวลาที่อยากทำร้ายตัวเอง  เช่น วินาทีที่เห็นหน้าพ่อแม่ยิ้มให้เรา ความรู้สึกลึกๆ  ที่ไม่อยากเห็นแม่ร้องไห้ หรือนาทีที่คิดถึงคนข้างหลังว่าจะอยู่อย่างไร หรือพลังใจสุดท้ายที่เป็นสติมาเตือนให้นึกถึงอนาคตและไม่อยากทำร้ายตัวเองอีกแล้ว เป็นต้น


 


โดยหากไม่สามารถนำเสนอข้อมูลดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในข่าวเนื่องจากเงื่อนเวลาและเส้นตาย ก็น่าจะให้ข้อมูลในลักษณะสกู๊ปข่าว  บทความหรือรายงานพิเศษควบคู่ไปกับการเสนอข่าวฆ่าตัวตาย ข้อมูลนี้น่าจะชวนให้คนในสังคมโดยเฉพาะวัยรุ่นที่กำลังเศร้าได้ตั้งสติและชะลอความคิดก่อนตัดสินใจทำร้ายตัวเอง


 


2. สื่อน่าจะเป็นตัวกลางที่จะตอกย้ำคุณค่าและความสำคัญของวัยรุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเสนอมุมมองของการเคารพตัวเองและรับผิดชอบในชีวิตของเรา  ทั้งในส่วนของการเลือกนำเสนอข่าวอื่นๆ ที่เกี่ยวกับวัยรุ่นในด้านดีๆ ไม่ตามกระแสสังคมจนเกินไป และการเปิดโอกาสให้วัยรุ่นได้พูดหรือแสดงความเห็นผ่านพื้นที่สื่อกระแสหลักให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ให้รู้สึกว่าวัยรุ่นเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่สังคมยอมรับ มีตัวตน เป็นกลุ่มที่ทำประโยชน์ได้มากและเป็นที่ต้องการ


 


แม้ว่ายังเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ว่าการรายงานข่าวดังกล่าวผ่านสื่อเป็นชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้วัยรุ่นฆ่าตัวตายเลียนแบบกัน  เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา สำนักสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ทำการสำรวจความเห็นของวัยรุ่นว่าการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายของสื่อมวลชน มีผลชี้นำต่อการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นหรือไม่ ผลสำรวจพบว่าร้อยละ 70.11 เห็นว่า "ไม่มีผล"


 


ยังคงอดตั้งคำถามในใจไม่ได้เช่นกันว่าตัวเลขร้อยละ 70 ที่ว่านั้นน่าเชื่อถือได้เพียงไร หากกลุ่มเป้าหมายที่ได้ออกไปสำรวจแม้จะมีจำนวนพันกว่าคนแต่เป็นวัยรุ่นที่มีภาวะจิตใจปรกติ ไม่เครียด ไม่ทุกข์ ไม่เสียใจและไม่ซึมเศร้า  ซึ่งไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย สื่อจะเสนอข่าวฆ่าตัวตายอย่างไรก็คงไม่มีผลต่อการตัดสินใจทำร้ายตัวเอง  ซึ่งหากผลการสำรวจที่ออกมาทำให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าใจไปในทิศทางนั้นแล้ว  การแก้ปัญหาด้วยการจัดระเบียบวิธีเสนอข่าวฆ่าตัวตายก็จะถูกละเลยและมองข้ามไป ในขณะที่อัตราการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นมีแต่จะสูงขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ


 


หากเป็นไปได้ อยากให้สวนดุสิตโพลทำการสำรวจแบบนี้อีกครั้ง แต่กรองกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนให้เป็นวัยรุ่นที่กำลังเผชิญกับภาวะความเครียด แล้วถามในคำถามเดียวกัน น่าจะได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากกว่านี้มาพิจารณาตั้งรับกันอีกครั้ง


 


ปัญหาการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นและการเสนอข่าวฆ่าตัวตายผ่านสื่อ เป็นปัญหาที่รอการแก้ไขอย่างจริงจัง ได้โปรดอย่าให้ค่าความสำคัญการมองปัญหาเด็กวัยรุ่นด้วยการปักธงหลักไปกับกระแสลอยกระทง วาเลนไทน์ หรือสงกรานต์และผูกติดเทศกาลไปกับพฤติกรรมเสียตัวของวัยรุ่น แม้กระทั่งการคิดหาวิธีอุดปลายท่อปัญหาที่เกิดขึ้นโดยใช้นโยบาย "ส่องสปอตไลท์ไล่เด็ก" หน้าโรงแรมม่านรูดเหมือนไม่กี่วันที่ผ่านมา


 


ถ้าผู้ใหญ่ในบ้านเมืองคิดแก้ปัญหาให้พวกวัยรุ่นได้เพียงเท่านี้ อีกหน่อยสาเหตุการการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นอาจไม่ใช่สาเหตุเครียดเพราะความรักหรือการเรียนเท่านั้น แต่อาจเป็นเพราะทนอยู่ไม่ไหวกับความไม่เข้าท่าในไอเดียบรรเจิดและนโยบายเหมาโหลของผู้บริหารสังคมที่สักแต่จะแก้ปัญหาแต่ปราศจากความเข้าใจ


 


อย่าว่าแต่วัยรุ่นเลย ขนาดผู้ใหญ่หลายคนก็ยังคุยกันอยู่ว่าบางทีนึกอยากจะหายตัวไปจากแผ่นดิน เพราะมันอายจริงๆ ที่เลือกท่านมา


 


 


website ให้ข้อมูลเรื่องการป้องกันการฆ่าตัวตาย


www.who.int/mental_health/prevention/suicide


www.psycom.net/depression.central.suicide


www.mentalhealth.samhsa.gov/suicideprevention


www.suicideprevention/lifelong.org